ถ้าพูดถึงห้อง “Duplex” หลายๆคนคงจะพอนึกภาพกันออกใช่มั้ยคะ ว่ามันคือห้องที่มี 2 ชั้นเป็นห้องที่มีพื้นที่เปิดโล่งแบบฝ้าเพดานสูง (Double space) ห้องแบบนี้ผู้อยู่อาศัยจะได้อารมณ์เหมือนอยู่บ้านมีพื้นส่วนกลางที่เชื่อมต่อกันแต่ก็ยังได้พื้นที่การใช้งานเป็นสัดส่วน ซึ่งแรกๆ เราจะได้ยินแต่คำว่า Duplex พอมาระยะหลังจะเริ่มมีคำว่า “Loft” ให้เราเห็นกันบ่อยๆพอเข้าไปดูแล้วหลายคนก็คงรู้สึกว่ามันไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่แค่ดูพื้นที่เล็กกว่าแบบ Duplex แต่ในความเป็นจริงแล้ว 2 อย่างนี้มันต่างกันมากเลยค่ะ วันนี้เราจะมาดูกันว่ามันมีอะไรที่แตกต่างกันบ้างระหว่าง Loft และ Duplex
เราจะให้คุณผู้อ่านดูหน้าตาของห้องทั้ง 2 แบบกันก่อน เริ่มจากห้อง Duplex แบบที่มี Double Space (มีช่องเปิดฝ้าเพดานสูง)
ต่อมาคือห้องแบบ Loft จะเห็นว่ารูปห้องทั้ง 2 แบบที่เอามาให้ดูนั้น ต่างก็มีฝ้าเพดานสูงและมี 2 ชั้นเหมือนกันแต่มันเป็นห้องคนละแบบกันนะ
รูปแบบของห้อง Duplex
อย่างที่บอกไปแล้วว่าห้องแบบ Duplex นั้นจะมีพื้นที่ 2 ชั้นให้ใช้งานซึ่งจะมีทั้ง “แบบไม่มีช่องเปิงโล่ง” ใช้งานได้เต็มทุกพื้นที่ และ “แบบมีช่องเปิดโล่ง” (Double space) ซึ่งจะได้ความโปร่ง โล่ง บรรยากาศเหมือนบ้านแนวราบมากกว่าคอนโด ห้องในลักษณะนี้นี่เองค่ะที่มันจะไปคล้ายกับห้องแบบ Loft
โครงการแบบไหนที่จะทำห้องแบบ Loft??
ห้อง Loft นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนที่อยากได้ห้องที่มีช่องเปิงโล่ง (Double space) แต่มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และงบประมาณ ทำให้ผู้พัฒนาโครงการทำ Product แบบนี้ออกมาในตลาดมากขึ้น ซึ่งอาคารที่เหมาะจะทำห้องในลักษณะนี้ควรจะอยู่ในทำเลที่สามารถสร้างอาคารได้ค่อนข้างสูง โดยความสูงของอาคารจะถูกกำหนดด้วยความกว้างของถนนตาม กฎกระทรวงฉบับที่55 หมวด 4 เรื่องแนวอาคารและระยะต่างๆของอาคาร ที่กล่าวว่า
“ความสูงของอาคารไม่ว่าจากจุดหนึ่งจุดใด ต้องไม่เกินสองเท่าของระยะราบ วัดจากจุดนั้นไปตั้งฉากกับแนวเขตด้านตรงข้ามของถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้อาคารนั้นที่สุด” หรือสรุปง่ายๆว่าความสูงของอาคารต้องไม่เกิน2เท่า ของความกว้างถนน
ในการพัฒนาโครงการจะมีการกำหนดพื้นที่ที่สามารถก่อสร้างได้ตามกฎหมายผังเมืองจาก FAR (Floor Area Ratio) หรือ อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน ถ้าเราสร้างอาคารจนเต็มพื้นที่ที่กำหนดแล้วแต่ยังสามารถสร้างตึกได้สูงกว่านี้อีก ก็สามารถเพิ่มความสูงของชั้นบางชั้นแล้วทำมาทำเป็นห้องแบบ Loft หรือห้องฝ้าเพดานสูงที่มีชั้นลอย โดย “ชั้นลอย” ที่เพิ่มเข้ามาจะไม่คิดเป็นพื้นที่ในโฉนด ไม่คิดเป็นพื้นที่ก่อสร้าง แต่คิดเป็นเฟอร์นิเจอร์แทนจึงสามารถสร้างได้โดยไม่กระทบกับพื้นที่อาคารรวม ตัวอาคารที่มีห้องลักษณะนี้จะค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอาคารที่มีแต่ห้องความสูงปกติ
