กคช. จับมือกับ ธ.กรุงไทยปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สานฝันผู้มีรายได้น้อยให้มี “บ้าน”ถ้วนทั่ว

การเคหะแห่งชาติ(กคช.) จับมือธนาคารกรุงไทยจัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยระหว่าง นายบัญชา บัญชาดิฐ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และนายสุทธิรักษ์ พาทรัพย์มา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานธุรกิจภาครัฐธนาคารกรุงไทย เพื่อร่วมกันสนับสนุนให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อันเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมตามนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องวทัญญู ณ ถลาง สำนักงานใหญ่การเคหะแห่งชาติ

นายบัญชา  บัญชาดิฐ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าวว่า การเคหะแห่งชาติในฐานะรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ เป็นองค์กรหลักด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย ซึ่งได้พัฒนาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศแล้วกว่า 700,000 หน่วย พร้อมทั้งขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยในโครงการเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการบ้านเคหะประชารัฐ ซึ่งเป็น 1 ใน 9 เรื่องที่สำคัญภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) โดยมีเป้าหมายที่จะดูแลประชาชนที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยประมาณ 2.27 ล้านครัวเรือน พร้อมดำเนินการควบคู่ไปกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ.2559 – 2568) ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงโครงการบ้านเคหะประชารัฐและสามารถรับภาระการผ่อนชำระได้ การเคหะแห่งชาติจึงได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยหรือเงื่อนไขผ่อนปรนพิเศษสำหรับลูกค้าของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลาง เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับลูกค้าได้มีทางเลือกและได้รับสิทธิพิเศษจากการขอสินเชื่อมากขึ้น โดยจะนำร่องในโครงการลาดกระบัง โครงการรังสิตคลอง 10/1 โครงการรังสิตคลอง 10/2 โครงการบางโฉลงทาวน์โฮม และโครงการบ้านศรีนวมินทร์ 2

ด้าน นายสุทธิรักษ์ พาทรัพย์มา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติในโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยในครั้งนี้ ธนาคารให้วงเงินสินเชื่อพร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษตามวงเงินกู้และการทำประกันคุ้มครองความเสี่ยง โดยต่ำสุดเพียงร้อยละ 2 ต่อปีในปีแรก และลูกค้ายังสามารถเลือกผ่อนชำระแสนละ 500 บาทต่อเดือนในปีที่ 1 สำหรับลูกค้าที่ทำประกัน อีกทั้งยังยกเว้นค่าธรรมเนียมประเมินหลักทรัพย์ สำหรับลูกค้าที่ยื่นกู้ภายในเดือนมิถุนายน 2561 โดยมีรายละเอียดดังนี้

วงเงินกู้ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป มี 3 รูปแบบให้เลือกดังนี้

  • แบบทำประกัน MRTA เต็มจำนวนกู้และระยะเวลากู้ หรือทำประกัน GLTSP เต็มวงเงินกู้ระยะทำประกัน 15 ปี  อัตราดอกเบี้ยปีแรก  2%ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี(MRR) ลบ 1.75%ต่อปี ปีที่ 3 MRR ลบ 1.80%ต่อปี และปีต่อๆไป  MRR ลบ 1%ต่อปี
  • แบบทำประกัน MRTA/GLTSP เต็มวงเงินกู้และระยะเวลาทำประกันขั้นต่ำ 10 ปี หรือทำประกัน MRTA/GLTSP  ร้อยละ 70 ของวงเงินกู้และระยะเวลากู้หรือระยะเวลาทำประกันขั้นต่ำ 15 ปี  อัตราดอกเบี้ยปีแรก 2%ต่อปี ปีที่ 2 MRR ลบ 1.50%ต่อปี ปีที่ 3 MRR ลบ 1.80% ต่อปี และปีต่อๆไปMRR ลบ 1%ต่อปี
  • แบบไม่ทำประกัน อัตราดอกเบี้ยปีแรก 3%ต่อปี ปีที่ 2 MRR ลบ 1.50%ต่อปี ปีที่ 3 MRR ลบ 1.50%ต่อปี และปีต่อๆไป MRR  ลบ 1%ต่อปี

วงเงินกู้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท มี 3 รูปแบบให้เลือกเช่นกัน ได้แก่

  • แบบทำประกัน MRTA เต็มจำนวนกู้และระยะเวลากู้ หรือทำประกัน GLTSP เต็มวงเงินกู้ระยะทำประกัน 15 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรก 2%ต่อปี ปีที่ 2 อัตรา MRR ลบ 1.50%ต่อปี ปีที่ 3  MRR ลบ 1.50%ต่อปี และปีต่อๆไป  MRR  ลบ 1%ต่อปี
  • แบบทำประกัน MRTA/GLTSP เต็มวงเงินกู้และระยะเวลาทำประกันขั้นต่ำ 10 ปี หรือทำประกัน MRTA/GLTSP ร้อยละ 70 ของวงเงินกู้และระยะเวลากู้หรือระยะเวลาทำประกันขั้นต่ำ 15 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรก  2%ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR ลบ 1.25%ต่อปี ปีที่ 3 MRR ลบ 1.50%ต่อปี และปีต่อๆ ไป MRR ลบ 1%ต่อปี
  • แบบไม่ทำประกัน อัตราดอกเบี้ยปีแรก 3.50%ต่อปี ปีที่ 2 MRR ลบ 1.50%ต่อปี ปีที่ 3 MRR ลบ 1.50%ต่อปี และปีต่อๆไป MRR ลบ 1%ต่อปี

– MRTA หรือ Mortgage Reducing Term Assurance คือประกันชีวิตคุ้มครองผู้ขอสินเชื่อ หากผู้กู้ซื้อเกิดเหตุแก่ชีวิตหรือทุพพลภาพ บริษัทที่รับทำประกันจะผ่อนชำระแทนจนกว่าจะครบสัญญาการกู้

– GLT SP หรือ Group Level Term คือประกันคุ้มครองหนี้ หากผู้กู้เสียชีวิตในช่วงความคุ้มครองบริษัทที่รับทำประกันจะชำระแทนส่วนที่เหลือและจะคืนเงินส่วนต่างจากความคุ้มครองให้กับทายาท