ASA-2559-2-edit

สมาคมสถาปนิกสยามฯ เปิดงานสถาปนิก’59 “ASA BACK TO BASIC | อาษาสู่สามัญ” เชิญชวนสถาปนิกและผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม มุ่งเน้นให้สถาปนิกย้อนกลับสู่พื้นฐานด้านสถาปัตยกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการแข่งขันบนเวทีโลก บนพื้นที่จัดแสดงกว่า 6,000 ตร.ม. ระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี

ASA 59 ประธานแถลงข่าว_Page_01

นายพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานเพื่อเผยแพร่วิชาชีพสถาปัตยกรรมในทุกๆปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 30 โดยมีผู้เข้าร่วมชมงานปีละประมาณ 350,000 คน สำหรับงานในครั้งนี้จัดเพื่อแสดงตัวตนและความเป็นเลิศทางการออกแบบของสถาปนิกไทยในทุกสาขาวิชาชีพให้ได้รู้จัก ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ นิทรรศการ นวัตกรรมและเทคโนโลยี การอบรมสัมมนา รวมทั้งการบริการแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป

ในแต่ละปีที่ผ่านมา คณะกรรมการการจัดงานได้มีการกำหนดแนวคิดในการจัดงานที่ต่างกัน โดยมุ้งสะท้อนให้สังคมมีความเข้าใจในวิชาชีพสถาปนิก ในขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างความแข็งแกร่ง เสริมองค์ความรู้ และได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมชมงานที่จะจัดชึ้น

รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ ประธานจัดงานสถาปนิก’59 กล่าวว่า ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ASA back to basic | อาษาสู่สามัญ” โดยเน้นการกลับไปคิดถึงพื้นฐานด้านสถาปัตยกรรม (Re-thinking Architectural Basics) หมายถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักการสามัญพื้นฐานในการออกแบบ ไม่ว่าจะเกี่ยวเนื่องกับศิลปะ ความงาม วัฒนธรรม สังคม การเมือง และการสื่อสารความหมาย จุดมุ่งหมายจึงเป็นการพยายามที่จะนำเสนอพื้นฐานความคิดอันหลากหลาย และแก่นของความคิดในรูปแบบต่างๆตลอดจนแนวทางการทำงานที่มีบทบาทสำคัญในสังคมของเราทุกวันนี้

สำหรับนิทรรศการและกิจกรรมที่สำคัญในปีนี้ ประกอบด้วย

1. Basic Exhibition นิทรรศการ

  • นิทรรศการอนุรักษ์ เป็นนิทรรศการที่เล่าเรื่องน่าประทับใจในอดีตแบ่งเป็นนิทรรศการย่อยๆจัดแสดงภาพถ่ายอาคารซึ่งมีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ รวมทั้งนิทรรศการรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 นิทรรศการส่วนกรรมาธิการไทยประเพณี และนิทรรศการเครือข่ายอนุรักษ์
  • นิทรรศการ Vernadoc เป็นนิทรรศการ เล่าเรื่องชุมชนและอาคารในย่านชุมชมเก่า เพื่อสร้างความตระหนักแก่ผู้อยู่อาศัย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้เห็นถึงความสำคัญ และช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาย่านชุมชนเก่าที่เน้นกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างอาสาสมัคร นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน ผู้อยู่อาศัยในชุมชน และเครือข่ายผู้สนใจประวัติศาสตร์

2. Basic of the Present

  • นิทรรศการ Basic of The Present เป็นนิทรรศการที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน ทั้งทางด้านแนวความคิด ที่มา กระบวนการ และลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏเป็นอาคาร โดยนำเสนอผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น คัดเลือก โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • นิทรรศการ Photo Essay นิทรรศการเล่าเรื่องสถาปัตยกรรม ผ่านภาพถ่าย ในแง่มุมต่างๆ เพื่อนำเสนอมิติของงานสถาปัตยกรรม ที่เราอาจไม่มีโอกาสได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างงานสถาปัตยกรรมกับวิถีชีวิต ระบบสังคมวัฒนธรรมในปัจจุบัน
  • นิทรรศการสถาปนิกชุมชน ร่วมเรียนรู้เสน่ห์ของการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับผลงานสถาปนิกชุมชน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาด้วยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ กลุ่มวิชาชีพสถาปัตยกรรม
  • นิทรรศการสถาปัตยกรรมดีเด่น’59 นำเสนอผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น คัดเลือกโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2559
  • นิทรรศการ Universal Design นำเสนอแง่มุมของการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างทัศนคติใหม่ของการออกแบบอาคารเพื่อ ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็น เด็ก คนชรา คนพิการ และคนทั่วไป