การเปรียบเทียบด้านกฎหมาย
เรามาเริ่มเปรียบเทียบในเรื่องของกฎหมายกันก่อน เพราะมันจะเป็นตัวกำหนดลักษณะของห้องทั้งในส่วนของ ความสูง ทางเข้าออก และ บันได
1) ความสูง
DUPLEX
ความสูงของห้องแบบ Duplex นั้นจะอิงตามความสูงของชั้นนั้นๆในอาคาร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 เรื่อง พื้นที่ภายในอาคาร ข้อที่ 22 เกี่ยวกับระยะดิ่ง กล่าวไว้ว่า
“ห้องที่ใช้เป็นที่พักอาศัย บ้านแถว ห้องพักโรงแรม ห้องเรียนนักเรียนอนุบาล ครัวสำหรับอาคารอยู่อาศัย ห้องพักคนไข้พิเศษ ช่องทางเดินในอาคาร จะต้องมีระยะดิ่ง (ความสูง) ไม่น้อยกว่า 2.60 เมตร” (ระยะดิ่งให้วัดจากพื้นถึงพื้น) ดังนั้นถ้าอาคารสูงชั้นละ 2.60 เมตร ทั้งชั้นล่างและชั้นบนของ Duplex ก็จะมีความสูง 2.60 เมตรเช่นกัน
ห้อง Duplex จะมีชั้นลอยหรือทำพื้นที่เปิดโล่ง (Double Space) ก็ได้แต่จะมีข้อกำหนดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 เรื่อง พื้นที่ภายในอาคารมาเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ
“ห้องในอาคารซึ่งมีระยะดิ่ง (ความสูง) ระหว่างพื้นถึงพื้นอีกชั้นหนึ่งตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไปจะทำพื้นชั้นลอยในห้องนั้นก็ได้ โดยพื้นชั้นลอยดังกล่าวนั้นต้องมีเนื้อที่ไม่เกินร้อยละสี่สิบของเนื้อที่ห้อง ระยะดิ่งระหว่างพื้นชั้นลอยถึงพื้นอีกชั้นหนึ่งต้องไม่น้อยกว่า 2.40 เมตร และระยะดิ่งระหว่างพื้นห้องถึงพื้นชั้นลอยต้องไม่น้อยกว่า 2.40 เมตรด้วย ห้องน้ำ ห้องส้วม ต้องมีระยะดิ่งระหว่างพื้นถึงเพดานไม่น้อยกว่า 2 เมตร ” (ระยะดิ่งให้วัดจากพื้นถึงพื้น)
สรุปได้ว่าถ้าจะทำพื้นที่ชั้นลอย ห้องนั้นจะต้องมีความสูงตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป มีพื้นที่ชั้นลอยไม่เกิน 40% ของเนื้อที่ห้อง โดยความสูงจะต้องมีระยะของ “พื้นชั้นลอยถึงพื้นอีกชั้นหนึ่ง” และ “พื้นห้องถึงพื้นชั้นลอย” ไม่น้อยกว่า 2.40 เมตร ซึ่งความสูงของชั้นบนห้องแบบ Duplex จะอ้างอิงความสูงของอาคารที่จะมีความสูงจากพื้นถึงพื้นไม่น้อยกว่า 2.60 เมตรอยู่แล้ว
LOFT
