รีวิวโครงการ

รีวิวตึกเสร็จ แฟลตดินแดงใหม่ จุดเริ่มต้นโมเดลพัฒนาชุมชนดินแดง จากการเคหะแห่งชาติ [รีวิวฉบับที่ 2018]

2 มกราคม 2020

อ่านรีวิวล่าสุด

%e0%b8%9b%e0%b8%81-%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88-1

ที่อยู่อาศัย หนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เมื่อมีการใช้ชีวิต บ้าน คือสิ่งปกป้องคุ้มกัน ให้ความปลอดภัย แต่สำหรับหลายๆคน การเลือกที่อยู่อาศัยนั้นก็มีปัจจัยเข้ามาเป็นข้อจำกัดในการเลือก รายได้เป็นตัวกำหนดว่าเราจะเลือกบ้านแบบไหน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยการที่อยากจะมีบ้านเป็นของตนเองสักหลัง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องด้วยปัจจัยหลากหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนด โดยเฉพาะเรื่องของรายได้ เมื่อมีรายได้น้อย มีอาชีพที่ไม่มั่นคง โอกาสในการซื้อที่อยู่อาศัยก็ยากยิ่งขึ้น ด้วยสาเหตุนี้ ทำให้ทางภาครัฐเข้ามามีบทบาท เข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาโดยการสร้างที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่แพง โดยมีเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆเพื่อให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยเหล่านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น

หากย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ก่อนจัดตั้งการเคหะแห่งชาติในปี พ.ศ. 2516 คนไทยยังคงนิยมสร้างบ้านเรือนในรูปแบบบ้านเดี่ยวหรือห้องแถวเป็นส่วนใหญ่ และในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2522 การอยู่อาศัยรวมกันในอาคาร ที่ปัจจุบันเรียกว่า อาคารชุด นั้นหรือที่รู้จักกันในชื่อ แฟลต ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของสังคมไทยก็ว่าได้ เกิดจากแนวคิดการจัดสร้างที่อยู่อาศัยที่สามารถรวบรวมคนให้มาอยู่รวมกันในอาคารสูงประมาณ 4-5 ชั้น ได้มากขึ้น ต่างจากบ้านแนวราบปกติ โดยการอยู่อาศัยรวมกันในอาคารแฟลตนั้นเกิดจากปัจจัยหลัก ได้แก่ การจัดหาที่ดินที่ใกล้ชุมชน ใกล้เมือง หรือแม้แต่บริเวณชานเมือง ที่ดินหายากและราคาแพงมากขึ้น เนื่องจากมีการกักตุน และเก็งกำไรที่ดิน

จากอดีตพื้นที่ชุมชนดินแดงแห่งนี้ เดิมทีถูกจัดให้เป็นบริเวณที่ทิ้งขยะของกรุงเทพมหานคร และมีผู้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นชุมชนแออัด แต่เนื่องจากทางกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องใช้งานพื้นที่ดังกล่าว จึงเกิดการเปลี่ยนสู่การเป็นที่อยู่อาศัยเป็นที่พึ่งพิงของผู้มีรายได้น้อย ในปี พ.ศ. 2503 ภาครัฐจึงมีมติเห็นชอบให้กรมประชาสงเคราะห์ จัดสร้างอาคารสงเคราะห์แบบแฟลต ให้เช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ริเริ่มเป็น “โครงการอาคารสงเคราะห์ดินแดง” ประมาณ 5,000 หน่วย ก่อสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2506-2517 โดยใช้ต้นแบบหน่วยพักอาศัยคล้ายมาตรฐานอาคารสงเคราะห์ของประเทศสิงค์โปร์ สร้างเป็น อาคารสงเคราะห์  หรือที่เราเรียก แฟลตดินแดง ในปัจจุบัน

สำหรับตำแหน่งที่ตั้งของอาคารแฟลตดินแดง ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตดินแดง โดยกระจายกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 จะอยู่ใกล้กับถนนมิตรไมตรี ซึ่งเป็นถนนคู่ขนานกับถนนวิภาวดี กลุ่มอาคารแฟลตดินแดงกลุ่มนี้จะอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการต่างๆ เช่น กระทรวงแรงงาน ศูนย์กีฬาเยาวชนไทย-ญี่ปุ่น
  • กลุ่มที่ 2 จะอยู่ใกล้กับถนนประชาสงเคราะห์ กลุ่มนี้มีจำนวนอาคารมากที่สุด
  • กลุ่มที่ 3 จะอยู่ใกล้กับถนนดินแดง โดยตั้งอยู่ตรงข้ามกับ 2 กลุ่มแรก และเรียงตัวยาวตามเส้นทางถนนจนถึงแยกโบสถ์แม่พระ

รูปแบบการก่อสร้างอาคาร สร้างเป็นอาคารแฟลตสูง 5 ชั้น อยู่อาศัย 4 ชั้น และชั้นล่างสุดเป็นใต้ถุนโล่ง มีบันไดสองข้างอาคาร มีทางเดินร่วม โดยมีหน่วยพักอาศัยอยู่ด้านเดียว (Single Loaded Corridor) โดยออกแบบให้ห้องพักอาศัยแต่ละห้องมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 40 ตารางเมตร/หน่วย (3.5 x 12 m.) มีส่วนอเนกประสงค์ ครัว ห้องน้ำ และระเบียง มีช่องเปิดสำหรับทิ้งขยะลงปล่องโดยมีปล่องขยะ 1 ปล่องต่อ 2 หน่วย สามารถรองรับผู้มีรายได้ครัวเรือน ไม่เกิน 1,500 บาท/เดือน จ่ายค่าเช่าเพียง 100-125 บาท/เดือน เพื่อรองรับการอพยพของผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดเดิมบนพื้นที่ทิ้งขยะของกรุงเทพมหานครและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการที่พักอาศัยในช่วงเวลานั้น

จากการจัดหาและสร้างที่อยู่อาศัยในครั้งนั้น จึงกลายมาเป็นต้นแบบอาคารแฟลตดินแดงที่เราเห็นกันในปัจจุบัน และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอาคารอยู่อาศัยรวมของผู้มีรายได้น้อยของประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2516 การเคหะแห่งชาติจึงเข้ามาดูแล และได้รับโอนแฟลตดินแดงจากกรมประชาสงเคราะห์ จำนวน 64 อาคาร 4,144 หน่วย หลังจากนั้นการเคหะแห่งชาติได้สร้างที่พักอาศัย เพิ่มขึ้นอีก 30 อาคาร จำนวน 5,098 หน่วย ในปีพ.ศ. 2519-2535 รวมเป็นที่พักอาศัยในชุมชนดินแดงทั้งสิ้น 94 อาคาร มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 36,000 คน

ปัจจุบันแฟลตดินแดงรุ่นแรก นับเป็นอาคารที่มีอายุการใช้งานอย่างยาวนานถึง 50 ปี เปรียบเทียบเป็นมนุษย์ก็คงอยู่ในช่วงอายุที่รอวันร่วงโรย ซึ่งหากแม้มองดูจากภายนอกจะเห็นว่าอาคารก็ยังคงมีคนอยู่อาศัยกันได้อย่างปกติ มีการทาสีอาคารภายนอกใหม่อยู่เสมอ  แต่จากการตรวจสอบเชิงลึกกลับพบว่าอาคารทั้งหมด มีสภาพเก่า ทรุดโทรม และมีความชำรุดค่อนข้างมาก มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย โครงสร้างอาคารและระบบการก่อสร้างในสมัยก่อนนั้น ไม่ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงในเรื่องการเกิดแผ่นดินไหวและน้ำหนักบรรทุกที่เกินมาตรฐาน อีกทั้งวัสดุและระบบโครงสร้างก็ไม่ได้มีคงทนเหมือนกับการก่อสร้างในปัจจุบัน

ด้วยความห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สินของคนที่อยู่อาศัยในแฟลตดินแดง ทางการเคหะแห่งชาติจึงได้ว่าจ้าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) เข้าศึกษาตรวจสอบสภาพความแข็งแรงของอาคารในเคหะชุมชนดินแดงทั้งหมด ในปีพ.ศ. 2546 และปี พ.ศ. 2550 โดยจากการตรวจสอบพบว่า ร้อยละ 60 ของอาคารทั้งหมด มีสภาพเก่าทรุดโทรม และชำรุดเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารโดยตรง และอาจเกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยได้ หากทำการปรับปรุงซ่อมแซมก็จะทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะมีความเสียหายมากเกินกว่าการปรับปรุง และไม่คุ้มค่า ทางที่ดีคือการรื้อถอนและสร้างใหม่จะเป็นแนวทางที่ดีกว่า อีกทั้งสภาพแวดล้อมโดยรอบตัวอาคารแฟลตดินแดงเอง ปัจจุบันก็มีสิ่งแวล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ขาดการจัดการเรื่องความเป็นระเบียบและควาามสะอาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนเช่นกัน

จากการสำรวจสภาพความแข็งแรงของอาคารในแฟลตดินแดง สามารถแบ่งสภาพอาคารออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. สภาพอาคารเสียหายรุนแรงมาก เป็นพื้นที่สีแดง คือ แฟลต 1-8 และแฟลต 21-32 จำนวน 20 อาคาร
  2. เสียหายมาก คือ แฟลต 9-20 และ 33-56 จำนวน 36 อาคาร
  3. เสียหายปานกลาง คือ แฟลต 57064 , พ.1-พ.10 และ ช.1-ช.11 จำนวน 29 อาคาร
  4. สภาพดี คือ แฟลตดินแดง 4 (6007 และ 6008) จำนวน 2 อาคาร

เราลองมาเดินดูบรรยากาศโดยรอบในพื้นที่แฟลตดินแดง จะพบว่าตัวอาคารแต่ละอาคารปัจจุบันบริเวณริมถนนด้านหน้าอาคารจะมีผู้มาจับจองทำเป็นร้านค้าร้านอาคาร หรือใช้ประโยชน์ต่างๆ มีการต่อเติมทำเป็นหลังคายื่นออกมาเพื่อประกอบการค้า ทำให้ไม่มีทางเท้าให้ใช้งาน

เมื่อเดินอ้อมมาทางด้านหลังของอาคารแฟลตแต่ละหลังจะพบว่าบางส่วนจะมีการต่อเติมสร้างผนังกำแพงขึ้นมาใหม่ บ้างก็ใช้พื้นที่ส่วนกลางทางด้านหลังอาคารจับจองใช้งานเป็นพื้นที่ส่วนตัว หรือทำเป็นพื้นที่จอดรถแบบส่วนตัว สร้างหลังคาและสิ่งปกคลุมแบบถาวร โดยชาวบ้านภายในชุมชนแฟลตดินแดง ก็จะมีการจัดระเบียบภายในกันเองและทำเช่นนี้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว

เข้ามาที่ชั้น 1 ของอาคารแฟลต ชั้นล่างจะทำเป็นใต้ถุนโล่ง โดยจุดประสงค์แรกเริ่ม คือจะใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ไว้จัดกิจกรรมต่างๆ หรือให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันสำหรับลูกบ้านที่อยู่อาศัยในแต่ละอาคาร แต่ในปัจจุบันพื้นที่ใต้อาคารตรงส่วนนี้ บางอาคารก็มีการจัดการที่เป็นระเบียบโดยชาวบ้านจะแบ่งพื้นที่กันเพื่อใช่สำหรับจอดรถจักรยานยนต์ มีการเก็บค่าจอดเป็นกิจลักษณะแล้วนำเงินที่ได้มาดูแลพื้นที่ร่วมกัน แต่ก็ยังมีอีกหลายอาคารที่มีชาวบ้านในพื้นที่เข้ามาจับจอง ใช้เป็นพื้นที่ส่วนตัว มีการกั้นเขตด้วยวัสดุต่างๆ เพื่อใช้วางของ เก็บของส่วนตัว ทำให้พื้นที่ใต้ถุนอาคารไม่ได้รับการดูแลให้เป็นระเบียบเรียบร้อยก็มี

อาคารแฟลตเป็นอาคารสูง 5 ชั้น โดยชั้น 2-5 จะเป็นส่วนพักอาศัยทั้งหมด ออกแบบรูปทรงอาคารเป็นแนวยาว มีห้องพักอาศัยอยู่ด้านเดียว (Single Loaded Corridor) อีกฝั่งเป็นแนวทางเดิน มีบันไดอยู่บริเวณหัวและท้ายอาคาร รวมเป็น 2 ตำแหน่ง ไม่มีลิฟท์โดยสาร ทำให้การใช้งานโดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนแก่ชรา เป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อขึ้นมาที่ชั้นบนของตัวอาคารจะพบแนวทางเดินเชื่อมยาวตรงไปจนสุดแนวอาคารอีกฝั่ง โดยปกติแล้วทางเดินบริเวณนี้จัดเป็นพื้นที่ส่วนกลางของตัวอาคาร แต่ก็จะมีผู้พักอาศัยบางห้อง ใช้พื้นที่ตรงบริเวณนี้วางของส่วนตัว หรือวางกระถางต้นไม้บริเวณด้านหน้าห้องของตนเอง

