supalai-monte-2-view004

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่า ร.ฟ.ท.ได้นำเสนอความเป็นไปได้ในการใช้พื้นที่ก่อสร้างและรางร่วมกันกับ โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางรถไฟในปัจจุบันและอนาคตของกระทรวงคมนาคม หลังจากพิจารณาแล้วเห็นว่าเขตทางรถไฟตามแนวเส้นทางรถไฟสายต่างๆ ที่เหลืออยู่อาจจะไม่เพียงพอในการก่อสร้างจนครบทุกเส้นทาง โดยเส้นทางรถไฟสายเหนือ ช่วงบางซื่อ-บ้านภาชี พบว่ามีเขตทางเหลือ 80 เมตร สร้างรถไฟได้ 8 ทาง แต่มีแผนจะก่อสร้างรวม 10 ทาง ดังนั้น ร.ฟ.ท.จึงเสนอทางออก 2 แบบ คือ

  1. ยกเลิกการก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง
  2. ให้รถไฟไทย-จีน และแอร์พอร์ตลิงก์ใช้ทางร่วมกัน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอว่ารถไฟชายเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ให้สิ้นสุดที่สถานีอยุธยา เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับรถไฟไทย-จีน และญี่ปุ่น

Bangkok_Skytrain_061

สำหรับเรื่อง ยกเลิกก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองนั้น ร.ฟ.ท.ต้องไปศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อน ถ้ายกเลิกจะกระทบกับการเดินทางเชื่อมต่อสนามบินของผู้โดยสารและนักท่อง เที่ยวหรือไม่ เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้สร้างโครงข่ายคมนาคมอำนวยความสะดวกเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุรรณภูมิ และอู่ตะเภา โดยภายในเดือนมีนาคมนี้ ร.ฟ.ท.จะต้องสรุปผลการศึกษาเสนอให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณา

นายออมสินกล่าว และว่า สำหรับรถไฟเส้นทางสายใต้ ช่วงบางซื่อ-ชุมทางหนองปลาดุก มีเขตทางเหลือเพียง 80 เมตร สร้างทางได้ 4 ทาง แต่ต้องสร้างรวม 6 ทาง ร.ฟ.ท.เสนอทางออก 2 แบบ คือ 1.เวนคืนที่ดินใหม่ตลอดแนวเส้นทาง หรือ 2.ให้ใช้ทางร่วมกัน ขณะที่รถไฟเส้นทางสายตะวันออก ช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง เขตทางเหลือเพียง 50 เมตร สร้างทางได้ 4 ทาง แต่ต้องสร้างรวม 10 ทาง ร.ฟ.ท.เสนอทางออก 3 แบบ เช่น ให้คงทางคู่เดิมไว้ แต่ให้เวนคืนที่ดินเพิ่มเติม และให้ใช้ทางร่วมกันในบางโครงการ เป็นต้น

ที่มาข่าว: ประชาชาติ