ส่วนห้องแบบ Loft นั้นเป็นห้องที่มีฝ้าเพดานสูงที่มีชั้นลอย ในส่วนของความสูงรวมของห้องเนื่องจากเป็นห้องฝ้าเพดานสูง (ประมาณ 4 เมตรขึ้นไป ) จึงสูงไม่น้อยกว่า 2.60 เมตรซึ่งเป็นระยะที่กำหนดตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ในส่วนของ “ชั้นลอย” นั้น วัตถุประสงค์คือทำขึ้นมาเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในห้อง “ถือเป็นแค่เฟอร์นิเจอร์” ไม่ได้คิดเป็นพื้นที่ก่อสร้างและไม่ได้รวมในโฉนด ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องอ้างอิงระยะต่างๆตามกฎหมาย เราจึงมักจะเห็นห้องแบบ Loft ทำชั้นลอยออกมามีระยะค่อนข้างเตี้ยในบางที่มีระยะจากพื้นถึงฝ้าเพดานประมาณ 2 เมตรกว่าๆเท่านั้นเอง
ห้องแบบ Duplex จะสามารถจัดวางร่วมกับห้องแบบปกติได้เพราะตัวห้องกินพื้นที่ถึง 2 ชั้น (ชั้นล่างและชั้นบนอยู่คนละชั้นกัน) ส่วนห้องแบบ Loft นั้นเป็นห้องฝ้าเพดานสูงที่ทั้งชั้นล่างและชั้นลอยจะอยู่ในชั้นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่นิยมเอาห้องธรรมดาที่มีความสูงปกติมาปะปนด้วย เนื่องจากถ้าเอามาปนจะทำให้เสียพื้นที่ในส่วนที่เหลื่อมล้ำกัน และ อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการก่อสร้างได้
ตัวอย่างผังโครงการที่มีการจัดวางห้อง Duplex รวมกับห้องแบบธรรมดา
ถ้ามองไม่ออกลองมาดูจากภาพตัดอาคารกันบ้าง เรามาลองดูความแตกต่างระหว่างอาคาร A และ B กันค่ะ จะเห็นว่ามีห้องแบบฝ้าเพดานสูง Double Space อยู่ที่ชั้นบนๆ ส่วนชั้นล่างเป็นห้องความสูงปกติ ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่าความสูงชั้นบนๆของอาคาร A แบบ Duplex ความสูงจะเป็น 2 เท่าของห้องปกติ แต่อาคาร B ที่เป็นห้องแบบ Loft จะมีความสูงไม่ถึง 2 เท่าของห้องปกติ และทั้งชั้นจะไม่มีห้องความสูงปกติมาปน
Tri-Plex 3 โครงการ The Unique สุขุมวิท 62/1
การทำห้องที่มีหลายชั้นในคอนโดนั้น ตามกฎหมายไม่ได้มีข้อจำกัดว่าทำได้ถึงกี่ชั้น ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นแค่ 2 ชั้นหรือแบบ Duplex แต่ถ้าจะทำ 3 ชั้น (Triplex) ก็เคยมีให้เห็นกันมาแล้ว โดย Product แบบนี้จะเหมาะกับคนที่อยากได้คอนโดห้องขนาดใหญ่ ที่มี space คล้ายกับวิลล่า หรือ ทาวน์โฮม หรือเป็น Product สำหรับตลาดผู้ซื้อชาวต่างชาติที่ไม่สามารถถือครองบ้านแนวราบได้ แต่ราคาก็อาจจะสูงหน่อยค่ะ ส่วนตำแหน่งของห้องสามารถวางได้ทั้งชั้นล่างและชั้นสูง ถ้าอยู่ชั้นล่างตัวห้องจะสัมพันธ์หรือเชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วนกลางหรือสวนหย่อม คล้ายบ้านแนวราบ หรือ Pool villa ถ้าอยู่ในชั้นสูงๆจะให้ความสำคัญในเรื่องของวิว โดยมักจะจัดให้ส่วนที่เป็น Double space หันไปรับวิวเป็นการเพิ่ม Value ของตัวห้อง
2)ประตูทางเข้าออก
