คอนโดมิเนียม แผ่นดินไหว

เรามาศึกษากันต่อกับครึ่งหลังของเรื่องคอนโดมิเนียมกับแผ่นดินไหว ซึ่งถ้าใครยังไม่ได้อ่านครึ่งแรกก็สามารถกดคลิ๊กเพื่อกลับไปอ่านได้ที่นี่ค่ะ

สำหรับแนวทางในการรับมือแผ่นดินไหว ไทยเราจะมีกฏหมายการก่อสร้างอาคารต้าน แผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัดและภาคตะวันตก (จ.กาญจนบุรี) ที่มีรอยเลื่อนสำคัญคือรอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี บังคับให้อาคารสูงที่เกินกว่า 15 เมตรต้องมีโครงสร้างป้องกันแผ่นดินไหว ประกาศใช้เมื่อปี 2540

ส่วนกรุงเทพมหานครบังคับใช้กฏหมายในปี 2550 โดยออกกฏกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้กฏกระทรวงฉบับนี้ คือ

พื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นชั้นดินอ่อน ครอบคลุมถึง 14,000 ตร.กม. จึงส่งผลให้เกิดการขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ทำให้อาคารในบริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหวในระยะไกล ประกอบกับพื้นที่ภาคใต้บางส่วนของไทยตั้งอยู่ในบริเวณรอยเลื่อนระนองและรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งมีการสั่นสะเทือนอยู่บ่อยครั้ง ทำให้อาคารในบริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหว ประกอบกับหลักเกณฑ์การรับน้ำหนักความต้านทาน คงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ตามกฏกระทรวง ฉบับที่ 49 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่ครอบคุลมบริเวณเสี่ยงภัยดังกล่าว และไม่สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวตามมาตรฐานสากล ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงสมควรขยายพื้นที่การควบคุมดังกล่าว รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับน้ำหนัก ความต้านทานความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเสียใหม่จึงจำเป็นต้องออกกฏกระทรวงนี้

ซึ่งการออกแบบโครงสร้างอาคารต้องเป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่สภาวิศวกรรับรองหรือที่จัดทำโดยส่วนราชการหรือนิติบุคคล ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ วิศวกรควบคุม มีวิศวกรระดับวุฒิ สาขาวิศวกรรมโยธา เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาและลงลายมือชื่อรับรองวิธีการคำนวณนั้น

สำหรับตึกเก่าก็สามารถป้องกันได้ด้วยการนำแบบแปลนก่อสร้างอาคารมาตรวจสอบ และป้อนข้อมูลเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สร้างแบบจำลองสภาวะแผ่นดินไหวขึ้นมาว่า โครงสร้างของอาคารส่วนใดบ้างที่เป็นจุดอ่อนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว และตึกโยกคลอน

ซึ่งเมื่อแผ่นดินไหวจะไม่มีผลกระทบต่อเสาเข็มหรือฐานรากในส่วนที่อยู่ใต้ดิน เพราะมีดินช่วยอุ้มพยุงไว้ มีแต่ส่วนของอาคารที่อยู่เหนือดินเท่านั้นที่จะได้รับความเสียหาย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเสากับคานเท่านั้น ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงก็ไม่สูงเพราะไม่ต้องทำทุกต้น ทำแค่บางจุดที่คอมพิวเตอร์คำนวณออกมาว่าเป็นจุดอ่อน รับแรงผลักจากแผ่นดินไหวไม่ได้ ด้วยการนำเหล็กมาค้ำยันเสริมความแข็งแรงให้มากกว่าปกติ

แม้ว่าแผ่นดินไหวจะเป็นภัยธรรมชาติที่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แเต่เราสามารถเตรียมพร้อมจะรับมือกับมันได้

นำเสนอเกร็ดความรู้เรื่องคอนโดมิเนียมโดย Tree Condo

Tree Condo