นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า เวลา 12.00 น. ของวันที่ 31 ต.ค. 2559 ผู้ที่ถือบัตร M-Pass ของกรมทางหลวง กับบัตร Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะสามารถนำบัตรที่ถือในมือของแต่ละระบบใช้บริการร่วมกันได้ทั้งระบบทางด่วน วงแหวนด้านใต้และมอเตอร์เวย์สาย 7 (กรุงเทพฯ–ชลบุรี) และ 9 (บางนา–บางปะอิน) หลังจากใช้เวลาผลักดันมาประมาณ 4 ปี
“ข้อดีจะทำให้ประชาชนที่ใช้ระบบทางด่วนและมอเตอร์เวย์ต่อไปสามารถมีบัตรใบเดียวแล้วใช้บริการได้ทุกระบบจากเดิมต้องถือบัตรคนละ2ใบ และปัจจุบันทั้งบัตร M-Pass และบัตร Easy Pass ได้ยกเว้นค่ามัดจำบัตรไปแล้ว แต่สามารถนำค่าสมัครบัตร วงเงิน 1,000 บาทหักเป็นค่าผ่านทางได้เมื่อใช้บริการ“
นอกจากนี้กรมยังได้หารือร่วมกับ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง หรือโทลล์เวย์ เพื่อให้บริษัทลงทุนติดตั้งเครื่องอ่านบัตรเพื่อรองรับบัตร M-Pass และบัตร Easy Pass เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ถือบัตรทั้ง 2 ระบบสามารถเข้าไปใช้บริการโทลล์เวย์ได้ด้วย จากปัจจุบันจะมีเฉพาะบัตรสมาร์ทเพิร์ส หรือบัตรสมาชิกเซเว่นการ์ดของ บจ.ไทยสมาร์ทคาร์ด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ถือบัตรอยู่ประมาณ 3 ล้านใบในตลาด
“ทางโทลล์เวย์ขอเวลาศึกษา เพราะมีข้อจำกัดที่ด่านเก็บเงินไม่ได้ออกแบบให้รองรับระบบและพื้นที่มีค่อนข้างจำกัด ทำให้การจะลดจำนวนช่องเก็บเงินสด เป็นระบบรองรับบัตรอัตโนมัตินั้นจะค่อนข้างยากและบัตรสมาร์ทเพิร์สที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นการถือบัตรแล้วยื่นมือไปแตะที่เครื่องเท่านั้นซึ่งเครื่องอ่านเป็นคนละระบบกับบัตรM-Passและบัตร Easy Pass แต่อนาคตจะต้องทำให้เชื่อมโยงกันให้ได้ทั้งระบบทางด่วน มอเตอร์เวย์และโทลล์เวย์เพื่อให้ประชาชนใช้บริการสะดวกมากยิ่งขึ้น“
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีผู้ถือบัตร M-Pass ประมาณ 1.1 แสนใบ ส่วนบัตร Easy Pass ข้อมูลจาก กทพ.ถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา มีบัตรทั้งหมดที่จำหน่าย 1.2 ล้านใบ มีบัตรที่มีการใช้งานประมาณ 1.1 ล้านใบ (รวมแบบใช้นาน ๆ ครั้ง) หรือเฉลี่ย 790,000 ใบต่อเดือน
สำหรับการรวมระบบบัตร M-Pass และบัตร Easy Pass ภายใต้ระบบค่าผ่านทางอัตโนมัติหรือ ETC (Electronic Toll Collection System) มีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการศึกษาแนวทางในการจัดตั้งศูนย์จัดการรายได้กลาง ระบบทางอัตโนมัติ หรือ CTCH ซึ่งเดิมมีกำหนดจะเริ่มใช้ภายในเดือน พ.ค. 2559 แต่ติดขัดด้านข้อกฎหมายและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทำให้ล่าช้า จนมาได้ข้อสรุปสุดท้ายเมื่อเร็ว ๆ นี้ จะเริ่มใช้วันที่ 31 ต.ค.นี้
ขณะที่ระบบตั๋วร่วมบัตรแมงมุมนั้น คาดว่าจะเริ่มใช้ในเดือน ก.พ. 2560 สำหรับรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าบีทีเอส ใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงก์และสายสีม่วง (บางใหญ่–เตาปูน) เป็นลำดับแรก ส่วนระบบทางด่วนมอเตอร์เวย์และรถเมล์จะเป็นระยะถัดไป เนื่องจากจะต้องมีการปรับปรุงระบบให้รองรับกับบัตรแมงมุมได้ด้วย
จะใช้ร่วมกับระบบตั๋วร่วม ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ออกแบบรายละเอียดแล้ว รอติดตั้ง ซึ่งระบบตั๋วร่วมจะใช้ได้กับทางด่วน มอเตอร์เวย์ และระบบขนส่งอื่น ๆ ทั้งเรือ รถไฟฟ้า รถเมล์ คาดว่าเริ่มใช้เดือน ก.พ. 2559 กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ–บางใหญ่) รถไฟฟ้าบีทีเอส ทางด่วนและมอเตอร์เวย์ก่อน
ที่มาข่าว: ประชาชาติ