จุดที่มีความแตกต่างกันอีกอย่างของห้องทั้ง 2 แบบนี้คือ “ประตูทางเข้าออกห้อง” ตามกฎหมายในห้องพักทุกชั้นจะต้องมีประตูเปิดออกสู่โถงทางเดินของอาคารเพื่อใช้ในการหนีไฟ ดังนั้นห้องแบบ Duplex จึงจะต้องมีประตูทั้งชั้นล่างและชั้นบน โดยประตูชั้นล่างเราจะใช้เป็นทางเข้าออกหลัก ส่วนประตูชั้นบนนั้นเป็นประตูที่ต้องมีตามกฎหมายไม่ใช่เป็นทางเข้าออกหลัก เราจะใช้หรือไม่ใช้ประตูนั้นก็ได้ ถ้าไม่ใช้ก็ล็อคเอาไว้ เวลาเพื่อนๆไปดูโครงการแล้วไม่รู้ว่าห้องที่ดูอยู่เป็นแบบ Loft หรือ Duplex ก็สังเกตจากประตูแบบนี้ก็ได้นะ
ตัวอย่างการตกแต่งประตูชั้นบนของห้อง Duplex ให้กลมกลืนกับผนัง
3)บันได
บันไดของห้องทั้ง 2 แบบนี้จะต่างกันตรงที่ความสะดวกและความแข็งแรงในการใช้งาน ซึ่งในการทำบันไดจะมีเรื่องของระยะและความสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับข้อกฎหมายจะมีกำหนดไว้ทั้งในเรื่องของความกว้าง ชานพัก ลูกตั้งลูกนอน เช่น ลูกตั้งสูงไม่เกิน 18 cm. ลูกนอนเมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้วเหลือความกว้างไม่น้อยกว่า 25 cm. เป็นต้น ซึ่งห้องแบบ Loft บันไดจะคิดเป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างหนึ่ง ไม่ใช่โครงสร้างของตัวอาคารที่ต้องอิงระยะต่างๆตามกฎหมาย ดังนั้นการใช้งานจึงอาจจะไม่สะดวกสบายเท่าห้องแบบ Duplex
บันไดของห้องแบบ Duplex จะทำออกมาคล้ายๆกับบันไดบ้านหรือทาวน์โฮม คือมีชานพัก มีระยะโดยรอบบันได งานโครงสร้างค่อนข้างแข็งแรง มีระยะต่างๆที่เหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด
บันไดในห้องแบบ Loft บางโครงการ ถ้าห้องมีพื้นที่จำกัดจะทำให้บันไดถูกทำออกมามีรูปร่างที่แปลกๆ เช่นมีขั้นบันไดสามเหลี่ยมเยอะ หรือเป็นบันไดที่ยิงยาวไปจนถึงชั้นบนเลยโดยไม่มีชานพัก ซึ่งไม่สะดวกต่อการใช้งาน
การเปรียบเทียบกรรมสิทธิ์และการคิดพื้นที่ขาย
ห้องแบบ Duplex นั้นพื้นที่ทั้งชั้นล่างและชั้นบน จะถูกคิดเป็นพื้นที่ในโฉนดทั้งหมด ในขณะที่ห้อง Loft นั้นพื้นที่ที่แสดงในโฉนดจะมีเฉพาะชั้นล่างเท่านั้น ส่วนชั้นบนนั้นถือเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง เพราะฉะนั้นในเรื่องของโครงสร้าง ระยะ และพื้นที่ใช้สอยต่างๆจึงอาจจะใช้งานได้ไม่เต็มที่เท่าห้องแบบ Duplex โดยชั้นบนมักจะทำในลักษณะของชั้นลอย ไม่ได้มีการกั้นห้องเป็นกิจจะลักษณะ สำหรับการคิดพื้นที่ขายทางโครงการจะคิดตามพื้นที่ในโฉนด ซึ่งห้องแบบ Duplex จะคิดตามปกติทั้งชั้นล่างและบน ส่วนห้อง Loft นั้นถึงแม้ว่าโฉนดจะระบุพื้นที่แค่ชั้นล่าง แต่ส่วนใหญ่มักจะมีการบวกราคาเพิ่มเข้าไป ซึ่งเวลาเลือกห้องลักษณะนี้เราจะต้องพิจารณาทั้ง “ราคา/ตร.ม.ตามโฉนด” และ “ราคา/ตร.ม.พื้นที่ใช้สอย” ค่ะ
การเปรียบเทียบค่าส่วนกลาง
