WDW_Monorail_2006

เริ่มชัดเจนแล้ว สำหรับแผนการลงทุนรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและ Monorail ของกทม. ล่าสุด 3 3 เอกชนแห่ปักหมุดลงทุนรถไฟฟ้า-โมโนเรล 6 โครงการแสนล้าน เชื่อมเส้นทางเข้าห้าง ต่อยอดอสังหาฯ-ศูนย์การค้า “กรุงเทพธนาคม” จับมือ “บีทีเอส” พัฒนา ไลต์เรลบางนา-สุวรรณภูมิ “ไอคอนสยาม” ควัก 2 พันล้านบูมสายสีทอง “กรุงธนคลองสาน” แลกสัมปทานพื้นที่โฆษณา 30 ปี ห้างยักษ์ “ซีดีซี” ยกที่ฟรี 27 ไร่ ผุดเดโป้สายสีเทา “วัชรพล-ทองหล่อ” สิ้นปีปิดฉากบีอาร์ที

ตระกูลดังต่อยอดธุรกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โมโนเรลสายสีทอง (กรุงธน-คลองสาน) ระยะทาง 1.8 กม. 3 สถานี เงินลงทุน 2,500 ล้านบาท จะรองรับโครงการไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร โปรเจ็กต์ร่วมทุนมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ของ 2 ตระกูล “จูตระกูล” แห่ง “สยามพิวรรธน์” เจ้าของศูนย์การค้าสยาม พารากอน และตระกูล “เจียรวนนท์” แห่ง แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ที่ร่วมลงทุนสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ 5.25 แสน ตร.ม. และคอนโดมิเนียมซูเปอร์ลักเซอรี่ ริมเจ้าพระยาสูง 70 ชั้น 1 อาคาร และสูง 40 ชั้น 1 อาคาร ปัจจุบันกำลังก่อสร้าง เตรียมอวดโฉม เดือน ธ.ค. 2560

ส่วนโมโนเรลสายสีเทา วัชรพล-พระราม 9- ทองหล่อ 16.5 กม. 15 สถานี เงินลงทุน 27,544 ล้านบาท ล่าสุด ตระกูล “เอี่ยมสกุลรัตน์” แลนด์ลอร์ดทำเลเกษตร-นวมินทร์ เจ้าของโครงการเดอะคริสตัล (CDC) จะยกที่ดิน 27 ไร่ บริเวณจุดตัดทางด่วนกับเกษตร- นวมินทร์ให้ กทม. สร้างโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) เพื่อรองรับสายสีเทาและการลงทุนในอนาคต หลังจากเปิดศูนย์การค้าใหม่ “คริสตัล วีรันด้า” มูลค่า 2 พันล้านบาท เมื่อปลายปี

ไลต์เรลสายบางนา-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 19.2 กม. 12 สถานี เงินลงทุน 27,892 ล้านบาท แนวเส้นทางจะพาดผ่านโครงการธนาซิตี้ของ “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าของรถไฟฟ้าบีทีเอส และศูนย์การค้า “แบงค็อก มอลล์” ของตระกูลอัมพุช ล่าสุดบีทีเอสสนใจจะลงทุนรถไฟฟ้าสายนี้ เพื่อเชื่อมฟีดเดอร์กับบีทีเอสที่สถานีบางนา

ลงขันแสนล้าน

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการ ผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) รัฐวิสาหกิจ กทม. เปิดเผยว่า การลงทุนบีทีเอสส่วนต่อขยายและโมโนเรล 6 โครงการ ใช้เงินลงทุน 101,927 ล้านบาท จะให้เอกชนที่การเงินแข็งแรงร่วมลงทุนเพื่อให้โครงการเกิดขึ้นเร็ว

“ระบบรางของ กทม.จะจ้างเราบริหาร แล้วเราก็จ้างเอกชนอีกทอดหนึ่ง กทม.จะตั้งงบประมาณจ่ายค่าจ้างรายปี วิธีการนี้ทำให้โครงการใหญ่ที่ลงทุนมากจะเกิดเร็วขึ้น เป็นการแมตชิ่งธุรกิจซึ่งกันและกัน”

BTS จองสีเขียว

นายมานิตกล่าวว่า โครงการแรกที่จะเกิดขึ้นคือ การลงทุนงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 เส้นทางคือ หมอชิต-สะพานใหม่คูคต 18.7 กม. และแบริ่ง-สมุทรปราการ 12.8 กม. เงินลงทุน 2.6 หมื่นล้านบาท ที่ได้รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ล่าสุด กทม.มอบให้ KT ว่าจ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เดินรถให้ 26 ปี หรือเท่ากับอายุการจ้างเดินรถส่วนต่อขยายช่วงตากสิน-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง จะหมดอายุปี 2585

“ส่วนต่อขยายนี้จะใช้วิธีการที่เรียกว่า ซัพพลายเออร์เครดิต ซึ่งบีทีเอสจะหา แหล่งเงินทุนให้ 2 หมื่นล้านบาท เราจะ ชำระคืนให้ภายหลัง จะเซ็นสัญญา เร็ว ๆ นี้ ส่วนค่างานโยธา 6 หมื่นล้านบาท ที่ กทม.ต้องจ่ายคืนให้ รฟม. จะคืนหลังปี’72 เพราะสัมปทานจะหมดอายุปีนั้น และทรัพย์สินจะตกเป็นของ กทม.และสามารถนำโครงการไประดมเงินทุนผ่านกองทุน หรือขอกู้จากสถาบันการเงินได้ ส่วนการเดินรถจะจ้างบีทีเอสเดินรถถึงปี’85 ทั้งโครงข่าย”

