การเคหะแห่งชาติร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ 4 แห่ง จัดสัมมนาเผยแพร่ “โครงการศึกษาวิจัยเพื่อจัดการความรู้เรื่องอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านที่อยู่อาศัยของท้องถิ่น กรณีศึกษาพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก” โดยมี นายบัญชา บัญชาดิฐ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องบอลรูม ชั้น 3 โรงแรม เดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายบัญชา บัญชาดิฐ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญของเรือนไทยพื้นบ้านดั้งเดิมที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสูญหาย เนื่องจากวิชาช่างในการสร้างเรือนพื้นถิ่นไม่ได้รับความสนใจและไม่ได้รับการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อรักษาภูมิปัญญาด้านที่อยู่อาศัยที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้มิให้สูญหายไป รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เข้าใจ และเกิดความภาคภูมิใจในคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านที่อยู่อาศัยในฐานะสมบัติของชาติ การเคหะแห่งชาติจึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดำเนิน “โครงการศึกษาวิจัยเพื่อจัดการความรู้เรื่องอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านที่อยู่อาศัยของท้องถิ่นกรณีศึกษาพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก” เพื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตการอยู่อาศัยในทุกมิติ รวมทั้งการจัดการความรู้เรื่องที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตการอยู่อาศัยด้านมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมในมิติของชาติพันธุ์ การตั้งถิ่นฐาน สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคล เช่น ปราชญ์ท้องถิ่น หรือเอกสาร มาพัฒนาสร้างสรรค์เป็นสื่อชุดองค์ความรู้เรื่องที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตการอยู่อาศัยที่เป็นรูปธรรม โดยจัดทำในรูปแบบสื่อมัลติมีเดีย (Multimedia) และเว็บเพจ (Webpage) ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual Museum) สำหรับเผยแพร่ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้กับหน่วยงานต่างๆสถาบันการศึกษา และประชาชนที่สนใจได้สามารถเข้าถึงความรู้ และเกิดความตระหนักถึงคุณค่าด้านมรดกภูมิปัญญาที่อยู่อาศัย รวมถึงใช้เป็นข้อมูลสารสนเทศอันจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดองค์ความรู้งานวิจัยอื่นๆ ตลอดจนใช้เป็นแนวทางการจัดทำศูนย์เรียนรู้ด้านที่อยู่อาศัยของประเทศไทย
ทั้งนี้ จากการสำรวจเรือนในพื้นที่ภาคเหนือบริเวณเขตจังหวัดน่าน และจังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่า มีอายุเรือนเฉลี่ย 68.73 ปี แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ กลุ่มเฮือนบะเก่า (เรือนแบบโบราณ) สองจ๋องจั่วแฝด, กลุ่มเฮือนบะเก่าจ๋องเดียวจั่วเดี่ยว (แบบมีครัวไฟด้านข้างหรือด้านหลัง), กลุ่มเฮือนบะเก่าจ๋องเดียวจั่วเดี่ยว (แบบมีชานเชื่อมหลองข้าว), กลุ่มเรือนร้านค้า, กลุ่มผังพื้นแบบเรือนไทยภาคกลาง กลุ่มเฮือนเกย และกลุ่มอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ยกพื้นสูงใต้ถุนโล่ง บันไดทางขึ้นเรือนอยู่ภายนอก แม้แต่เรือนสองชั้นก็ทำเป็นเรือนยกพื้นสูงใต้ถุนโล่งเช่นกัน โดยโครงสร้างเรือนที่ทำการศึกษาทั้งหมดเป็นระบบเสาคาน ทำด้วยไม้ กลุ่มเรือนบางหลังยังใช้ระบบการเข้าไม้และยึดโครงสร้างด้วยวิธีโบราณก่อนยุค Nut & Bolt คือใช้เทคนิคที่เรียกว่า “การสวมขื่อสวมแป” ยึดด้วยสลักเดือยไม้และการแปรรูปไม้ก่อนยุคเลื่อยไม้ คือ การใช้ขวานหรือมีดบากไม้จนได้รูป มีเพียงเสารับพื้นชั้นล่างทำเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหรือก่ออิฐแบบโบราณไม่เสริมเหล็กในบางหลัง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรือนพื้นถิ่นน่านและลับแล บางหลังมีโครงสร้างหลังคาเป็นไม้ ส่วนวัสดุมุงหลังคาพบว่า มีทั้งสังกะสีโบราณ และกระเบื้องซีเมนต์สำหรับเรือนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณเขตจังหวัดนครราชสีมา พบว่า มีการผสมผสานกลมกลืนและปรับตัวทางวัฒนธรรมของหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ ได้แก่ ไทโคราช ไทลาว ไทยวน และมอญ
แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เรือนจั่วเดี่ยว เรือนจั่วแฝด และเรือนสามจั่ว ซึ่งมีลักษณะร่วมด้านรูปแบบทางสถาปัตยกรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง รวมทั้งมีอัตลักษณ์ย่อยของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ปรากฏอยู่ อาทิ แบบแผนการเจาะช่องประตูส่วนเรือนนอน ส่วนภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปลูกสร้างเรือนพื้นถิ่นและวิถีการอยู่อาศัยมีทั้งมิติที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้วัสดุในการก่อสร้างและวิธีการก่อสร้าง อาทิ การใช้ระบบผนังสำเร็จรูป การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเรือนที่เกิดจากการขยายเรือนเพิ่ม
ด้านเรือนในพื้นที่ภาคกลางบริเวณเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า ลักษณะเรือนเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง และเกือบทั้งหมดในอดีตเป็นเรือนไทยแบบประเพณีที่มีนอกชาน โดยเรือนในปัจจุบัน ประกอบด้วย เรือนประธาน 1 หลัง และมีการต่อเติมหลังคาและผนังเพื่อปิดนอกชานเดิมในรูปแบบต่างๆ โดยส่วนใหญ่เรือนประธานของทุกหลังจะมีอายุมากกว่า 100 ปี ส่วนองค์ประกอบของเรือนในพื้นที่ชั้นบน ประกอบด้วย เรือนประธาน โถง พื้นที่ห้องนอน ระเบียง พื้นที่ทำครัว และห้องน้ำ ซึ่งเรือนทั้งหมดมีการวางตามยาวของเรือนตามแนวแม่น้ำและเรือนในพื้นที่ภาคตะวันออกบริเวณเขตจังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ เรือนชาวประมง ผู้อยู่อาศัยประกอบอาชีพประมง (ถิ่นฐานทะเล) เรือนชาวประมง ผู้อยู่อาศัยประกอบอาชีพประมงและแปรรูปสินค้า (ถิ่นฐานทะเล) เรือนแพ (ถิ่นฐานบกและลุ่มน้ำ) เรือนไทพวน (ถิ่นฐานบกและลุ่มน้ำ) เรือนแถวไม้ (ถิ่นฐานทะเลและสวนผลไม้) และเรือนชาวสวน (ถิ่นฐานทะเล) พบว่าอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านที่อยู่อาศัยของท้องถิ่นมีการผสมผสานกันอย่างหลากหลายและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา อันเกิดจากการปรับตัวของชาวบ้านให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติและบริบทของสังคมวัฒนธรรมรูปแบบใหม่