ค่าส่วนกลางก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คิดตามพื้นที่ในโฉนด หรือ “อัตราส่วนในกรรมสิทธิ์”ตามความ พรบ. อาคารชุดพ.ศ. 2522 ระบุว่าคืออัตราส่วนที่แต่ละห้องชุด มีกรรมสิทธิ์(เป็นเจ้าของ)ในส่วนกลาง ซึ่งอัตราส่วนนี้จะถูกระบุไว้ในเอกสารหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด ดังนั้นห้อง Duplex จึงเสียค่าส่วนกลางมากกว่าเพราะคิดพื้นที่ทั้งชั้นล่างและชันบนลงไปในโฉนด ส่วนห้อง Loft จะคิดค่าส่วนกลางเฉพาะแค่ชั้นล่างซึ่ง เราจะถือว่าได้พื้นที่ชั้นลอยเพิ่มมาโดยไม่นำไปคิดค่าส่วนกลาง
การเปรียบเทียบการใช้พื้นที่
ห้องแบบ Duplex และ Loft เป็นห้องที่มีการใช้งานพื้นที่ได้มากกว่าหนึ่งชั้นทั้งคู่ ซึ่งถ้าเทียบกับห้องธรรมดาแล้วเราจะได้ห้องที่มีบรรยากาศเหมือนอยู่บ้าน และในห้องที่เป็น Double space จะได้ห้องที่โปร่งโล่งเพิ่มเข้ามา นอกจากนั้นการที่ห้องแบบ Duplex และ Loft มีพื้นที่ชั้นบน นอกจากจะได้พื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นแล้ว ข้อดีของ space แบบนี้คือสามารถแบ่งการใช้งานพื้นที่ออกเป็นส่วน Public และ Private เช่นจัดพื้นที่ครัว นั่งเล่น รับประทานอาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกันหรือใช้ในการรับแขกจัดให้อยู่ชั้นล่าง ส่วนพื้นที่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวหน่อยอย่าง ห้องนอนหรือห้องทำงานก็จัดให้อยู่ชั้นบน
ชั้นบนของห้องแบบ Duplex จะมีพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับ Public space ก่อน แต่ในส่วนของห้องนอนนั้นจะมีการกั้นห้องแยกเป็นสัดส่วน จึงค่อนข้างเป็นส่วนตัว อารมณ์คล้ายกับที่เราอยู่ในบ้านแนวราบ
ส่วนห้องแบบ Loft นั้น ชั้นลอยจะมีพื้นที่เชื่อมต่อกับชั้นล่างแบบเปิดโล่ง ใช้ Public private ร่วมกันจึงอาจจะไม่ได้มีความเป็นส่วนตัวเท่า Duplex เพราะไม่ได้กั้นเป็นห้องแบบมีประตูปิด และด้วยความที่พื้นที่มีความต่อเนื่องกันโดยไม่ได้กั้นห้องแยกจึงอาจจะทำให้เปลืองแอร์ได้ พื้นที่ชั้นบนของห้อง Loft จะทำออกมาในลักษณะของชั้นลอยเท่านั้น จะไม่มีการเดินงานระบบต่างๆบนพื้นเพราะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโครงสร้างอาคารจึงทำให้ไม่มีห้องน้ำที่ชั้นบน ต้องลงไปใช้ที่ชั้นล่างเอาค่ะ
อย่างไรก็ตามขนาดของห้องทั้ง 2 แบบนี้ไม่ควรเล็กจนเกินไป มิฉะนั้นถ้าหักพื้นที่บันไดและ Double space แล้วอาจจะทำให้การใช้งานในพื้นที่ส่วนต่างๆไม่เป็นสัดส่วนเท่าไหร่นัก เช่นได้ห้องนั่งเล่นที่มีระยะดูทีวีกระชั้นชิด หรือ ห้องนอนที่ไม่มีพื้นที่โดยรอบเตียงเป็นต้น
อีกประเด็นสำหรับการใช้พื้นที่ของห้องทั้ง 2 แบบคือบันได เพราะเราจะเสียพื้นที่บริเวณนี้ไป ถ้าจะเพิ่มการใช้ประโยชน์สามารถเอามาทำเป็นห้องเก็บของ ชั้นวางของ หรือ พื้นที่วางทีวีได้
