สวัสดีค่ะ วันนี้นำหนึ่งในบทความจากหนังสือเล่มใหม่ที่เราจะนำมาแจกฟรีกันอีกครั้งในงาน Think of Living Expo 2017 ในเดือนพฤษภาคม 2017 ที่จะถึงนี้ หลังจากที่ได้อ่านบทความ อยู่อย่างยุคหิน / Back to Basic กันไปแล้ว วันนี้มาอ่านบทความเรื่อง Interlocking Condominium กันค่ะ ถึงแม้ว่าคำนี้อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูกันนักแต่จริงๆ แล้วในยุคสมัยนี้เราก็เริ่มเห็นอาคารชุดทั้ง High Rise และ Low Rise ที่ใช้หลัก Interlocking กันมากขึ้น ด้วยความที่ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการก่อสร้างนั้นมีพัฒนาการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถขยายกรอบแนวคิดของนักออกแบบหรือสถาปนิกให้สามารถออกแบบและผลิตผลงานได้มีความหลากหลายและน่าสนใจมากขึ้นตามไปด้วย
คำว่า INTERLOCKING ในเชิงการออกแบบสถาปัตยกรรมกันนั้น หมายถึง การสอดผสาน หรือ การเชื่อมโยงระหว่างวัตถุทั้ง 2 วัตถุขึ้นไป ยกตัวอย่างจากรูปด้านบน จะเห็นว่าวัตถุ 2 สิ่งมีการเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันผ่านการใช้เทคนิคแบบ Interlocking ทำให้วัตถุทั้ง 2 สิ่งนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมากขึ้น และทำให้เกิดมิติภายในของวัตถุนั้นๆ ที่เปลี่ยนไปจากเดิม
โดยเทคนิค Interlocking นี้จัดเป็นหนึ่งในเทคนิคการออกแบบงานสถาปัตยกรรมอย่างหนึ่งที่สถาปนิกหรือผู้ออกแบบมักจะนิยมใช้กัน เพื่อเชื่อมโยงฟังก์ชันหรือรูปฟอร์มของอาคาร ยกตัวอย่าง Hubbe House ที่ออกแบบโดย Mies Van Der Rohe สถาปนิกชาวเยอรมันชื่อดัง ดูจากแปลนบ้านจะเห็นว่ามีรูปฟอร์มแปลน 3 ก้อนที่มีการ Interlocking กันอยู่ ทำให้รูปฟอร์มทั้ง 3 ก้อนนั่นดูรวมเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
และหากพูดในเชิงฟังก์ชันภายในให้เห็นภาพง่ายมากขึ้นอย่างฟังก์ชันห้องนั่งเล่นและพื้นที่รับประทานอาหารที่นิยมใช้พื้นที่เชื่อมต่อกันไม่ได้กั้นประตูปิดชัดเจน เนื่องจากฟังก์ชันทั้ง 2 ฟังก์ชันนี้สามารถใช้งานร่วมกันได้ เพราะเกิดจากลักษณะนิสัยการใช้งานที่สามารถใช้งานพร้อมๆ กันได้ เช่น การนั่งรับประทานอาหารไป พร้อมกับดูทีวีในส่วนพื้นที่นั่งเล่น เป็นต้น
แต่สำหรับบทความนี้เราจะพาไปดูโครงการในต่างประเทศและในประเทศที่ได้นำเทคนิค Interlocking มาใช้และเพื่อตอบโจทย์ในแนวความคิด และเกิดเป็นงานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจและไม่เหมือนใครกันค่ะ
เริ่มต้นด้วยโครงการ Bloc 10 จาก 5468796 architecture บริษัทสถาปนิกชาวแคนนาดาที่ได้ออกแบบอาคาร 3 ชั้น แบ่งออกเป็น 10 ยูนิต โดยสิ่งที่แตกต่างจากอาคารอื่นๆ ก็คือแปลนภายในทั้ง 10 ยูนิตนั้นไม่เหมือนกันเลย เนื่องจากความคิดที่ต้องการความแตกต่าง ไม่ซ้ำใครและไม่น่าเบื่อ โดยทางทีมสถาปนิกเองนั้นตีความเป็นการอยู่อาศัยที่ได้ไลฟ์สไตล์แบบบ้านและแบบทาวน์เฮ้าส์ไว้ด้วยกัน
จากภาพด้านบนจะเห็นแนวความคิดของโครงการ Bloc 10 ในแต่ละยูนิตภายในอาคารค่อนข้างชัดเจน จะเห็นว่าในแต่ละยูนิตของอาคารมีการผสมผสานระหว่างทาวน์เฮ้าส์และแนวราบ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ข้อจำกัดของอาคารแบบแนวตั้งและแนวราบ อย่างในกรณี
Town House : ได้มุมมองลักษณะแนวตั้ง ได้วิวตั้งแต่ชั้นล่างไปชั้นบน ซึ่งวิวที่เปลี่ยนไปก็คือเรื่องของความสูงที่มากขึ้น แต่ข้อจำกัดก็คือเรื่องของมุมมองแนวกว้างที่ขาดไป
Flat : ได้มุมมองหน้ากว้างมากกว่าแบบ Town House แต่ก็จะขาดมุมมองในแนวตั้ง
ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นการรวม (Interlocking) แนวตั้ง + แนวนอน ไว้ด้วยกัน เพื่อให้ได้มุมมองทั้งแบบแนวตั้ง ได้วิวมุมสูง และแนวนอนที่ได้วิวหลายด้าน โดยเชื่อมยูนิตทั้ง 3 ยูนิต ที่อยู่ในแต่ละชั้นแต่ละมุมไว้ด้วยบันไดตรงกลางซึ่งเปรียบเป็นแกนกลางของอาคาร (Core)
และนอกจากนี้ทั้ง 10 ยูนิตนั้นก็มีหน้าตาไม่เหมือนกันนะคะ เกิดจากตำแหน่งที่แตกต่างของห้องในแต่ละชั้นที่หยิบมาเชื่อมกัน แต่ทั้งหมด 10 ยูนิตนี้ก็สามารถมาประกอบกันเป็นอาคารเดียวกันได้ด้วย ซึ่งถ้าดูจากภาพตัด (Section) จากสีของห้องในแต่ละชั้นก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้นหน่อย เพราะในแต่ละชั้นก็มีตำแหน่งห้องที่แตกต่างกันออกไปทำให้ได้วิวและมิติในการอยู่อาศัยที่ไม่เหมือนใคร
ดูจากแปลนของโครงการทั้ง 3 ชั้น ที่ระบายสีส้มไว้คือห้อง 1 ยูนิต ในแต่ละชั้น จะเห็นว่าตำแหน่งนั้นอยู่คนละตำแหน่งกันเลยในแต่ละชั้น เริ่มจากชั้นล่างห้องจะอยู่ฝั่งขวาด้านล่าง แต่พอขึ้นไปชั้น 2 ตำแหน่งก็จะเปลี่ยนไปอีกฝั่งและขยับห้องมาฝั่งซ้าย 1 ยูนิต ทำให้วิวภายนอกนั้นเปลี่ยนไปจากชั้น 1 ที่อยู่คนละฝั่งกัน และเมื่อขึ้นชั้น 3 ห้องก็จะขยับไปด้านซ้ายอีก 1 ยูนิต ซึ่งมุมมองจากชั้น 2 นั้นก็จะมองเห็นวิวฝั่งซ้ายได้กว้างมากขึ้น โดยเราสังเกตได้ว่าตัวยูนิตนั้นมีการปรับเปลี่ยนได้อิสระแต่สิ่งที่ Fixed อยู่ที่เดิมนั้นคือบันไดที่ทำหน้าที่เป็นแกนกลาง (Core) เพื่อเชื่อมทางขึ้น-ลงของห้องในแต่ละชั้นไว้ด้วยกัน รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหลักอีกด้วยนะคะ
กลับมาที่ประเทศไทยบ้านเรากันบ้าง ก็มีงานออกแบบโครงการตึกสูงที่เล่นห้องแบบ “Stack” คือการใช้เทคนิค Interlocking มาใช้ในเกิดความน่าสนใจในโครงการเช่นกัน อย่างโครงการ Ashton Silom ที่ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกรุ่นเก๋าชื่อดังในประเทศไทยอย่าง A49
ตัวโครงการนำเทคนิค Interlocking เข้ามาใช้ในการออกแบบโครงการ โดยเรียกว่า Vertical Interlocking Concept เป็นการใช้แผ่นพื้นต่างระดับมาสลับไขว้กันไปมาในแต่ละชั้น ซึ่งการออกแบบห้องนี้ทำให้เกิดพื้นที่พิเศษ Stack Floor ที่อยู่ในห้อง Type A แบบ 2 Bedroom โดยในห้องจะมีการเล่นระดับพื้นทำให้เกิด Floor to Celing สูง 2.8 เมตร และ 3.6 เมตรในห้องเดียวกัน สร้างห้องต่างระดับที่มีฝ้าเพดานสูงและกระจกสูงมองวิวได้เต็มๆ
ซึ่งในอาคารคอนโดมิเนียมทั่วไปจะมีข้อจำกัดหลายอย่างที่จำเป็นให้ทุกห้องต้องมีระดับพื้นเท่ากัน เพราะจะประหยัดต้นทุนในการก่อสร้างและสามารถวางงานระบบได้ง่าย แต่การสร้างตามรูปแบบ Vertical Interlocking Concept นี้จะต้องมี Details การออกแบบที่ค่อนข้างละเอียดเนื่องจากต้องให้ห้องทุกห้องมี Space ในแนวตั้งเป็นรูปตัว L เพื่อให้เกิดการ Interlock กันในชั้นต่อชั้นได้อย่างพอดี ซึ่งถือว่าเป็นการออกแบบคอนโดที่มีรายละเอียดน่าสนใจ ไม่ค่อยได้พบเห็นในคอนโดทั่วไปเท่าไหร่นัก
แปลนห้องแบบ Vertical Interlock concept มีการวางผังเป็นรูปตัว L ทำให้ห้องนี้มีห้องมุมถึง 2 ห้องนั่นคือ ห้องนอนกับห้องนั่งเล่น ความพิเศษของห้องนี้อยู่ตรงที่มีการเล่นระดับพื้น โดยฟังก์ชันในส่วน Service ทั้งหมดรวมห้องนอนทั้งสองห้องจะมี Floor to Celing 2.8 เมตร ในขณะที่ส่วน Living room จะมีความสูง 3.6 เมตร และด้วยตำแหน่งของ Living room ที่อยู่ด้านนอกทำให้สามารถเห็นวิวได้เต็มตา โปร่งโล่งและโอ่โถงเพราะได้รับแสงธรรมชาติได้ดี
มาดูมุม Highlight ของห้อง Vertical Interlock ที่เป็นส่วน Living Room ที่มีความสูงฝ้าเพดานถึง 3.6 ม. ด้วยการ Interlocking ของห้องในโครงการ ซึ่งรอบพื้นที่นั่งเล่นนี้จะล้อมรอบด้วยกระจก Ceiling Height หรือมีความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดาน และนอกจากนี้ก็มีแนวคิดที่ว่าในฟังก์ชันอื่นๆ ก็ควรจะได้สัมผัสกับวิวภายนอกเช่นกัน ซึ่งก็มีการ Spilt Level หรือการปรับระดับพื้นของฟังก์ชันให้มีความแตกต่างกันเพื่อเพิ่มมิติมุมมองในการชมวิวภายนอกจากภายในห้องได้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงชมวิวจากห้อง Living Room เพียงอย่างเดียว โดยเป็นไปตามแนวความคิดที่ว่าหากเราอยากได้วิวสวยๆเราต้องยืนให้สูง เพื่อให้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราอยู่ในระดับที่ต่ำกว่านั่นเองค่ะ
และนี่เป็นเพียงออเดิฟเรียกน้ำย่อยจากบทความในหนังสือตอน INTERLOCKING CONDOMINIUM ซึ่งยังไม่ใช่เวอร์ชั่นเต็มนะคะ สำหรับใครที่อยากอ่านบทความฉบับเต็มพร้อมบทสรุป สามารถอ่านได้ในหนังสือ อยู่ นอก กรอบ ที่จะมาแจกให้ผู้อ่านทุกท่านในงาน Think of Living Expo 2017 ในเดือนพฤษภาคม 2017 ที่จะถึงนี้ ณ สยามพารากอน ชั้น 1 และสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้บนหน้าเวปไซต์ Think of Living เร็วๆ นี้ค่ะ 🙂
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
- Ananda.co.th
- Designboom.com
- 5468796.ca
- wright20.com