เมื่อเข้ามาภายในห้อง รูปแบบห้องเป็นแบบ Studio เปิดเข้ามาจะเจอกับพื้นที่ห้องโล่งๆ พื้นภายในเป็นพื้นขัดมัน ผนังฉาบเรียบทาสี พื้นที่ใช้งานภายใน แบ่งเป็น 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนเอนกประสงค์ (ห้องนั่งเล่น , ห้องนอน) , ครัว , ห้องน้ำ และระเบียง สำหรับส่วนนั่งเล่นและห้องนอน จะไม่มีผนังกั้นแบ่งพื้นที่ ผู้อยู่อาศัยสามารถจัดพื้นที่การใช้งานได้เองตามความต้องการ ในห้องตัวอย่างที่เราพามาดูนั้น ยังถือว่าเป็นการจัดพื้นที่อยู่อาศัยกันแบบปกติ แต่ก็ยังมีอีกหลายห้องที่ทำการต่อเติมภายในให้เป็นชั้นลอยสำหรับเก็บของเพิ่มเติมภายในตัวห้อง จึงทำให้โครงสร้างของตัวอาคารต้องรับน้ำหนักเพิ่มในส่วนนี้ ถัดจากส่วนนั่งเล่นและพื้นที่ห้องนอน เลยถัดไปจะเป็นส่วนห้องน้ำ ครัว และระเบียงด้านนอกของตัวห้อง แต่เดิมจะมีประตูกั้นแบ่งพื้นที่ส่วนบริเวณด้านหน้าห้องน้ำ ห้องน้ำ และระเบียงไว้ให้ จากการอยู่อาศัยมาเป็นระยะเวลานานจะเห็นว่าระบบไฟฟ้า สายไฟต่างๆภายใน ที่ติดตั้งมาพร้อมตัวอาคารหลายจุดไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ผู้อยู่อาศัยต้องใช้วิธีการต่อสายไฟฟ้าและแสงสว่างใหม่เองเพื่อใช้งาน

ถัดจากส่วนห้องนั่งเล่นและห้องนอน จะเป็นพื้นที่หน้าห้องน้ำ ซึ่งก็แล้วแต่ผู้อยู่อาศัยจะจัดพื้นที่การใช้งานในส่วนนี้ บางห้องจัดเป็นพื้นที่ครัว หรือบางห้องใช้เป็นพื้นที่สำหรับเก็บของ วางตู้เสื้อผ้าทำเป็น Walk in closet ทางซ้ายมือจะเป็นทางไปพื้นที่ห้องน้ำ พื้นที่บริเวณหน้าห้องน้ำนี้จะเชื่อมต่อไปพื้นที่ระเบียงด้านนอกของตัวห้องได้ โดยมีประตูกั้นแบ่งพื้นที่การใช้งานไว้

มาที่ห้องน้ำภายในห้อง จะเห็นว่ามีสภาพเป็นไปตามอายุและการใช้งาน ห้องน้ำเดิมพื้นจะปูกระเบื้อง ผนังฉาบเรียบ แต่ปัจจุบันหลายห้องไม่สามารถใช้อุปกรณ์ก็อกน้ำเดิมภายในได้แล้ว จึงต้องใช้วิธีการต่อสายยางจากก็อกภายในห้องน้ำแทน และต้องใช้วิธีการรองน้ำไว้ในโอ่งหรือถังน้ำไว้ใช้ในการอาบแทน ส่วนห้องน้ำนั้นยังเป็นระบบนั่งยอง ที่ติดตั้งมากับตัวอาคาร แต่ก็มีบางห้องที่ปรับเป็นโถสุขภัณฑ์เพื่อการใช้งานที่สะดวกมาขึ้น

ถัดมาที่ส่วนพื้นที่ระเบียง ปัจจุบันหลายห้องได้ปรับพื้นที่ใช้งานในส่วนระเบียงใช้เป็นพื้นที่ครัว จะเห็นว่ามีสภาพทรุดโทรมกว่าภายในตัวห้องมาก เพราะเป็นส่วนที่ต้องตากแดด ตากฝน อยู่ตลอดเวลา แม้หลายห้องจะปรังปรุงพื้นที่ในส่วนนี้ แต่จากการสำรวจพบว่าส่วนมากก็จะอยู่ในสภาพที่เป็นไปตามอายุและการใช้งาน โดยเฉพาะผนังของพื้นที่ระเบียง เดิมผนังด้านข้างออกแบบทำเป็นช่องสำหรับทิ้งขยะลงสู่ปล่องด้านล่าง ซึ่งปัจจุบันช่องและปล่องทิ้งขยะดังกล่าวอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก ลองนึกภาพการทิ้งถุงขยะปริมาณมาก ในความสูงจากด้านบนแล้วถุงตกสู่ด้านล่างแตกออก ทำให้เป็นแหล่งรวมของขยะเป็นที่มาของหนูและแมลงสาป อีกทั้งสภาพความเป็นกรดและก๊าซจากขยะต่างๆ ก็ส่งผลต่อผนังและโครงสร้างของอาคารโดยตรงทำให้ผนังผุกร่อนและเสื่อมสภาพ