ตัวอย่างการใช้ประโยชน์พื้นที่ใต้บันไดเป็นชั้นวางของ , วางทีวี และห้องเก็บของ
ตัวอย่างการใช้ประโยชน์พื้นที่ใต้บันไดเป็นชั้นวางของ , วางทีวี และห้องเก็บของ
การต่อเติมและการรับน้ำหนัก
ในห้องที่มี Double space หรือมีช่องเปิดต่อเนื่องจากทั้งชั้นล่างถึงชั้นบนจะเสียพื้นที่เปิดโล่งตรงส่วนนี้ไปแทนที่จะได้พื้นที่ใช้สอยแบบเต็มๆ แลกกับบรรยากาศดูที่โปร่ง โล่ง เหมาะกับคนที่ชอบห้องที่ดูทันสมัยหน่อย สำหรับการต่อเติมในกรณีห้องแบบ Duplex โครงสร้างของมันจะถูกคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร บางโครงการมีการเผื่อการรับน้ำหนักสำหรับต่อเติมเป็นแบบ 2 ชั้นเต็มๆเอาไว้แล้ว ต่างกับห้องแบบ Loft ที่เราไม่สามารถจะต่อเติมให้เต็มพื้นที่ได้ เพราะชั้นลอยถือเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่เพิ่มเติมเข้ามา ไม่ได้เป็นโครงสร้างหลัก ไม่ได้มีการเผื่อการรับน้ำหนักสำหรับการต่อเติมเอาไว้ แต่อาจจะกั้นด้วยของตกแต่งที่มีน้ำหนักเบาได้เล็กน้อยขึ้นอยู่กับรูปแบบของตัวห้อง
การเปรียบเทียบความคุ้มค่าเทียบกับปริมาตร
ห้องแบบ Duplex ซึ่งคิดพื้นที่ใช้สอยตามโฉนดเหมือนห้องทั่วๆไปอยู่แล้ว ความคุ้มค่าจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานอย่างเช่น ราคา วัสดุ คุณภาพในการก่อสร้าง และวิว ส่วนห้องแบบ Loft นั้นตามโฉนดจะระบุพื้นที่เฉพาะชั้นล่าง แต่จะมีปัจจัยของ ความสูง และพื้นที่ของชั้นลอยทำให้ห้องดูมีปริมาตรมากขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับห้องแบบธรรมดาจะได้ห้องที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า ดังนั้นจึงต้องลองเทียบความคุ้มค่ากับราคาและพื้นที่ใช้สอย เพื่อนๆจะได้ตอบคำถามกับตัวเองได้ว่าเราชอบห้องแบบนี้รึเปล่าเพราะบรรยากาศของห้องแบบนี้มันแตกต่างและน่าสนใจแต่ถ้าคนไหนไม่ชอบก็อาจจะไม่อินได้นะคะ
เราลองมาดูห้องขนาดประมาณ 28 ตารางเมตรที่เป็นห้องแบบปกติตามรูปภาพด้านบนกันค่ะ
แล้วลองมาเปรียบเทียบกับห้อง Loft ที่มีขนาดเดียวกันดู (คิดตามโฉนด) เราจะรู้สึกว่าห้องโปร่ง โล่งกว่า เนื่องมีความสูงและชั้นลอยเพิ่มเข้ามา ทำให้ห้องมีปริมาตรมากกว่า ส่วนราคาขายถึงแม้ว่าห้องลักษณะนี้จะคิดพื้นที่เฉพาะตามโฉนดก็ตามแต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมีการบวกราคาเพิ่มเข้าไปทำให้มีราคาแพงกว่าห้องแบบธรรมดา ซึ่งตรงจุดนี้เราต้องมาลองเปรียบเทียบดูว่าราคาของห้องจะคุ้มค่ากับพื้นที่ที่เพิ่มเข้ามาด้วยหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่” เราไปเจอห้อง “ขนาด 30 ตารางเมตร” ของทั้ง แบบ Loft และ แบบธรรมดา มามีราคาดังต่อไปนี้
- ห้องธรรมดา 30 ตร.ม. ราคา 4.4 ล้านบาท หรือประมาณ 146,000 บาท/ตร.ม.
