สำหรับคนที่กู้บ้าน อาจได้รับการเชิญชวนจากธนาคารให้ทำประกัน MRTA คู่กับการขอสินเชื่อ เพื่อให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ซึ่งหลายคนก็คงเริ่มสงสัยว่า “การทำประกันพ่วงกู้บ้าน” จำเป็นแค่ไหน และความคุ้มครองที่ได้รับคืออะไร วันนี้เรามีบทความพิเศษจาก Plus Property มาฝากกันค่า

รู้จักประกัน MRTA
MRTA (Mortgage Reducing Term Assurance) หรือประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ คือ ประกันชีวิตประเภทหนึ่งที่มีจุดประสงค์อยู่ที่การประกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ โดยให้คุ้มครองสินเชื่อของผู้กู้ซึ่งในกรณีนี้คือสินเชื่อบ้าน ทำให้แม้ว่าจะเกิดเหตุต่อชีวิตผู้กู้ก็ไม่กระทบต่อการผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน เพราะบริษัทรับประกันจะทำหน้าที่ผ่อนชำระหนี้แทนผู้กู้เอง โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาคุ้มครองและวงเงินประกันที่ผู้กู้เลือกทำประกันเอาไว้

ประเภทและรูปแบบของประกัน MRTA
ในการทำประกัน MRTA นั้นผู้ทำประกันสามารถเลือกความคุ้มครองวงเงินและระยะเวลาคุ้มครองได้ เช่น คุ้มครองเต็มวงเงิน และตลอดระยะเวลากู้ หากวงเงินกู้ 3 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 30 ปี ก็จะได้รับความคุ้มครองเต็ม 3 ล้านบาท และเต็มระยะเวลา 30 ปี แต่หากเลือกความคุ้มครอง 70% ของวงเงินกู้และ 70% ของระยะเวลากู้ ก็จะได้รับความคุ้มครองวงเงิน 2.1 ล้านบาท และคุ้มครองช่วงระยะเวลา 21 ปีแรก เป็นต้น

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับรูปแบบของการประกัน เช่น การประกันแบบที่จำนวนเงินเอาประกันภัยคงที่ ซึ่งไม่ว่าระยะเวลาจะผ่านไปจำนวนเงินเอาประกันก็ไม่ลดลงตามยอดหนี้ หรือการเอาประกันแบบที่จำนวนเงินเอาประกันภัยลดลง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปความคุ้มครองลดลงตามภาระหนี้ที่ลดลง เป็นต้น

ความคุ้มครองที่ได้รับจากประกัน MRTA
ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อมุ่งเน้นการให้ความคุ้มครองความสามารถในการชำระหนี้สินเชื่อบ้านแก่ผู้เอาประกัน โดยจะชำระหนี้แทนผู้เอาประกันเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต ทั้งในกรณีที่เป็นการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ รวมไปถึงกรณีที่ผู้เอาประกันไม่ได้เสียชีวิต แต่ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ซึ่งทำให้ไม่สามารถหารายได้มาผ่อนชำระสินเชื่อได้

ความคุ้มค่าในการทำประกัน MRTA
เมื่อกล่าวถึงความคุ้มค่าที่นอกเหนือจากความคุ้มครองที่ผู้กู้จะได้รับจากการเลือกทำประกันก็คือการได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติสำหรับลูกค้าที่ไม่ทำประกัน โดยมีส่วนต่างอยู่ระหว่าง 0.25% – 0.50% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่านี้มีส่วนจูงใจให้ผู้กู้ตัดสินใจทำประกันได้ง่ายขึ้น และในมุมมองของธนาคารแล้วเมื่อมีการทำประกันก็ทำให้การให้สินเชื่อแก่ผู้กู้มีความเสี่ยงลดน้อยลงเช่นกัน แต่อย่าลืมว่าเมื่อมีการทำประกันแล้วก็มักจะมีการนำเบี้ยประกันเพิ่มเข้าไปในวงเงินกู้ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าท้ายที่สุดแล้วการทำประกันช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้จริงหรือไม่

ตัวอย่างกรณีศึกษา เปรียบเทียบดอกเบี้ยจ่ายระหว่างการทำประกัน MRTA และไม่ทำประกัน MRTA

รายละเอียดการทำประกัน MRTA

  • ผู้กู้เพศชาย อายุ 35 ปี
  • วงเงินกู้ 3 ล้านบาท
  • ทุนประกันคุ้มครองเต็มวงเงินกู้และเต็มระยะเวลากู้
  • เบี้ยประกัน 270,690 บาท

จากกรณีศึกษาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจากการทำประกัน 0.50% ในช่วงปีที่ 1-3 และ 0.25% ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไปนั้น เมื่อแลกมากับการเพิ่มวงเงินกู้ที่มากขึ้นจากการรวมเบี้ยประกันเข้าไว้ในวงเงินกู้ ทำให้สุดท้ายแล้วดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดสูงกว่าการไม่ทำประกัน ประมาณ 4.4 แสนบ้าน จึงสรุปได้ว่าการเลือกทำประกัน MRTA โดยมุ่งหวังที่จะลดดอกเบี้ยจ่ายจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงนั้นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่คุ้มค่า แต่ทั้งนี้ผู้กู้อาจจะต้องประเมินความเสี่ยงที่อาจขึ้นในอนาคตประกอบการตัดสินใจด้วย

