รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MAPรวม3

สวัสดีค่ะ หลังจากที่พาไปชมทำเลรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายมาแล้ว วันนี้ทางทีมงานจะพาไป Update ทำเลบริเวณรอบๆโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งเป็นอีกสายหนึ่งที่มีการก่อสร้างไปแล้วเยอะพอสมควร โดยเส้นทางจะต่อขยายมาจากโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ

  • ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ  มีระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับทั้งหมด มีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน มีทั้งหมด 10 สถานี โดยเริ่มต้นจากสถานีบางซื่อซึ่งเป็นสถานีร่วมกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล , รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม , รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน และ แอร์พอร์ตลิงค์ เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 สถานีต่อไปคือ สถานีเตาปูน อยู่บริเวณแยกเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ จากนั้นเส้นทางเดินรถจะผ่านสี่แยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกบางขุนนท์ (เชื่อมต่อกับสายสีส้มและสีแดงอ่อน) ที่แยกไฟฉาย และสิ้นสุดที่สถานีท่าพระ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค
  • ช่วงหัวลำโพง – บางแค มีระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินมีลักษณะทางวิ่งอุโมงค์  คู่รางเดี่ยว ในช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ระยะทาง 5 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานี และทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระ-บางแค ระยะทาง 9 กิโลเมตร มีสถานียกระดับจำนวน 7 สถานี โดยเส้นทางเริ่มจากสถานีหัวลำโพงเป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระรามที่ 4 เข้าสู่ถนนเจริญกรุง ผ่านวัดมังกรกมลาวาส ผ่าน  วังบูรพา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสนามไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ เข้าสู่ถนนอิสรภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับมีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อ บริเวณบนเกาะกลางถนนเข้าสู่สี่แยกท่าพระ ซึ่งจะมีสถานีร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ- ท่าพระ แล้ววิ่งไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่ บางหว้า ภาษีเจริญ บางแค สิ้นสุดที่วงแหวนรอบนอกถนนกาญจนาภิเษก

ข้อมูลจาก – การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MAPรวม_ทำเล

ถ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายก่อสร้างแล้วเสร็จ  เส้นทางการเดินรถจะวิ่งวนครอบคลุมพื้นที่ใจกลางเมืองที่สำคัญๆ เชื่อมฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเข้าด้วยกัน เน้นอำนวยความสะดวกให้กับคนในเมือง ถือว่าเป็นรถไฟฟ้าสายเดียวในประเทศไทยในตอนนี้ที่วิ่งเป็นวงกลม ซึ่งจะต่างกับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายอื่นๆที่เป็นเส้นยาวเน้นขนส่งคนจากนอกเมืองเข้าสู่ในตัวเมือง

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MAPรวม_ทำเล2

โดยใน Part นี้จะขอพูดถึง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ – ท่าพระก่อนนะคะ รถไฟฟ้าช่วงบางซื่อ – ท่าพระ นี้มีทั้งหมด 10 สถานี (11 สถานีถ้ารวมสถานีท่าพระ)  รถไฟฟ้าสายนี้ถ้ามองโดยรวมตลอดทั้งเส้นจะเห็นว่าเส้นทางเดินรถผ่านทำเลที่มีลักษณะเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประชากรอยู่ค่อนข้างหนาแน่น การจราจรจึงติดขัดตามไปด้วย สภาพแวดล้อมเป็นตึกแถวและอาคารพาณิชย์ มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง มีตลาดสดแทรกตัวอยู่หลายแห่ง เพราะฉะนั้นเรื่องหาของกินจึงไม่น่าเป็นห่วง มีศูนย์การค้าและ Hypermarket อยู่บ้างแต่รวมๆแล้วอาจจะยังไม่เจริญเท่าตัวเมืองชั้นใน บางทำเลมีชุมชนริมแม่น้ำซึ่งนอกเหนือจากการคมนาคมทางบกแล้ว ชาวบ้านยังสามารถใช้การคมนาคมทางน้ำได้อีกด้วย ซึ่งสาเหตุที่แต่เดิมทำเลย่านนี้มีลักษณะเป็นชุมชน เนื่องจากแต่เดิมชาวบ้านจะนิยมทำเลที่ใกล้แม่น้ำเอาไว้ใช้ทำเกษตรกรรมและเดินทางทางน้ำ แต่ปัจจุบันการใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนไปเป็นใช้รถใช้ถนนเป็นหลัก ผู้คนจึงนิยมมากระจุกตัวอยู่ตามทำเลที่มีรถไฟฟ้าแทน

ถ้ามองรถไฟฟ้าตลอดทั้งสายเราจะขอแบ่งย่อยออกเป็นอีก 3 ช่วงตามสภาพแวดล้อมและลักษณะของชุมชน ได้แก่

  • ช่วงต้นสาย >> สถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูน-สถานีบางโพ
  • ช่วงกลางสาย >> สถานีบางอ้อ-สถานีบางพลัด-สถานีสิรินธร-สถานีบางยี่ขัน
  • ช่วงปลายสาย>> สถานีบางขุนนนท์-สถานีแยกไฟฉาย-สถานีจรัญสนิทวงศ์ 13-สถานีท่าพระ

MAP สถานีบางซื่อ เตาปูน_3ตำแหน่งสถานีเป็นเพียงแค่ภาพประกอบการบรรยายไม่สามารถอ้างอิงได้อย่างเป็นทางการนะคะ

มาดูกันที่ ช่วงต้นสาย กันก่อนซึ่งจะประกอบด้วย สถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูน-สถานีบางโพ แต่เดิมทำเลในย่านนี้มีสภาพเป็นชุมชนเก่าแก่ ซึ่งในปัจจุบันเราก็จะยังคงเห็นแนวตึกแถวเก่าๆอยู่ ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้กำลังเริ่มจะมีการพัฒนาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เนื่องมาจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า และ โครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีบางซื่อในเชิงพาณิชย์ จุดที่สำคัญจะอยู่ที่สถานีบางซื่อซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นศูนย์รวมของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT) , รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (รังสิต – บางบอน) , รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (ศาลายา – หัวหมาก) และ แอร์พอร์ตลิงค์ หลังจากเริ่มมีรถไฟฟ้า ราคาที่ดินและราคาอสังหาริมทรัพย์ก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาพัฒนาโครงการ จนกลายเป็นทำเลยอดนิยม  เราไปดูรายละเอียดของแต่ละสถานีกันค่ะ  ?

1 สถานีบางซื่อ

สถานีบางซื่อ  เป็นสถานีต้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ สถานีนี้ในอนาคตจะเป็นสถานีร่วมกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล , รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม , รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน และ แอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของรถไฟฟ้า MRT สถานีบางซื่อ เวลาเช้าและเย็นจะมีพนักงานและชาวบ้านมาใช้รอรถบริเวณนี้จำนวนมาก เนื่องจากนอกจากรถไฟฟ้าแล้วยังเป็นแหล่งรวมของวินรถตู้ รถเมล์ และ รถมอเตอร์ไซค์ มาจอดรอรับผู้โดยสาร ด้านข้างสถานีติดกับสถานีรถไฟชุมทางบางซื่อเป็นชุมทางหลักของประเทศไทย และบริเวณพื้นที่โล่งข้างสถานี  ทาง ร.ฟ.ท.มีแผนพัฒนาพื้นที่แปลงใหญ่กว่า 300 ไร่ในเชิงพาณิชย์  ซึ่งจะมีทั้งอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัย และพื้นที่นันทนาการ ซึ่งการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้จะออกมาเป็นอย่างไรต้องคอยจับตาดูกันต่อไปค่ะ

1 สถานีบางซื่อ_2

สภาพแวดล้อมโดยรอบสถานีมีลักษณะเป็นชุมชนทั้ง 2 ฝั่งของถนนเป็นตึกแถวและอาคารพาณิชย์ ภายในซอยจึงจะเป็นทาวน์เฮ้าส์หรือบ้านเดี่ยว แทบจะไม่ค่อยเห็นโครงการแนวราบมาขึ้นบริเวณนี้เท่าไหร่นัก อาจจะเป็นเพราะต้นทุนค่าที่ดินที่ค่อนข้างสูงเกินกว่าความต้องการของตลาด ถนนสำคัญๆที่ใกล้ๆกับสถานีก็จะมี ถนนประชาชื่น เป็นถนนที่มีคลองประปาวิ่งขนานซึ่งถ้ารถติดก็สามารถใช้ถนนเลียบคลองประปาในการสัญจรได้ ถนนเส้นนี้มีคอนโดมิเนียมมาขึ้นเยอะพอสมควร ซึ่ง Demand ของทำเลนี้ในช่วงแรกๆจะมาจากพนักงานบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย โดยโครงการที่มาบุกเบิกคือ U delight ทั้ง 3 โครงการ ถนนอีกเส้นคือ ถนนประชาราษฎร์สาย 2  ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้พัฒนาโครงการคอนโดนิยมไม่แพ้กัน สถานที่สำคัญในย่านนี้ จะมีบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด , Tesco Lotus ประชาชื่น ซึ่งจะมีตลาด ร้านค้าและร้านอาหารอยู่รอบๆ ถือว่าเป็นห้างหลักของคนย่านนี้เลยก็ว่าได้

2 สถานีเตาปูน_2

สถานีเตาปูน ตั้งอยู่บริเวณแยกเตาปูน จุดตัดระหว่างถนนประชาราษฎร์สาย 2 และถนน กรุงเทพฯ – นนทบุรี เป็นสถานีอินเตอร์เชนจ์กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง พื้นที่บริเวณนี้มีสภาพแวดล้อมคล้ายๆกับบริเวณสถานีบางซื่อ คือเป็นชุมชนเก่า บ้านเรือนริมถนนเป็นตึกแถวและร้านค้า มีตลาดเตาปูนหรือตลาดมณีพิมานให้จับจ่ายซื้อของ จากพื้นที่ตรงนี้ถ้าเลยขึ้นไปทางด้านทิศเหนือก็จะเป็นเขตของจังหวัด นนทบุรีแล้ว ดังนั้นสถานีนี้จึงเป็นจุดรับประชากรที่มีจากจังหวัดนนทบุรีที่ต้องการเปลี่ยนมาขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สำหรับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย บริเวณนี้กลายเป็นทำเลยอดนิยมของโครงการคอนโดมิเนียมเกาะตามแนวรถไฟฟ้า มีโครงการ The Tree Interchange , The Stage , Rich Park , ชีวาทัย  Interchange เป็นต้น

3 สถานีบางโพ_3

สถานีบางโพ ตั้งอยู่บริเวณตั้งอยู่ที่บริเวณแยกบางโพ ซึ่งเป็นจุดตัดของประชาราษฎร์สาย 2 และประชาราษฎร์สาย 1  สภาพแวดล้อมในย่านนี้เป็นชุมชนเก่าที่รู้จักกันว่าเป็นย่านค้าไม้สารพัดชนิด มีถนนสายไม้ที่ชื่อว่า ซอยประชานฤมิตร (ถนนประชาราษฎร์ 1 ซอย 24) ที่หน้าซอยมีซุ้มไม้แกะสลัก ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมงานไม้ตั้งแต่งานตกแต่ง งานเฟอร์นิเจอร์ งานฝีมือ และอุปกรณ์เกี่ยวกับงานไม้ สำหรับความอุดมสมบูรณ์ถือว่าเป็นทำเลที่หาของกินได้ไม่ยาก นอกจากร้านค้าร้านอาหารที่เยอะแล้ว ยังมีตลาดบางโพให้ชาวบ้านจับจ่ายซื้อของเปิดเฉพาะช่วงเช้าๆ  และยังมีท่าเรือบางโพให้เป็นทางเลือกสำหรับการเดินทางอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ได้มีการปิดท่าเรือบางโพชั่วคราวเพื่ออำนวยความสะดวกในการก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยสามารถใช้บริการที่ท่าเรือเกียกกายแทนค่ะ  ภายหลังจากมีรถไฟฟ้าที่ดินฝั่งบางโพก็ขยับสูงจาก 3-4 ปีก่อน แต่เดิมที่ดินติดถนนราคาตารางวาละกว่า 1-2 แสนบาท ปัจจุบันขยับขึ้นตารางวาละตั้งแต่ 3 แสนบาทขึ้นไปแล้ว  และจากการสอบถามชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนี้พบว่ามีตึกเก่าประกาศขายกันค่อนข้างเยอะโดยเฉพาะบริเวณใกล้ๆกับสถานีซึ่งในอนาคตเราน่าจะเห็นโครงการใหม่ๆบริเวณนี้เกิดขึ้นอีกค่ะ

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MAP ช่วงกลาง_2ตำแหน่งสถานีเป็นเพียงแค่ภาพประกอบการบรรยายไม่สามารถอ้างอิงได้อย่างเป็นทางการนะคะ

