12820224401282022889l

บีทีเอสตื๊อขอลงทุนก่อสร้างทางคู่แสนล้าน “ขอนแก่น-มาบตาพุด” พ่วงสัมปทานเดินรถ 50 ปี ทุ่มหมื่นล้านผุดคอนโดฯ สวัสดิการพนักงานรถไฟ 5 พันยูนิต แลกสิทธิ์เช่ายาวที่ดิน 359 ไร่ ย่าน กม.11 ลุยคอนโดปล่อยเช่า พื้นที่ใช้สอย 42-56 ตร.ม. อีก 5 พันยูนิต เนรมิตศูนย์การค้า โรงพยาบาล สวนรับรถไฟสีแดง “บางซื่อ-รังสิต เล็งสร้างโมโนเรลเชื่อมบางซื่อทะลุจตุจักร ด้าน “ประจิน” รื้อแผนพัฒนาที่ดินรถไฟ

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเตรียมระดมทุนจากเงินกองทุนโครงสร้างพื้นฐานบีทีเอส 3 หมื่นล้านบาท และกระแสเงินสด 2 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนก่อสร้างและรับสัมปทานเดินรถโครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-มาบตาพุด ระยะทางกว่า 500 กม. คาดว่าลงทุน 1.1 แสนล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 7 หมื่นล้านบาท อีก 3 หมื่นล้านบาท เป็นงานระบบเดินรถ คืบหน้าล่าสุดอยู่ระหว่างหารือกระทรวงคมนาคมถึงรูปแบบการร่วมลงทุน

ผุดเมืองใหม่ย่าน กม.11

ขณะเดียวกัน บริษัทสนใจพัฒนาที่ดิน 359 ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริเวณ กม.11 โดยเสนอแนวคิดเบื้องต้นให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาแล้ว และมีกำหนดหารือครั้งต่อไปภายในกลาง ก.ค.นี้ เกี่ยวกับระยะเวลาการเช่าและผลตอบแทน

เสนอพัฒนาโครงการเมืองใหม่ ใกล้สถานีกลางบางซื่อ ในแนวรถไฟสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่กำลังก่อสร้าง รูปแบบเป็นคอนโดมิเนียม 10 อาคาร ประมาณ 1 หมื่นยูนิต สำหรับเป็นสวัสดิการพนักงานรถไฟ 5พันยูนิต และให้คนทั่วไปที่เป็นมนุษย์เงินเดือนเช่าระยะยาว 10-30 ปี ยังมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ศูนย์การค้า โรงพยาบาล

นายคีรีกล่าวอีกว่า นอกจากนี้บริษัทสนใจลงทุนสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) เชื่อมการเดินทางรอบ กม.11 และพื้นที่ใกล้เคียง มีอยู่ในแผนการพัฒนาของการรถไฟฯ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว

14361083681436109183lภาพข่าว: ประชาชาติ

ประจินรื้อโมเดลที่ดินรถไฟ

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้แผนพัฒนาที่ดินการรถไฟฯแปลงใหญ่ 2 แปลง มีความชัดเจนถึงคอนเซ็ปต์การพัฒนาเรียบร้อยแล้ว เน้นเรื่องเชิงสังคมมากขึ้น คือ ย่านมักกะสัน 497 ไร่ เน้นพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวหรือปอดคนกรุงเทพฯ 150 ไร่ เชิงพาณิชย์ 140 ไร่ เช่นเดียวกับที่ดินย่าน กม.11 ให้ความสำคัญการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นสวัสดิการพนักงานรถไฟ 8-8.5 พันครอบครัว แยกเป็นที่อยู่บริเวณ กม.11 ประมาณ 5-6 พันครอบครัว และย้ายมาจากย่านมักกะสันอีก 2 พันครอบครัว รวมถึงที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้ปานกลาง สวนสีเขียว สันทนาการและพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม ร้านค้า เป็นต้น จากเดิมรถไฟออกแบบเน้นพัฒนาเชิงพาณิชย์ 100% ซึ่งที่ดินแปลงนี้ทางบีทีเอสสนใจพัฒนา ส่วนที่ดินสถานีแม่น้ำ 277 ไร่ยังไม่สรุปจะพัฒนาเชิงพาณิชย์ตามที่การรถไฟฯออกแบบไว้หรือเน้นการพัฒนา เชิงสาธารณะ ขอดูรูปแบบที่รถไฟศึกษาโครงการไว้ก่อน

คอนโดบีทีเอส 42-56 ตร.ม.

ทั้งนี้ มีกำหนดนัดบีทีเอสกรุ๊ปมาหารือภายในกลาง ก.ค.นี้ เพื่อติดตามความคืบหน้า โดยบริษัทเสนอพัฒนา 5 ส่วน คือ 1.สร้างคอนโดมิเนียม 5,000 ยูนิต รองรับพนักงานการรถไฟฯ 5,000 ครัวเรือน ออกแบบห้องชุด 2 ไซซ์ 42 และ 56 ตารางเมตร โดยบริษัทจะสร้างให้ฟรี เพื่อแลกเปลี่ยนกับการพัฒนาพื้นที่ส่วนที่เหลือ 2.พื้นที่ค้าขายสำหรับผู้ประกอบการที่ค้าขายบริเวณ กม.11 เดิม 3.สวนสาธารณะ 4.สร้างคอนโดฯ ให้เช่าสำหรับผู้มีรายได้ปานกลาง และ 5.พื้นที่เชิงพาณิชย์

นอกจากนี้มีการหารือแผนลงทุนระบบเดินรถสินค้า รถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร เส้นทางขอนแก่น-มาบตาพุด ระยะทาง 500 กม. รวมถึงผลตอบแทนที่บริษัทจะแบ่งสัดส่วนรายได้ให้กับการรถไฟฯ คาดว่าจะเป็นการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชนรูปแบบ PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556

บริษัทเสนอการเดินรถรูปแบบใหม่เป็นหัวรถจักรไฟฟ้า ก็ตรงกับนโยบายจะเปลี่ยนการใช้รถจักรดีเซลเป็นไฟฟ้า จึงให้บริษัทไปทำรายละเอียดการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าที่จะป้อนเข้าไปในระบบด้วย โครงการนี้อาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้

คีรีขอสัมปทานทางคู่ 50 ปี

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟฯกล่าวว่า ทั้ง 2 โครงการเป็นการลงทุนรูปแบบPPP โดยการเดินรถด้วยหัวรถจักรไฟฟ้าถือว่าเป็นโครงการที่ดี ทางบีทีเอสเสนอขอรับสัมปทาน 50 ปี ส่วนการพัฒนาที่ดินย่าน กม.11 บริษัทเป็นผู้ลงทุน 1 หมื่นล้านบาทสร้างคอนโดฯ รองรับพนักงานรถไฟ ทั้งย่าน กม.11 และมักกะสัน ที่มีแผนจะย้ายจะเป็นลักษณะชุมชนรถไฟ ส่วนพื้นที่ 100 ไร่ที่เหลือเป็นสวนสาธารณะ และพื้นที่เชิงพาณิชย์กว่า 100 ไร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรถไฟทางคู่ที่บีทีเอสสนใจเป็นโครงการที่กำลังจะเปิดประมูลปีนี้ ค่าก่อสร้างรวม 67,210 ล้านบาท ได้แก่ ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 106 กม. 11,348 ล้านบาท, มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 172 กม. 29,855 ล้านบาทและจิระ-ขอนแก่น 185 กม. 26,007 ล้านบาท รวมถึงช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง 78 กม. ที่เปิดใช้ปี 2555

ที่มาข่าว: ประชาชาติ