อีกหนึ่งเรื่องที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนที่ซื้อบ้านคือการตกแต่งภายในค่ะ…

แน่นอนว่าทุกคนมีบ้านในฝันที่อยากให้ตกแต่งสวยงามเหมือนกับบ้านตามนิตยสารที่เราเห็น แต่ด้วยเงื่อนไขหลักที่มีชื่อว่า “งบประมาณ” ทำให้บ้านในฝันของหลายๆคนนั้นอาจจะต้องลดความต้องการลงมาเท่าที่งบเอื้ออำนวยให้เป็นไปได้ อีกหนึ่งเรื่องคือเรื่องเราจะตกแต่งเอาเองดีหรือจะจ้างสถาปนิกหรือ interior designer มาออกแบบดีนะ? แล้วขั้นตอนเป็นอย่างไร? ค่าออกแบบเท่าไหร่? หาจากไหน? เจอคำถามมากมากเข้าเลยท้อถอยกันไปก็มีหลายราย ดังนั้นในบทความนี้เราลองมาดูกันดีกว่าค่ะว่า ถ้าเราจะตกแต่งบ้านแล้วเนี่ย วิธีการคิดเงินค่าออกแบบ คิดกันอย่างไร เราสามารถประเมินงบประมาณส่วนค่าออกแบบเองได้หรือไม่ เราไปดูกันดีกว่าค่ะ

ก่อนอื่นเลย ไม่ว่าจะออกแบบเองหรือจะไปปรึกษานักออกแบบ นักออกแบบทุกคนมักจะมีคำถามว่า ในพื้นที่ที่เราจะตกแต่งนี้ เราทำอะไรบ้าง เรามีความต้องการใช้งานอะไรบ้าง ขั้นนี้เราจะต้องคิดก่อนว่าในชีวิตประจำวัน โดยทั่วไป ลักษณะนิสัย การใช้ชีวิตของเรา เรามักจะทำอะไรเป็นประจำ วิถีชีวิตนี้ จะเป็นตัวกำหนดเองว่า ภายในพื้นที่ที่เราจะออกแบบ ควรจะมีอะไรบ้าง เช่น ถ้าเราบอกว่าเราอยากได้โต๊ะทำงาน แน่นอนว่าขนาดโต๊ะทำงานของแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน โต๊ะทำงานของนักเรียน นักศึกษาอาจจะต้องการพื้นที่เก็บหนังสือมาก แต่โต๊ะทำงานของสถาปนิก วิศวกร อาจจะต้องการโต๊ะทำงานขนาดใหญ่ กางแบบดูได้ การที่เราสามารถลงรายละเอียดของแต่ละการใช้งานได้ สิ่งนี้จะเป็นตัวบอกลักษณะและขนาดของเฟอร์นิเจอร์ที่ควรและจำเป็นภายในห้องให้เราเองค่ะ

หลังจากที่เรารู้ว่าอยากจะได้อะไรให้บ้านบ้าง และอยากตกแต่งบ้านให้ออกมาในรูปแบบไหน ขั้นตอนต่อมาคือการออกแบบ ซึ่งก็คือการนำความต้องการ กับ แนวความคิดของเรามารวมร่างกลายเป็นบ้านในฝันของเรานี่เอง ต้องการออกแบบสามารถทำได้โดย

จ้างสถาปนิก ผู้ออกแบบภายใน หรือ มัณฑนากร วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายแต่เราก็มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าบ้านของเราจะสวยได้ดั่งใจฝัน เพราะทางสถาปนิกจะมีประสบการณ์ว่าจะต้องทำอย่างไร บ้านเราจะออกมาดูดี และจะมีการทำภาพจำลองบรรยากาศ หรือ ภาพ 3D ซึ่งศัพท์เฉพาะของสถาปนิกเรียกมันว่า “ตีบ” หรือ “Tive” ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก Perspective แปลว่าภาพจำลองทัศนียภาพให้เราเห็นภาพก่อน นอกจากนั้นยังมีการเขียนแบบก่อสร้างและคุยกับผู้รับเหมาซึ่งจะลดความผิดพลาดในการก่อสร้างได้ ข้อแนะนำคือให้หาสถาปนิกที่มีประสบการณ์ การจ้างสถาปนิกเหมาะกับบ้านที่ต้องการงานออกแบบที่ค่อนข้างพิเศษ ถ้ามีงบประมาณที่จำกัดและไม่อยากตกแต่งอะไรมากมาย การตกแต่งบ้านด้วยตัวเองถึงแม้ว่าจะเสียเวลาสักหน่อยแต่ก็จะประหยัดกว่าค่ะ

