เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ธนาคารเกียรตินาคินจัดสัมมนาประจำปี 2557 ซึ่งได้มีการให้ข้อมูลภาพรวมตลาดอสังหาฯ ระหว่างปลายปี 2556 – ต้นปี 2557 พร้อมแนะแนวทางสร้างธุรกิจอสังหาฯ ให้ยั่งยืนท่ามกลางวิกฤต โดย 4 กูรูอสังหาฯ
นางสาวจิราภรณ์ ลินมณีโชติ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร ได้สำรวจยอดขายที่อยู่อาศัยจากผู้พัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ 7 แห่ง ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พบว่ายอดขาย 2 เดือนแรกปีนี้ ลดลงมากถึง 59.6% เมื่อเทียบกับ 2 เดือนแรกของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการปรับลดลงของที่อยู่อาศัยแนวสูง หรือคอนโดมิเนียมมากถึง 88.7% ขณะทีแนวราบลดลง 9.9% ส่วนใหญ่เกิดจากผู้บริโภค ที่มีการยกเลิกสัญญาการจอง เพราะไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจและการเมือง
นางสาวจิราภรณ์เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2557 คอนโดโตแค่ 2.9% ส่วนบ้านเดี่ยวทาวน์เฮ้าส์เติบโต 11.4% แม้จะไม่ได้ติดลบแต่โตน้อยหากเทียบกับ 2 เดือนแรกของปีก่อน ที่เติบโต 21.1% และ 15.2% ตามลำดับ
นอกจากนี้เริ่มเห็นลูกค้ายกเลิกการของที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยใน 1-2 โครงการ เฉลี่ยยกเลิก 20% ของปริมาณการจอง โดยเฉพาะโครงการที่เก็บเงินดาวน์ต่ำ เพราะเกิดความล่าช้าจากการอนุญาตก่อสร้างโครงการ และปริมาณการก่อสร้างโครงการยังปรับลดลง
ภาพรวมธุรกิจปีนี้ คาดปรับตัวลดลง 18% จากปี 2556 อยู่ที่ 1.62 แสนยูนิต เหลือ 8.5 หมื่นยูนิต โดยเฉพาะคอนโดซึ่งจะปรับตัวลดลง 30-40%
ส่วนภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2556 มีมูลค่า 2.6 ล้านล้านบาท ขณะที่ปีนี้ขยายตัว 10% หรือมีมูลค่า 500,000 ล้านบาท ขณะที่สถาบันทางการเงิน ยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ช่วงที่ผ่านมาพบการปล่อยสินเชื่อนานขึ้นจาก 2-3 สัปดาห์ เป็น 1-2 เดือน
ในภาคบ่ายก็มีการเสวนา ในหัวข้อ “เจาะโอกาสในวิกฤต สร้างธุรกิจอสังหาฯ ให้ยั่งยืน” โดยมี 4 กูรูด้านอสังหาฯ ประกอบด้วย หัวเรือใหญ่แห่ง พฤกษาฯ, โจนส์ แลง ลาซาลล์, เปี่ยมสุข พร็อพเพอร์ตี้, และ CMC ได้มาเล่าให้ฟังถึงภาพรวม และกลยุทธ์การเติบโตท่ามกลางวิกฤต
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอทเตส กล่าวว่า การเมืองไทยมีแนวโน้ม ยืดเยื้อคาดจะยังไม่จบภายในปีนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัว โดยพฤกษา ซึ่งมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ต่อเนื่อง โดย ปีนี้ 7-8 โครงการ ได้ปรับรูปแบบโครงการให้มีขนาดเล็กลง จากที่เคยเปิดตัวโครงการขนาดใหญ่ระดับ 1,000 ยูนิตขึ้นไป เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน และแบ่งลงทุนออกเป็นเฟส
ส่วนภาพรวมธุรกิจอสังหาฯทั้งปีนี้ปรับตัวลดลง 10% แต่เป็นเรื่องดีเพราะกลุ่มดีเวลล็อปเปอร์ส่วนใหญ่ จะใช้จังหวะนี้ปรับฐาน ดีกว่าปล่อยให้เติบโตแบบก้าวกระโดดมากๆ
ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลปีนี้คาดว่า จะเติบโต 12% จากปีก่อน ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 340,000 ล้านบาท ยกเว้นตลาดพื้นที่ต่างจังหวัดที่ดีมานด์น้อย ที่ผ่านมามีปัจจัยกระตุ้นคือ โครงการเมกะโปรเจค ได้แก่ โครงการ 2.2 ล้านล้านบาท และกระแสการ เปิด AEC
เนื่องจากสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ยังไม่ค่อยดีนัก ที่ผ่านมามีหลายบริษัทหันไปจับตลาดหัวเมืองต่างจังหวัด อย่างเชียงใหม่ พัทยา ชลบุรี หัวหิน และภูเก็ต ซึ่งพฤกษาเป็น top-three บริษัทเดียวที่ยังไม่เคยไปลงทุนต่างจังหวัด ซึ่งจากการสำรวจ ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีสถิติน่าพอใจ
นายอภิบาล อริยกุลกาญจน์ ที่ปรึกษาบริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมามีความต้องการเช่าออฟฟิศและศูนย์การค้าค่อนข้างสูง และปริมาณสินค้าที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการตรงจุดนี้ แผนในช่วงปี 57 คือหาตลาดใหม่ๆ พยายามเจาะกลุ่มลูกค้า Luxury
นายปรีชา กุลไพศาลธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เปี่ยมสุข พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทก็ยังพอไปได้อยู่ และหากโครงการมีความชัดเจน คืออยู่ในพื้นที่ๆ มีความชัดเจน มีรายได้ประชากรที่ชัดเจน ความเสี่ยงของโครงการก็จะลดลง
ในปี 2557 นี้ ทางบริษัทอยู่ในช่วงชะลอตัว เนื่องจากยังไม่มั่นใจกับสถานการณ์การเมือง อีกทั้งเป็นบริษัทขนาดเล็ก รับความเสี่ยงได้ไม่มาก โดยแผนหลักๆ ของปีนี้ จะเน้นหนักไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่นการกลับไปศึกษารูปแบบของโครงการในอดีต ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาให้ดีขึ้น และพยายามศึกษาจากดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ในด้านเทคโนโลยี
นางอนงค์ลักษณ์ แพทยานันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทพระยาพาณิชย์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือ CMC เปิดเผยว่า ตามปกติแล้ว ทางบริษัทนิยมพัฒนาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันราคาค่อนข้างสูง ผลักให้ต้นทุนของโครงการสูงขึ้น และต้องปรับราคาขึ้น ทำให้เสียกลุ่มลูกค้าไป ทางบริษัทได้ปรับแผนใหม่ โดยการเลือกที่ดินใกล้ชุมชน และใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ได้มุ่งเน้นแต่แนวรถไฟฟ้าอย่างเดียว