DSC04201

การรุกคืบของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เข้าไปในจังหวัดหัวเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดมีความคึกคักขึ้น ไม่ว่าจะเป็น จ.เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น นครราชสีมา(เขาใหญ่) อุดรธานี ชลบุรี (พัทยา-ศรีราชา) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และภูเก็ต ล้วนเป็นพื้นที่เป้าหมายของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ที่ต้องการเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง

เหตุผลสำคัญที่ตลาดต่างจังหวัดกลายเป็นเป้าหมายการลงทุน เพราะหลายพื้นที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หลายพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่ความนิยมบ้านหลังที่สองเพิ่มมากขึ้นหลังน้ำท่วมใหญ่ปลายปี2554 ประกอบกับภาวะอิ่มตัวในตลาดส่วนกลางอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้ต้องเริ่มหาตลาดใหม่ๆ ในการขยายตัว

การขยายการลงทุนของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ได้ส่งผลให้ราคาที่ดินในหลายๆ พื้นที่ในต่างจังหวัดเริ่มขยับสูงขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะทำเลในเขตเมือง หรือย่านอยู่อาศัยของคนในพื้นที่ อย่างเช่น จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราคาซื้อขายปรับขึ้นเป็นเท่าตัว หลายๆ แปลงราคาไม่ต่างกับที่ดินใน กทม.

สัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราคาปรับขึ้นเป็นเท่าตัว เช่น ที่ จ.อุดรธานีอุบลราชธานี และมุกดาหาร อย่างมุกดาหารจากเดิมซื้อขายกันไร่ละ 5-9 ล้านบาท ผ่านไป 1 ปี ราคาขยับขึ้นมาอยู่ที่ถึงไร่ละ 10-12 ล้านบาท

ทั้งนี้ การปรับขึ้นของราคาที่ดินในภูมิภาคเกิดจากการขยายการลงทุนของกลุ่มค้าปลีก

โมเดิร์นเทรดและบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ซึ่งการที่ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นมากเป็นสัญญาณที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ในช่วงระยะแรกนี้อาจไม่อันตรายนัก แต่หากราคายังขึ้นอย่างไม่หยุดในอัตราเร่งแบบเดิม ก็ควรต้องหาทางเบรกกันบ้าง

ขณะที่ราคาที่ดินใน จ.ขอนแก่น ชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานชมรมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขอนแก่น ระบุว่า ที่ดินบางแปลงบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ทุ่มซื้อในราคาสูงถึง 2-3 เท่าตัวขณะที่ราคาโดยเฉลี่ยขยับขึ้นมาแล้ว 20-30%

ส่วนที่ดินในตัวเมืองขอนแก่น วิโรจน์ สฤษฎีชัยกุล รองกรรมการบริษัท ซีนิท แอสเซท บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในขอนแก่น ระบุว่า ราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาทต่อตารางวา (ตร.ว.) แต่ราคาซื้อขายจริงอยู่ที่ 6-8 แสนบาทต่อ ตร.ว. และเป็นราคาที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวในระยะเวลา 2 ปี

ขณะที่ จ.อุดรธานี ราคาที่ดินมีการปรับขึ้นอย่างร้อนแรงเช่นกัน เพราะเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคอีสานที่จะเชื่อมต่อกับเออีซีมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เข้าไปลงทุนอยู่หลายราย เช่นบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ศุภาลัย แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ และเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ และยังมีศูนย์การค้าโมเดิร์นเทรดอีกหลายรายทำให้ราคาที่ดินในเขตเมืองพุ่งลิ่วถึงไร่ละ 10-20 ล้านบาท

การที่ราคาที่ดินปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมส่งผลถึงราคาบ้านที่ต่างจังหวัดที่จะขยับขึ้นตามต้นทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการในท้องที่ที่มีต้นทุนการตลาดที่ต่ำกว่าเป็นตัวถ่วงดุลตลาด แต่หากดูโมเดลอสังหาริมทรัพย์ใน กทม.และปริมณฑลแล้ว จะเข้าใจว่า ในที่สุดผู้ประกอบการรายเล็กก็จะอ่อนแรงลง โอกาสที่ผู้ประกอบการรายใหญ่จะเข้าคุมตลาดมีสูง และก็มีผลไม่ต่างกับคอนโดมิเนียมในเมือง กทม. ที่ราคาแพงจนคนชั้นกลางซื้ออยู่ไม่ได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์