Singha Estate ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีรายได้รวม 1,768 ล้านบาท ลดลง 50% เนื่องจากรายได้จากการขายบ้านและคอนโดมิเนียมที่ลดลง และธุรกิจโรงแรมที่ยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 4 บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากจำนวนลูกค้าที่เข้าชมโครงการเพิ่มขึ้นและยอดขายบ้านระดับอัลตร้าลักชัวรีในโครงการ สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส ที่ขายได้กว่า 1,500 ล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งคาดว่าบริษัทจะมียอดโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม ดิ เอส สุขุมวิท 36 กว่า 1,650 ล้านบาท หรือประมาณ 40% ของยอดขายโครงการสะสม และรายได้จากค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการปล่อยเช่าพื้นที่กว่า 90% ในโครงการสิงห์ คอมเพล็กซ์ ในขณะที่ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษเข้ามาพักแบบระยะยาว
นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ‘S’ เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ว่า บริษัทมีรายได้ทั้งหมด 1,768 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจที่พักอาศัย (Residential development) 1,343 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 43% ธุรกิจอาคารสำนักงาน (Commercial) มีรายได้ 230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% และธุรกิจโรงแรม (Hospitality) มีรายได้ 114 ล้านบาท ลดลง 87% โดยสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของธุรกิจที่พักอาศัยและธุรกิจโรงแรมที่ยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งนี้ บริษัทได้พยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและใช้จ่ายอย่างระมัดระวังเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของธุรกิจ แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายคงที่บางอย่างที่ไม่สามารถปรับลดได้มากนัก เช่น ค่าเช่าที่ดิน และค่าเสื่อมราคา ทำให้ภาพรวมของบริษัทมีการขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 419 ล้านบาท
โดยรายได้จากการขายบ้านและอาคารชุดลดลง 43% ถึงแม้ว่าจะมียอดโอนกรรมสิทธิ์จากโครงการ บันยันทรี เรสซิเดนซ์ ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ สูงถึงราว 950 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ตาม รายได้จากการปล่อยเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 34% จากการซื้ออาคารสำนักงานเมโทรโพรลิส และอัตราการเช่าพื้นที่ที่สูงขึ้นในโครงการสิงห์ คอมเพล็กซ์ ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบจากธุรกิจโรงแรมที่มีรายได้ลดลง 87% เนื่องจากโรงแรมส่วนใหญ่จากทั้งหมด 39 แห่งทั่วโลก เพิ่งเริ่มกลับมาเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อีกครั้ง และยังคงได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสและการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้รายได้จากการให้เช่าและการให้บริการของบริษัทลดลง 62%
สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 4,882 ล้านบาท ลดลง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 การลดลงมีสาเหตุหลักจากรายได้จากการขายบ้านและอาคารชุดลดลง 49% และรายได้จากการให้เช่าและการให้บริการลดลง 37% กอปรกับค่าใช้จ่ายคงที่บางรายการไม่สามารถปรับลดได้อย่างมีนัยสำคัญ บริษัทจึงรายงานผลขาดทุนสุทธิ 1,031 ล้านบาท
“สิงห์ เอสเตท ตระหนักถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ จึงมุ่งมั่นเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด รวมทั้งปรับองค์กรให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และแสวงหาแนวทางและธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ นอกจากนี้ยังวิเคราะห์ผลประกอบการที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคตเพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานเฉพาะตัวที่เหมาะสมของแต่ละทรัพย์สิน เพื่อส่งมอบผลตอบแทนสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น และสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทในระยะยาว” นางฐิติมา กล่าว
ทั้งนี้ สิงห์ เอสเตท เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจที่พักอาศัย โดยยอดการเข้าเยี่ยมชมโครงการได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งบริษัทยังสามารถปิดการขายบ้านเดี่ยวระดับอัลตร้าลักชัวรีในโครงการ สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส ได้กว่า 1,500 ล้านบาทในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งการรับรู้รายได้เป็น 2 ส่วนจากความคืบหน้าของการก่อสร้างบ้านในช่วง 14 เดือน และการโอนกรรมสิทธิที่ดิน ซึ่งคาดว่าจะรับรู้รายได้ราว 800 ล้านบาทในปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทจะเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการ ดิ เอส สุขุมวิท 36 ให้ลูกค้าในไตรมาสที่ 4 นี้ มูลค่า 1,650 ล้านบาท ซึ่งผลประกอบการของโครงการนี้จะถูกบันทึกภายใต้วิธีส่วนได้เสีย (Equity Method) เพราะเป็นโครงการร่วมทุนกับ ฮ่องกง แลนด์
ในส่วนของธุรกิจอาคารสำนักงาน ปัจจุบันอัตราการเช่าพื้นที่ของโครงการสิงห์ คอมเพล็กซ์ สูงถึงกว่า 90% เป็นครั้งแรก ทั้งนี้อัตราการปล่อยเช่าพื้นที่ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้เช่าบางรายจะทยอยเข้าใช้พื้นที่และชำระค่าเช่าภายในปีนี้ นอกจากนี้ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มผู้เช่ารายใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง จากกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงค์จากโควิด-19 และต้องการขยายพื้นที่เช่าเพื่อรองรับการเติบโต เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สินค้าอุปโภคบริโภค และบริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นต้น นอกจากนี้ส่วนลดค่าเช่าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังเริ่มทยอยสิ้นสุดลง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาดำเนินได้เป็นปกติมากขึ้น
สำหรับธุรกิจโรงแรม นางฐิติมา กล่าวว่า การฟื้นตัวของโรงแรมในแต่ละประเทศจะใช้เวลาที่แตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทย เนื่องจากโรงแรมของกลุ่มบริษัท ตั้งอยู่ในจังหวัดที่อยู่ไกลและพึ่งพิงลูกค้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยภาครัฐ ซึ่งจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) ให้เดินทางเข้าประเทศในรูปแบบลองสเตย์ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 จะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ดี บริษัทเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของโรงแรมในบางประเทศ โดยในสหราชอาณาจักร การท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการฟื้นตัวของโรงแรมกลุ่มนี้ โดยมีอัตราการเข้าพักในเดือนกันยายนสูงถึงราว 40% ส่วนในสาธารณรัฐมัลดีฟส์ โรงแรมของกลุ่มบริษัทได้เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งผู้เข้าพักส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ทั้งนี้บริษัทคาดว่าในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 จะมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจากการที่สาธารณรัฐมัลดีฟส์เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยมีเงื่อนไขเพียงว่าต้องจองโรงแรมที่ลงทะเบียนไว้แห่งเดียวเท่านั้นตลอดการการเดินทาง โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานการปลอดโรค การกักตัว และการขอวีซ่าใหม่ ส่วนการท่องเที่ยวภายในสาธารณรัฐฟิจิ มีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกัน คาดว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเกิดขึ้นในปี 2564 แต่ในสาธารณรัฐมอริเชียส โรงแรม Outrigger Mauritius Beach Resort ยังอยู่ระหว่างปิดให้บริการเนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินระหว่างประเทศ