ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 มีการรณรงค์จากรัฐบาลรวมไปถึงแพทย์ที่ขอความร่วมมือให้ “อยู่บ้าน” ซึ่งสิ่งสำคัญเลยของการอยู่บ้านคือ เราต้องมีของกินเพื่อลดการออกจากบ้านให้มากขึ้น ลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้มากขึ้นด้วย เพราะบางทีเราสั่งแต่ Delivery อย่างเดียวก็ไม่ได้ถูกปากใครหลายคนเท่ากับทำกับข้าวเองกินที่บ้าน รวมไปถึงช่วยประหยัดเงินด้วย ทำมื้อหนึ่งก็กินได้ทั้งครอบครัว แต่การจะทำกับข้าวเองกินที่บ้านได้ บวกกับไม่อยากออกจากบ้านบ่อยๆ ที่บ้านเราเองก็ควรจะมีพื้นที่สำหรับเก็บของมากขึ้นตามไปด้วย แต่การขยายพื้นที่ก็ดูจะยากเกินไปที่จะทำได้ ดังนั้นเราจะมาดูไอเดียการเพิ่มพื้นที่เก็บที่สามารถซื้อมาต่อเติมเองได้ และอยู่ในงบประมาณหลักพัน-หมื่น ไม่สูงมากเกินไปกันค่ะ
ไอเดียเพิ่มพื้นที่ครัว
สิ่งที่สำคัญของการ “เก็บ” คือ “พื้นที่” ที่เพียงพอ ซึ่งหากพื้นที่เราไม่มากพอ หรือของที่ต้องเก็บเยอะไป ก็ทำให้ดูเกะกะ ล้น เลอะเทอะได้ ดังนั้นวันนี้เรามาดูไอเดียการเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บของภายในครัวกัน และงบประมาณคร่าวๆ กันค่ะ
โดยเราขอแบ่งโซนการเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บเป็น 3 โซนด้วยกัน
ชั้นวางของด้านบนเคาน์เตอร์
หลายคนไม่มีชั้นวางของด้านบนเคาน์เตอร์ ปล่อยพื้นที่ผนังเป็นพื้นที่โล่ง ซึ่งจริงๆ ผนังเราสามารถเพิ่มพื้นที่การใช้งานได้เยอะเลยทีเดียวนะคะ โดยเรามีไอเดียหลักๆ สำหรับการเพิ่มพื้นที่บนผนังอยู่ 2 วิธีด้วยกัน
1.ทำชั้นเก็บของ Built-in
การทำชั้นเก็บของ Built-in เพิ่มนั้น เป็นการเพิ่มพื้นที่การวางของได้ถาวรเลยนะคะ แต่ก็จะใช้งบประมาณระดับนึง มากกว่าชั้นวางทั่วไปแต่ราคาก็แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ด้วยส่วนนึง โดยเริ่มต้นจะอยู่ที่ตู้ละประมาณ 2,000 บาท ขึ้นไปค่ะ
- 1. ถ้ามีชั้นเก็บของอยู่แล้วแต่ยังสูงไม่ถึงฝ้าเพดาน สามารถทำตู้เสริมขึ้นไปสูงถึงฝ้าเพดานได้เพื่อเพิ่มชั้นเก็บของ แต่ควรเลือกของใช้ที่เราไม่ได้ใช้ประจำมากนัก เนื่องจากชั้นวางที่เสริมนั้นค่อนข้างสูงการหยิบจับอาจจะไม่สะดวกต้องใช้บันไดเล็กเสริมในการหยิบจับของด้านบน
- 2. ชั้นวางของแบบโปร่ง สำหรับรูปแบบชั้นวางของมีทั้งแบบโปร่งและแบบมีบานเปิด ทั้งนี้สำหรับแบบโปร่งนั้น น่าจะเหมาะกับของที่มักหยิบใช้บ่อย หรือมีบางส่วนไว้โชว์ด้วย
- 3. ชั้นที่มีบานเปิด-ปิดนั้น จะเหมาะกับของที่ต้องการเก็บเป็นสัดส่วน เช่น จาน ชาม เพื่อป้องกันฝุ่นหรือแมลงมารบกวนและทำให้สกปรก
1.ไอเดียบานเปิดที่น่าสนใจก็มีอย่างการเปิดด้านบนและใช้โช้ครับน้ำหนักแทน เพื่อลดการกินพื้นที่เปิดด้านข้างไป
2.ชั้นวางของของชั้นด้านบนที่อาจจะสูงเกินไปก็ใช้เป็นการดึงลงมาเพื่อให้หยิบของง่ายขึ้น
3.หากชั้นเก็บของด้านบนมีพื้นที่สูงเกินความจำเป็นเราสามารถติดตั้งชั้นวางด้านในเพิ่มเข้าไปได้ เพื่อเพิ่มพื้นที่วางของให้มากขึ้น
**ราคาชั้นวางของด้านในราคาเริ่มต้นประมาณ 2,500 บาท
2.ทำชั้นลอย
วิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างประหยัดทีเดียวนะคะ และสามารถนำมาติดตั้งเองได้ง่ายด้วยเพียงแค่มีสว่านและน็อตเท่านั้นเอง
ยกตัวอย่างที่ IKEA ก็มีการทำชั้นลอยโดยใช้ราวเป็นราวสแตนเลส และชั้นวางนั้นเราสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สแตนเลสเหมือนกันหรือจะเป็นไม้ ซึ่งจากที่ไปสำรวจมาชั้นวางเซทนี้ขายอยู่ที่ประมาณ 4,800 บาท ก็จะค่อนข้างสูงหน่อยเพราะวัสดุที่ใช้เป็นสแตนเลส ไม่ขึ้นสนิม มีอายุการใช้งานนานกว่าเหล็กเคลือบทั่วไป
หรือประหยัดงบหน่อยก็สามารถใช้ราวเหล็กเคลือบเจาะติดผนังและวางชั้นเหล็กเคลือบแทน ซึ่งราวเหล็กจะตกราคาประมาณ 200-300 บาท รวมชั้นแต่ละชั้นก็จะอยู่ราวๆ 200-300/ชั้น เช่นกัน รวมแล้วก็น่าจะอยู่ที่หลักพันต้นๆ ค่ะ
สำหรับพื้นที่ส่วนผนังบริเวณเคาน์เตอร์ครัวก็สามารถเพิ่มพื้นที่การใช้งานได้ โดยทำเป็นที่แขวนอุปกรณ์ทำอาหาร หรือจะเป็นชั้นวางพวกซอส น้ำจิ้ม ที่เรามักใช้ประกอบอาหารบ่อยๆ รวมไปถึงทำเป็นที่พักจาน/ชาม ให้แห้งก่อนเก็บขึ้นชั้นเก็บของด้านบนก็ได้เช่นกัน
ทำเป็นราวแขวนติดผนังเพื่อแขวนอุปกรณ์ทำอาหารและแขวนชั้นวางขวดซอสต่างๆ โดยราคาของราวแขวนเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 300-400 บาท ไม่รวมตัวตะขอแขวนและชั้นวางอุปกรณ์ต่างๆ นะคะ
หรือถ้าใครอยากจะโชว์อุปกรณ์ครัว เป็นเสมือนของตกแต่งในครัวไปในตัวด้วยการซื้อแผงเหล็กมาเจาะผนังแล้วเอาตัวแขวนมาแขวนอุปกรณ์ครัวต่างๆ ก็เป็นอีกไอเดียหนึ่งที่น่าสนใจนะคะ และราคาก็ไม่แพงด้วยจากที่เราเคยเห็นมาแผงแต่ละแผงจะเริ่มต้นประมาณ 500-600 บาท/แผง
สำหรับใครที่กังวลเรื่องการเจาะผนังครัวต่างๆ เช่น บ้านเป็นรูปแบบ Precast ไม่อยากเจาะผนังก็มีราวที่เป็นแบบตั้งโต๊ะแบบนี้ให้เลือกซื้อได้ค่ะ ซึ่งเราว่าเป็นไอเดียที่ดีเลยนะคะ
ชั้นเก็บของในเคาน์เตอร์
ที่เก็บของใต้เคาน์เตอร์ครัวเป็นอีกจุดที่หลายคนมักจะเก็บของอยู่แล้วนะคะ แต่ถ้าพูดถึงการจัดระเบียบใต้เคาน์เตอร์ครัวเราเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะจัดระเบียบและใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเดี๋ยวนี้หลายบริษัทที่ออกแบบเครื่องครัวก็มีการออกแบบฟังก์ชันชั้นวางของเอย ฟังก์ชันลิ้นชัก ต่างๆ ที่ตอบโจทย์การวางของของแต่ละคนแตกต่างกันไป
หากใต้เคาน์เตอร์ครัวของบ้านคุณผู้อ่านยังเป็นแบบรูปบนอยู่นั้น เรามีไอเดียมานำเสนอค่ะ
ยกตัวอย่างไอเดียนี้เราว่าน่าสนใจคือการทำชั้นวางขึ้นมาทำให้เราเก็บของได้เยอะมากขึ้น แต่ก็จะเป็นไซส์ของที่ไม่ได้ใหญ่มาก แต่หากว่าเราอยากจะวางหม้อ วางกระทะด้านล่างที่ต้องการพื้นที่สูงขึ้นมาหน่อยก็สามารถ Adjust ความสูงเองได้เลยค่ะ จากภาพที่เห็นว่าทำติดตั้งชั้นวางเป็น 3 ชั้น ก็เหลือ 2 ชั้นแทนได้ค่ะ
ราคาที่เราเห็นจาก IKEA และ HAFELE จะเริ่มต้นประมาณ 1,000-2,500 บาท/ชั้นวาง
และสำหรับช่องเก็บของใต้ Sink ล้างจานก็สามารถซื้อลิ้นชักใสพลาสติกสำหรับเก็บของได้นะคะ รูปด้านบนเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่น่าสนใจเลยและราคาค่ากล่องพลาสติกก็ไม่ได้สูงด้วย สามารถหาซื้อผ่าน Application ออนไลน์ได้เลย แต่อย่าลืมเช็คความสูงของเคาน์เตอร์และความกว้างของช่องเก็บของด้วยนะคะ จะได้ซื้อมาแล้วใส่ช่องใต้เคาน์เตอร์ได้พอดี
พื้นที่ภายในครัว
และสุดท้ายคือพื้นที่ภายในครัวโดยรอบแล้วยังมีพื้นที่ที่เราสามารถจัดเก็บเพิ่มเติมได้นะคะ แต่เราจะต้องลองสำรวจกันดูว่ายังมีพื้นที่ส่วนไหนที่พอจะวางของได้ไหม หรือส่วนไหนที่พอจะเก็บทิ้งไปได้บ้าง จะได้มีพื้นที่เหลือสำหรับการเก็บของได้มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่ด้านข้างตู้เย็นที่มีช่องว่างเหลือ หรือ เป็นช่องว่างด้านข้างเคาน์เตอร์ครัวก็สามารถทำลิ้นชักที่เป็นชั้นวางของได้ตามรูปด้านบน หรือจะติดตั้งราวเหล็กที่ผนังเพื่อแขวนของเล็กๆ ก็ได้เช่นกันค่ะ
การเก็บในตู้เย็นกับอุณหภูมิที่เหมาะสม
นอกจากการเพิ่มพื้นที่เก็บในครัวแล้ว อีกอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นมากสำหรับการเก็บ “อาหาร” คือตู้เย็น ซึ่งในตู้เย็นเองเราก็ต้องมีศิลปะในการเก็บเช่นกัน ไม่ใช่เพียงเพิ่มพื้นที่แต่คือการเก็บอย่างถูกวิธีด้วย เพราะ “ไม่ใช่ทุกประเภทอาหาร ต้องเข้าตู้เย็น และไม่ใช่ทุกประเภทอาหารที่วางในตู้เย็นมุมไหนก็ได้” แล้ววางตรงไหนที่เหมาะสม?…เรามาดูกันค่ะ
ตู้เย็นแบ่งออกเป็น 4 โซนด้วยกัน ได้แก่
1. ช่อง Freeze : อุณหภูมิของตู้แช่ด้านบนของตู้เย็นบ้านทั่วไปจะอยู่ที่สูงสุดประมาณ -18 ถึง -25 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมกับการแช่ เนื้อสัตว์ หรือของเย็น เช่น ไอศกรีม ต่างๆ ด้วยอุณหภูมิระดับนี้สามารถยืดระยะเวลาเสียของอาหารได้มากขึ้น เพราะแบคทรีเรียและเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดไม่เจริญเติบโตในอุณหภูมินี้
2.ช่องเก็บเนื้อสัตว์ : อุณหภูมิที่เหมาะสมในช่องนี้อยู่ที่ประมาณ 0 องศาเซลเซียส เพื่อยังคงรักษาคุณภาพของเนื้อไม่ให้แข็งจนเกินไปหรืออุณหภูมิสูงไปที่ทำให้เนื้อเสีย
3.ช่องเก็บของธรรมดา : อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 5 องศาเซลเซียส สิ่งที่เหมาะกับการเก็บในช่องนี้เป็นของทั่วไปไม่ว่าจะเป็นอาหารทำสุกแล้ว ซอสเครื่องปรุงรสต่างๆ หรืออาหารสดจำพวกไข่ เป็นต้น
4. ช่องเก็บผักและผลไม้ : อุณหภูมิที่เหมาะสมกับการแช่เย็นผักผลไม้ไม่ให้เย็นจนช้ำไป และไม่ให้เหี่ยวเพราะอากาศร้อนไปจะอยู่ที่ประมาณ 10 องศาเซลเซียสกำลังเหมาะสมค่ะ
**ดังนั้นเรื่องของการเก็บอย่างไรให้เอาอยู่ ก็ควรตรวจเช็คอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอาหารก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรทำเพื่อให้อาหารยังคงสดใหม่ อยู่ได้ยาวมากขึ้นไม่เน่าเสียก่อนเรานำมาประกอบอาหารค่ะ