รีวิวโครงการ

รีวิวตึกเสร็จ แฟลตดินแดงใหม่ จุดเริ่มต้นโมเดลพัฒนาชุมชนดินแดง จากการเคหะแห่งชาติ [รีวิวฉบับที่ 2018]

2 มกราคม 2020

อ่านรีวิวล่าสุด

%e0%b8%9b%e0%b8%81-%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88-2

สวัสดีค่ะวันนี้เรามีบทความพิเศษมาให้ติดตามกันต่อกับ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ตอนที่ 2 ก้าวสู่การพัฒนา ที่จะมาเล่าถึงแนวทางในการพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ที่ใช้เวลากว่า 16 ปี ว่ามีวิธีการดำเนินการและระยะเวลาการดำเนินงาน ตลอดจนรูปแบบอาคารและห้องรูปแบบใหม่ ที่จะมาปรับเปลี่ยนการอยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมของชาวชุมชนแฟลตดินแดงที่แตกต่างไปจากเดิม โดยก่อนหน้านี้เราได้มีบทความ ตอนที่ 1 จุดเริ่มต้นชุมชนดินแดง มาให้อ่านกันไปแล้วที่เล่าถึงความเป็นมากว่าจะมาเป็นแฟลตดินแดงในปัจจุบัน  ในรายละเอียดของโครงการจะเป็นอย่างไร เราไปดูพร้อมๆกันเลยค่ะ

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา มีปัญหาและอุปสรรคมากมายทำให้ การดำเนินง่านผ่านมาถึง 5 รัฐบาล รวมระยะเวลามากกว่า 16  ปี โครงการปรับปรุงฟื้นฟูชุมชนดินแดง ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ด้วยชาวชุมชนดินแดงยังไม่ได้รับความรู้ อันนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการดำเนินงานโครงการที่จะช่วยยระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนดินแดงโดยรวมได้ จนมาถึงในยุคของรัฐบาลปัจจุบัน ที่เน้นการให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย เป็นนโยบายเร่งด่วน ในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2558 เรื่องการขับเคลื่อนด้านที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ. 2559 – 2558) โดยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ลงมติว่า

  • เห็นชอบในหลักการแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง พ.ศ. 2559 – 2567
  • เห็นชอบในหลักการกรอบแผนการลงทุนพัฒนาพื้นที่ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชมชนดินแดง พ.ศ. 2559 – 2567 ในวงเงินงบประมาณ 33,754.25 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินกู้ภายในประเทศ และอนุมัติการดำเนินโครงการอาคารพักอาศัยแปลง G ในวงเงินงบประมาณ 460.53 ล้านบาท โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนการชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 2.15 ต่อปี ตามความเห็นชอบของสำนักงานประมาณ
  • เห็นชอบในหลักการการจ่ายค่าชดเชยสิทธิในการเช่า และการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าขนย้ายสำหรับผู้อยู่อาศัยเดิมที่เป็นคู่สัญญากับการเคหะแห่งชาติ ส่วนอัตราการจ่ายให้เป็นไปตามความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณ
  • ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 (เรื่องขออนุมัติแผนผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่และฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง) เฉพาะประเด็นข้อ 5.7 ที่กำหนดให้ต้องมีการจัดสรรพื้นที่เชิงพาณิชย์จำนวนหนึ่ง เพื่อให้สิทธิผู้อยู่อาศัยเดิมได้เช่าเป็นอันดับแรก ในอัตราพิเศษโดยไม่มีการโอนสิทธิหรือกิจการไปให้อีกคนหนึ่งได้โดยได้รับค่าตอบแทน (ค่าเซ้ง)

โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะของการพัฒนา แบ่งเป็น 4 ระยะ บนพื้นที่อยู่อาศัย 7 แปลง ได้แก่