ออกแบบเอง วิธีนี้ค่อนข้างประหยัด แต่ท่านเจ้าของบ้านต้องอาศัยการทำการบ้าน และ เก็บข้อมูลมากพอสมควร โดยการทำวิธีที่แนะนำไปคือ การกำหนดความต้องการ และ การวางแนวความคิด ซึ่งถ้าอยากเห็นภาพห้องก็อาจจะเอามาวาดๆให้ออกเป็น Sketch หรือ เอาไปจ้างคนทำภาพ 3D ราคาตกอยู่ภาพละ 3000 – 5000 บาท วิธีนี้เหมาะกับบ้านที่มีขนาดเล็ก เราไม่ต้องแต่งอะไรมากนัก ข้อแนะนำคือถ้าคิดไม่ออกว่าจะแต่งอย่างไรให้ไปเดินตามบ้านตัวอย่าง ร้านเฟอร์นิเจอร์ต่างๆที่มีการจัดห้องเป็นตัวอย่างมาให้ แล้วมาปรับใช้ในการออกแบบบ้านของตัวเองค่ะ

ให้ทางบริษัทเฟอร์นิเจอร์ออกแบบ ปัจจุบันมีร้านเฟอร์นิเจอร์ที่รับออกแบบวางผัง วางเฟอร์นิเจอร์ และทำออกมาเป็นแบบ 3D ให้ เช่น Index Living mall , Cotto เป็นต้น ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในการออกแบบ แต่มีข้อจำกัดคือจะต้องใช้เฟอร์นิเจอร์ของบริษัทเฟอร์นิเจอร์นั้นเท่านั้น


“คำถามยอดนิยม”

ถาม – ถ้าจ้างสถาปนิกเราจะได้อะไรบ้าง?
ตอบ – สถาปนิกจะรับ Requirement ของเราไปตีโจทย์แล้วจะทำแบบมาเสนอซึ่งจะประกอบด้วย แนวคิดในการออกแบบ แบบแปลน ภาพสามมิติ และแบบก่อสร้างเพื่อให้ผู้รับเหมานำไปตีราคาและทำการก่อสร้าง บางรายจะมีตัวอย่างวัสดุหรือ Material Board แถมมาด้วย โดยเราสามารถตกลงกับสถาปนิกได้ว่าขอบเขตของงานจะมีอะไรบ้าง ซึ่งจะส่งผลต่อระยะเวลาและราคาค่าออกแบบ

ถาม – สถาปนิกคิดราคากันอย่างไร?
ตอบ – ค่าออกแบบของสถาปนิกมีวิธีคิดได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง ลักษณะงานและปริมาณของงาน และยังพิจารณาถึงความสามารถ และ ประสบการณ์ของสถาปนิกเอง การพิจารณาว่าค่าออกแบบถูกหรือแพง ควรจะต้องพิจารณาถึงปริมาณงานและคุณภาพงานของงานที่จะได้รับ การคิดค่าบริการวิชาชีพควรสอดคล้องกับอัตราค่าบริการวิชาชีพขั้นพื้นฐานของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ตามที่ปรากฎใน คู่มือสถาปนิก พ.ศ.2547

