กระทรวงพลังงาน โดย กองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับ มูลนิธิอาคารเขียวไทย เดินหน้าพัฒนาโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะต้นแบบ เพื่อพัฒนาเมืองของชุมชน สู่เมืองอัจฉริยะ เชื่อมโยงการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Smart Cities – Clean Energy
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดงานสัมมนาโครงการเมืองอัจฉริยะ ว่า สืบเนื่องจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP 21) ณ กรุงปารีส เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่มีเป้าหมายให้มีการรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ด้วยการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบรุนแรง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ภายในปี 2573 โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในแผนพลังงานของประเทศให้มากขึ้น ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชทานมากว่า 50 ปีแล้ว ในรูปแบบประชารัฐ ด้วยความร่วมมือของประชารัฐ เอกชน ประชาสังคม เอ็นจีโอ และประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของประเทศที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการดำเนินการให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 ของสหประชาชาติ
ดังนั้น เพื่อให้การปล่อยก๊าซลดลงตามเป้าหมาย และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนตามเป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (EEP 2015) ที่ตั้งเป้าลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานลง 30% ผ่านมาตรการสนับสนุนต่างๆ กระทรวงพลังงาน โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับ มูลนิธิอาคารเขียวไทย จึงได้สนับสนุนโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) เพื่อเป็นแนวทางหรือแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic Design) การพัฒนาเมืองของชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ โดยเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Clean Energy และ Green City เพื่อบริหารจัดการทรัยากรของเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ระบบบริหารจัดการเครือข่ายพลังงานอัจฉริยะ (Smart Grid) ระบบการบริหารจัดการพลังงานระดับชุมชน (Community Energy Management Systems : CEMS) ระบบขนส่งอัจฉริยะ และยานยต์พลังงานทางเลือก เป็นต้น ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสะดวกสบาย ลดการใช้พลังงาน เกิดการใช้พลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้จะสามารถเป็นต้นแบบลดการใช้พลังงาน และลดคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย และยังเป็นการสร้างมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง ให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) จัดขึ้นเพื่อสนับสนุน หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน ร่วมโครงการออกแบบและพัฒนาเมือง ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองการส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการประเมินเกณฑ์ และจะประกาศให้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการออกแบบ เมืองอัจฉริยะ ซึ่งให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบหลัก คือ การจัดรูปเมืองและโครงสร้างพื้นฐานหลักของเมือง เช่น โครงสร้างระบบขนส่ง ระบบราง การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในทุกรูปแบบ และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เต็มศักยภาพ ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูล มาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อจะเป็นการช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการร่วมส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ จะได้แนวทางในการพัฒนาเมืองของชุมชนที่มีผลต่อการลดความต้องการพลังงาน และการใช้พลังงานสูงสุด ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง และเกิดการเรียนรู้ด้านพลังงาน สู่ชุมชนผ่านกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานสถาบันอาคารเขียวไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเกณฑ์เบื้องต้นการประเมินเมืองอัจฉริยะ จะต้องมีพื้นที่ใช้สอยรวมไม่น้อยกว่า 1 ล้านตารางเมตร หรือ ความต้องการกำลังไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 เมกะวัตต์ หรือ มีจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 30,000 คน หรือสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยกว่า 30,000 ตันต่อปี โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้น ดังนี้ 1) การส่งผลงานเพื่อประกวด ในขั้นตอนที่ 1 (Conceptual & Urban Planning) 2) ผังแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City Development Master Plan) ผู้ผ่านการคัดเลือกหรือคัดสรร ในขั้นตอนที่ 1 จะได้รับการสนับสนุนในการจัดทำข้อเสนอในขั้นตอนนี้ โดยข้อเสนอที่เป็นแนวคิดที่ดีที่สุด 7 ลำดับแรก จะได้รับเงินสนับสนุนสำหรับใช้ในการดำเนินการขั้นต่อไป ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อแห่ง รวมเป็นเงิน 70,000,000 บาท ทั้งนี้การพิจารณาคัดเลือกหรือคัดสรรข้อเสนออาจให้การสนับสนุนไม่ครบ 7 แห่ง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของข้อเสนอ และ 3) โมเดลธุรกิจ (Business Model) ผู้ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ในขั้นตอนที่ 2 จะต้องดำเนินการจัดทำแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic design) ประเมินค่าก่อสร้างเบื้องต้น รายงานการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นโมเดลธุรกิจ และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เป็นรูปธรรมต่อไป ข้อเสนอที่ได้รับคะแนนอันดับที่ 1 จะได้รับการสนับสนุนโอกาสในการจัดหาทุนเพื่อการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะตามแบบที่พัฒนาขึ้นต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถส่งผลงานได้ด้วยตนเองที่สถาบันอาคารเขียวไทยกำหนดส่งผลงานภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ภายในเวลา 16.30 น. และประกาศผลการประกวดทาง www.tgbi.or.th
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันอาคารเขียวไทย Email [email protected]