นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการร้องเรียน และมีเสียงบ่นจากประชาชนค่อนข้างมากว่ารถไฟฟ้าทั้งใต้ดิน และบนดินเกิดเหตุขัดข้องบ่อย ทำให้การเดินทางเกิดความล่าช้า จึงได้เชิญบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาสอบถามถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น เพราะช่วงหลังเกิดขึ้นบ่อยมาก โดยได้รับการชี้แจงว่า ส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่รุนแรง ทำให้การเดินทางเกิดความล่าช้าประมาณ 10 นาที ส่วนของรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น ช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เกิดเหตุขัดข้อง 3 ครั้งคือ วันที่ 9, 15 และ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละครั้งแก้ปัญหาได้ภายใน 10 นาที และระหว่างเกิดเหตุการณ์ ได้แจ้งให้ผู้โดยสารทราบข่าวผ่านทาง ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้เกิดการขัดข้องนั้นมาจากทั้งผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการเอง เช่น เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ระบบเซ็นเซอร์บางตัวไม่ทำงาน จึงทำให้ประตูปิดไม่ได้ ซึ่งเมื่อนำไปเช็กที่ศูนย์ซ่อมปรากฏว่า มีเหรียญค้างอยู่ในร่อง บางครั้งมีหลอดยาดม ถ่านไฟฉาย และส้นรองเท้าติดอยู่ เป็นต้น
นายอาคม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้รับชี้แจงว่าในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง(บางใหญ่-เตาปูน) ที่ผ่านมาก็เกิดเหตุขัดข้องบ่อย แต่ได้ปรับแก้แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นเหตุการณ์ประตูปิดไม่ตรงกับสถานี โดยระบบสัญญาณบอกให้เบรก แต่ปรากฏว่าเบรกทำงานช้ากว่าที่กำหนดในระดับวินาที จึงทำให้วิ่งเลยประตูของสถานี แต่เร็ว ๆ นี้จะได้ซอฟต์แวร์ตัวใหม่แล้ว ก็จะแก้ปัญหานี้ได้ดียิ่งขึ้น แม้เหตุขัดข้องส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาได้ภายใน 10 นาที แต่ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นส่งผลให้การเดินทางของประชาชนล่าช้าออกไปอีก จึงกำชับให้ตรวจสอบระบบซ่อมบำรุงให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะตรวจซ่อมตลอด 24 ชม. ก็ตาม นอกจากนี้ต้องให้ข้อมูลกับผู้ใช้บริการด้วยว่าเหตุขัดข้องเกิดจากอะไร จะได้เตรียมตัววางแผนการเดินทางได้ถูกต้อง
นายอาคม กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงฯได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเผชิญเหตุตามแผนบริหารความเสี่ยงและเผชิญเหตุของระบบการขนส่งสาธารณะทางรางในกรุงเทพฯและปริมณฑล ร่วมกับ 13 หน่วยงาน อาทิ กทม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงาน กสทช. กรมประชาสัมพันธ์ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร บีอีเอ็ม และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน ) หรือ บีทีเอสซี โดยหลังจากนี้หากเกิดเหตุการณ์ขัดข้องที่ต้องทำให้หยุดการเดินรถ และการเดินทางที่ล่าช้าออกไปตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไป จะต้องแจ้งข้อมูลเข้ามาที่ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม เพื่อจะได้วางแผนเตรียมพร้อมรองรับหากแก้ปัญหาไม่ได้ หรือต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหานาน ก็จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้ประชาชนตกค้างอยู่ที่สถานี เช่น ใช้รถเมล์ ขสมก. เข้าไปช่วยรับคนที่สถานี เป็นต้น อย่างไรก็ตามในเร็ว ๆ นี้ จะมีการซักซ้อมเมื่อเกิดเหตุการณ์ขัดข้องในห้องปฏิบัติการร่วมกันด้วย.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์