  • แปลง G ถือเป็นโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 1 ประกอบด้วยอาคาร 35 ชั้น 2 อาคาร รวมจำนวนพักอาศัย 334 หน่วย เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม
  • แปลง D1 แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ โครงการระยะที่ 2 และ 3 ประกอบด้งยอาคาร 35 ชั้น 2 อาคาร รวมจำนวนที่พักอาศัยแต่ละอาคาร 612 หน่วย รวมจำนวนที่พักอาศัย 1,224 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยใหม่
  • แปลง D2 เป็นโครงการระยะที่ 3 ประกอบด้วยอาคาร 30 ชั้น 5 อาคาร รวมจำนวนที่พักอาศัย  2,610 หน่วย เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่
  • แปลง A แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 2 และ 3 ประกอบด้วยอาคาร 32 ชั้น 4 อาคาร รวมจำนวนที่พักอาศัย 2,540 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม
  • แปลง C แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 3 และ 4 ประกอบด้วยอาคาร 35 ชั้น 4 อาคาร รวมจำนวนที่พักอาศัย 2,448 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม
  • แปลง E นับเป็นโครงการ ระยะที่ 4 ประกอบด้วยอาคาร 5 ชั้น 8 อาคาร รวมจำนวนที่พักอาศัย 1,344 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยใหม่
  • แปลง B นับเป็นโครงการ ระยะที่ 4 เช่นเดียวกัน ประกอบด้วยอาคาร 35 ชั้น 12 อาคาร รวมจำนวนที่พักอาศัย 9,702 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยใหม่

ขณะนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง โครงการพักอาศัยแปลง G เป็นโครงการระยะที่ 1 จัดสร้างเป็นอาคารสูง 28 ชั้น จำนวน 334 หน่วย บนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนวิภาวดีรังสิต ตัดกับถนนอโศก-ดินแดง ซึ่งเดิมเคยเป็นพื้นที่สำนักงานเคหะชุมชนดินแดง ของการเคหะแห่งชาติ

โดยกำหนดวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างทันทีโดยใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 18 เดือน คาดว่าจะย้ายผู้อยู่อาศัยได้ในเดือน มิถุนายน พ.ศ.2561 พร้อมกันนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ จะดำเนินการจัดทำรายละเอียดของโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 2 , 3 และ 4 ให้เป็นไปตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ.2559-2567) ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้

ภายหลังจากการพัฒนา โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง เสร็จสิ้น โครงการแห่งนี้จะสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ได้ทั้งหมด 20,292 หน่วย แยกเป็นที่อยู่อาศัยรอบรับผู้อยู่อาศัยเดิมประมาณ 6,546 หน่วย และที่อยู่อาศัยรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ที่เป็นข้าราชการและประชาชนทั่วไปประมาณ 13,746 หน่วย

โดยจะมีการวางแผนให้แต่ละอาคารเดิมมีการรื้อย้ายเพียงครั้งเดียว คือ สร้างอาคารใหม่แล้วเสร็จจึงทำการย้ายผู้อยู่อาศัยขึ้นตึก และใช้วิธีการเช่นนี้ไปเรื่อยๆกับการสร้างอาคารในลำดับถัดไป เพื่อไม่ต้องให้ชาวชุมชนต้องย้ายออกไปหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย

  • เริ่มจากแปลง G ( สีเหลือง พื้นที่ก่อสร้างและการรื้อย้ายระยะที่ 1 ) ซึ่งพื้นที่เดิมเคยเป็น สำนักงานเคหะชุมชนดินแดง ของการเคหะแห่งชาติ
  • ย้ายชาวชุมชนจากอาคารเดิม A1 D1 ไปยังอาคารใหม่ในแปลง G
  • พัฒนาพื้นที่ A1  D1 ตามแผนการก่อสร้างระยะที่ 2 ( สีเขียว พื้นที่ก่อสร้างและการรื้อย้ายระยะที่ 2 )
  • ย้ายชาวชุมชนจากอาคารเดิม A2 A3 A4 D2 C1 ไปยังอาคารใหม่ในแปลง A1 และ D1
  • พัฒนาพื้นที่ A C1 D2 ตามแผนการก่อสร้างระยะที่ 3 ( สีแดง พื้นที่ก่อสร้างและการรื้อย้ายระยะที่ 3 )
  • ย้ายชาวชุมชนจากอาคารเดิม B E ไปยังอาคารใหม่ในแปลง A C1 D2
  • พัฒนาพื้นที่ C ตามแผนการก่อสร้างระยะที่ 3 ( สีฟ้า พื้นที่ก่อสร้างและการรื้อย้ายระยะที่ 4 )
  • ย้ายชาวชุมชนจากอาคารเดิม F1 F2 ไปยังอาคารใหม่ในแปลง C

โดยจะเหลือพื้นที่แปลง F1 และ F2 ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ บนเนื้อที่กว่า 21 ไร่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนดินแดงมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยมีสภาพมั่นคงแข็งแรงขึ้น เป็นการสร้างทัศนียภาพเมืองให้น่าอยู่ เพิ่มพื้นที่นันทนาการ พื้นที่เปิดโล่ง สวนสาธารณะ อีกทั้งจัดพื้นที่ร้านค้าชุมชน เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนมีรายได้ ทำให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนดินแดง มีสุขภาพที่ดีทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น

รวมการพัฒนาที่อยู่อาศัยในโครงการ 36 อาคาร ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 8 ปี ทั้งนี้ โครงการมีแผนในการให้ผู้อยู่อาศัยย้ายเข้า ทั้งผู้อยู่อาศัยเดิมและผู้อยู่อาศัยใหม่ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 ผู้อยู่อาศัยเดิมย้ายเข้าเดือน พฤษภาคม พ.ศ.2561
  • ระยะที่ 2  ผู้อยู่อาศัยเดิมย้ายเข้าเดือน เมษายน – มิถุนายน พ.ศ.2563
  • ระยะที่ 3 ผู้อยู่อาศัยเดิมย้ายเข้าเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม พ.ศ.2565 และผู้อยู่อาศัยใหม่ย้ายเข้าเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2565
  • ระยะที่ 4 ผู้อยู่อาศัยเดิมย้ายเข้าเดือน มิถุนายน – สิงหาคม พ.ศ.2567  และผู้อยู่อาศัยใหม่ย้ายเข้าเดือนสิงหาคม พ.ศ.2567

โดยการพิจารณาสิทธิ์ของผู้ที่จะเข้าอยู่อาศัยนั้นจะพิจารณาจากผู้ที่อยู่อาศัยดั่งเดิมในพื้นที่ก่อน ที่เป็นผู้อยู่อาศัยแท้จริง ไม่ใช้ผู้เช่าช่วงต่อจากบุคคลอื่น ส่วนกลุ่มผู้อยู่อาศัยใหม่ที่จะเข้ามานั้นจะพิจารณากลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ข้าราชการ โดยจะมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา สำหรับราคาเช่าของอาคารใหม่นั้นจะใช้การเปรียบเทียบกับราคาของที่พักอาศัยในปัจจุบัน หรือราคาตลาด เมื่อโครงการแล้วเสร็จในอีก 8 ปีข้างหน้า ซึ่งจะต้องมีการปรับขึ้นจากเดิมแน่นอน เพราะรูปแบบการอยู่อาศัยจะแตกต่างจากเดิม โดยระดับราคาค่าเช่าเริ่มต้นจะมาจากมีการพิจารณากำหนดกรอบให้มีความเหมาะสมกับผู้อยู่อาศัยที่ส่วนมากแล้วจะเป็นผู้มีรายได้น้อย แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆร่วมด้วยได้แก่ ค่าส่วนกลาง ค่าภาษีโรงเรือน เป็นต้น สำหรับค่าส่วนกลางนั้นมีการประมาณการณ์ไว้ที่ 25 บาท/ตร.ม.

อาคารพักอาศัยแปลง G เป็นโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนวิภาวดีรังสิต ตัดกับถนนอโศก-ดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ จัดสร้างเป็นอาคารชุดพักอาศัย High Rise สูง 28 ชั้น และส่วนที่จอดรถ 6 ชั้น มีจำนวนห้องพักอาศัยทั้งหมด 334 ห้อง บนที่ดินประมาณ 2 ไร่ โดยออกแบบให้ห้องพักมีแบบเดียว ขนาดพื้นที่ใช้สอย 33 ตารางเมตร โดยส่วนพักอาศัยจะเริ่มที่ชั้น 7 ขึ้นไป โดยแต่ละชั้นจะมีห้องพักอาศัยสูงสุด 15  ห้อง/ชั้น

ที่สำคัญคือ โครงการมีแนวคิดในการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางของโครงการที่แตกต่างจากโครงการคอนโดมิเนียมทั่วไป โดยออกแบบจากกลุ่มผู้อยู่อาศัยจริงของโครงการ ที่ส่วนมากจะประกอบไปด้วย ผู้สูงอายุ และเด็ก ทางโครงการจึงต้องจัดพื้นที่ส่วนกลางที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องในการใช้งานให้แทน ได้แก่ ศูนย์สำหรับดูแลผู้สูงอายุและเด็กเล็ก พื้นที่สำหรับปลูกผักสวนครัวที่ดาดฟ้าอาคาร พื้นที่สีเขียวจัดเป็นสวนพักผ่อนที่บริเวณชั้น 7 และด้านหน้าโครงการ

จัดแบ่งพื้นที่สำหรับจอดรถไว้ที่ชั้น 1-6 ของอาคาร สามารถจอดได้ทั้งหมด 160 คัน หรือประมาณ 47% พร้อมลิฟท์โดยสารทั้งหมด 3 ตัว และลิฟท์ service 1 ตัว และมีบันไดหนีไฟ 1 ตำแหน่ง เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมแฟลต 18 – 22 จำนวน 280 หน่วย โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

ทางเข้าหลักของโครงการจะเข้าจากถนนมิตรไมตรี ด้านหน้าจัดเป็นพื้นที่สีเขียว โดยทางโครงการจะเก็บต้นไม้ใหญ่เดิมในพื้นที่ไว้ เป็นต้นสักขนาดใหญ่ ช่วยเพิ่มความร่มรื่นบริเวณด้านหน้าโครงการ

เมื่อเข้ามาด้านในโครงการ จะจัดเส้นทางการจราจรภายในแบบวนตามเข็มนาฬิกา มีวงเวียนให้สามารถขับมาจอดเป็นจุด Drop off เพื่อเข้าประตูด้านหน้าได้ จัดพื้นที่จอดรถไว้ 2 แบบ คือที่ชั้น 1 จัดเป็นที่จอดรถใต้อาคารอยู่โดยรอบ และพื้นที่จอดรถที่ชั้น 2-6  เมื่อขึ้นไปบนชั้น 2 ด้านหน้าจะทำเป็นศูนย์สำหรับดูแลผู้สูงอายุและเด็กเล็ก

ที่ชั้น 7 หรือด้านบนอาคารจอดรถจะจัดเป็นพื้นที่สวนสีเขียว และพื้นที่สำหรับปลูกผักสวนครัว ให้ผู้พักอาศัยสามารถมาใช้เป็นพื้นที่กิจกรรมร่วมกัน หรือใช้เป็นส่วนพักผ่อนภายในโครงการได้ ส่วนพักอาศัยจะเร่ิมตั้งแต่ชั้น 7 ขึ้นไป จากรูปด้านอาคารจะเห็นพื้นที่ส่วนระเบียงของห้องพัก มีการออกแบบให้ราวระเบียงเป็นตะแกรงเหล็กเจาะรู สูงประมาณ 2 m. เพื่อป้องกันความปลอดภัยในการใช้งานกรณีห้องมีเด็ก แต่สามารถใช้ระบายอากาศได้ไม่ปิดทึบ หรือแขวนของด้านข้างได้

จากการที่ทางการเคหะแห่งชาติ ได้เริ่มทำห้องตัวอย่างของโครงการใหม่ เพื่อให้ชาวชุมชนเดิมได้มาเยี่ยมชม ดูการใช้งานพื้นที่ห้องในขนาดจริง ในตอนแรกนั้นเกิดการต่อต้านในเรื่องพื้นที่ใช้สอยภายในห้อง ที่มีขนาด 33 ตารางเมตร เพราะชาวชุมชนแต่เดิมนั้นอยู่อาศัยในห้องที่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 40 ตารางเมตร จึงมองว่าจะอยู่อาศัยไม่เพียงพอ ทำให้ทางการเคหะแห่งชาติต้อง จัดทีมงานเพื่อปรับความเข้าใจในเรื่องของพื้นที่ใช้สอยแก่ผู้อยู่อาศัย

โดยเริ่มจากการสำรวจการใช้งานเดิมพบว่า แท้จริงแล้วจากพื้นที่ห้อง 40 ตารางเมตร นั้นคนส่วนใหญ่ที่อาศัยในแฟลตใช้พื้นที่จริงเพียง 35-38 ตารางเมตร หรือน้อยกว่า เพราะจะศูนย์เสียพื้นที่ไปกับการใช้ Furniture เช่น ตู้ และชั้นวางของต่างๆ มากั้นแบ่งพื้นที่แทนผนัง เพื่อแบ่งส่วนการใช้งาน เป็นส่วนนั่งเล่น และส่วนสำหรับตั้งเตียงนอน ซึ่งการกั้นแบ่งพื้นที่ลักษณะนี้จะทำให้เสียพื้นที่การใช้งานจริง และมีความแออัดไม่เป็นส่วนตัวในการใช้งาน เนื่องจากรูปแบบห้องเดิมเป็นแบบ Studio เป็นห้องเปิดโล่งไม่มีผนังกั้นแบ่งห้องให้เป็นสัดส่วน แต่สำหรับห้องขนาด 33 ตารางเมตร ของโครงการใหม่นั้น จะเป็นห้องแบบ 1 Bedroom มีการกั้นแบ่งพื้นที่ใช้งานให้เป็นสัดส่วน ทั้งห้องนอน ห้องน้ำ และส่วนระเบียง และออกแบบให้สามารถจัดวางของและไม่ศูนย์เสียพื้นที่ในการใช้งาน ห้องนอนและส่วนระเบียงได้รับแสงธรรมชาติ มีหน้าต่างสามารถเปิดระบายอากาศได้ดีกว่า

ห้องพักอาศัยในโครงการจะมีเพียงขนาดเดียวคือ 33 ตารางเมตร แต่จะมี 4 รูปแบบให้เลือก มีความแตกต่างกันที่การจัดพื้นที่ภายใน แบบที่ 1 และแบบที่ 2 จะจัดวางการใช้พื้นที่ภายในเหมือนกันต่างๆ คล้ายกัน แตกต่างกันที่ขนาดของพื้นที่ครัวและส่วนระเบียง

จัดเป็นห้องแบบ 1 Bedroom รูปร่างของห้องเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า จัดพื้นที่การใช้งานภายในห้องหลักๆ เป็น 5 ส่วน ได้แก่ ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำและระเบียงซักล้าง เมื่อเปิดประตูเข้ามาจะเจออกับพื้นที่ส่วนห้องนั่งเล่น ที่เชื่อมต่อไปยังห้องนอนด้านใน พื้นที่ตรงส่วนนี้จะปูด้วยพื้นกระเบื้อง มีคุณสมบัติที่กันน้ำ และสามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย ภายในห้องโปร่งไม่อึดอัด มีความสูงจากพื้นถึงฝ้า 2.4 ม. จัดพื้นที่ห้องนั่งเล่นสามารถวางชุดโซฟาขนาดกลาง 2-3 ที่นั่งได้ เลยเข้าไปในตัวห้องจะเป็นพื้นที่ห้องนอน โดยจะมีประตูแบ่งพื้นที่การใช้งานเป็นสัดส่วนและเพื่อความเป็นส่วนตัว ภายในห้องนอนจัดพื้นที่มาให้เหมาะกับการใช้งาน สามารถตั้งเตียงใหญ่ ขนาดแบบ 5 ฟุต ได้แล้วยังมีพื้นที่เหลือโดยรอบเตียงไม่อึดอัด ตำแหน่งห้องนอนจะอยู่ฝั่งริมติดหน้าต่างของตัวห้อง ทำให้สามารถเปิดรับแสงธรรมชาติและระบายอากาศได้ดี

อีกฝั่งของตัวห้องจัดเป็นพื้นที่ห้องครัว ห้องน้ำ และระเบียง เริ่มจากห้องครัวจัดเป็นครัวเปิด ไม่มีประตูกั้นการใช้งาน ครัวแบบนี้จะต้องระมัดระวังเรื่องการประกอบอาหารที่มีกลิ่นและควัน กรณีนี้เราอาจจะต้องติดประตูหรือฉากบานเลื่อนเพิ่มเติม ภายในเป็นพื้นที่โล่ง เราต้องมาติดติดชุดครัวเอง ถ้าอยากทำอาหารจริงจังอาจต้องติดตั้ง Hob & Hood เพิ่มเติม พื้นที่ครัวจะจะเชื่อมต่อกับพื้นที่ระเบียง โดยจะมีบานประตูเลื่อนสามารถเปิดออกไปยังระเบียงด้านนอกได้ ระเบียงจัดพื้นที่มาให้สามารถใช้งานได้จริง เป็นส่วนซักล้าง ตั้งเครื่องซักผ้า ตากผ้าได้ ด้านในสุดของตัวห้องทางฝั่งซ้ายจัดเป็นพื้นที่ห้องน้ำ พื้นที่ห้องน้ำ มีการแบ่งพื้นที่การใช้งานโซนเปียกและโซนแห้ง อุปกรณ์ภายในห้องน้ำหลักๆครบตามที่ต้องใช้งาน แต่การจัดผังห้องให้ห้องน้ำที่อยู่ส่วนด้านในของอาคารแบบนี้ จะไม่มีช่องระบายอากาศ เราอาจจะติดเครื่องดูดอากาศเพื่อระบายอากาศเพิ่มเติมเอง

แบบที่ 3 และแบบที่ 4 จะจัดวางการใช้พื้นที่ภายในเหมือนกันต่างๆ คล้ายกัน แตกต่างกันที่ตำแหน่งของห้องน้ำที่จะสลับอยู่คนละฝั่งเท่านั้น

จัดเป็นห้องแบบ 1 Bedroom พื้นที่ภายในห้องทั้งหมดจะเป็นพื้นกระเบื้อง มีความสูงจากพื้นถึงฝ้า 2.4 ม. แบ่งการใช้งานภายในเป็น 5 ส่วน ได้แก่ ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำและระเบียงซักล้าง เมื่อเปิดประตูเข้ามาจะเจอกับแนวทางเดิน ด้านข้างเป็นทางเข้าห้องน้ำ โดยภายในห้องน้ำมีการแบ่งพื้นที่การใช้งานโซนเปียกและโซนแห้ง อุปกรณ์ภายในห้องน้ำหลักๆครบ แต่การจัดผังห้องให้ห้องน้ำอยู่ส่วนด้านในของอาคารแบบนี้ จะไม่มีช่องระบายอากาศควรติดเครื่องดูดอากาศเพื่อระบายอากาศเพิ่มเติม  ถัดเข้ามาเป็นพื้นที่ส่วนห้องนั่งเล่น สามารถวางชุดโซฟาขนาดกลาง 2-3 ที่นั่งได้

เลยเข้าไปในตัวห้องเป็นพื้นที่ห้องนอน โดยจะมีประตูแบ่งพื้นที่การใช้งานเป็นเพื่อความเป็นส่วนตัวไว้ ภายในห้องนอนจัดพื้นที่มาให้สามารถตั้งเตียงขนาด 5 ฟุต ได้แล้วยังมีพื้นที่เหลือโดยรอบเตียง ตำแหน่งห้องนอนจะอยู่ฝั่งริมติดหน้าต่างของตัวห้อง สามารถเปิดรับแสงธรรมชาติและระบายอากาศได้ดี พื้นที่ส่วนครัวจัดเป็นครัวเปิดเน้นทำอาหารเบาๆมากกว่า ครัวแบบนี้จะต้องระมัดระวังเรื่องการประกอบอาหารที่มีกลิ่นและควัน แต่โครงการไม่มีชุดครัวให้ผู้อยู่อาศัยต้องติดตั้งเอง พื้นที่ครัวจะเชื่อมต่อกับพื้นที่ระเบียง โดยจะมีบานประตูเลื่อนสามารถเปิดออกไปยังระเบียงด้านนอกได้ ระเบียงจัดพื้นที่มาให้สามารถใช้งานได้จริง เป็นส่วนซักล้าง ตั้งเครื่องซักผ้า ตากผ้าได้

เราลองเข้ามาดูด้านในห้องตัวอย่างแบบที่ 2 ขนาดพื้นที่ 33 ตารางเมตร เมื่อเปิดเข้าห้องมาก็จะเจอกับพื้นที่ห้องนั่งเล่นเป็นส่วนแรก ภายในจัดแบ่งพื้นที่ภายในห้องสำหรับห้องนอนและห้องนั่งเล่นไว้ค่อนข้างกว้างขวาง เมื่อวางเฟอร์นิเจอร์แล้ว ห้องยังมีพื้นที่เหลือโดยรอบไม่อึดอัด  มองตรงไปด้านในทางซ้ายมือของตัวห้องจะเป็นพื้นที่ห้องนอน ทางขวามือจะเชื่อมต่อไปส่วนครัว และระเบียงของตัวห้อง พื้นส่วนห้องนั่งเล่นและห้องนอนใช้วัสดุพื้นเป็นพื้นกระเบื้องขนาด 30 x 30 cm. ทั้งหมด ซึ่งมีคุณสมบัติทนน้ำและทำความสะอาดง่าย ในส่วนของผนังห้องจริงจะเป็นผนังฉาบเรียบทาสี ระยะความสูงจากพื้นถึงฝ้า 2.4 m. ติดไฟให้แบบซาลาเปา

ห้องขายแบบห้องเปล่า จะได้เฉพาะอุปกรณ์ภายในห้องน้ำ ชุดสุขภัณฑ์ พร้อมอุปกรณ์ชุดอาบน้ำครบ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ผู้อยู่อาศัยต้องจัดหากันเอง ห้องตัวอย่างจะจัดเฟอร์นิเจอร์มาให้เพื่อจัดวางพื้นที่ใช้งานให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น สำหรับพื้นที่นั่งเล่นนั้นสามารถวางชุดโซฟาขนาดกลาง 2-3 ที่นั้งได้ มีระยะดูทีวีประมาณ 3 m. ส่วนตำแหน่งทางเข้าห้องน้ำจะอยู่ตรงข้ามกับพื้นที่ส่วนรันั่งเล่น

พื้นที่ห้องน้ำ มีการแบ่งพื้นที่การใช้งานโซนเปียกและโซนแห้ง อุปกรณ์ภายในห้องน้ำหลักๆครบตามที่ต้องใช้งาน แต่การจัดผังห้องให้ห้องน้ำที่อยู่ส่วนด้านในของอาคารแบบนี้ จะไม่มีช่องระบายอากาศ เราอาจจะติดเครื่องดูดอากาศเพื่อระบายอากาศเพิ่มเติมเองในภายหลัง ทางเข้าห้องน้ำจะยลระดับประมาณ 5 cm. ในส่วนของพื้นที่จะปูกระเบื้องทั้งหมด แต่ผนังจะกรุกระเบื้องด้านล่างส่วนด้านบนผนังจะเป็นผนังฉาบเรียบทาสี

ให้ชุดอ่างล้างหน้าและอุปกรณ์ เหนืออ่างด้านข้างมีพื้นที่สำหรับวางของเล็กได้ ชุดอ่างมีขนาด 50 x 35 cm. ส่วนกระจกเงาขนาด 1.2 x 0.9 m.

ติดตั้งชุดโถสุขภัณฑ์ และส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ สายชำระ มาให้พร้อมใช้งาน

พื้นที่ในส่วนเปียกสำหรับยืนอาบน้ำ มีขนาดประมาณ 1.5 x 1 m. สามารถยืนอาบน้ำได้แบบพอดีๆ ส่วนพื้นที่อาบน้ำจะลดระดับ 2 cm. เพื่อป้องกันน้ำไหลซึมมายังส่วนแห้งในห้องน้ำ แต่จะไม่มีฉากอาบน้ำให้ เพื่อป้องการน้ำกระเด็นเวลาใช้งานจริงอาจจะต้องติดม่านหรือทำฉากกั้นอาบน้ำเพิ่มเติม

ฝักบัวอาบน้ำ พร้อมชุดอุปกรณ์อาบน้ำติดตั้งให้พร้อมใช้งานเช่นกัน

ฝ้าเพดานภายในห้องน้ำฉาบเรียบทาสี ติดไฟแบบฟลูออเรสเซนต์ 1 ตำแหน่ง

ภายในห้องนอน พื้นที่จัดให้มาถือว่าค่อนข้างกว้างพอสมควรสามารถตั้งเตียงนอนขนาด 5 ฟุต และเตียงนอนแบบ 2 ชั้นได้ ซึ่งการจัดวางเตียงนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้อยู่อาศัย แต่ในห้องตัวอย่างจะจัดมาให้ดูเพื่อแสดงพื้นที่การใช้งาน ว่าสามารถพักอาศัยได้ 3-4 คน/ห้อง การจัดวางตำแหน่งห้องนอนจะอยู่ฝั่งริมติดหน้าต่างในลักษณะนี้มีข้อดี ที่ทำให้สามารถเปิดรับลมและแสงธรรมชาติได้ ทำให้ห้องดูโปร่งไม่อึดอัด ส่วนผนังในห้องนอนจะเป็นผนังฉาบเรียบทาสี พื้นภายในปูกระเบื้องเหมือนกับพื้นส่วนห้องนั่งเล่น พื้นที่ห้องนอนมีขนาดประมาณ 2.9 x 3.6 m. เมื่อวางเตียงแล้วจะเหลือพื้นที่ระยะปลายเตียงถึงผนังอีกฝั่งและพื้นที่ด้านข้างเตียงถึงตู้เสื้อผ้า พื้นที่กว้างฝั่งละประมาณ 70 cm.

มีพื้นที่ด้านข้างให้ตั้งตู้เสื้อผ้าหรือวางชุดโต๊ะเครื่องแป้งได้ มีความลึกประมาณ 50 cm.

ภายในห้องแบ่งพื้นที่ทางฝั่งระเบียง สำหรับวางโต๊ะรับประทานอาหาร หรือจะทำเป็นส่วนประกอบอาหาร ติดเป็นชุดครัวแบบ built in เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น แต่อาจจะต้องติดประตูบานเลื่อน หรือฉากกั้นแบ่งเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นและควันเข้ามารบกวนห้องนั่งเล่นและห้องนอนด้านใน สำหรับพื้นที่ในส่วนนี้มีขนาดพื้นที่ประมาณ 1.9 x 2.4 m.

ส่วนรับประทานอาหารจะเชื่อมต่อไปยังส่วนระเบียงได้ ข้อดีของการจัดห้องลักษณะนี้จะสามารถถ่ายเทและระบายอากาศได้ดี ประตูทางออกระเบียงเป็นบานเลื่อน 1 บาน เลื่อนชิดไปสุดทางด้านซ้าย เป็นประตูเป็นบานอลูมิเนียมกระจกใส พร้อมตัวล็อค พื้นที่ส่วนระเบียงปูพื้นกระเบื้อง ผนังฉาบปูนเรียบทาสี พื้นที่ระเบียงมีขนาดประมาณ 1.70 x 1.3 m. จัดพื้นที่มาให้เพียงพอใช้งานได้ เป็นส่วนซักล้าง ตั้งเครื่องซักผ้า ตากผ้าได้ ในห้องจริงจะติดราวระเบียงเป็นตะแกรงเหล็กเจาะรู สูงประมาณ 2 m. เพื่อป้องกันความปลอดภัยในการใช้งานกรณีห้องมีเด็ก และสามารถใช้ระบายอากาศได้ไม่ปิดทึบ หรือแขวนของด้านข้างได้

ทั้งหมดนี้คือแผนการดำเนินงานของ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ที่ในอีก 8 ปีข้างหน้าจะทำให้พื้นที่ของแฟลตดินแดงที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นและแตกต่างไปจากเดิมแน่นอน หากมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆของโครงการ ทางทีมงานจะนำเอามาเผยแพร่ให้ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง และทางทีมงาน Think of Living ก็จะขอเป็นกำลังใจในการพัฒนาครั้งนี้อีกแรงค่ะ

รีวิวและรายการอื่นๆที่เกี่ยวของ

ขอขอบคุณ

  • การเคหะแห่งชาติ
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายสำนักบริหารชุมชนดินแดง
  • ชาวชุมชนแฟลตดินแแดง