การเคหะแห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดสัมมนาการศึกษาการคาดประมาณความต้องการที่อยู่อาศัยประเทศไทย ปี 2560 – 2580″ โดยมี นายดุลมลชัย วิวัฒน์บวรวงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัย พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของผู้เข้าสัมมนา โดยจะนำกลับมาปรับปรุงแก้ไขงานวิจัยดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ โฮเทล กรุงเทพฯ

นายดุลมลชัย วิวัฒน์บวรวงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน ทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงแนวโน้มการเจริญเติบโตและการขยายตัวของเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชน ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความต้องการที่อยู่อาศัยที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ การเคหะแห่งชาติจึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนิน การศึกษาการคาดประมาณความต้องการที่อยู่อาศัยประเทศไทย ปี 2560 – 2580″ เพื่อจัดทำแบบจำลองคำนวณความต้องการที่อยู่อาศัยที่เป็นมาตรฐานที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งแบบจำลองดังกล่าวสามารถเพิ่มเติมตัวแปรใหม่ๆ ได้ตามสถานการณ์และช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป เพื่อใช้คำนวณหาความต้องการที่อยู่อาศัย       ในอนาคต ซึ่งความต้องการที่อยู่อาศัยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ รายได้ ราคาที่อยู่อาศัย อัตราดอกเบี้ย ภาวะ    เงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน เป็นต้น โดยการเคหะแห่งชาติจะนำผลการคำนวณที่ได้ไปกำหนดนโยบายและวางแผนการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติในการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่อไปในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.ฉวีวรรณ เด่นไพบูลย์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงผลการศึกษาที่ได้พบว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยขั้นพื้นฐาน (Housing Needs) นั้น ประกอบไปด้วย กลุ่มครัวเรือนที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยหรือยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยปัจจุบัน ซึ่งพบว่ามีจำนวน 5,070,024 ครัวเรือน ( ปี 2559) จากการคำนวณพบว่ากลุ่มดังกล่าวมีความต้องการที่อยู่อาศัยจำนวน 1,300,346 ครัวเรือน และกลุ่มความต้องการที่อยู่อาศัยจากครัวเรือนที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต โดยมีความน่าจะเป็นที่      มีความต้องการที่พักอาศัยใหม่ (New Housing Need) จำนวน 2,904,348 ครัวเรือน แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งที่มีปัญหาและไม่มีปัญหาด้านรายได้ สุขภาพ ขาดคนดูแล ซึ่งน่าจะมีความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ จำนวน 908,448 ครัวเรือน, กลุ่มแรงงานนอกภาคการเกษตรที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งน่าจะมีความต้องการที่อยู่อาศัย จำนวน 1,515,514 ครัวเรือน, กลุ่มหย่าร้าง ซึ่งน่าจะมีความต้องการที่อยู่อาศัย จำนวน 307,746 ครัวเรือน, กลุ่มครัวเรือนที่มีสมาชิกเป็นผู้พิการ ซึ่งน่าจะมีความต้องการที่อยู่อาศัย จำนวน 155,304 ครัวเรือน, กลุ่มที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มบ้านจัดสรร (Family unit) ซึ่งน่าจะมีความต้องการที่อยู่อาศัย จำนวน 317 ครัวเรือน และกลุ่มที่เพิ่มขึ้นจากอาคารชุดและแฟลต (Single unit) ซึ่งน่าจะมีความต้องการที่อยู่อาศัย จำนวน 17,019 ครัวเรือน

ทั้งนี้ บทบาทหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติในอนาคตควรเน้นภารกิจด้านการพัฒนาเมืองเป็นผู้นำทางด้านการวางแผนเมือง ที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน รวมถึงสร้างโครงการพื้นฐานทางกายภาพให้เข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น และด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย อาทิ จัดหาและสร้างที่อยู่อาศัยทั้งในรูปแบบเช่าและเป็นเจ้าของให้แก่กลุ่มครัวเรือน          ผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ การจัดสร้างที่อยู่อาศัยใหม่สำหรับผู้สูงอายุ ส่งเสริมการเพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยที่มีอยู่แล้ว ให้มีสภาพชุมชนที่น่าอยู่อาศัยและสามารถเข้าถึงความเป็นเจ้าของได้ เช่น บ้านมือสอง บ้านเช่าในตลาดภาคประชาชน   เป็นต้น ตลอดจนบทบาทในด้านอื่นๆ อาทิ เป็นตัวกลางส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย โดยร่วมมือกับหน่วยงานของภาครัฐในการวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย การจัดหาที่ดินเพื่อจัดสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบเช่า และการสร้างโอกาสทางด้านการเงินให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มากขึ้น เป็นต้น

ลงทะเบียนรับหนังสือเล่มใหม่ “อยู่ แถว ไหน ดี?” แล้วมาเจอกันที่งาน Think of Living Living Expo 2017
17 – 20 ส.ค. นี้ บริเวณชั้น 1 สยามพารากอน นะคะ   *หนังสือมีจำนวนจำกัด* คลิกเพื่อลงทะเบียน