สายสีทองใช้ระบบเกาหลี

นายมานิตกล่าวว่า โมโนเรลสายสีทอง เฟสแรกจะเชื่อมบีทีเอสสถานีกรุงธนบุรีหน้าโรงพยาบาลตากสิน ซึ่งไอคอนสยามจะลงทุนให้หมด พร้อมได้สิทธิพื้นที่เช่าโฆษณาบนสถานีและรถไฟฟ้า 30 ปี ส่วน KT ลงทุนงานระบบและขบวน วงเงิน 400 ล้านบาท

“โมโนเรลโครงการนี้จะใช้ระบบของวูจิน เกาหลีใต้ 2 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ รวม 6 ตู้ จะเริ่มสร้างปีนี้ แล้วเสร็จเดือน ธ.ค. 2560 พอดีเปิดศูนย์การค้าไอคอนสยาม โดยเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย 3 สถานี คือ กรุงธนบุรี เจริญนคร และคลองสาน”

ซีดีซีจุดพลุสายสีเทา

นอกจากนี้ กทม.ได้ดึงเอกชนร่วมลงทุน โมโนเรลสายสีเทา เฟสแรก วัชรพล-พระราม 9- ทองหล่อ เงินลงทุน 27,544 ล้านบาท จะเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่แยกวัชรพล

ล่าสุด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. หารือกับผู้บริหาร CDC ได้ข้อสรุปว่า เอกชนจะมอบที่ดิน 27 ไร่ ให้ กทม.สร้างเดโป้ กำลังหารือจะร่วมในรูปแบบไหน เช่น กทม.-เอกชนลงทุน 50 : 50 งานโยธา แล้วให้เอกชนที่สนใจมาซัพพลายเออร์เครดิตให้ พร้อมเพิ่มสิทธิการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้ด้วย

“สายสีเทาจะสร้างตามแนวเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ปัจจุบันมีศูนย์การค้าของซีดีซีกับเซ็นทรัล เป็นการต่อยอดธุรกิจเหมือนที่ไอคอนสยามลงทุน” นายมานิตกล่าวและว่า

ไลต์เรลสายบางนา-สุวรรณภูมิ ขณะนี้ชัดเจนแล้ว โดยบีทีเอสซีจะซัพพลายเออร์เครดิตโครงการให้ KT27,892 ล้านบาท ปีนี้จะสรุปได้ชัดเจน รวมถึงสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิ่งชัน 7.5 กม. วงเงิน 14,804 ล้านบาท ที่บีทีเอสซีสนใจเช่นกัน

ปิดฉาก BRT ผุดรถราง

“รถไฟฟ้าทุกสายจะเริ่มก่อนที่ผู้ว่าฯจะหมดวาระปีหน้า ส่วนโครงการบีอาร์ทีจะยกเลิกในปีนี้ และปรับเป็นระบบรถรางคล้ายรถแทรม ใช้แบตเตอรี่และโซลาร์เซลล์ ชาร์จไฟที่สถานีได้ จะเริ่มหลังสัญญาจ้าง บีทีเอสเดินรถในเดือน เม.ย.ปี’60 แนว เส้นทางจะปรับให้เชื่อมกับบีทีเอสช่องนนทรีและตลาดพลู ส่วนรถบีอาร์ทีจะนำไป ใช้ในงานของ กทม.ต่อไป”

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอสซี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมีเงินทุน 6.8 หมื่นล้านบาท พร้อมจะลงทุนโครงการรถไฟฟ้าของ กทม.ทั้งหมด ทั้งรับจ้างเดินรถ ส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต และแบริ่งสมุทรปราการ ล่าสุดลงทุน 1.1 หมื่นล้านบาท ซื้อรถ 46 ขบวนมารองรับบริการแล้ว

ทั้งยังสนใจลงทุนสายสีเขียวบางหว้าตลิ่งชัน และโมโนเรลสายสีทอง และไลต์เรลสายบางนา-สุวรรณภูมิ ทุกโครงการจะต่อยอดธุรกิจได้

นายกวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บจ.เค.อี.แลนด์ กล่าวว่า บริษัทยกที่ดิน 27 ไร่ ตรงแยกเกษตร-นวมินทร์ ให้สร้างเดโป้โมโนเรลสายสีเทา เพื่อให้โครงการเกิดเร็วขึ้น ซึ่งทำเลแถบนี้รถติดมาก เพราะเมืองขยายมาทางโซนนี้

“ถ้า กทม.มีแผนใช้ที่ดินเพื่อไปสร้าง คอมเมอร์เชียลรอบสถานีเหมือน ต่างประเทศ การลงทุนจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซี่งบริษัทอาจเข้าร่วมทุนด้วย เพราะคิดลงทุนคอนโดมิเนียมอยู่แล้ว ส่วนจะดึงผู้ประกอบการค้าปลีกย่านนี้ลงทุนด้วย หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้”

มิ.ย.เริ่มทดสอบสีม่วง

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า เดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ได้ทดสอบระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วงบางใหญ่-เตาปูน 23 กม. โดยเปิดให้ประชาชนนั่งฟรี จากนั้นวันที่ 6 ส.ค.จะเปิดให้บริการเป็นทางการ ค่าโดยสาร 14-42 บาท

ส่วนปัญหาเดินรถ 1 สถานีจากเตาปูนบางซื่อที่ขาดช่วงนั้น จะใช้รถเมล์และรถไฟดีเซลวิ่งรับส่งฟรีไปก่อน พร้อมเร่งหา ผู้เดินรถสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค จะได้เอกชนปี 2560

โดยเอกชนจะเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นลำดับแรก หากเจรจารายเดิมคือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จะใช้เวลา 9 เดือน หากเปิดประมูล รายใหม่จะใช้เวลา 12 เดือน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