หากคุณเป็นคนนึงที่มีชีวิตประจำวันโดยอาศัยรถไฟฟ้าในการเดินทาง คงจะคุ้นตากับคอนโด High Rise เกาะตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งมีชื่อแบรนด์ว่า IDEO ปัจจุบันรวมๆ แล้วก็นับได้ประมาณ 20 โครงการ
วันนี้ Mr. Oe กับทีมงานของเรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ณ โครงการ Ideo Mobi สุขุมวิท ซึ่งปัจจุบันเสร็จสมบูรณ์เกือบ 100% และอยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่สวนส่วนกลางเกือบ 1 ไร่ เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ หรือพักผ่อนตามอัธยาศัย ..
กิจวัตรประจำวันของคุณชานนท์ คือการเดินทางตระเวนตรวจความเรียบร้อยของแต่ละโครงการในทุกๆ เช้า วันนี้ก็เช่นเดียวกัน เรามีโอกาสได้เห็นภาพผู้บริหารหนุ่มไฟแรง เดินตรวจงานตั้งแต่ชั้นล่างมาจนถึงส่วนกลางในชั้น 14 ของทั้ง 2 อาคาร ก่อนที่จะมานั่งคุยกับเรา… ขอเริ่มบทสนทนาบางส่วน ที่ Mr.Oe นั่งคุยกับคุณชานนท์ (คุณโก้) นะคะ
Mr.Oe: คุณโก้ ครับ ผมอยากให้ ช่วยเล่าประวัติคร่าวๆ ก่อนที่จะเข้ามาวงการอสังหาฯ ให้ฟังสักนิดครับ
ครอบครัวผมทำอสังหาฯ มา ตั้งแต่ยุคคุณย่า 40 ปีมาแล้ว อาจเรียกได้ว่าอสังหาฯ ก็อยู่ในสายเลือด คุณย่าเคยพูดว่า คนจะทำอสังหาได้ ต้องมีอะไรบางอย่าง เราก็ไม่ค่อยเข้าใจว่ามันหมายความว่าไง แต่สำหรับผม อสังหาฯ ก็อยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว เพราะคุณพ่อก็มาทำต่อจากคุณย่า ทำพวกสนามกอล์ฟ High-end กรีนวัลเลย์ และ Tuscana สไตล์อิตาลี น้องผมช่วยคุณพ่อทำอยู่ ส่วนผมเองก็จับตลาดในเมือง
สำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ผมเน้นกลยุทธ์ทางการเงิน ก็คือว่าอสังหาฯ เป็น ผลผลิตของการลงทุน เน้นให้ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น แต่ว่าเนื้อๆ จริงๆ ของอสังหาฯ ก็คือลูกค้า สุดท้ายแล้วคือ เราส่งของให้ลูกค้าตามที่เขาคาดหวังได้หรือไม่ เราพยายามใช้หลักของญี่ปุ่น “ความพึงพอใจที่ลูกค้าได้รับต้องเหนือความคาดหมาย” (Costumer Delight beyond Expectation) เพื่อผลักดันทีม ผมจะท้าทายทีมตลอดเวลา…ยกตัวอย่างง่ายๆ ลูกค้าคาดหวัง 100% ถ้าเราทำให้เขาพอใจได้ 90% ผมเริ่มไม่แฮปปี้แล้ว หน้าที่ของเราควรทำได้ซัก 110% ผมสร้างความกดดันให้ทีมค่อนข้างเยอะ เช่น ผมต้องการสวนขนาดเกือบไร่กลาง Ideo สุขุมวิท มีเงื่อนไขหลายข้อมากที่ต้องหารือกับนิติฯ ผมก็พยายามผลักดันให้ได้ ผมเป็นลูกค้าเบอร์หนึ่งขององค์กรผม ถ้าผมต้องการทุกคนต้องทำให้ได้ ซึ่งสะท้อนภาพลักษณ์ของเรา อนันดาฯ ต้องการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้ลูกค้า และทีมงานของเราจะต้องทำทุกอย่างด้วยใจจริงๆ
สำหรับลูกค้า อสังหาฯคือ อารมณ์ ความรู้สึก เราสร้างความพึงพอใจลูกค้าได้รึเปล่า แล้ว…มีสื่อเป็นเสียงสะท้อน ความหวังของเราก็คือว่า เราสามารถทำสินค้าที่เหนือความคาดหวังของลูกค้า ผมจะให้ลูกน้องลงมือทำไปก่อน กระทั่งถึงจุดๆ นึง ยังไม่ค่อยพอใจ ผมถึงต้องลงเอง นั่นคือว่าภาวะผู้นำ ก็ต้องฟันธงบางจุด ผมไม่ใช่นักบัญชี ให้ CFO มารันบริษัท CFO บอกว่า งบหมดแล้วครับ แต่เราไม่ใช่ เราต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่าง ผู้ถือหุ้น บอร์ด งบ ความพึงพอใจ คุณภาพ และลูกค้า Forward Streetbuzz ของอนันดาคืออะไร ใครจะพูดถึงเราว่าอย่างไร
Streetbuzz ควรจะบอกว่า Ideo อนันดา ทำอะไรแล้วมีความเป็นศิลปะตลอดว่า เป้าหมายของเราคือการส่งมอบพร้อมความพึงพอใจสูงสุด ผมจะแซวลูกน้องตลอดเวลาว่าทุกคนมี KPI ของตัวเอง แล้วคุณจะไปบี้ลูกค้า ส่งจดหมาย นัดโอน แล้วคุณจะยังไงล่ะ ชีวิตคุณหากินอย่างงี้แล้วเหรอ ถ้าคุณจะหากินกับชีวิตอย่างนั้น มันเป็นชีวิตที่ไม่ดีนะ หากินกับตอนส่งมอบ ผมอยากให้คนทั้งองค์กร ทำทุกอย่าง “beyond my expectation” ซึ่งก็ค่อนข้างยาก เพราะลูกน้องระดับกลาง-ล่างก็ไม่ได้รู้สึกร่วมกับเรา เขาก็โดน KPI มาแล้วว่า จะปิดไตรมาสนี้ต้องเร่งโอน ก็บี้ลูกน้อง
Mr.Oe: เรื่องนี้ ผมค่อนข้างแปลกใจนะ เพราะว่าคนภายนอกน่าจะมองคุณโก้ เหมือนเป็นมือ Finance ซะมากกว่า
แกน finance เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุด เพราะเกมที่เราเล่นมันเป็นเกมส์การเงิน สำคัญมากในการบริหารทรัพยากร ถ้าไม่มีทรัพยากรให้บริการ เราก็ไม่สามารถตระหนักถึงสิ่งที่กระทำได้ ต้องสวมหมวกหลายใบมาก หน้าที่ของ CEO คือ การทำให้ทุกอย่างมันสมดุล หนักไปฝั่งหนึ่ง ไม่สนใจงบเลย แล้วจัดการงบไม่เป็น ทรัพยากรการเงินก็ไม่อยู่กับเราแล้ว มันก็ต้องสมดุลกัน เราต้องดูทุกอย่างให้ครบ 360 องศา แล้วทุกคนจะภูมิใจกับ “ความเป็นอนันดา”
วิญญาณของบริษัท ขับเคลื่อนด้วยตัวมันเอง ไม่ต้องเป็น CEO หรอก ทุกคนจะรู้ได้ในทัศนคติตัวเอง ว่าเราสื่อถึงอะไร เราส่งอะไรให้ shareholder และลูกค้า เราให้สิ่งที่เหนือกว่าความคาดหวังกับเค้ารึเปล่า สมมติปีนี้เราบอกว่ากำไรพันล้าน ก็ทำให้ 1,100 ทุกส่วนต้องประสานส่งต่อกันเอง เพื่อนร่วมงานคาดหวังเท่านี้ แต่เราให้มากกว่านั้น องค์กรต้องพัฒนา หลังจากอนันดาฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์แค่ปีเดียว ผลที่ออกมาก็ค่อนข้างน่าพอใจ แต่ผมก็ยังมีความฝันอยากให้สังคมไทยรับรู้สิ่งที่เราต้องการทำ…มันเป็นจุดเริ่มต้นของเราเท่านั้นเอง
Mr.Oe: ที่ผ่านมา ความเป็น Ananda ค่อนข้างชัดเจนมาก ในเรื่องของทำเล โดยโครงการจะเกาะแนวรถไฟฟ้าทั้งหมด แล้วพออนันดาฯเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว แผนในระยะ 4-5 ปี จะเป็นอย่างไรต่อไปครับ
ผมมองตัวอนันดาเอง จริงๆ ผลพยายามเสนอให้ทัศนคติของทีมระดับบริหาร มองให้เราเป็น “Financial Service Company” คล้ายๆ เป็นโรงงานอุตสาหกรรมของอสังหาฯ เน้นคอนโด ในพื้นที่การตลาดถือว่าเราเป็นผู้นำตลาดรถไฟฟ้า ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี เราก็ซื้อที่เก็บไว้ แต่ยังไม่อยากประกาศ ขอเก็บเป็นความลับของเราก่อน แต่ต้องพยายามนึกสภาพว่า มีสร้างโรงงาน ปรับตรงนั้น ให้สายพานการผลิต ผลิตสินค้าให้ลูกค้าพอใจให้ได้ แต่ผมต้องบินสูงขึ้นมาอีก คือเรามองว่าในเกมส์การเงิน เราไม่ได้มอง Residential อย่างเดียว เรามอง Retail Community Space และมิกซ์ยูส เราเป็นพาร์ทเนอร์กับ Mitsui Fudosan บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่จากญี่ปุ่น อย่างโครงการกลางเมือง เราก็กำลังศึกษาอยู่ วางแผนไว้ว่าจะทำ
ในที่สุดแล้ว ผมมองว่าโรงงานของอนันดา คืออสังหาฯ สำหรับ Residental แต่ในพื้นที่ Commercial ก็มีโอกาสกระจายการลงทุน อย่าง Mitsui Fudosan รายได้ของเขา 40% มาจาก retail 30% มาจาก commercial 30% มาจาก residential space ผมพยายามมองไปอีก 10 ปีข้างหน้า เราอาจมีเพิ่มในส่วนโรงแรม หรือสำนักงาน เราเองก็มีหลายกลยุทธ์ที่เรากำลังปั้นกันอยู่ งานผมก็ค่อนข้างเยอะพอสมควร หลักๆ ก็คือต้องปรับ ระบบภายในของอนันดาฯ ให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้
Mr.Oe: ทางอนันดา วางแผนรับมืออย่างไรกับ AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้ครับ
ถ้ามองทางด้านอสังหาฯ ส่วนตัวชอบระบบพื้นฐานการขนส่ง หรือ Infrastructure เพราะว่ามูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ผันตามโครงสร้างพื้นฐาน ยกตัวอย่างง่ายๆ มีที่ดิน สมมติที่ดินโล่งๆ มือซ้ายไม่มีถนน มือขวามีถนนก็ต้องเลือกมีถนนแน่นอน เอาใหม่ข้างซายมีถนน ข้างขวามีถนนและรถไฟฟ้า เลือกอันไหนครับ ก็ต้องเลือกรถไฟฟ้า ของธรรมดา ถ้าเราขยายงานใน AEC เราไปไหน ก็ถามว่าโครงสร้างพื้นฐานมันอยู่ตรงไหนล่ะ รถไฟฟ้าในอนาคต ทางด่วนอยู่ตรงไหน มูลค่าของที่ดิน มันเกิดขึ้นจากจุดๆ นั้น เราคุยกับ Mitsui Fudosan ว่าอีก 10 ปี ข้างหน้า เราจะเป็น Modern International Company กระจายออฟฟิศตามประเทศต่างๆ ในอาเซียน
Mr.Oe: กลับมาสู่ปัจจุบันกันบ้างครับ ในสภาวะทางการเมืองเช่นนี้ ทางอนันดามีการปรับตัวในการทำงานยังไง
ผมว่าเราเห็นตั้งแต่ต้นปีอยู่แล้วว่า เกมส์ที่เราเล่นเนี่ย มันก็ไม่ได้แปลกใหม่สำหรับสังคมไทย ก็เป็นอย่างงี้มาตั้งนานแล้ว ปี 06 ก่อนนั้นเราก็เจอ ซาร์ ไข้หวัดนก ซึนามิ เศรษฐกิจตกต่ำ น้ำท่วม เจออะไรหลายๆ อย่าง ผมว่าในการบริหารความเสี่ยง กลยุทธ์ของเราเล่นยังไง 1 อย่างแรกที่ผมมองคือ finance เกมส์การเงินแล้ว ทรัพยากร มองเป็นเสบียง มองง่ายๆ หมู่บ้านพายุเข้าทำยังไง ก็เสบียงคุณมีเท่าไหร่ ทรัพยากรเลี้ยงคนได้รึเปล่า เลี้ยงคนในหมู่บ้านได้รึเปล่า คนในหมู่บ้านคือใคร 1) พนักงานของตัวเอง2) stakeholder ก็เป็นลูกค้าคุณ เลี้ยงดูเขายังไง พยายามต้องเข้าใจว่าทรัพยากรตรงนั้นสำคัญที่สุด แล้วกลับมามองว่าทรัพยากรอื่นๆ ที่เราต้องบริหารคืออะไร พายุเข้า แต่อาจมีโอกาสออกไปจากหมู่บ้านตัวเอง ออกไปล่ารางวัลต่างๆ แต่ล่ามาเก็บไว้ก่อน ก็อย่างที่เราทำคือซื้อที่ดินเก็บไว้ ฟ้ามันเปิดเมื่อไหร่ พนักงานในหมู่บ้านที่ต้องออกรบคือกองหน้าของเรา ผมบอกว่าเข้ายิม ฟิตไว้ก่อนนะ แล้วเวลาตีกองออกรบเมื่อไหร่ คุณพร้อมรึเปล่า ฟ้าเปิดเมื่อไหร่ก็จะถึงเวลา
ประมาณการณ์ไว้ว่า Q4 ก็น่าจะได้ตีกลองออกรบ เห็นซีรีย์ใหม่ ผมท้าทายตัวเองและลูกน้องตลอดเวลา อย่างเช่นคุณเปิดไพ่ให้สังคมดู ว่าคุณถืออะไรไว้อยู่ แล้วเปิดออกมาวิธีเปิดคุณเปิดยังไง เปิดซีรีย์ออกมายังไง สังคมจะจดจำคุณยังไง หน้าที่ของเราก็ต้องสร้างความตื่นเต้นให้ตลาด
Mr.Oe: อยากให้คุณโก้ ช่วยฝากข้อแนะนำในการซื้อบ้านหลังแรก สำหรับคนที่กำลังจะมองหาซื้อบ้านครับ ว่าควรมีหลักในการเลือกอย่างไร
อันนี้มองในเชิงส่วนตัวนะครับ อสังหาฯ เป็นทรัพย์สินที่ควรมีการจัดการที่ดี เพราะมันรักษา “มูลค่า” อย่างเราซื้อรถยนต์ ใช้ไป 5 ปี เหลือ 3 แสนรึเปล่า มันไม่รักษามูลค่า เหมือนที่ดิน มันเผาเงิน ในความตั้งใจของผม คนที่สร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ ใช้ชีวิตด้วยการเผาเงินไม่ได้ เราต้องเป็นคนที่ฉลาดในการใช้เงิน กลับมาดูว่าอสังหาฯ ถ้ามีทัศนคติอย่างงั้น อสังหาฯ ควรจะเป็นอะไรที่สามารถรักษามูลค่าได้ อย่างน้อย ซื้อบ้าน/คอนโดอะไรมา 1-2 ล้านบาท อีก 5 ปี จะอยู่ต่อรึเปล่าก็ยังไม่รู้ อย่างแรก สมมติ 2 ล้านบาท จะเป็นเท่าไหร่ อีก 5 ปี คิดว่าสิ่งที่คุณซื้อไปปี 2020 มันขายออกรึเปล่า ในราคาที่เท่าไหร่ มีมูลค่ารึเปล่า เหมือนบางทีเราเจอที่ดินที่ถูมาก แต่ปี 2020 อยู่ตรงไหน มันถูกเพราะว่าคุณไปซื้อทุ่งนา แล้วใครอยากไปอยู่กับเราล่ะตรงนั้นนะ แล้วมาถามตัวเองว่า ที่ตรงนี้มันแพงอ่ะ แพงเพราะอะไร มันเป็นต้นทุนในค่าผลิตของดีเวลลอปเปอร์ คืออะไร คือที่ดิน ทำเล เป็นวัตถุดิบ ถ้าวัตถุดิบที่ดี สุขุมวิท 20 คิดว่าตร.ม. ล่ะ เท่าไหร่ 2020 เรามามองอย่างงั้น แล้วเรามองว่ากระเป๋าตัวเอง หด หรือ ขยาย แต่ผมไม่ได้มองว่าจะมาเก็งกำไร อย่างน้อยอย่าให้มันถดถอยลงไปเหมือนรถก็พอ
อยากให้สังคมไทยมีทัศนคติว่า เราต้องออม เราต้องสมารท์และฉลาดในการใช้สอย คนรวยใช้ฟุ่มเฟือยไม่เป็นไร เพราะว่าคุณรวยแล้ว แต่เราสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ เราอย่าผลาญเงิน ถูกไม่ใช่ว่าดี แพงวันนี้อนาคตก็ยิ่งแพง ถูกวันนี้อนาคตก็ยิ่งถูก แสดงว่ากระเป๋าคุณ Growth อยากให้สังคมไทย ฉลาดในการเลือก
ค่านิยมของผมคือ การรักษามูลค่า เรามองตัวเองเป็นลูกค้าในฉากที่เราอสังหาฯ ตัวเอง เหมือนเราซื้อให้ตัวเอง แล้วถามเราตอบโจทย์ลูกค้าตัวเองรึยัง ในเชิงว่าเราตอบโจทย์ Wealth Preservation ได้รึเปล่า
Mr.Oe: เมื่อกี้คุณโก้ เลยโยนการบ้านไปให้คนอ่านเลยว่าต้องมองหาสินทรัพย์ที่มันเติบโตขึ้น
อย่างน้อยไม่ถดถอย อย่ามองอสังหาฯ เป็น Brick and Mortarเห็นปูนทรายอย่างเดียว อย่างน้อยประกอบด้วย A+B A = Location แต่ B = Brand service A ดีอย่างเดียว แต่ B = 0 เลยตายได้นะครับ บางที A เฉยๆ แต่ B ดี มันก็พอไปกันได้ A B ดีทั้งคู่ ก็เท่ากับบวกๆ เราก็ต้องมองหากลวิธีหลักๆ ให้ตัวเอง เหมือนสร้างเป็นตารางว่าเวลาเราจะซื้อ เราควรจะคิดอะไรบ้าง สำหรับอสังหาฯ ง่ายที่สุดก็คือดูจากทำเล เราต้องตีโจทย์ทำเลให้แตก ทาง Mitsui Fudosan ยังเคยพูดเลยว่า ลงทุนในทำเลที่ค่อนข้างดี ยังไงก็ดี
หลังจบการสัมภาษณ์ คุณชานนท์ก็ได้พาพวกเราเดินชมสวนส่วนกลางขนาดเกือบไร่ของ IDEO สุขุมวิท ซึ่งคุณชานนท์เผยว่าส่วนตัวแล้ว ยังไม่ค่อยพอใจนัก แต่ก็ต้องค่อยๆ ปรับกันไป เพื่อให้ทุกอย่างสมบูรณ์เกิน 100% สอดคล้องตามแนวคิดของอนันดาฯ “ความพึงพอใจที่ลูกค้าได้รับต้องเหนือความคาดหมาย”