โดยทั่วไปแล้ววิธีคิดค่าออกแบบ มีแนวทางปฏิบัติกัน 5 วิธี ดังต่อไปนี้
– คิดค่าบริการวิชาชีพในอัตราร้อยละ (Percentage Fees)
– คิดค่าบริการวิชาชีพตามระยะเวลา (Time Charge Fees)
– คิดค่าบริการวิชาชีพแบบเหมาจ่าย (Lump Sum Fees)
– คิดค่าบริการวิชาชีพแบบต้นทุนบวกค่าดำเนินการ (Cost Plus Fees)
– คิดค่าบริการวิชาชีพตามปริมาณพื้นที่ (Built Area Fees)

1.ค่าบริการวิชาชีพในอัตราร้อยละ (percentage Fees)

การคิดค่าบริการวิชาชีพแบบอัตราร้อยละ เป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วไปโดยคิดเป็นอัตราร้อยละจากมูลค่างานก่อสร้างที่ประมาณไว้เบื้องต้น วิธีนี้เหมาะกับงานขนาดใหญ่ที่ไม่ยังไม่รู้มูลค่าโครงการที่ชัดเจน สามารถคิดค่าออกแบบได้รวดเร็ว ตามมาตราฐานของสมาคมสถาปนิกสยามฯแบ่งประเภทการบริการออกแบบสถาปัตยกรรมไว้เป็น 6 ประเภทตามชนิดอาคาร แต่ละประเภทจะมีอัตราที่ไม่เท่ากันตามความซับซ้อนของงาน การคิดค่าแบบจะมีสัดส่วนลดลงเรื่อย ๆ เหมือนขั้นบันไดตามงบประมาณก่อสร้าง ได้แก่

ประเภทที่ 1 = ตกแต่ง ภายใน ครุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์
ประเภทที่ 2 = พิพิธภัณฑ์ วัด อนุสาวรีย์ อาคารอนุสรณ์ที่วิจิตรสวยงาม
ประเภทที่ 3 = บ้าน (ไม่รวมตกแต่งภายใน)
ประเภทที่ 4 = โรงพยาบาล รัฐสภา โรงแรม ธนาคาร คอนโดมิเนียม วิทยาลัย
ประเภทที่ 5 = สำนักงาน สรรพสินค้า หอพัก โรงเรียน โรงอุตสาหกรรม
ประเภทที่ 6 = โกดัง อาคารจอดรถ ห้องแถว ตลาด

อาคารแต่ละประเภทจะแยกวิธีคิดค่าบริการออกแบบตามมูลค่าการก่อสร้าง โดยคิดเป็นอัตราก้าวหน้าดังต่อไปนี้ (หน่วยเป็นร้อยละของงบประมาณก่อสร้าง)

จากตารางถ้าเราต้องการออกแบบบ้าน โดยมีงบประมาณในการก่อสร้าง 40 ล้านบาท จะคิดค่าแบบตามอาคารในประเภทที่ 3 ดังนี้
10 ล้านบาทแรก คิด 7.50 % = 750,000 บาท
20 ล้านบาทถัดไป คิด 6.00 % = 1,200,000 บาท
10 ล้านที่เหลือ คิด 5.25 % = 525,000 บาท
รวมค่าบริการทั้งสิ้น = 2,475,000 บาท (หรือคิดเป็น 5.6% ของมูลค่าก่อสร้าง)

นอกจากนี้ยังมีส่วนของการออกแบบเพิ่มเติม เช่นการต่อเติม ดัดแปลงอาคาร หรือทำซ้ำกำหนดให้คิดค่าออกแบบดังนี้ค่ะ

กรณีงานก่อสร้างต่อเติม ได้แก่ การออกแบบงานก่อสร้างต่อเติมอาคารเดิมที่มีอยู่แล้ว และจำเป็นต้องแก้ไขระบบโครงสร้างหรือการใช้สอยของอาคารเดิมบางส่วน ให้คิดค่าแบบหรือค่าบริการวิชาชีพเท่ากับ 1.2 เท่าของมูลค่าตามวิธีคิดข้างต้น (คิดค่าแบบในอัตราปกติแล้วคูณด้วย 1.2)

กรณีงานก่อสร้างดัดแปลง ได้แก่การดัดแปลงแก้ไขประโยชน์ใช้สอยภายในอาคารเดิมที่มีอยู่แล้ว จะโดยแก้ไขเพิ่มเติมระบบโครงสร้างหรือไม่ก็ตาม ให้คิดค่าแบบเท่ากับ 1.4 เท่าของมูลค่าตามวิธีคิดข้างต้น

กรณีงานก่อสร้างที่แบบซ้ำกัน ได้แก่การก่อสร้างในบริเวณเดียวกันโดยไม่ต้องเขียนแบบใหม่ อาจเป็นบ้านจัดสรร กลุ่มอาคารโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มอาคารคอนโดมิเนียม หรืออาคารที่ทำซ้ำๆ กันให้คิดค่าแบบดังนี้ค่ะ
1) หลังที่ 1 คิดค่าแบบ 100% ของค่าแบบตามวิธีคิดข้างต้น
2) หลังที่ 2 คิดค่าแบบ 50% ของค่าแบบตามวิธีคิดข้างต้น
3) หลังที่ 3ถึงหลังที่ 5 คิดค่าแบบ 25% ของค่าแบบตามวิธีคิดข้างต้น
4) หลังที่ 6 ถึงหลังที่ 10 คิดค่าแบบ 20% ของค่าแบบตามวิธีคิดข้างต้น
5) หลังที่ 11 ขึ้นไป คิดค่าแบบ 15% ของค่าแบบตามวิธีคิดข้างต้น

อย่างไรก็ตาม วิธีการคิดค่าแบบข้างต้นเป็นมาตราฐานที่ถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติร่วมกัน ทั้งลูกค้าและสถาปนิก แต่ไม่ใช่กฏหมายหรือข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติ เพราะอาจมีการต่อรองราคาระหว่างลูกค้าและสถาปนิกตามเงื่อนไขอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามการคิดราคาดังกล่าวก็ถือว่ามีความเป็นธรรมพอสมควร สามารถใช้อ้างอิงได้ในเบื้องต้นค่ะ

2. ค่าบริการวิชาชีพตามระยะเวลา ( Time Charge Fees)

วิธีนี้ใช้ในกรณีที่งานมีขอบเขตที่ชัดเจน เช่น งานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในหลายรูปแบบ งานวางผัง กรณีนี้สถาปนิกจะต้องวางแผนล่วงหน้าถึงกำหนดเวลาที่จะใช้ในการทำงานตลอดจนจำนวนบุคลากรในระดับต่าง ๆ ที่จะใช้ทำงานในโครงการ

การคิดค่าบริการ คือ “ เวลา x ค่าแรง “

โดยเวลาที่ใช้สามารถคิดได้เป็นต่อเดือน ต่อวัน หรือต่อชั่วโมง ส่วนค่าแรงคือ อัตราค่าใช้จ่ายของบริษัทที่มีต่อบุคลากรในแต่ละระดับการทำงาน อันมาจากเงินเดือนพนักงาน สวัสดิการ เบี้ยเลี้ยง ค่าใช้จ่ายส่วนกลางของบริษัท และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น เมื่อนำอัตราของบุคลากร x เวลาที่ใช้ ของแต่ละอัตรา มารวมกับค่าใช้จ่ายจริงซึ่งได้แก่ ค่าเดินทาง ค่าพิมพ์แบบ ค่ารูปทัศนียภาพ ฯลฯ (ค่าใช้จ่ายที่เบิกคืนได้) ทั้งหมดนี้รวมกันจะเป็นค่าบริการวิชาชีพตามเวลา

3. คิดค่าบริการวิชาชีพแบบเหมาจ่าย (Lump Sum Fees)

