พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดการทดลองเดินรถเสมือนจริงโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ จากสถานีแบริ่ง – สถานีสำโรง จำนวน 1 สถานี
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ เป็นเป็นความร่วมมือระหว่าง กทม. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้ ตามแผนการเดินรถของกทม. ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ กำหนดเปิดให้บริการสถานีแรกที่สถานีสำโรง โดยจะทดลองเดินรถเสมือนจริง ระหว่างวันที่ 15 มี.ค.-2 เม.ย. 60
ในระหว่างทดลองเดินรถเสมือนจริง นอกจากจะเป็นการทดสอบระบบการเดินรถไฟฟ้าแล้ว ยังจะมีการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เหตุเพลิงไหม้ รถไฟฟ้าเฉี่ยวชน และการตรวจพบวัตถุต้องสงสัย เป็นต้น เพื่อเป็นการซักซ้อมการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงประสานความร่วมมือและความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะเปิดให้บริการเดินรถแก่ประชาชน ช่วงสถานีแบริ่ง–สำโรง ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.60 เป็นต้นไป และจะเปิดให้บริการเดินรถทั้งระบบประมาณปลายปี 2561
โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ ระยะทางรวม 13 กิโลเมตร มีจำนวน 9 สถานี ได้แก่
- สถานีสำโรง (E15) ตั้งอยู่ระหว่างสะพานข้ามคลองสำโรงกับแยกเทพารักษ์
- สถานีปู่เจ้าสมิงพราย (E16) ตั้งอยู่บริเวณถนนซอยสุขุมวิท 115
- สถานีพิพิธภัณฑ์เอราวัณ (E17) ตั้งอยู่บริเวณถนนสุขุมวิทซอย7
- สถานีโรงเรียนนายเรือ (E18) ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนนายเรือ
- สถานีสมุทรปราการ (E19) ตั้งอยู่หน้าวิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ
- สถานีศรีนครินทร์ (E20) ตั้งอยู่บริเวณสะพานข้ามคลองบางปิ้ง
- สถานีแพรกษา (E21) ตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนสมุทรปราการ
- สถานีสายลวด (E22) ตั้งอยู่บริเวณซอยเทศบาลบางปู 45
- สถานีเคหะสมุทรปราการ (E23) ตั้งอยู่บริเวณซอยเทศบาลบางปู 50
โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงพื้นที่ 123 ไร่ หลังสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง และมีอาคารจอดแล้วจร (park & ride) บริเวณสถานีปลายทางเคหะสมุทรปราการ เนื้อที่ 18 ไร่ สามารถจอดรถได้ 1,200 คัน ส่วนช่วงจากหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี จะเปิดให้บริการเดินรถจากสถานีหมอชิต เชื่อมต่อกับสถานีห้าแยกลาดพร้าว ประมาณต้นปี 2562 และเปิดให้บริการเดินรถตลอดเส้นทาง ภายในปี 2563
โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ถือเป็นเส้นทางข้ามจังหวัดแห่งแรกระหว่างกรุงเทพฯไปยังสมุทรปราการ ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในเขตบางนาและจังหวัดสมุทรปราการ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งชุมชนซึ่งมีประชาชนอาศัยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งสถานีสำโรงเป็นสถานีใหญ่ พร้อมรองรับการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนสายอื่นๆในอนาคต อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง
ผู้ว่า กทม. กล่าวต่อว่า จะหารือเรื่องค่าโดยสาร ซึ่งต้องหาจุดสมดุลที่ประชาชนรับได้ และ กทม.ไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก ทั้งนี้คาดว่าในเส้นทางช่วงแบริ่ง–สำโรง จะมีจำนวนผู้โดยสาร ราว 40,000-50,000 เที่ยวคน/วัน และในปี 61 เปิดเดินรถไปสมุทรปราการ คาดจะมีจำนวนผู้โดยสารขึ้นมาเป็น 1 แสนเที่ยวคน/วัน
ส่วนกรณีที่ กทม.ยังไม่สามารถนำเงินมารับโอนส่วนต่อขยายจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนนั้น เนื่องจาก กทม.ไม่สามารถจัดหาเงินจำนวน 3,557 ล้านบาทให้ รฟม.ได้ จึงใช้วิธีให้ กทม.เป็นลูกหนี้ของกระทรวงการคลังแทน รฟม.โดยจะหารือกันทั้งกระทรวงการคลัง กทม. รฟม. กระทรวงคมนาคมและสำนักงบประมาณ คาดจะได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 3 เม.ย.นี้และจะลงนามสัญญาว่าจ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)ก่อนเดินรถวันที่ 3 เม.ย.นี้
ทั้งนี้ กทม.จะเป็นลูกหนี้กับกระทรวงการคลัง มูลค่ารวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท จากการโอนเส้นทางแบริ่ง–สมุทรปราการ โดย กทม.ต้องลงทุนระบบติดตั้งอาณัติสัญญาณ ระบบราง เป็นเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะให้ BTSC ลงทุนไปก่อนแล้ว กทม.จะทยอยใช้คืน หรือหักกลบกับค่าจ้างเดินรถ
ด้านพล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ รฟม. กล่าวว่า หากการเจรจายังไม่สามารถสรุปได้ทันก่อนวันที่ 3 เม.ย.นี้ ทางรฟม.จะให้กทม.เช่าใช้พื้นที่สถานีสำโรงไปก่อนโดยเสนอราคาเช่าที่เดือนละ 8 ล้านบาท แต่เชื่อว่าเช่าในระยะสั้นประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเพื่อทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า การเดินรถ 1 สถานีจากแบริ่งไปสมุทรปราการ จะใช้รถที่มีอยู่ 52 ขบวนๆละ 4 ตู้ และจะเริ่มรับรถใหม่ที่สั่งซื้อไว้ โดยซีเมนส์จะทยอยส่งรถไฟฟ้า 22 ขบวน ในปลายปี 60 จนถึงกลางปี 61
ที่มาข่าว: TNN