ความจำเป็นในการทำประกัน MRTA
ผู้ขอสินเชื่อมีสิทธิในการเลือกทำหรือไม่ทำประกันโดยอิสระ ภายใต้การควบคุมจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์

ผู้กู้ก็ไม่ควรมองข้ามความเสี่ยงต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น และควรพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ตามความเป็นจริง ในกรณีที่ตนเองจะไม่สามารถผ่อนบ้านต่อไปได้ เช่น เสียชีวิตหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถทำงานหารายได้ โดยตั้งคำถามกับตัวเองว่าบ้านหลังนี้ยังมีความจำเป็นสำหรับการอยู่อาศัยของสมาชิกครอบครัวหรือไม่ จำเป็นที่จะต้องผ่อนบ้านหลังนี้ต่อไปจนจบหรือไม่หากตนเองเสียชีวิต ถ้าหากได้คำตอบว่าบ้านหลังนี้จำเป็นสำหรับครอบครัวเพราะเป็นที่อยู่อาศัยเดียวก็แสดงว่าคุณมีความเสี่ยงและควรทำประกัน MRTA เพื่อลดความเสี่ยงนั้น

และเพื่อให้ทราบว่าควรเลือกความคุ้มครองอย่างไรให้เหมาะสม ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าด้วยเงินเก็บของตัวเองที่มีอยู่จะสามารถนำออกมาใช้ผ่อนบ้านได้แค่ไหน และครอบครัวมีกำลังที่จะผ่อนบ้านแทนคุณได้มากน้อยแค่ไหน หากมีเงินเก็บมาก และสมาชิกในครอบครัวที่รายได้เพียงพอ ก็อาจเลือกทำประกันคุ้มครองวงเงินกู้เพียงบางส่วน และไม่ต้องทำประกันเต็มระยะเวลากู้

อีกทั้งหากผู้กู้มีการทำประกันชีวิตอยู่แล้วก็ให้พิจารณาทุนประกันของประกันชีวิตที่มีอยู่หากเพียงพอที่จะใช้ปิดหนี้บ้านทั้งหมดได้ก็ถือว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำประกัน MRTA อีก แต่จะมีข้อแตกต่างคือประกันชีวิตทั่วไปนั้นผู้รับประโยชน์นั้นไม่ใช่ธนาคารโดยตรง แต่คือบุคคลในครอบครัวของผู้ทำประกันโดยแบ่งผลประโยชน์กันไปตามสัดส่วนตามที่ผู้ทำประกันระบุไว้ในกรมธรรม์

การแบ่งผลประโยชน์อาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้และไม่ได้นำเงินทั้งหมดมาปิดหนี้บ้าน หรือนำมาได้เพียงบางส่วน ยังเกิดปัญหาที่จะต้องแบกรับภาระผ่อนชำระหนี้บ้าน ขณะที่ประกัน MRTA นั้นผู้รับผลประโยชน์คือธนาคารโดยตรงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเงินประกันจะถูกนำมาชำระหนี้บ้านก่อน ส่วนประกันอุบัติเหตุ (PA: Personal Accident) นั้นยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองที่ทดแทนประกัน MRTA ได้เนื่องจากคุ้มครองการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพเนื่องจากอุบัติเหตุเท่านั้น ไม่ครอบคลุมไปถึงการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย

การยกเลิกประกัน MRTA และการรีไฟแนนซ์
ประกัน MRTA นั้นสามารถเวนคืนประกันได้เช่นเดียวกับประกันชีวิตแบบตลอดชีพ กรณีที่ปิดหนี้บ้านก่อนกำหนดก็สามารถติดต่อกับบริษัทประกันเพื่อขอเวนคืนประกันได้

ส่วนกรณีที่เป็นการรีไฟแนนซ์นั้นสามารถเลือกที่จะเวนคืนประกัน หรือจะยังคงประกันเดิมไว้ก็ได้ความคุ้มครองยังคงมีอยู่โดยสามารถเปลี่ยนชื่อผู้รับผลประโยชน์จากธนาคารแห่งแรกเป็นธนาคารใหม่ได้ หรือจะเปลี่ยนเป็นชื่อบุคคลอื่นก็ได้ และยังสามารถทำประกัน MRTA ใหม่กับธนาคารแห่งใหม่อีกด้วยก็ได้ แต่จะเป็นการเกินความจำเป็น

ซึ่งถ้าหากมีการวางแผนที่จะรีไฟแนนซ์ตั้งแต่แรกแล้วในการทำประกันก็ควรเลือกทำประกันที่คุ้มครองเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องทำประกันเต็มระยะเวลากู้ ก็จะช่วยให้ลูกค้าสามารถลดเบี้ยประกันได้อีกทางหนึ่ง

Plus Tips
ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ทำประกัน MRTA โดยมีระยะเวลาเอาประกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 172 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 30 ธ.ค. 51 ซึ่งการลดหย่อนสามารถลดหย่อนได้ในปีภาษีแรกที่เริ่มทำประกันเท่านั้น เนื่องจากประกัน MRTA มีการชำระเบี้ยประกันเพียงครั้งเดียว ณ ปีที่ทำประกัน

*ข้อมูลอ้างอิงจาก

  • ใช้การคำนวณเบี้ยประกันจากธนาคารพาณิชย์เอกชน
  • อัตราดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์เอกชนกรณีซื้อบ้านจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ธนาคารกำหนด

ขอบคุณข้อมูล: Plus Property