วิธีนี้เป็นวิธีการคิดค่าบริการที่สถาปนิกตกลงยินยอมที่จะให้บริการตามขอบเขตของงานที่กำหนดในจำนวนเงินค่าบริการวิชาชีพที่สมเหตุผลในจำนวนเงินที่ตายตัว การคิดค่าบริการแบบนี้อาจเริ่มต้นคำนวณจากค่าบริการวิชาชีพอัตราร้อยละหรือจากค่าบริการวิชาชีพตามเวลารวมกับค่าใช้จ่ายจริงแล้วพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามแต่สถาปนิกจะตกลงกับผู้ว่าจ้าง ในการคิดค่าบริการแบบนี้ ควรมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนว่า ในกรณีที่มีการแก้ไขขอบเขตของงานการให้บริการ และ/หรือ ราคาประมาณการโครงการเกินกว่าที่กำหนดไว้ จะต้องมีการพิจารณาค่าบริการชดเชยส่วนที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มค่าบริการในส่วนของงบประมาณที่เพิ่มขึ้น

4. คิดค่าบริการวิชาชีพแบบต้นทุนบวกค่าดำเนินการ ( Cost Plus Fees)

วิธีนี้มักจะใช้กับโครงการออกแบบที่ลูกค้ายังไม่สามารถกำหนดกรอบการลงทุนที่ชัดเจน ซึ่งหมายถึงตำแหน่งที่ตั้งโครงการ ที่อาจมีหลายทางเลือก ขอบเขต และขนาดของโครงการที่ยังไม่แน่ชัด รูปแบบยังมีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามเงื่อนไขของการศึกษาการลงทุน โดยที่มีความแตกต่างค่อนข้างสูง ทำให้สถาปนิกไม่สามารถกำหนดอัตรากำลังบุคลากร และคาดการณ์แผนระยะเวลาการทำงานเบ็ดเสร็จได้ วิธีการนี้สถาปนิกจะเสนอค่าบริการวิชาชีพโดยการคำนวณต้นทุน (อัตราค่าบริการ x เวลา) บวกกับค่าดำเนินการงานในแต่ละช่วงของการตกลง

5. คิดค่าบริการวิชาชีพตามปริมาณพื้นที่ ( Built Area Fees)

วิธีนี้ใช้ในงานวางผังบริเวณ หรืองานอาคารที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน โดยใช้คำนวณจากปริมาณพื้นที่ก่อสร้างของโครงการ (หน่วยพื้นที่) คูณอัตราค่าบริการออกแบบของโครงการในแต่ละประเภท (บาท/หน่วยพื้นที่) โดยอัตราดังกล่าวสถาปนิกคิดตามต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการทำงานของแต่ละสำนักงาน ในกรณีที่ลูกค้าต้องการนำงานออกแบบนั้นๆ ไปใช้ทำการก่อสร้างซ้ำ สถาปนิกควรจะระบุข้อตกลง เกี่ยวกับมูลค่าการชดเชยในการเสนอค่าบริการวิชาชีพด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมสถาปนิกสยาม

ทั้งนี้การจะออกแบบเองหรือว่าจะจ้างสถาปนิกนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกใจของแต่ละบุคคลนะคะ ใช่ว่าการออกแบบเองจะสามารถลดงบประมาณได้มากกว่าการจ้างสถาปนิกเสมอไป เพราะในบางครั้งสถาปนิกเองจะเป็นคนช่วยตรวจดูแลขั้นตอนการก่อสร้างและการตกแต่งให้เราไปด้วยในตัว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จะช่วยตัดสินใจได้ดีกว่าเนื่องจากประสบการณ์ที่มีมากกว่าเราค่ะ ทำให้ช่วยลดปัญหา เช่น การทำไปทุบไปจนงบบานปลายได้ แ ต่การเลือกนักออกแบบควรคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ออกแบบเอาไว้ด้วย ไม่ใช่จ้างเพราะแค่ถูกแต่ไม่มีประสบการณ์นะคะ ไม่เช่นนั้น แทนที่จะสบายใจอาจจะเกิดปัญหาหนักใจได้เช่นกันค่ะ ขอให้ทุกคนโชคดีกับการตกแต่งบ้านในฝันนะคะ


ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving