ก่อนอื่นเราขอพูดถึง … ความสำคัญของกระจกก่อน ตัวกระจกเองมีหน้าที่ให้แสงผ่านเข้ามาภายในได้ ข้อดีคือเป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อพื้นที่ภายนอกและภายในบ้านเข้าด้วยกัน ส่งผลให้พื้นที่ภายในบ้านโปร่งโล่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะมีใช้ทั้งภายในและภายนอก สำหรับภายในสามารถใช้กระจกธรรมดาได้ เนื่องจากไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามารบกวน แต่กระจกที่ใช้ภายนอกจำเป็นต้องใช้ประเภทที่สามารถทนความร้อนได้ดี เนื่องจากประเทศไทยมีอากาศร้อนเกือบทั้งปี โดยเฉพาะเดือนเมษายน – พฤษภาคม ถือว่าเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดในรอบปี มีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศา ดังนั้นกระจกจึงถูกพัฒนาให้มีหลากหลายชนิดเพื่อให้ตอบโจทย์ในการใช้งานในแต่ละพื้นที่
วันนี้เราเลือกมาให้ทำความรู้จักกันประมาณ 4 ชนิดที่สามารถช่วยลดความร้อนได้ และนวัตกรรมชนิดใหม่ ที่ถูกพัฒนาเข้าไปในตัวกระจก เช่น Smart-Tinting Glass เป็นกระจกที่ปรับเฉดสีได้ตามต้องการ เรียกได้ว่าเป็นฟังก์ชันเสริมสำหรับคนรักเทคโนโลยี และชอบความหลากหลายในการอยู่อาศัย เพื่อให้ที่อยู่อาศัยไม่น่าเบื่อ และสามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า เริ่มอยากรู้แล้วใช่ไหมว่าคืออะไร !? ไปทำความรู้จักกันเลยนะคะ > <
เครดิตภาพจาก Website : http://www.johnsonwindowfilms.com
”กระจก” เป็นวัสดุที่ผลิตมาจากวัตถุดิบหลักๆ คือ ทรายแก้ว (Silica sand) ในสัดส่วนประมาณ 70% และนำมาผสมกับส่วนประกอบอื่นๆอีก 30% เช่น โซดาแอซ, แร่ธาตุจำพวกหินปูน, ผงคาร์บอน ผงเหล็ก, โซเดียมซัลเฟตและสารเคมีอื่นๆ เราไปดูขั้นตอนการผลิตกระจกกันเลยค่ะ
- เริ่มจาก … นำวัตถุที่กล่าวมานั้นมาผสมกันให้เข้าที่ด้วยอุณหภูมิสูงถึง 1,600 องศาเซลเซียส
- จนวัตถุดิบละลายจนเป็นของเหลว เรียกของเหลวนี้ว่า “น้ำแก้ว”
- หลังจากนั้นจึงนำไปสู่กระบวนการขึ้นรูป โดยเราจะใช้น้ำดีบุกเพื่อให้กระจกเรียบ
- สุดท้าย เราก็ปรับอุณหภูมิให้ลดลงจนเหลือประมาณ 100 องศาเซลเซียส เพื่อให้น้ำแก้วแข็งตัว จนเป็นกระจกทั่วไป
ขั้นตอนข้างต้นเป็นวิธีผลิต กระจกโฟลต (Annealed Glass) ซึ่งในกระจกแต่ละประเภทก็จะมีเทคนิคต่างๆ ที่ทำให้เกิดคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป
เครดิตภาพจาก Website : https://krajok.com/tintedglass/
“กระจกตัดแสง” Tinted Glass เป็นกระจกที่มีวิธีการผลิตเหมือนกระจกโฟลตใส (Annealed Glass) แต่จะเพิ่มเติมคือมีการผสมออกไซด์ของโลหะบางประเภทลงในเนื้อกระจก ทำให้กระจกชนิดนี้จึงมีสีสันให้เลือกหลากหลาย แต่ที่นิยมใช้กันจะมีประมาณ 3 สี ได้แก่ สีชา (Euro Grey tinted glass) สีเขียว (Green Tinted Glass) และสีฟ้า ซึ่งกระจกชนิดนี้จะอมความร้อนไว้ที่กระจก ทำให้ช่วยลดแสงแดดที่จะส่องเข้ามาภายในได้ระดับนึง ซึ่งเป็นชนิดที่ใช้มากที่สุดในประเภทที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและคอนโด เนื่องจากมีราคาสูงกว่ากระจกโฟลตประมาณ 10-20% ในขณะที่ช่วยลดแสง UV ได้ดีกว่า
ข้อดี
- ช่วยลดแสง UV มากกว่ากระจกโฟลสประมาณ 40-50%
- ช่วยลดความสว่างของแสง ทำให้ได้แสงที่นุ่มนวลสบายตา
- ช่วยประหยัดพลังงานของระบบปรับอากาศภายในได้
ข้อเสีย
- ผิวกระจกสะสมความร้อน ทำให้ความร้อนจากผิวกระจกแผ่เข้ามาในอาคาร
- ในกรณีที่กระจกโดนแดดไม่เท่ากัน มีฝั่งไหนโดนแดดมากกว่า ส่งผลให้อุณหภูมิภายในกระจกแตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้กระจกแตกได้ง่าย
- ไม่ทนต่อรอยขูดขีด
ภาพจากโครงการ รังสิต-ซอยเวิร์คพอยท์ จาก พฤกษา นิยมเอามาใช้บริเวณประตูหน้าต่าง เนื่องจากกระจกจะมีหน้าที่ช่วยลดแสงสะท้อนและป้องกันความร้อนได้ โดยเวลาเปิดเครื่องปรับอากาศจะช่วยให้เย็นเร็วกว่าปกติ ประหยัดพลังงานได้อีกทางค่ะ
เครดิตภาพจาก Website : http://www.srithipclassic.com
“กระจกลามิเนต” (Laminated) เป็นกระจกนิรภัยหลายชั้น ที่มีความปลอดภัยมากที่สุด โดยวิธีการคือ นำกระจกโฟลต (Annealed Glass) หรือกระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass) 2 ชิ้นมาประกัน โดยตรงกลางจะมี PVB (Polyvinyl Butyral) ซึ่งเป็นแผ่นฟิล์มที่มีความใสให้การยึดเกาะกับกระจกอย่างดีเยี่ยม เปรียบเสมือนกาวดีๆนี้เอง หลังจากประกบแล้วเราจะนำไปผ่านความร้อน เพื่อให้เนื้อฟิล์มอ่อนตัวลง สุดท้ายก็ปล่อยให้กระจกเย็นตัวลง และสามารถนำไปใช้งานได้
ข้อดี
- ช่วยป้องกันเสียงภายนอก และเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกทั่วไป ยิ่งซ้อนกันหลายชั้นยิ่งดีนะคะ
- ช่วยป้องกันแสง UV ได้มากถึง 90%
- เมื่อกระจกแตกกระจกจะไม่ร่วงหล่นลงมา เนื่องจากมีแผ่นฟิล์มที่ช่วยยึดตรึงกระจกไว้ก่อนตกลงไปด้านล่าง ซึ่งลดอันตรายได้มากขึ้น
- ส่วนสีจะขึ้นอยู่กับแผ่นฟิมล์ ทำให้สามารเลือดสีได้ตามความต้องการ
- ทนต่อแรงดันในที่สูงได้ดี
ข้อเสีย
- กระจกนิรภัยลามิเนตจะรับแรงกระแทกได้น้อยกว่ากระจกธรรมดา (ในความหนาที่เท่ากัน)
- ฟิล์ม PVB มีคุณสมบัติดูดความชื้น ในกรณีที่มีความชื้นสูงจะทำให้การยึดเกาะไม่ดี และอาจเกิดการแยกตัวออกจากกันได้
ภาพจากโครงการ Banyan Tree Residences Riverside Bangkok จาก Nirvana Daii ออกแบบโดยใช้กระจกลามิเนตซ้อนกัน 3 ชั้น ซึ่งกระจกชนิดนี้มีคุณสมบัติที่กันเสียงได้ดี เนื่องจากโครงการอยู่ติดแม่น้ำห่างแม่น้ำเพียง 16 เมตร ทำให้อาจจะมีเสียงรบกวนจากภายนอกเข้ามาภายในห้องได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดความร้อนภายนอกได้อีกด้วย
เเครดิตภาพจาก Website : https://www.visionglass.net
“กระจกแผ่รังสีต่ำ” (Low-E Glass) หรือ กระจก Low-E จะมีการเคลือบผิวกระจกด้วยสารเงิน (Silver) บางๆ โดยสารที่เคลือบกระจกได้รับการออกแบบให้สะท้อนพลังงานความร้อนออกไปได้มาก แต่ยังคงให้แสงสว่างผ่านเข้ามาได้มากเช่นกัน ลักษณะเป็นชั้นฟิล์มบางๆ เคลือบทับอยู่บนผิวกระจก ซึ่งส่งผลให้มีรอยขูดขีดได้ง่าย หรือถ้ามีฝุ่นจับประสิทธิภาพการสะท้อนความร้อนก็จะลดลง ดังนั้น ก็เลยต้องหากระจกมาซ้อนหรือปิดทับแผ่นฟิล์มอีกชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงนำไปใช้งาน ส่วนใหญ่ก็จะใช้กับ Insulated Glass Unit จะยิ่งทำให้กระจกมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“กระจกอินซูเลต” (Insulated Glass) เป็นฉนวนกันความร้อน กระจกชนิดนี้มีลักษณะเป็นกระจก 2 แผ่น (แผ่นที่หันออกนอกอาคารนิยมใช้กระจก Low-E ส่วนกระจกด้านที่อยู่ภายในตัวอาคารใช้เป็นกระจกใสธรรมดา) ที่มีช่องว่างตรงกลางโดยบริเวณนั้นจะเป็นอากาศแห้ง หรือก๊าซเฉื่อย ที่ช่วยกั้นไม่ให้ความร้อนถ่ายเทพลังงานกันได้ ทำให้เก็บรักษาอุณหภูมิภายในได้ดี ดังนั้นในทางกลับกันถ้าใช้ในห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ความร้อนภายในห้องก็ไม่สามารถออกสู่ภายนอกได้เช่นกัน เหมาะกับบ้านหรือคอนโดที่มีเสียงดังมากๆ เช่น ใกล้สนามบิน ทางด่วน ทางรถไฟ และแม่น้ำ เป็นต้น
ข้อดี
- กระจก Low E ดูเป็นธรรมชาติมากกว่ากระจก Reflective Glass
- กันแสง UV ได้มากถึง 95-95% ถือเป็นกระจกที่ดีที่สุด
- เนื้อกระจกโปร่งแสงน้อยลง แสงที่ส่องผ่านผิวเคลือบลงมาจึงนุ่มสบายตากว่า
- ช่วยประหยัดค่าใช้ไฟฟ้าได้ดี
- ถ่ายเทความร้อนได้ดีช่วยลดปัญหากระจกแตกร้าว
- เหมาะกับคนที่ชอบความเป็นส่วนตัว กันเสียงได้ดี
- ไม่เกิดฝ้าหรือหยดน้ำติดที่ผิวกระจกเมื่ออุณหภูมิภายในและภายนอกห้องต่างหันมากๆ
ข้อเสีย
- สารเงิน (Ag) เป็นสารที่ไม่ทนต่อสภาวะอากาศและใช้ไปนานๆจะเป็นคราบสนิมดำๆเกิดขึ้น บนกระจกได้ ดังนั้นไม่ควรให้มีอากาศรั้วซึมเข้าไปด้านใน
- ราคาสูงกว่ากระจกทั่วไปประมาณ 4-6 เท่า
- ลดความร้อนได้น้อยกว่า Reflective Glass ที่นิยมใช้ในออฟฟิศ
- ราคาสูงกว่ากระจกโฟลต (Annealed Glass) 10 เท่า
ภาพจากโครงการ Whizdom อโศก-สุขุมวิท จาก MQDC ออกแบบโดยใช้กระจก Low E ทั้งหมด เนื่องจากต้องการช่วยประหยัดพลังงานให้ผู้อาศัย โดยคุณสมบัติของกระจกจะเหมือนฉนวนกันความร้อน ให้ค่าในการสะท้อนความร้อน และการถ่ายเทความร้อนที่ต่ำ รวมถึงยังสามารถเก็บเสียงได้ดี และนำไปดัดโค้งได้อีกด้วย
เครดิตภาพจาก Website : https://www.glassform.co.th
กระจกนี้เนื่องจากต้องมีเฟรมอะลูมิเนียม ทำให้มีความหนามากกว่าปกติ นอกจากนี้กระจกยังช่วยป้องกันการถ่ายเทความร้อนจากภายนอก และป้องกันเสียงได้ดีพอสมควร ทำให้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
เครดิตภาพจาก Website : http://www.srithipclassic.com
ถัดมาที่ “กระจกเทมเปอร์” (Tempered Glass) กระจกนิรภัย โดยวิธีการเอากระจกโฟลต (Annealed Glass) มาอัดแรงด้วยความร้อนอีกรอบประมาณ 650 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นต้องทำให้กระจกเกิดการเย็นตัวอย่างรวดเร็ว ผลของความแตกต่างของอุณหภูมิทำให้เกิดชั้นกระจกระหว่างผิวภายนอกกับส่วนกลางของแผ่นกระจกหลอมรวมกัน วิธีการสังเกตจะมีชื่อ Tempered Glass ติดที่กระจกไม่สามารถลบออกได้
ข้อดี
- แข็งแรงมากกว่ากระจกธรรมดาถึง 4 เท่า ทำให้สามารถรับแรงกระแทก แรงกด แรงบีบ ได้ดี
- สามารถรับแรงอัดและทนต่อความร้อนได้ดี
- กระจกจะแตกเป็นเม็ดข้าวโพดทั่วทั้งแผ่น ไม่เป็นปากฉลามแบบเดียวกันการแตกของกระจกธรรมดา
ข้อเสีย
- ก่อนผ่านกระบวนการทำกระจก ต้องวัดขนาดที่ต้องการให้ได้ก่อน เพราะกระจกเทมเปอร์จะไม่สามารถเจาะหรือตัดได้
- กรณีที่กระจกแตกจะร่วงลงมากองที่พื้นทันที เนื่องจากกระจกแตกตัวเป็นเม็ดข้าวโพด
ภาพจากโครงการ Whizdom อโศก-สุขุมวิท จาก MQDC กระจกเทมเปอร์ส่วนมากนิยมใช้เป็นฉากกั้นอาบน้ำ เพราะเวลาแตกจะเป็นเม็ดข้าวโพด ทำให้ไม่อันตรายเหมือนกระจกโฟลตทั่วไปที่แตกเป็นปากฉลามแหลมๆนะคะ
เครดิตภาพจาก Website : http://www.srithipclassic.com
“กระจกฮีทสเตร็งเท่น ” (Heat Strengthen Glass) เป็นกระจกกึ่งนิรภัย มีกระบวนการคล้ายกับเทมเปอร์ คือการนำเอากระจกโฟลต (Annealed Glass) มาอบโดยใช้ความร้อนประมาณ 650 องศาเซลเซียส แต่กระบวนการทำให้กระจกเย็นลง จะทำแบบช้าๆด้วยการเป่าลมที่ผิวกระจกทั้ง 2 ด้าน วิธีการสังเกตจะมีชื่อ Heat Strengthen Glass ติดที่กระจกไม่สามารถลบออกได้
ข้อดี
- แข็งแรงมากกว่ากระจกธรรมดาถึง 2 เท่า ทำให้สามารถรับแรงกระแทก แรงกด แรงบีบ ได้ดี
- สามารถรับแรงอัดและทนต่อความร้อนได้ดี
- เมื่อแตกแล้วจะมีรอยร้าวยึดติดกับกรอบ ไม่ร่วงหล่นเหมือนกระจกเทมเปอร์
ข้อเสีย
- ไม่สามารถ ตัด เจีย เจาะ บาก ได้ เหมือนกับกระจกเทมเปอร์เลย
- กระจกฮีทสเตร็งเท่น ไม่สามารถทดแทนกระจกเทมเปอร์ได้ เนื่องจากรับแรงกระแทกได้น้อยกว่า
- ในกรณีแตกจะเป็นลักษณะปากฉลามแบบเดียวกับกระจกโฟลต ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้
เครดิตภาพจาก Website : https://www.scgbuildingmaterials.com
นิยมใช้ในงานสถาปัตยกรรมประเภท Curtain Wall Glass, หลังคากระจก Skylight Glass หรือพื้นกระจก เนื่องจากในกรณีแตกหรือร้าวจะยึดติดกับตัวฟิมล์กระจก
Curtain Wall System เป็นระบบผนังอาคารที่รองรับกำลังน้ำหนักบรรทุกที่ตายตัวของตัวเอง โดยยึดหรือแขวนกระจกเข้ากับโครงสร้างของอาคารบริเวณหน้าคาน สันของแผ่นพื้น หรือสันของแผ่นพื้นไร้คาน โดยจะติดตั้งแผ่นกระจกเข้ากับโครงเหล็ก หรือ อะลูมิเนียม ซึ่งมีทั้งรูปแบบที่เห็นโครงในแนวตั้ง-นอนทั้งภายใน และภายนอกอาคาร
ถัดมาเรามาทำความรู้จักกับนวัตกรรมใหม่ของ AGC ที่มาเปิดตัวในงานสถาปนิก 62 กันดูบ้างกับนวัตกรรม Smart-Tinting Glass System จาก Halio เป็นกระจกที่สามารถปรับเฉดสีให้แตกต่างกันได้ในแต่ละแผ่น ซึ่งส่วนใหญ่บ้านจะนิยมใช้วิธีป้องกันความร้อนเบื้องต้น คือ ใช้ม่านบังแดด เพื่อกันแสงแดดในตอนกลางวัน แต่ปัจจุบันกระจกได้ถูกพัฒนาให้สามารถทำหน้าที่ของม่านได้แล้ว โดยสามารถลดแสงแดดที่จ้ามากๆได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าติดตั้งกระจกทางทิศตะวันตก หน้าต่างของบ้านในทิศนี้จะร้อนเป็นพิเศษช่วงบ่ายๆ เราก็สามารถปรับความเข้มของกระจก ให้สีของกระจกเข้มขึ้น ช่วยกรองแสงและลดแสงแดดที่จะเข้ามาภายในได้ หรือถ้าภายในบ้านมีห้องที่อยากทำเป็นส่วนตัวบางเวลา แต่ยังสามารถมองวิวทิวทัศน์ได้อยู่ ก็สามารถปรับความเข้มของสีกระจกเพื่อหลบสายตาจากภายนอกได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุนี้ทำให้ฟังก์ชันต่างๆภายในบ้านไม่น่าเบื่อ สามารถปรับเปลี่ยนอารมณ์ตามการใช้งานได้
แนวคิดหลักๆของกระจก Smart-Tinting Glass System นี้ คือ “New Way of Living Indoors” เป็นหารสร้างมิติใหม่ของการอยู่อาศัย มาดูกันว่าจะมีอะไรบ้างค่ะ
- All day comfort : รักษาอุณหภูมิภายในห้อง รวมถึงยังช่วยลดความร้อนจากแสง UV ได้อีกด้วย
- Natural light control : ควมคุมแสงธรรมชาติจากภายนอกได้
- Build a Greener Future : เป็นกระจกที่ช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 20% รวมถึงยังสามารถขอใบอนุญาตอาคารสีเขียวได้ (LEED)
โครงสร้างนวัตกรรมชิ้นนี้จะเป็นอย่างไรบ้างไปดูกันค่ะ
เริ่มจากนำกระจกมาติดตั้งที่ตัว Structure ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกกระจกแบบไหนก็ได้มาใส่ขึ้นอยู่กับ Design ของแต่ละอาคารค่ะ
ต่อมาเราจะใส่ Smart-Tinting Technology โดยมีการเคลือบออกไซด์ของโลหะไว้หลายๆชั้นภายในกระจก และเมื่อได้รับกระแสไฟฟ้าเข้าไป จะมีการเคลื่อนตัวของประจุไอออนในชั้นเคลือบเพื่อฟอร์มตัวเปลี่ยนสีกระจกเข้มได้ตามต้องการ
ถัดมาเราจะนำกระจกอีกแผ่นมาปิดซ้อนกัน ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายแซนวิช เพื่อให้กระจกมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
ซึ่งเราจะเลือกใช้แบบ Double Glazing หรือ Triple Glazing ก็ได้ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และสามารถลดแสง UV ได้มากขึ้น ซึ่งราคาก็จะแพงไปตามลำดับ
เครดิตภาพจาก Website : https://www.hardwarezone.com
ช่วงเวลาที่ปรับเฉดสี เวลาเราดูใกล้ๆจะมีลักษณะเป็น honeycomb pattern โดยจะหายไปเมื่อปรับเฉดสีเสร็จสมบูรณ์ ก็จะได้วิวที่มองผ่านกระจกเหมือนกระจกทั่วไป
กระจกมาตรฐานขนาด 1.5 x 3 เมตร ซึ่งจะสามารถปรับเปลี่ยนตามสั่งได้ รวมถึงนวัตกรรมนี้จะช่วยรักษาอุณหภูมิภายในห้องได้ เป็นการประหยัดค่าไฟได้แบบยั่งยืน ถ้ามองในระยะยาวถือว่าคุ้มทีเดียวค่ะ
ระบบสั่งการมีทั้งระบบ Automated และ Manual สามารถปรับด้วยมือที่แผงควบคุมติดผนังก็ได้ หรือจะตั้งโปรแกรมเปลี่ยนเฉดสีแบบอัตโนมัติตามสภาพอากาศ ตามช่วงเวลาของวัน หรือตามตำแหน่งดวงอาทิตย์ก็ได้นะคะ
สำหรับระบบ Manual จะมี Application ที่ทำให้เราสามารถตั้งค่าต่างๆได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นตั้งเวลาปรับเฉดสีได้ หรือจะเปิดปิดพร้อมกันหลายบานได้ รวมถึงยังสามารถสั่งงานด้วยเสียงรวมได้ ส่งผลให้สะดวกในการใช้งานทีเดียว
ตัวอย่างภาพช่วงเวลากลางวัน ปกติเราจะต้องปิดม่านในช่วงกลางวัน ซึ่งจะส่งผลให้เราไม่สามารถเห็นวิวภายนอกได้ แต่ปัจจุบันเราสามารถปรับกระจกให้เข้มขึ้น เพื่อช่วยกันแสงแดดจ้าได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถมองวิวไปด้วยได้
ตัวอย่างภาพช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดิน ทิศทางของแสงจะต่ำลงมา ทำให้แย้งตาของเราเวลานอนได้ ดังนั้นเราสามารถปรับกระจกให้มีสีเข้มและนอนดูพระอาทิตย์ตกดินได้ โดยไม่ต้องแสบตาอีกด้วยนะคะ
ข้อดี
- ปรับแสงที่ส่องเข้ามาข้างในได้ ว่าต้องการแบบไหน
- ช่วยปรับฟังก์ชันนั้นๆ ได้ตามใจชอบ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนอารมณ์ได้ เหมาะกับคนที่ชอบความเป็นส่วนตัว
- ประหยัดค่าไฟฟ้ามากกว่าตัว Low E ประมาณ 20%
- สามารถใช้แทนผ้าม่านได้เลย เป็นกระประหยัดไปในตัว
ข้อเสีย
- ราคาสูงมากกว่ากระจกทั่วไปประมาณ 40-50%
- กรอบอะลูมิเนียมมีความหนากว่ากระจกทั่วไป
ดูข้อมูลเพิ่มเติมของกระจก Smart-Tinting Glass System ได้ที่ คลิกที่นี่
สำหรับกระจกเราคิดว่าคงมีนวัตกรรมใหม่ออกมาเรื่อยๆ เนื่องจากมีการพัฒนาตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอด เพื่อการใช้งานที่สะดวกและปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งการใช้งานของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป สำหรับบ้านแนวราบกระจกตัดแสงน่าจะเพียงพอ เนื่องจากยังสามารถปลูกต้นไม้รอบบ้านที่ช่วยบังแสงได้ หรือถ้าบ้านใครที่เน้นในเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษแนะนำกระจกเทมเปอร์เลย เนื่องจากมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ และไม่สามารถเจาะกระจกได้ หรือถ้าใครชอบเพดานกระจกแบบ Skylight glass แนะนำให้เลือกกระจกฮีทสเตร็งเท่น ในกรณีแตกจะยึดติดกับฟิมล์ ซึ่งจะปลอดภัยสำหรับผู้อยู่อาศัยค่ะ สุดท้ายถ้าใครอยู่คอนโดที่ได้รับแสงแดดเยอะเป็นพิเศษการเลือกใช้กระจก Low E ก็จะช่วยลดความร้อนและประหยัดค่าไฟภายในห้องได้อีกแรงก็ได้นะคะ
สุดท้ายก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ในการเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกซื้อบ้านหรือคอนโด เพราะกระจกจัดเป็นหนึ่งในวัสดุที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัยได้เช่นกัน เพื่อให้เราสามารถอยู่บ้านได้อย่างสบายมากยิ่งขึ้น และเหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด และคราวหน้า Think of Living เราจะพาไปเจาะลึก Living Idea เรื่องไหนกันอีก อย่าลืมติดตามชมกันด้วยนะคะ > <