ปีแห่งมหาอุทกภัย 2554 ผ่านไป สถาปนิกย่อมต้องตื่นตัวกับการ “ออกแบบและทำความเข้าใจ” เชิงลึก เกี่ยวกับมิติของน้ำอย่างจริงจัง จนกระทั่งมาเป็นหัวข้อหลักหรือ Main Concept ของงาน Architect Expo 2012 หรือสถาปนิก 2555 ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้กำลังจะจัดขึ้นที่ เมืองทองธานี Impact / Challenger Hall 1-3 ในวันที่ 24 – 29 เมษายนนี้ครับ

นิทรรศการ “Water Brick; ก้อนน้ำ” นำเสนอข้อมูลเชิงลึกทางด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบและผังเมืองเพื่อพยายามทำความเข้าใจแต่ละมิติของ“ปริมาตรน้ำ”อย่างจริงจังและหนักแน่นผ่าน เนื้อหาทั้ง 7บท

  1. เรียนรู้จากเมื่อวาน; Learning from YESTERDAYS
  2. น้ำกับเมือง; Architecture and Cities
  3. อย่างนี้พี่เค้าก็อยู่กันได้; Thailand’s settlement with water
  4. ในหลวงกับ“น้ำ”; Our King and water
  5. ที่อื่นเค้าทำกันยังไง; Global case studies on Architecture with water
  6. อยู่อย่างนี้ก็ได้; 6 Water cities
  7. น้ำกับวันพรุ่งนี้; Visionary water architecture

1) เรียนรู้จากเมื่อวาน; Learning from YESTERDAYS
แสดงประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของคนไทยกับแหล่งน้ำธรรมชาติในอดีตตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ และวิเคราะห์ถึงโมเดลต่างๆของชุมชนที่ใช้ชีวิติอยู่กับน้ำในอดีตเช่น เรือนแพ อย่างเป็นระบบ เพื่อแสดงความสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับสถาปัตยกรรม ผังเมือง และ น้ำ อย่างเฉพาะเจาะจง

2) น้ำกับเมือง; Architecture and Cities
แสดงแนวคิดที่แตกต่างในการจัดการกับน้ำของประเทศไทยทั้งที่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะและไม่เคย ตั้งแต่การออกแบบเมือง ระบบถนน ระบบระบายน้ำ และระบบน้ำเพื่อการเกษตร ครอบคลุมแนวคิดทั้งจากนักวิชาการ หน่วยงานราชการ นักออกแบบ หรือ นักการเมือง เช่น โครงการอุโมงค์ยักษ์ของกทม. โครงการWater grid โครงการถมทะเลบริเวณอ่าวไทยเป็นต้น

3) อย่างนี้พี่เค้าก็อยู่กันได้; Thailand’s settlement with water
แสดงรูปแบบสถาปัตยกรรมและการตั้งถิ่นฐานแบบท้องถิ่นในประเทศไทย ที่ต้องพึ่งพาน้ำอย่างมีสาระสำคัญ และเป็นรูปแบบที่สถาปัตยกรรมในปัจจุบันและในอนาคตสามารถใช้เรียนรู้เป็นแบบอย่างได้ เช่น ชุมชนเกาะปันหยี ตลาดสองฤดูที่ตำบลบางลี่ ชุมชนคลองดำเนินสะดวก

4) ในหลวงกับ“น้ำ”; Our King and water
รวมรวมโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่เพื่อจัดแสดงเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบและเข้าใจง่าย เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจทั้งในภาพรวมและเชิงลึกเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในเรื่องน้ำที่สร้างประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์อย่างเป็นที่สุด

5) ที่อื่นเค้าทำกันยังไง; Global case studies on Architecture with water
แสดงตัวอย่างโครงการด้านสถาปัตยกรรม ชลประทาน และการออกแบบผังเมืองต่างๆในโลกที่ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกปัจจุบัน เช่น เมือง Ijburg ในเนเธอร์แลนด์ เมือง Venice ในอิตาลี เมือง London ในอังกฤษ

6) อยู่อย่างนี้ก็ได้; 6 Water cities
แสดงให้สังคมตระหนักว่าสถาปัตยกรรมมีศักยภาพในการสร้างสรรค์การเป็นอยู่ด้วยวิถีใหม่ ที่สร้างที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยด้วยความร่วมมือของสถานิกไทยรุ่นใหม่ 6 กลุ่ม เสนอแนวคิดของการตั้งถิ่นฐานแบบใหม่บนเมืองที่น้ำท่วม /แล้งซ้ำซาก ได้แก่ น่าน นครสวรรค์ อยุธยา กรุงเทพมหานคร หาดใหญ่นครราชสีมา

7) น้ำกับวันพรุ่งนี้; Visionary water architecture
สร้างจินตนาการ และส่งเสริมการหาทางออกสำหรับการอยู่อาศัยกับสถานการณ์น้ำที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยการจัดประกวดแนวคิดทางด้านสถาปัตยกรรมในอนาคตที่มีการคำนึงถึงเรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญ