นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคมเปิดเผยว่า กระทรวงได้จัดงานสัมมนาทดสอบความสนใจนักลงทุน (Market Sounding) โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม
โดยการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ มีสาระเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่โครงการ เชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางและสิทธิการ พัฒนาพื้นที่รอบศูนย์กลางการคมนาคม (โซน D) ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ติดกับเจเจมอลล์ (จตุจักร) และไอสแควร์ในปัจจุบัน เนื้อที่รวมกว่า 83 ไร่ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ประมาณ 1,065,920 ตารางเมตร
ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ใจกลางเชื่อมต่อระหว่างแนวแกนทางเดินเท้าทั้งแบบเหนือดินและบนดิน ระหว่างสถานีระบบขนส่งทางรางต่างๆ รวมถึงสถานีขนส่งย่อย บขส. โดยทางเท้าเชื่อมต่อแบบเหนือดิน(skywalk) ที่เชื่อมต่อหลักกับสถานีกลางบางซื่อ, สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต และสถานีรถไฟ ใต้ดินจตุจักร (ระยะทาง 1.3 กม.) ทางเดินเชื่อมต่อระดับดินลงไป ยังสถานีย่อย บขส. (ระยะทาง 1.4 กม.) ทั้งนี้มูลค่าการลงทุนรวมของโครงการเชื่อมต่อ การเดินทางประมาณ 1,000 ล้านบาท หากประเมินมูลค่าการพัฒนาพื้นที่โซน D เต็ม ศักยภาพประมาณ 1 ล้านตารางเมตรแล้วก็คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนรวมสูงกว่า 20,000 ล้านบาท
โดยขั้นตอนต่อไป การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ในฐานะหน่วยงาน เจ้าของพื้นที่ จะต้องนำเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติการร่วมทุนกับเอกชนจะต้องผ่านกระบวนการ ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2556 และจะเป็นผู้ประกาศให้เอกชนร่วมลงทุนในลักษณะการให้สิทธิเอกชนระยะยาวในการใช้พื้นที่รวมถึงการให้เอกชนร่วมลงทุน(PPP) ต่อไป
จากนั้นหลังจากได้ข้อคิดและความเห็นจากทางภาคเอกชนแล้วทาง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) จะมีการรวบรวมข้อมูล และจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ว่าแผนงานที่ วางแผนไว้เดิมสอดคล้องกับภาคเอกชนหรือไม่ เพื่อให้สามารถตอบสนองแรงจูงใจ ของเอกชนในการลงทุน คาดว่าในช่วงเดือนก.ค. 2559 จะทำการรวบรวมข้อมูล และทำศึกษาการลงทุนทั้งหมดของโซน D แล้วเสร็จและจะนำเสนอกระทรวงคมนาคม ช่วง ก.ค.-ส.ค.นี้ เพื่อให้เห็นชอบและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ต่อไป ส่วนจำนวนปีที่จะให้สัมปทานจะต้องมีการพิจารณาในเรื่องของผลการศึกษาและ ผลตอบแทนการเงินที่จะได้รับด้วย
ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า เอกชนสนใจพัฒนาพื้นที่นี้ แต่ต้องรอความชัดเจนของภาครัฐมากกว่านี้ เพราะถ้าเปิดบริการแล้ว แต่ความต้องการของผู้บริโภคไม่เกิดขึ้นอาจทำให้เอกชนขาดทุนได้ และเอกชนเห็นว่าสัญญาเช่าพื้นที่ 30 ปี น้อยเกินไป สำหรับโครงการขนาดใหญ่ ควรเพิ่มเป็น 50 ปีขึ้นไป เพื่อให้เอกชนมั่นใจในการลงทุนร่วมกับภาครัฐมากขึ้น
นอกจากนี้ ภาคเอกชนเห็นว่า อาคารในพื้นที่โซน D ควรเชื่อมต่อกันทั้งหมด เพราะถ้าต้องการให้ศูนย์คมนาคมพหลโยธินเป็นศูนย์กลางการขนส่งของกรุงเทพฯ แห่งใหม่ ต้องทำให้ครบรูปแบบ โดยให้รถไฟฟ้าใต้ดินและบนดินเชื่อมต่อกันในตัวอาคาร และภายในตัวอาคาร รวมทั้งพื้นที่ระหว่างทางเดิน ควรเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์
ที่มาข่าว: แนวหน้า