สำหรับพื้นที่ระเบียงเดิมนั้นจะไม่มีแนวหลังคากันสาดให้ ผู้อยู่อาศัยจึงมาติดเพิ่มเติมเองภายหลัง เพื่อป้องกันฝนสาดและป้องกันแสงแดดจากภายนอก บางห้องก็ยังอยู่ในสภาพดีใช้งานได้ แต่บางห้องก็อยู่ในสภาพที่ถูกใช้งานมานาน หลังคาจึงเกิดสนิม ผุกร่อนไปตามกาลเวลา ส่วนหนึ่งมาจากผู้อยู่อาศัยเองไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซมจึงต้องทนอยู่อาศัยในที่พักอาศัยที่ไม่ปลอดภัยเช่นนี้

เมื่อสังเกตจากภาพนอกอาคารจะพบว่า ปัจจุบันพื้นที่ระเบียงที่เคยออกแบบเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ให้สามารถใช้เป็นส่วนซักล้าง หรือตากผ้านั้น ส่วนมากถูกดัดแปลงทำเป็นพื้นที่ปิด โดยการติดหน้าต่างและเหล็กดัดเพิ่ม แล้วใช้วิธีการตากผ้าโดยการทำราวตากยื่นออกมาจากริมระเบียงแทน สำหรับการดัดแปลงพื้นที่ระเบียงที่เปิดโล่ง หายไปนั้นทำให้ไม่มีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย หากเกิดกรณีไฟไหม้ก็จะไม่สามารถช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในห้องพักได้เพราะติดหน้าต่างและเหล็กดัด

สาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายจนมีผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างโดยตรง โดยเฉพาะอาคาร 1-64 คือ

  1. รอยแตกร้าวมาก อันเนื่องจากการต่อเติมที่พักอาศัย และยังพบรอยแตกร้าวเนื่องจากเหล็กสนิมในแผ่นพื้นเป็นสนิม พบมากในฝ้าเพาน 3 จุด ได้แก่ ห้องครัว ห้องน้ำ และบริเวณระเบียงด้านหลังห้อง
  2. การพบรอยร้าวแนวดิ่งบริเวณกลางคานและรอยร้าวทะแยงมุมบริเวณผนัง
  3. พบรอยร้าว เนื่องจากเหล็กเสริมในกลายเป็นสนิมและเหล็กเสริมในเสาเป็นสนิม
  4. ระบบไฟฟ้า แม้จะยังสามารถใช้งานได้แต่ก็มีอายุการใช้งานที่เก่าและเริ่มเสื่อมสภาพ
  5. ระบบประปา พบว่าแต่ละอาคารจะมีบ่อพักน้ำอยู่ด้านบนชั้นหลังคาและปล่อยลงมาสู่แต่ละห้อง เกิดการซึมรั่วลงมายังส่วนพักอาศัย

ทั้งหมดนี้คือสภาพปัจจุบับของชุมชนแฟลตินแดง ที่หลายๆคนอาจจะยังคาดไม่ถึงว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร หลายคนอาจจะเคยขับรถผ่านพื้นที่แห่งนี้แต่คงไม่เคยได้มาสัมผัสบรรยากาศจริง ทุกอย่างย่อมมีการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ที่อยู่อาศัยก็เช่นกัน เมื่อใช้อยู่อาศัยไปในระยะเวลาหนึ่ง ก็ย่อมทรุดโทรมตามการใช้งาน จึงเป็นที่มาของ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการอยู่อาศัยของชาวชุมชนดินแดงใหม่ เพื่อความเหมาะสมและความปลอดภัยในการอยู่อาศัยที่ดีและมั่นคง จะเป็นอย่างไร สามารถติดตามกันต่อได้ในเร็วๆนี้ กับบทความพิเศษ  โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ตอนที่ 2 ก้าวสู่การพัฒนา ที่จะมาเล่าถึงนโยบายและแนวทางในการปรับปรุง แผนการพัฒนา ตลอดจนรูปแบบอาคารและห้องพักแบบใหม่ ที่จะมาแทนที่อาคารรุ่นเก่าทั้งหมดในอนาคต แล้วพบกันค่ะ

รีวิวและรายการอื่นๆที่เกี่ยวของ

ขอขอบคุณ

  • การเคหะแห่งชาติ
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายสำนักบริหารชุมชนดินแดง
  • ชาวชุมชนแฟลตดินแแดง