- ห้อง Loft 30.5 ตร.ม. (ชั้นลอย 13.5 ตร.ม. พื้นที่รวม 44 ตร.ม.) ราคา 5.8 ล้านบาท
- ถ้าเราคิดตามโฉนดจะได้ประมาณ 190,000 บาท/ตร.ม.
- แต่ถ้าเราคิดตามพื้นที่ใช้สอยจะได้ประมาณ 132,000 บาท/ตร.ม.
จะเห็นว่าในห้องแบบ Loft นั้นถ้าคิดราคาตามโฉนดเราจะรู้สึกว่าราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าคิดพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งหมดราคาเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับห้องแบบธรรมดา อย่างไรก็ตามนอกจากเรื่องของราคาแล้วยังต้องพิจารณาถึงความชอบและวัตถุประสงค์ในการใช้พื้นที่ด้วยค่ะ
สรุป
Duplex
ห้องแบบ Duplex จะเหมาะกับคนที่อยากได้ห้องที่มีพื้นที่ใหญ่และอยากบรรยากาศเหมือนอยู่บ้าน ไม่ใช่แค่อยากได้พื้นที่เพราะถ้าอยากได้แค่พื้นที่เยอะก็ซื้อห้อง 3 Bed หรือ Penthouse แทนได้ แต่ต้องชอบห้องที่เป็น Double space ซึ่งจะได้เสน่ห์การใช้ชีวิตในพื้นที่โล่งแนวสูง คือจะได้ห้องที่โปร่งโล่ง สามารถเปิดรับวิวในมุมสูงจากหน้าต่างบานใหญ่ได้ เมื่อก่อนเราจะเห็น Product แบบห้อง Duplex ที่เป็นขนาด 2-3 ห้องนอน หรือ Penthouse เท่านั้น แต่มาในยุคสมัยนี้เราจะเริ่มเห็น Product ประเภทเป็นห้อง Duplex แบบ 1 ห้องนอนมากขึ้น และห้องแบบ Loft เพราะเริ่มมีกลุ่มคนที่ชอบการใช้ชีวิตในห้องที่มีพื้นที่ว่างในแนวสูง (Double space)มากขึ้น
Loft
ส่วนห้อง Loft เกิดขึ้นได้เพราะมีกลุ่มคนที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยแบบ Double space โปร่งโล่ง ทันสมัย แต่มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ และ งบประมาณ เลยมีผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการในรูปแบบนี้มากขึ้น ถึงแม้การใช้งานอาจจะไม่เต็มที่เท่าห้องแบบ Duplex ด้วยความที่พื้นที่ชั้นลอยไม่ได้มีการกั้นผนังเป็นสัดส่วนและไม่สามารถต่อเติมอะไรได้มากนัก แต่จะได้ปริมาตรห้องและพื้นที่ใช้งานมากกว่าห้องธรรมดานะคะ
อย่างไรก็ตามห้องทั้ง 2 แบบนี้ก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ในการที่เราจะเลือกจึงต้องพิจารณาทั้งความชอบ การให้ความสำคัญของพื้นที่ รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิต รวมถึงเงินในกระเป๋าจึงจะรู้ว่าห้องรูปแบบไหนจึงจะเหมาะกับเราค่ะ
—————————————————————————————————————————————
ถ้าเห็นว่ารีวิวนี้มีประโยชน์ ช่วยกด LIKE ให้หน่อยนะคะ จะได้มีกำลังใจทำรีวิวถัดๆไปค่ะ
บทความนี้ผู้เขียนพยายามศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อที่กำลังตัดสินใจซื้อคอนโด หากมีตรงส่วนไหนที่ขาดตกบกพร่องหรือผิดพลาดไป ช่วยกันแนะนำได้นะคะ ^^