15941212_10154901167176563_2328962090448712476_n

ภาวะชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2559 ที่ผ่านมา เป็นแรงกดดันต่อเนื่องให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เร่งปรับกลยุทธ์การลงทุนและการขายที่อยู่อาศัยอย่างเข้มข้นตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2560 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปรับกลยุทธ์แตกต่างกันตามรูปแบบการประกอบธุรกิจ

ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ใช้ข้อได้เปรียบที่มีอยู่ต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2560 ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ และกลุ่มทุนรายใหญ่ ยังเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่คงความได้เปรียบในการแข่งขันสูงกว่าผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายกลางและเล็ก เนื่องจากมีความสามารถในการปรับสัดส่วนการลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป มีแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยและการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

ในปี 2560 ที่แนวโน้มการแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยเป็นไปอย่างรุนแรงมากขึ้น ในภาวะที่มีความท้าทายจากกำลังซื้อของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่อาจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้มากนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ และกลุ่มทุนรายใหญ่ที่เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่อยู่อาศัย ใช้ข้อได้เปรียบที่มีอยู่ต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ ยกตัวอย่างเช่น การรับจ้างบริหารโครงการที่อยู่อาศัย การพัฒนาโครงการรูปแบบ Mixed-use Project ที่ประกอบด้วยที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์การค้า เป็นต้น เพื่อกระจายการสร้างรายได้ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ค่ารับจ้างบริหารโครงการ ค่าเช่าพื้นที่ เป็นต้น

ทิศทางดังกล่าว สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนรายได้ในรูปแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากรายได้จากการขายที่อยู่อาศัย ของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แม้ส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนรายได้ในรูปแบบอื่นๆ ที่ยังไม่สูงมากนัก โดยส่วนใหญ่คิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 10 ของรายได้รวม แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัดส่วนรายได้ในรูปแบบอื่นๆ น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากทิศทางการรุกขยายต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อบรรเทาความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากการขายที่อยู่อาศัยเป็นหลัก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อาจต้องพิจารณาภาวะตลาดของธุรกิจนั้นๆ โดยการต่อยอดไปสู่ธุรกิจบางกลุ่ม อย่างโรงแรม และศูนย์การค้า ที่แม้จะเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวเนื่อง แต่ก็พบว่า เป็นธุรกิจที่มีผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก การแข่งขันเป็นไปอย่างรุนแรง รวมถึงมีความผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจ ก็ยิ่งอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้น ในขณะที่ การต่อยอดไปสู่ธุรกิจที่เป็นธุรกิจใหม่ มีจำนวนผู้เล่นในตลาดยังไม่มาก การแข่งขันยังไม่รุนแรง สามารถสร้างรายได้ได้อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีอัตรากำไรในระดับสูง น่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถบรรเทาความเสี่ยงท่ามกลางความไม่แน่นอนของตลาดผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2560 ได้

ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายกลางเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการร่วมทุนกับผู้ประกอบการชาวต่างชาติ

ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายกลางดำเนินกลยุทธ์การประกอบธุรกิจแตกต่างกัน ตั้งแต่การนำเสนอโครงการที่อยู่อาศัยในราคาที่คุ้มค่า ไปจนถึงการนำเสนอโครงการที่อยู่อาศัยที่มีเอกลักษณ์ (Uniqueness) เพื่อเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายกลางมีข้อได้เปรียบด้านความคล่องตัวในการปรับกลยุทธ์การประกอบธุรกิจ โดยในปี 2560 ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายกลางส่วนหนึ่งปรับกลยุทธ์การประกอบธุรกิจ เพื่อรับมือต่อการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการร่วมทุนเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการชาวต่างชาติ เช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ อย่างผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง ผู้ค้าอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสถาบันการเงิน ที่ช่วยหนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายกลางสามารถยกระดับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้มีคุณภาพ ได้รับถ่ายทอด Know-how ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายกลางยังสามารถอาศัยความน่าเชื่อถือ และช่องทางการทำการตลาดของพันธมิตรผู้ประกอบการชาวต่างชาติ เจาะตลาดผู้ซื้อที่อยู่อาศัยชาวต่างชาติได้มากขึ้น ทั้งกลุ่มซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และกลุ่มซื้อเพื่อการลงทุน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของตลาดผู้ซื้อที่อยู่อาศัยชาวไทยในปี 2560 รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ และกลุ่มทุนรายใหญ่ที่เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่อยู่อาศัย

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย