สวัสดีค่ะ มิตรรักแฟนเว็บทุกท่าน บทความนี้ฝนจะพาชมอาคารประหยัดพลังงาน SCG 100 ปี โดยเป็นอาคารที่สร้างขึ้นเนื่องจาก SCG ครบ 100 ปีที่ได้รับ LEED Platinum จากสภาอาคารเขียวสหรัฐอเมริกา (U.S. Green Building Council: USGBC) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากลที่ยอมรับระดับโลก ในบ้านเราก็มีหลายอาคารนะคะ ที่ได้รับมาตรฐานนี้ และ ได้รับมาตรฐาน TREES จากประเทศไทย ซึ่งวันนี้ฝนก็อธิบายให้เข้าใจมากขึ้นนะคะ เกี่ยวกับ LEED ที่จะมีบทบาทในการออกแบบอาคารในอนาคตอันใกล้
อาคาร SCG 100 ปี ตั้งอยู่ที่บางซื่อ บนถนนปูนซีเมนต์ไทย ที่เดียวกับบริษัท ปูนซีเมนต์ไทยสำนักงานใหญ่ค่ะ สามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือ MRT
พิกัด : 13.804974, 100.536541
ซึ่งทาง SCG จะมีการเปิดให้ทางผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมอาคาร SCG 100 ปี เพื่อเป็นต้นแบบของอาคารยั่งยืน โดยในวันที่ฝนไปเยี่ยมชมอาคารนั้นทางคุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ประธานคณะกรรมการการพพัฒนายั่งยืน เอสซีจี ก็ได้พูดถึงที่มา แนวความคิด ในการปรับปรุงอาคารสำนักงานใหญ่ 1, 2 และอาคาร 5 ที่ใช้งานมานานเกือบ 30 ปี และการสร้างอาคาร SCG 100 ปี ที่สอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่ความเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในฐานะองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ SCG eco value ปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนคือเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม เอสซีจีจึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือ Green Building และคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสุขกับการทำงาน พร้อมปลูกฝังจิตสำนึกการดูแลและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ว่าแต่ LEED คืออะไร ?
เป็น “ระบบ” อย่างหนึ่งค่ะ ที่ถูกนำมาใช้ประเมินมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ย่อมาจาก Leadership in Energy and Environmental Design )โดย สภาอาคารเขียวสหรัฐอเมริกา หรือ U.S. Green Building Council (USGBC) ได้เป็นผู้กำหนดเกณฑ์ในการประเมินอาคารต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก มานานกว่า 10 ปี
LEED แบ่งมาตรฐานออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- อาคารสร้างใหม่ (New Buildings) มุ่งเน้นเรื่องการออกแบบและการก่อสร้างเพื่อให้เป็นอาคารที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- อาคารใช้งาน (Existing Buildings) จะพิจารณาจากประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือ Performance ของการใช้อาคาร ซึ่งจะได้จากการวัดผลดำเนินการจริงและมาตรการควบคุม บำรุงรักษาการใช้งานอาคาร
