Print

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนา “เปิดมุมมองอนาคต การพัฒนามอเตอร์เวย์ไทย” เพื่อเปิดแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี และเป็นการประเมินความสนใจเบื้องต้นของภาคเอกชนต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาโครงการ พร้อมร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิและนำเสนอผลสรุปการศึกษาโครงการ โดยมีตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐภาคธุรกิจ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มนักลงทุน สมาคมการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

Print

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในอนาคต ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) จะสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศในอนาคต ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่นี้ ไม่เพียงต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ เงินลงทุน ตลอดจนการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพของภาคเอกชน  แต่ยังต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน การสัมมนาครั้งนี้ จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมอง และความคิดเห็นที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ การพัฒนาโครงการร่วมกัน

ภายในงานมีการเสวนา หัวข้อ “คิดนอกกรอบ มองรอบด้าน กับการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง” โดยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ได้แก่ นายชาญชัย ก่อเกิดวิบูลย์ ผู้จัดการโครงการ นำเสนอเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วน ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา นำเสนอเกี่ยวกับ โอกาส ความท้าทาย และปัจจัยสู่ความสำเร็จ   และ นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) นำเสนอเกี่ยวกับมุมมอง  ด้านการเงินการคลัง กับการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนนายชาญวิทย์ นาคบุรี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนรัฐวิสาหกิจสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) นำเสนอเกี่ยวกับ Thailand Future Fund และร่วมถอดบทเรียนการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในต่างประเทศ โดย ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์ ด้านโครงสร้างพื้นฐานประจำธนาคารโลก

Print

การสัมมนาครั้งนี้ได้นำเสนอสาระสำคัญ ได้แก่ แผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) รวมทั้งสิ้น 21 สายทาง ระยะทางรวม 6,612 กิโลเมตร ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศโดยมีแนวคิดการกำหนดโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เน้นเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด่านการค้าชายแดน รวมถึงพื้นที่อุตสาหกรรมและฐานการผลิตต่างๆ เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งทั้งทางถนน ราง น้ำ และอากาศ  ส่วนรูปแบบการลงทุนจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ช่วงระยะ 10 ปีแรก (พ.ศ.2560-2569) และในช่วง 10 ปีหลัง (พ.ศ.2570-2579) รวมมูลค่าลงทุนกว่า 2.1 ล้านล้านบาท

ด้วยมูลค่าเงินลงทุนที่สูงมา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาแนวทางเลือกด้านการลงทุนที่มีความเป็นไปได้รวมถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา เช่น การใช้เงินงบประมาณ, การระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน , เงินกู้จากสถาบันการเงิน, เงินทุนจากค่าผ่านทาง หรือการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (Public Private Partnership: PPP) เป็นต้น โดยการสัมมนาครั้งนี้ ได้มีหน่วยงานจากภาครัฐ เอกชน และกลุ่มธุรกิจต่างๆ สนใจเข้าร่วมสัมมนาเป็นอันมาก ซึ่งได้มีการเปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและนักลงทุนร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง เพื่อนำข้อมูล ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ นำมาใช้ประกอบการจัดทำกรอบแนวทางความร่วมมือในการลงทุนพัฒนาโครงการต่อไป

Print

การจัดสัมมนาครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดเวทีที่จะร่วมกันสร้างอนาคตด้านการเดินทางและขนส่ง ระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ ที่จะช่วยให้อีก 20 ปีข้างหน้าของประเทศไทย มีการยกระดับการค้า การลงทุน ที่สนับสนุนเศรษฐกิจด้านการค้าชายแดน และเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางและขนส่ง ให้ยกระดับโลจิสติกส์ไทยสู่ศูนย์กลางอาเซียน

unnamed