800px-y10

ขณะที่รถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยว หรือโมโนเรล 2 สาย 2 สี “ชมพู-เหลือง” ที่รัฐบาล คสช.กำลังรอกดปุ่มประมูลให้ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ด้วยการดึงเอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost 30 ปี วงเงิน 111,334 ล้านบาท ตามขั้นตอน PPP Fast Track ตั้งเป้าให้ได้ผู้รับเหมาภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเริ่มต้นก่อสร้างในเดือน มี.ค. 2560 แล้วเสร็จเดือน มิ.ย. 2563

ถึงขณะนี้ยังเป็นที่จับจ้องการประมูลจะมาตามนัดหรือไม่ ในเมื่อรายละเอียดทีโออาร์ยุบยับ แถมเงินลงทุนก็ค่อนข้างสูง ที่สำคัญประเทศไทยยังไม่เคยมีการลงทุนโครงการโมโนเรล ซึ่งเอกชนต้องเสนอการลงทุนเป็นแพ็กเกจทั้งงานโยธาและงานระบบไปในคราวเดียวกันมาก่อน อาจจะทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร

ถึงแผนลงทุนโมโนเรลของรัฐบาลกลางยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่ฟาก “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ได้ข้อสรุปโครงการโมโนเรลสายสีทองเฟสแรก “กรุงธนบุรี-คลองสาน” ระยะทาง 1.8 กม. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลัง “กลุ่มไอคอนสยาม” ยื่นข้อเสนอจะลงทุนงานโยธาให้ 2,000 ล้านบาท พร้อมขอสิทธิพื้นที่โฆษณา 3 สถานี 30 ปี เป็นการแลกเปลี่ยน

จากพลังของเอกชนที่ช่วยผลักดัน ทำให้การเดินหน้าโปรเจ็กต์ง่ายขึ้น และยิ่งง่ายขึ้นไปอีก เมื่อ “กทม.” มอบให้ “KT-บจ.กรุงเทพธนาคม” วิสาหกิจในสังกัด รับเป็นเจ้าภาพโครงการ

โดยจ้าง “BTSC-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” พันธมิตรเก่า เหมาดำเนินการทั้งงานก่อสร้าง จัดหาระบบ และเดินรถพร้อมซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 30 ปี ซึ่ง “บีทีเอสซี” จะควักเงิน 400 ล้านบาท ลงทุนงานระบบและขบวนรถให้ไปก่อน เหมือนกับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส

จากโมเดลนี้จึงทำให้โครงการนี้รุดหน้าเร็ว จนใกล้ที่จะเป็นจริง ขณะนี้รอการอนุมัติ “อีไอเอ-รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม” ที่ “KT” มั่นใจว่าไม่มีปัญหา เพราะไม่มีเวนคืนที่ดิน และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ เพราะใช้ระบบล้อยาง ที่สำคัญ “กทม.” เตรียมใช้มาตรา 44 เปิดประมูลคู่ขนานไปกับการอนุมัติอีไอเอ ตามแผนจะเริ่มสร้างในปีนี้ เปิดหวูดเดือน ธ.ค. 2560 พร้อมกับเปิดศูนย์การค้าไอคอนสยาม

“สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอสซี กล่าวว่า บริษัทจะเข้าร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีทองให้กรุงเทพธนาคม ในส่วนงานระบบ จัดหาขบวนรถ และเดินรถให้ 30 ปี มีข้อสรุปใช้ระบบอาณัติสัญญาณของบอมบาดิเอร์และรถของวูจิน (Woojin) จากเกาหลีใต้ จำนวน 2 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ รวม 6 ตู้ สามารถจุผู้โดยสารได้ 80-120 คน/ตู้

รูปแบบการลงทุนจะเสนอเป็นแพ็กเกจรวมกับงานก่อสร้างที่กลุ่มไอคอนสยามเป็นผู้ลงทุนให้ เนื่องจากระบบโมโนเรลผู้ก่อสร้างและติดตั้งระบบต้องเป็นรายเดียวกัน ซึ่งในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทยังไม่ได้ข้อสรุปจะเลือกบริษัทไหน

“เลือกใช้โมโนเรลของเกาหลีเพราะจัดหาได้เร็วและทันเวลาที่ KT กำหนด อีกทั้งราคารถและการซ่อมบำรุงในระยะยาวก็เหมาะสมกับกรอบเงินลงทุน เมื่อเทียบกับระบบของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป”

ขณะที่แหล่งข่าวจากแวดวงผู้ผลิตรถไฟฟ้ากล่าวว่า รถโมโนเรลวูจินของประเทศเกาหลีได้รับลิขสิทธิ์จากฮิตาชิ โดยเป็นผู้ผลิตตัวรถโมโนเรลให้กับระบบ Daegu Urban Rail (Line 3) ไลเซนส์จากบริษัท ฮิตาชิ ประเทศญี่ปุ่น

เท่ากับตอนนี้ “ประเทศไทย” มีรถไฟฟ้าให้บริการแล้ว 4 แบรนด์ 4 ประเทศ คือ ซีเมนส์จากประเทศเยอรมนี, ซีอาร์อาร์ซีจากประเทศจีน, J-TREC จากประเทศญี่ปุ่น ล่าสุด Woojin จากเกาหลี ที่ตีตลาดรถไฟฟ้าในไทยได้สำเร็จเพิ่มอีกราย

ที่มาข่าว: ประชาชาติ