จากนั้นจะมีหัวข้อย่อยอีก ซึ่งมีให้เลือกดังนี้
- LEED for Building Design and Construction (LEED BD+C) สำหรับอาคารที่สร้างใหม่ หรืออาคารที่ปรับปรุงใหม่ โดยออกแบบสำหรับอาคารสำนักงานเป็นหลัก แต่สามารถใช้กับอาคารประเภทอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงงาน เป็นต้น
- LEED for Existing Buildings: Operations and Maintenance (LEED EB:OM) สำหรับอาคารที่สร้างเสร็จแล้ว หรืออาคารใช้งานที่ต้องการดูแลรักษาอาคารให้เป็นอาคารเขียว โดยอาคารที่ผ่านและไม่ผ่านการรับรองประเภท LEED BC+D สามารถสมัครขอรับรองประเภทนี้ได้
- LEED for Core and Shell (LEED CS) สำหรับอาคารที่ผู้ประกอบการจะสร้างแต่เปลือกอาคารคือ กรอบผนังภายนอกและหลังคา และส่วนที่เป็นแกนบริการของอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ ลิฟต์ บันไดและช่องท่อต่าง ๆ แล้วทำการตลาดเพื่อขายหรือให้เช่าพื้นที่ภายใน โดยผู้เช่าจะเป็นผู้มาตกแต่งกั้นพื้นที่ภายในเอง
- LEED for Commercial Interiors สำหรับการตกแต่งภายในสำหรับผู้เช่าอาคารและผู้ออกแบบ
- LEED for Neighborhood Development สำหรับการพัฒนาชุมชน หมู่บ้าน การเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะ และการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับพื้นที่พาณิชยกรรม
- LEED for Homes สำหรับบ้านพักอาศัย
- LEED for Schools สำหรับโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมปลาย
- LEED for Retails สำหรับร้านค้าปลีกต่าง ๆ
แน่นอนละว่า ทางเจ้าของโครงการนั้นๆ เป็นผู้ยื่นเข้าเพื่อให้ได้รับมาตรฐาน โดยต้องเลือกก่อนนะคะ ว่าเราจะยื่น LEED ตามประเภทไหนข้างต้น จากนั้นทาง USGBC ก็จะเป็นผู้ให้คะแนนว่า อาคารนั้นๆ ได้ระดับไหน โดยมี 4 ขั้นคือ
- LEED Certificated มีคะแนนตั้งแต่ 40-49 คะแนน
- LEED Silver มีคะแนนตั้งแต่ 50-59 คะแนน
- LEED Gold มีคะแนนตั้งแต่ 60-79 คะแนน
- LEED Platinum มีคะแนนตั้งแต่ 80 คะแนนขึ้นไป
หลักในการพิจารณาเพื่อประเมินระดับการรับรองของ LEED
- การใช้ประโยชน์จากสถานที่ตั้งอย่างยั่งยืน (Sustainable Sites: SS)
- การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency: WE)
- พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere: EA)
- วัสดุและทรัพยากร (Materials and Resources: MR)
- คุณภาพสภาพแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality: IEQ)
- นวัตกรรมในการออกแบบ (Innovation in Design: ID)
- ลำดับความสำคัญของท้องถิ่น (Regional Priority: RP)
ข้อ 1- 5 รวมกันจะได้ 100 คะแนนนะ ส่วนข้อ 6.นวัตกรรมการออกแบบนั้น ถือเป็นคะแนนโบนัส มีได้สูงสุด 6 คะแนน และจะมีคะแนนโบนัสเพิ่มให้อีก 4 คะแนน หากสามารถออกแบบหรือพัฒนาในสิ่งที่เป็นความต้องการเร่งด่วนของภูมิภาคที่ตั้งอยู่ได้ เช่น ถ้าภูมิภาคนั้นมีปัญหาขาดแคลนน้ำ และโครงการสามารถประหยัดน้ำได้ดีมากก็ได้คะแนนโบนัสเพิ่ม เป็นต้น ดังนั้น คะแนนเต็มสูงสุดจะเป็น 110 คะแนน
นอกจากมาตรฐานจากต่างประเทศแล้วเนี่ย อาคาร SCG 100 ปี ยังขอการรับรองอาคารเขียว TREES จาก TGBI (Thai Green Building Institute) หรือ สถาบันการอาคารเขียว เป็นหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่ประเมินอาคารในประเทศไทย สามารถเข้าไปชมเนื้อหาของอาคารเขียวเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tgbi.or.th/intro.php
ยังมีมาตรฐานของ “ผลิตภัณฑ์” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนะ ดูตั้งแต่กระบวนการผลิต การออกแบบ การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง การใช้งานและการกำจัดเมื่อหมดอายุการใช้งาน เรียกได้ว่าแทบจะทุกอย่างที่เป็น ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างของอาคาร 100 ปี นั้น เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมค่ะ
ตัวอย่างฉลากที่มีการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอาคารที่ยั่งยืน (สามารถดูเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกซื้อสินค้าได้นะคะ ว่ามีฉลากแบบนี้จะดีต่อสิ่งแวดล้อม)
ตัวอย่างอาคารที่ฝนนำมาฝากนะคะ ซึ่งเป็นอาคารที่ได้รับ LEED
- อาคาร SCG สำนักงานใหญ่ อาคาร 1 , 2 และ 5 จังหวัดกรุงเทพฯ ASEAN’s 1st LEED : Platinum : BD+C v2009
- อาคารโชว์รูมและศูนย์บริการโตโยต้าไทยเย็น สาขาปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา Thailand’s 1st TREES Gold : New Construction and Major Renovations V1.1
- อาคาร Park Ventures : LEED Platinum : Platinum Mixed-use Building
- Starbucks Porto Chino : Asia’s 1st LEED Gold : ID+C : Commercial Interior v2.0
อาคารที่สร้างใหม่นี้จะแบ่งออกเป็นอาคารเอสซีจี 100 ปี มี 21 ชั้น พื้นที่รวม 3.7 หมื่นตร.ม. และอาคารอเนกประสงค์ 10 ชั้น พื้นที่รวม 3 หมื่นกว่าตร.ม.
ตัวอาคารอเนประสงค์นั้นจะเป็นพื้นที่จอดรถและห้องประชุมจัดเลี้ยงค่ะ
ชั้นบนจะเป็นลานวิ่งลอยฟ้า และหลังคาจะติดแผง Solar Cell เอาไว้
อาคารอเนประสงค์และอาคาร SCG 100 ปีจะมีทางเดินเชื่อมกันอยู่
ตัวอาคารที่เราเห็นเด่นเลย เป็นอาคารสำนักงานค่ะ แนวความคิดจากการที่ ทาง SCG คิดถึงผู้ที่ใช้อาคารปัจจุบันเป็น Generation X,Y ดังนั้นแล้วการคิดสร้างสรรสิ่งใหม่ๆจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ อาคารจึงไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นลักษณะ กล่อง แข็งทื่อ แต่มีความพริ้วไหว โดยอาคารหลังนี้จะมีระเบียงรอบอาคาร ที่ตั้งใจยื่นเพื่อลดความร้อนที่เข้าสู่อาคาร ค่ะ สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารนี้ก็ Design 103 ของพี่ไทยเรานี่แหละ
ภูมิทัศน์รอบตัวอาคาร มีความร่มรื่น และมีพื้นที่สีเขียวมากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่เปิดโล่ง ลดปรากฎการณ์เกาะร้อน เป็นพื้นที่ดูดซับรับน้ำฝน ลดการท่วมขังสู่ชุมชนภายนอก
ด้านหน้าของอาคาร ยังมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ คือ นำน้ำเสียที่บำบัดและนำฝนมาใช้ในโถสุขภัณฑ์และลดต้นไม้ ซึ่งสามารถลดได้ถึง 74% ของการใช้น้ำประปา
หลังจากดูโมเดลแล้ว พาไปดูบรรยากาศของจริงกันค่ะ ว่า เป็นยังไง ตัวอาคารเรียกว่าโดดเด่นมาก
Landscape และ Hardscape ก็ออกแบบมาให้รู้สึกพริ้วไหว
พื้นปูนค่อนข้างน้อยนะคะ เก็บต้นไม้ใหญ่ๆเอาไว้ในโครงการ
พื้นที่สำหรับบริหารจัดการน้ำภายในโครงการ
ที่จอดรถนั้นจะมีแบ่งให้ชัดเจนค่ะ ส่วนนี้เป็นส่วนที่จอดรถสำหรับผู้พิการ
ที่จอดรถสำหรับจักรยาน
เสาไฟภายนอกก็เปลี่ยนมาใช้ LED ค่ะ
สำหรับที่จอดรถในอาคารนั้นจะมีอยู่ในอาคารอเนกประสงค์ค่ะ ซึ่งมีระบบบอกจำนวนที่ว่างของที่จอดรถ
และยังมีที่จอดรถสำหรับรถ Eco Car อีกด้วย ซึ่งใครขับรถแบบ Hybrid มาสามารถมาจอดรถบริเวณที่สัญลักษณ์นี้ได้ใกล้ทางขึ้นลง เป็นการรณรงค์อีกทางให้มาใช้รถที่มีคุณสมบัติแบบรักษ์โลก หนึ่งในเกณฑ์ของ LEED
พื้นพรมดักฝุ่นเพื่อลดฝุ่นละอองเข้าสู่ตัวอาคาร ที่ทุกทางเข้าออกของอาคาร
บริเวณโถง Lobby สำหรับผู้มาติดต่อต้องแลกบัตรก่อนนะคะ
ที่นี่จะมีระบบลิฟท์อัจฉริยะค่ะ ที่จะคำนวนว่าใครขึ้นไปชั้นไหนเมื่อแตะบัตรทำให้สามารถลดระยะเวลาการรอลิฟท์และลดจำนวนเที่ยวไปได้ ซึ่งอาคารสำนักงานใหญ่ๆนำมาใช้กันหลายที่
บัตรสำหรับผู้มาติดต่อจะถูกบันทึกเอาไว้ว่าเราจะไปที่ชั้นไหน คล้ายกับ Proxy Lift ในคอนโดมิเนียม
จุดแตะบัตรค่ะ พอแตะแล้วเครื่องคอมพิวเตอร์จะคำนวณว่ามีกี่คนที่ไปชั้นเดียวกันจะทำการจัดกลุ่มให้ไปอยู่ด้วยกัน
แบบนี้เอง
ภายในลิฟท์จะไม่มีชั้นให้เรากดนะคะ
เราจะขึ้นมาที่ชั้น 7 ซึ่งเป็นชั้นที่มีห้องประชุมส่วนกลางและพื้นที่ส่วนกลางในการจัดกิจกรรม ซึ่งมีทางเชื่อมไปยังชั้น 10 ของอาคารอเนกประสงค์
ส่วนนี้เป็นส่วนที่เอาไว้สามารถนั่งคุยโทรศัพท์แบบ Private ได้ เสียงจะเล็ดลอดออกมาน้อย
ภายในมีเก้าอี้แบบนี้ตัวนึง ลักษณะเป็นฉากใสกั้นเสียง
เอาใจสมาร์ทโฟนสมัยนี้มากมีที่ชาร์จแบตเตอรี่ภายในด้วย
ห้องประชุมแต่ละห้องนั้นก็มีการจัดการออนไลน์ ทั้งระบบ และการจองใช้ห้อง
ส่วนพวกประตูวัสดุต่างๆ ใช้วัสดุไม้มาตรฐาน FSC ประกอบมากกว่า 50%
ภายในห้องประชุมนะคะ ซึ่งเป็นระบบ VDO Conference
เอาไว้ติดต่องานเพื่อลดต้นทุนในการเดินทางค่ะ มีการดีเลย์เล็กน้อย แต่อยู่ในระดับที่สื่อสารรู้เรื่อง วันนั้นที่ไปเยี่ยมชมติดต่อไปทางอินโดนีเซีย
พื้นที่อีกส่วนนึงของชั้นนี้เรียกว่า Innovative Zone เป็นพื้นที่ส่วนกลางเอาไว้ให้พนักงานสามารถมาผ่อนคลอาย หรือนั่งเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่เปิดโล่งค่ะ
ที่มองออกไปเห็นวิวส่วนของบางซื่อ
การก่อสร้าง Hub ใหญ่ของบางซื่อ
