DSC_4446

นางสาวอุบลวรรณ สืบยุบล รองผู้ว่าการ รักษาการแทนผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ จะก่อให้เกิดผลต่อสังคมไทยเป็นอย่างมากนั่นคือ ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกล่าวคือ จะมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก การเคหะแห่งชาติในฐานะรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสังคม โดยเฉพาะ  ผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมาตลอดนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 43 ปี ได้เล็งเห็นความสำคัญในการออกแบบบ้านหรือที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้สูงอายุ จึงได้นำร่องจัดทำโครงการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการออกแบบบ้านผู้สูงอายุ ที่ไม่ใช่บ้านผู้สูงอายุขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุ  ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งานอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น  แต่ต้องมีการออกแบบที่สวยงาม  น่าอยู่  ตอบโจทย์การใช้งาน  และไม่ให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าอยู่ในที่ของคนชราหรือคล้ายสถานพยาบาล

DSC_4522

นอกจากนี้ ยังต้องการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้คิดและวางแผนเพื่อการอยู่อาศัยในอนาคต  ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังความคิดสร้างสรรค์และจะเป็นพลังขับเคลื่อนนวัตกรรมการออกแบบบ้าน หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆต่อไปในอนาคตสำหรับการอยู่อาศัยทุกช่วงวัย ดังนั้น การเคหะแห่งชาติในฐานะหน่วยงานหลักทางด้านที่อยู่อาศัยของประเทศไทย จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น พร้อมกับเชิญชวนให้นิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ส่งผลงานนวัตกรรมการออกแบบบ้านผู้สูงอายุ ที่ไม่ใช่บ้านผู้สูงอายุเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวพร้อมเปิดรับสมัครส่งผลงานตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2559 ชิงทุนการศึกษารวมมูลค่า 360,000 บาทพร้อมศึกษาดูงานนวัตกรรมด้านผู้สูงอายุ

พร้อมกันนี้รักษาการแทนผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งก็รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัยเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการเคหะแห่งชาติ และที่ผ่านมาได้ดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ อาทิเช่นโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยและผู้ยากไร้ หรือโครงการบ้านสบาย เพื่อยายตา  ซึ่งต่อยอดมาจากงานวิจัยของฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติ ซึ่งเริ่มนำร่องที่ ตำบลบางตะบูน  จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี 2553 ปัจจุบันได้เข้าไปช่วยเหลือผู้สูงอายุ ในการซ่อมแซม, ปรับปรุง และสร้างบ้านใหม่มาแล้วกว่า 100 หลังซึ่งถือว่าเป็นความภูมิใจของการเคหะแห่งชาติที่ได้คืนสิ่งดีๆให้กับสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น