3. Basic of the Future

  • นิทรรศการ Basic of the Future นิทรรศการที่สะท้อนมุมมองที่เรามีต่องานสถาปัตยกรรมและเมืองในอนาคต โดยจะเป็นการรวบรวมแนวความคิดจากผู้คนในวงการออกแบบและสร้างสรรค์แขนงต่างๆ ที่จะมาร่วมนำเสนอวิสัยทัศน์สู่อนาคต ผ่านสื่อหลากหลาย
  • นิทรรศการ Future of the River เป็นนิทรรศการที่บอกเล่า ความเป็นมา ความสำคัญ และความหมายขแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อวิถีชีวิตของผู้คน ในเมือง ตลอดจนแนวทางการพัฒนาสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับแม่น้ำ โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจและทำงานอย่างต่อเนื่องในการค้นหาแนวทางการพัฒนาสถาปัตยกรรมแห่งแม่น้ำ

  • นิทรรศการ Basic Bangkok Bike Network นำเสนอเรื่องราว ที่มา และแผนงานของโครงการเครือข่ายทางจักรยานในกรุงเทพ ที่สัมพันธ์กับการเจริญเติบโตและการพัฒนาของเมือง ตลอดจนวิถีชีวิตและระบบสังคมวัฒนธรรมของเมือง
  • นิทรรศการ Future City Lab นำเสนอผลงานที่เล่าเรื่องราวเมืองแห่งอนาคต จากสถาบัน Swiss Federal Institute of Technology in Zurich

4. Basic ASA

  • 100 Selected Projects เป็นนิทรรศการหลัก เพื่อแสดงศักยภาพของสถาปนิกไทย มีจุดประสงค์เพื่อสร้างภาพรวม และการแสดงตัวตน ครั้งใหญ่ของสถาปนิกทั้งประเทศ ให้เกิดความเคลื่อนไหวแบบก้าวกระโดดในวงการสถาปนิกไทย
  • นิทรรศการ ASA Competition นิทรรศการแสดงผลงานการประกวดแบบในระดับนานาชาติ ASA International Design Competition
  • นิทรรศการสถาบันการศึกษา เป็นนิทรรศการที่มุ่งหมายให้เป็นที่แสดงฝีมือของเหล่านิสิต นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อยกระดับแสดงความเป็นเลิศในหลายทิศทางของนิสิต นักศึกษา

 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ Basic Activities: กิจกรรม ASA Club  ASA Shop       Book Shop หมอบ้านอาษา  ลานกิจกรรม  ASA Night และ Basic Elements องค์ประกอบอื่นๆ อาทิ ASA Forum + ASA Seminar งานสัมมนาวิชาการ โดยนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมทั้งใน-ต่างประเทศ  ASA Competition การประกวดแนวความคิด Publication Folder  | Back to Basic หนังสือที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ Theme งานเพื่อแสดงความคิดทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยในปัจจุบัน

ASA 59 ประธานแถลงข่าว_Page_04_resize

นายชาตรี มรรคา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  ผู้จัดงาน กล่าวว่า  งานสถาปนิก ถือเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางด้านสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จัดมาอย่างต่อเนื่องถึงครั้งที่ 30  พร้อมการันตีงานด้วยมาตรฐานสากล ‘UFI Approved Event’ จากสมาคมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าโลก  เป็นการรับรองศักยภาพของงานสถาปนิก ’59   ในฐานะงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ทั้งด้าน มาตรฐานการจัดงาน ผู้เข้าร่วมแสดงสินค้า  และจำนวนผู้ชมงาน

และสำหรับงานสถาปนิก ’59  ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 30 นี้ ในส่วนของการจัดแสดงเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ก็ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศในการเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 800 ราย ทั้งไทยและต่างประเทศ บนพื้นที่ 75,000 ตารางเมตร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้พื้นที่ส่วนแสดงสินค้าของผู้ประกอบการต่างชาติมีเพิ่มขึ้นกว่าทุกปี  ประมาณการณ์ว่าสัดส่วนผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศจะมีถึง 25% หรือ 200 ราย  เพิ่มขึ้นจากงานครั้งก่อนประมาณ 7%

นอกจากนี้  ยังถือเป็นครั้งแรกของวงการจัดงานแสดงสินค้า ที่ผู้จัดงานฯ ได้ริเริ่มและเชิญชวนให้ผู้ร่วมจัดแสดงสินค้า  สนับสนุนแนวทางการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design Concept) ที่ถือเป็นโจทย์สำคัญในการออกแบบสิ่งแวดล้อม  สิ่งปลูกสร้าง  และสิ่งของเครื่องใช้  ที่ทุกคนในสังคมสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน  รวมทั้งการส่งเสริมในเรื่องของผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมสีเขียวสำหรับงานออกแบบและก่อสร้าง (Green Building Material) โดยการให้ความสำคัญด้วยพื้นที่จัดแสดงโซนพิเศษ