กระจกที่ใช้ก็เป็นแบบ Laminated Glass 2 ชั้น ทำให้เกิดช่องว่างที่เป็นฉนวนกันความร้อนเข้าสู่อาคาร ตัวผนังก็ใช้เป็นอิฐ Q-Con และกระจกตัวนี้ยังมีการเคลือบสารที่มีค่าการสะท้อนต่ำ ไม่ให้ไปแยงตาผู้คนที่มองจากภายนอกมากนัก
ระเบียงโค้งที่มีรอบอาคาร เอาไว้กันแดดและความร้อนเข้าสู่อาคารโดยตรง แต่ไม่ค่อยเปิดออกให้ใช้งานเท่าไหร่
ทางเชื่อมที่เดินไปสู่อาคารอเนกประสงค์ หลังคาคลุมทางเดินเป็นแบบ Sky light ไม่ต้องเปิดไฟตอนกลางวัน
วัสดุพื้นที่เลือกใช้บริเวณนี้ก็เป็นกระเบื้องที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล 60% ของคอตตโต้
ในส่วนของอาคารอเนกประสงค์มีพื้นที่ในการจัดเลี้ยงหลายห้องหลายขนาด ภายในเลือกวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดสารพิษ (Low VOCs Emitting Materials) สีที่ทาภายในและกาวสารเคมีที่มี VOCs ต่ำ
หลอดไฟที่เลือกใช้เป็นหลอดผอม (T5) และ LED
ที่สามารถประหยัดไฟฟ้าไปได้ถึง 250,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
ในส่วนของห้องน้ำ เลือกใช้สุขภัณฑ์ที่ประหยัดน้ำมากกว่า 30% และระบบน้ำอย่างที่กล่าวไปข้างต้นมีการจัดการ Re-use อีกรอบ
ทางเดินขึ้นสู่ชั้นดาดฟ้า หรือ ชั้น 11 ของอาคารอเนกประสงค์ ใช้บันไดหนีไฟ
ขึ้นมาสู่ลู่วิ่งลอยฟ้าค่ะ
ด้านบนมีการติดแผงโซล่าร์เซลล์ที่สามารถผลิตไฟฟ้าปีละ 99,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงโดยเป็นลักษณะขายคืนให้กับการไฟฟ้าค่ะ
การลงทุนก่อสร้างสำหรับอาคาร SCG 100 ปีนี้ ทาง SCG ได้ทุ่มงบไปประมาณ 3,300 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 3 ปี ซึ่งเป็นงบประมาณที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอาคารสำนักงานทั่วไปถึง 30-40% แต่ถ้าเทียบกับอาคารสำนักงานที่ได้มาตรฐาน LEED เหมือนกันนั้น ไม่ได้ต่างกันมากเท่าไหร่ ซึ่งแม้จะมีผลตอบแทนในเชิงธุรกิจที่เทียบไม่ได้กับการปรับปรุงกระบวนการผลิต แต่ในมุมของการช่วยกันดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การลงทุนครั้งนี้ถือว่ามีแต่ได้กำไรและมีประโยชน์มหาศาล อีกทั้งความภูมิใจของพนักงานที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปลูกจิตสำนึกที่ดี สามารถต่อยอดสู่การปรับปรุงเรื่องอื่น ๆ ได้อย่างไม่สิ้นสุด โดยหวังว่าจะเป็นอาคารต้นแบบสำหรับอีกหลายๆอาคารสำนักงานที่หันมาสนใจเรื่องอาคารเขียวหรือการออกแบบที่ยั่งยืนนี้มากขึ้น
แน่นอนว่า Trend ของการรักษ์สุขภาพที่ทุกคนหันมาใส่ใจตัวเองนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดกระแสของคนรักสุขภาพมากมาย แต่อย่าลืม มองวงกว้างมากขึ้น หันมาใส่ใจสภาพแวดล้อมและโลกของเรา การที่ผู้ประกอบการรายใหญ่หันมาสนใจเรื่องของการออกแบบที่ยั่งยืน เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมองถึงเรื่องกำไรที่น้อยกว่านั้น ผลดีก็ตกต่อคนรุ่นต่อๆไป…..รักเราแล้ว อย่าลืมมารักษ์โลกกันนะคะ 🙂