10448238_802941523077485_7430958788664161893_n

เปิดแผนกลุ่มทุน “ภิรมย์ภักดี” ลุยอสังหาฯเต็มตัว วางโมเดลสร้างองค์กรมืออาชีพ ชูแบรนด์ “สิงห์ เอสเตท” เจาะตลาดพรีเมี่ยม โตก้าวกระโดด 2 หมื่นล้านใน 5 ปี ลงทุนครบวงจร คอนโด โรงแรม ไลฟ์สไตล์มอลล์ นิคมอุตฯ ซุ่มขอร่วมทุน “สยามฟิวเจอร์” ผนึกเอเย่นต์พลิกที่ดินบูมจัดสรรทั่วประเทศ ขึ้น 3 โครงการแนวรถไฟฟ้า เตรียมผุดอภิมหาโปรเจ็กต์ย่านอโศก

IMG_1625xxx

นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษว่า “สิงห์ เอสเตท” ถือเป็นแบรนด์ใหม่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่แตกไลน์มาจากกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” เจ้าของเบียร์สิงห์และลีโอ ซึ่งเน้นกลยุทธ์ใช้ “จุดแข็ง” ของธุรกิจมาช่วยต่อยอด ทั้งเงินทุน ชื่อเสียง ประสบการณ์ พันธมิตร เครือข่ายเอเย่นต์ และต้นทุนจากที่ดินเก่าหรือแลนด์แบงก์ทั่วประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน ภายใต้การบริหารจัดการของ “มืออาชีพ” โดยมีนายนริศนั่งตำแหน่งซีอีโอคนแรก

ภายใต้โจทย์ ใน 5 ปี ต้องมียอดขาย 20,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้รวมกลุ่มบุญรอดที่มีมูลค่ารวม 1 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่ “แลนด์แบงก์” ของกลุ่มสิงห์ฯที่มีอยู่ทั่วประเทศ เฉพาะแปลงใหญ่ ๆ อาทิ เชียงราย ใกล้วัดร่องขุ่น ประมาณ 10,000 ไร่ ขอนแก่น 10,000 ไร่ หัวหิน (ฝั่งวิวภูเขา) 10,000 ไร่ และเกาะสมุยอีกจำนวนมาก

นายนริศกล่าวว่า ในฐานะน้องใหม่จึงต้องคิดหนักว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจแตกต่างจากคู่แข่ง จากประสบการณ์อสังหาฯแต่ละเซ็กเมนต์ก็มีเจ้าตลาดอยู่แล้ว อาทิ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, แสนสิริ, เอพี, พฤกษา เรียลเอสเตท, แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ ฯลฯ แต่ละผู้ประกอบการก็มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป

ดังนั้น นโยบายการพัฒนาโครงการของสิงห์ฯจะเน้นทำครบทุกเซ็กเตอร์ ทั้งบ้าน คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานให้เช่า โรงแรม ไลฟ์สไตล์มอลล์ และนิคมอุตสาหกรรม แต่มีเซ็กเมนต์ชัดเจนคือเน้นตลาดกลางขึ้นบน

นายนริศย้ำว่า กลยุทธ์หลักบริษัทจะเน้นเรื่องพันธมิตรคือจะเข้าไปร่วมทุนทำธุรกิจ ก่อนหน้านี้เข้าไปถือหุ้น 51% ในบริษัท เนอวานา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ร่วมพัฒนาโครงการบ้านระดับไฮเอนด์อนาคตอันใกล้จะมีพันธมิตรใหม่เพิ่มเข้ามา โดยเราไม่ได้ปิดกั้น

10806223_802941543077483_1487124582079607033_n

ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากัน 2-3 ราย ล่าสุดเพิ่งได้ชาวต่างชาติที่เป็นมืออาชีพด้านธุรกิจโรงแรม ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ โดยเซ็นบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยูร่วมกัน พร้อมทีมงานด้านการทำตลาด และการขายห้องพัก อนาคตกลุ่มสิงห์ฯน่าจะมีโรงแรมในพอร์ตร่วม 20 แห่ง และต้องมีพนักงานร่วม 5,000 คน

สเต็ปการลงทุนช่วง 5 ปีนับจากนี้ จะให้น้ำหนักธุรกิจโรงแรมเป็นหลัก รองลงมาคือ อาคารสำนักงานให้เช่า และที่อยู่อาศัย ส่วนนิคมอุตสาหกรรมคงต้องรออีก 2-3 ปี ขณะที่การพัฒนาไลฟ์สไตล์มอลล์นั้นขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส

ล่าสุด สิงห์ เอสเตท ได้ซื้อที่ดินทำเลดีอีก 3 แปลง คือ

  1. ที่ดินริมถนนรัตนาธิเบศร์ ติดรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีบางรักใหญ่ ก่อนถึงแยกบางพลู เนื้อที่ 3-4 ไร่ เพิ่งซื้อเมื่อ 6 เดือนก่อน
  2. ที่ดินแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ติดศูนย์การค้าเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์
  3. ที่ดินติดสิงห์เบียร์เฮ้าส์ อโศก เกือบ 1 ไร่ ซื้อมาราคาตารางวาละ 7-8 แสนบาท

ทั้ง 3 แปลงเตรียมพัฒนาเป็นคอนโดฯ ส่วนโครงการแรกที่จะเปิดตัวก่อนคือ ทำเลตรงเบียร์สิงห์เฮ้าส์ ย่านอโศก เยื้อง ๆ แกรมมี่ การออกแบบคืบหน้าไปมากแล้ว จะเปิดตัวเดือนกันยายนปีนี้ ถือเป็นโครงการระดับซูเปอร์ลักเซอรี่ ราคาขายตารางเมตรละ 2 แสนบาทขึ้นไป เป็นโปรเจ็กต์นำร่องที่เน้นดีไซน์และจุดขายที่แตกต่าง หวังสร้างการจดจำให้กับแบรนด์สิงห์ เอสเตท

ส่วนที่ดิน 2 แปลงติดแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะเปิดตัวโครงการปีหน้า ขยับเซ็กเมนต์ลงมาเจาะกลุ่มชนชั้นกลางที่ต้องการอยู่คอนโดฯ ที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี เน้นใช้วัสดุคุณภาพ แต่ราคาเอื้อมถึง วิเคราะห์ว่ามีดีมานด์อยู่พอสมควร และไม่กังวลเรื่องซัพพลายคอนโดฯล้นตลาด เพราะได้ออกแบบโครงการให้ตรงความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย

10463940_802941586410812_2388532376738696236_n

ทั้ง 2 แปลงถ้าพัฒนาแล้ว น่าจะมีมูลค่าขายโครงการละ 2 พันล้านบาท เป็นตลาดระดับกลาง เน้นเกรดพรีเมี่ยม ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าโครงการดี อาจแพงหน่อยแต่ไม่แพงมาก ก็มีคนพร้อมจะจ่าย ส่วนคอนโดฯที่อโศกน่าจะมีมูลค่าขายกว่า 4 พันล้านบาท ภาวะโอเวอร์ซัพพลายขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดคือดีมานด์ ถ้าทำเลดี ดีไซน์สวย ตรงกลุ่มเป้าหมาย แม้ซัพพลายจะมาก แต่เชื่อว่าขายได้แน่

ส่วนการรุกตลาดต่างจังหวัดนั้น นายนริศกล่าวว่า จะเดินหน้าไปพร้อมกันโดยใช้จุดแข็งกลุ่มบุญรอดที่มีเอเย่นต์ขายเบียร์อยู่ทั่วประเทศ ล่าสุดเจรจากับเอเย่นต์บ้างแล้ว ในรายที่มีที่ดินทำเลดีสามารถพัฒนาโครงการได้ทันที

จากกระแสข่าว บมจ.สิงห์ เอสเตท กำลังเจรจาร่วมทุนกับ บมจ.สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ (SF) นายนริศยอมรับว่าคุยกันจริง แต่เป็นเรื่องปกติของธุรกิจ เพราะส่วนตัวมีความสนิทสนมกับนายวิชา พูลวรลักษณ์ ซีอีโอ บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเอสเอฟ

10409192_802941573077480_1839131513056960803_n-1

ที่มาข่าว: ประชาชาติ