กรุงเทพฯ, 14 มีนาคม 2562 – การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศของนักลงทุนเอเชียชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2561 อันเนื่องมาจากการจัดพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนจีนเป็นหลัก ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก พบว่า ตลอดทั้งปี 2561 มีเม็ดเงินจากนักลงทุนเอเชียออกไปสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศจำนวน 53.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.72 ล้านล้านบาท) ลดลง 36% ต่อปี
ในปี 2561 นักลงทุนจีนได้ปรับพอร์ตการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยเปลี่ยนเป็นการเสนอขายอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นสาเหตุให้การลงทุนชะลอตัว โดยในปี 2561 นักลงทุนจีนลงทุน 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (239.1 พันล้านบาท) ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เปรียบเทียบกับ 35.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.13 ล้านล้านบาท) ในปี 2560 จาก การสำรวจการลงทุนในต่างประเทศประจำปี 2561 ของซีบีอาร์อี ประกอบกับการลงทุนในต่างประเทศที่ชะลอตัว ทำให้พบว่านักลงทุนจีนได้เปลี่ยนเป็นผู้ขายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับงบการเงิน และนำเงินทุนกลับมาหมุนเวียนใหม่เพื่อการลงทุนในต่างประเทศในอนาคต
“เรื่องราวการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนเอเชียในปี 2561 นั้น ในด้านหนึ่งก็มาจากการปรับตัวของนักลงทุนจีน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงการปรับสมดุลของพอร์ตการลงทุนตามรอบ และการเตรียมความพร้อมในเชิงกลยุทธ์สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอนาคต การถอนตัวของนักลงทุนจากจีนนั้นก็ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดไว้อย่างสิ้นเชิง แต่กลับเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักลงทุนเชิงกลยุทธ์รายใหม่ๆ ได้ขยายการลงทุนในต่างประเทศ” นายลีโอ ชุง รองผู้อำนวยการ แผนกวิจัย ซีบีอาร์อีเอเชียแปซิฟิก กล่าว
ตลอดปี 2561 นักลงทุนสิงคโปร์และเกาหลีมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในฐานะนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ นักลงทุนจากสิงคโปร์ลงทุนทั้งสิ้น 21.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (688.6 พันล้านบาท) ในปี 2561 เทียบกับ 20.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (666.3 พันล้านบาท) ในปี 2560 ส่วนนักลงทุนจากเกาหลีจัดสรรเงินลงทุนเข้าสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (232.7 พันล้านบาท) ในปีที่แล้วเทียบกับ 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (200.8 พันล้านบาท) ในปี 2560 ด้านนักลงทุนจากมาเลเซียและอินเดียก็เริ่มมีความโดดเด่นมากขึ้นในปี 2561 โดยลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 132% และ 291% ตามลำดับ
หากพิจารณาในด้านภูมิศาสตร์ การจัดสรรเงินลงทุนยังคงมีความสม่ำเสมอในด้านของอัตราส่วนของเม็ดเงินลงทุนประจำปี ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ยังคงเป็นทำเลชั้นนำสำหรับเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศที่มาจากเอเชียในปี 2561 โดยภูมิภาคนี้สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนในเอเชียในปี 2561 ได้ทั้งสิ้น 21.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (685.4 พันล้านบาท) ส่วนการลงทุนภายในเอเชียในปี 2561 มีทั้งสิ้น 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (542 พันล้านบาท) ตามด้วยทวีปอเมริกาที่ 11.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (369.8 พันล้านบาท) และแปซิฟิก 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (118 พันล้านบาท)
ลอนดอนยังคงเป็นทำเลที่ได้รับการลงทุนจากเอเชียมากที่สุดเนื่องจากตลาดมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและการได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานว่าเป็นทำเลที่เป็นที่นิยมเป็นอันดับแรกสำหรับผู้ซื้อที่ลงทุนในต่างประเทศเป็นครั้งแรก นักลงทุนจากฮ่องกง สิงคโปร์ และเกาหลีเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 85% ของการลงทุน ในปี 2561 มีเม็ดเงินลงทุนจากเอเชียไหลเข้าสู่ตลาดลอนดอน 18% เพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2560 นอกจากนี้ เมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อต่างๆ (เกตเวย์ซิตี้) ก็ได้รับความสนใจเช่นกันอย่างฮ่องกง (9%) เซี่ยงไฮ้ (9%) และแฟรงค์เฟิร์ต (4%) ซึ่งอัตราส่วนเม็ดเงินลงทุนในปี 2561 มีการเติบโตขึ้นหรืออยู่ในระดับเดิม
“นักลงทุนในเอเชียยังคงต้องการลงทุนในต่างประเทศเป็นอย่างมาก แต่จะเลือกใช้กลยุทธ์อย่างรอบคอบมากขึ้นในการเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงในบางประเทศยังส่งผลกระทบต่อกระแสการลงทุนสำหรับนักลงทุนเอเชียจำนวนมากที่ลงทุนในต่างประเทศ” นายทอม มอฟแฟต หัวหน้าแผนกตลาดทุน ซีบีอาร์อีเอเชียกล่าว