ต่อไปคือ ช่วงกลาง ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ได้แก่ สถานีบางอ้อ-สถานีบางพลัด-สถานีสิรินธร-สถานีบางยี่ขัน จากสถานีบางโพ แนวรถไฟฟ้าจะวิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเลี้ยวเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งการมาของรถไฟฟ้าสายจะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้ชาวจรัญฯและชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากถนนเส้นนี้เป็นถนนที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการจราจรที่ติดขัด แต่เดิมชาวจรัญฯถ้าจะออกไปไหนมาไหนต้องเผื่อเวลาในการเดินทางพอสมควร โดยจรัญสนิทวงศ์ตอนปลายรถจะติดน้อยกว่าตอนต้นเนื่องจากมีแยกใหญ่ๆ เช่น แยกปิ่นเกล้า แยกสิรินธร ช่วยในการระบายรถติด  และ สะพานข้ามฟากไปฝั่งพระนคร เช่น สะพานปิ่นเกล้า สะพานกรุงธนฯ สะพานพระราม 7 ที่อยู่อาศัยบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะเป็นตึกแถว ทาวเฮ้าส์ และ อาคารพาณิชย์ โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบจะอยู่ในซอย โดยเฉพาะซอยใหญ่ๆอย่างซอย จรัญฯ13 และ จรัญฯ35 ซึ่งสามารถเชื่อมไปออกถนน ราชพฤกษ์ได้ บนถนนราชพฤกษ์จะเป็นทำเลของบ้านระดับหรู แต่เดิมแทบจะไม่เห็นคอนโดมิเนียมเลยเนื่องจากหาที่ดินพัฒนาค่อนข้างยากเพราะทำเลมีลักษณะเป็นชุมชนและแนวตึกแถว อีกทั้งคนไม่มีนิยมที่อยู่อาศัยที่ไม่เกาะตามแนวรถไฟฟ้า

หลังจากมีโครงการรถไฟฟ้าทำเลนี้ก็เริ่มเนื้อหอมขึ้นมาทันที เริ่มมีคอนโดมาขึ้นและมีนายทุนเข้ามาขอซื้อแนวตึกแถวเก่า ปั๊มน้ำมันเก่า ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นแปลงที่ดินว่างๆหลายแปลงล้อมสังกะสีซึ่งน่าจะมีการพัฒนาเป็นโครงการใหม่ๆในอนาคต บริเวณที่ผู้พัฒนาโครงการสนใจเป็นพิเศษคือบริเวณแยกใหญ่ๆ เช่น แยกสิรินธร แยกปิ่นเกล้า  ในขณะเดียวกันราคาที่ดินและราคาอสังหาริมทรัพย์ในทำเลนี้ก็ปรับตัวสูงขึ้นตาม โดยคอนโดมิเนียมเจ้าใหญ่ที่เพิ่งเปิดตัวบนถนนจรัญฯมีราคาสูงกว่า 100,000 บาทต่อตารางเมตรแล้ว

ท่าเรือเครดิตรูปจาก http://www.chaophrayaexpressboat.com/th/services/

นอกเหนือจากการใช้รถ บางช่วงของทำเลในย่านนี้จะติดแม่น้ำ และมีท่าเรือดังนั้นจึงสามารถเลือกใช้การเดินทางโดยเรือได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การคมนาคมเส้นทางหลัก แต่ถ้าจำเป็นจริงๆก็สามารถใช้หนีรถติดได้

4 สถานีบางอ้อ

ข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยสะพานพระราม 7 มาก็จะเจอ สถานีบางอ้อ ตั้งอยู่ระหว่างบนถนน จรัญสนิทวงศ์ ใกล้ๆกับโรงพยาบาล ยันฮี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงในเรื่องศัลยกรรมตกแต่ง ข้างโรงพยาบาลจะมีตลาดบางอ้อ ซึ่งมีขายอาหารและเสื้อผ้ามาขายอยู่พอสมควร  โดยรอบๆนั้นเป็นทำเลอยู่อาศัย วัด โรงเรียน และชุมชน อาคารสูงไม่มีให้เห็นมากเท่าไหร่  ตึกแถวบริเวณที่ใกล้กับโรงพยาบาลส่วนมากจะเปิดเป็นร้านขายยา ซอยทางฝั่งเลขคู่ของทำเลนี้จะติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งก็จะมีร้านอาหารริมน้ำบรรยากาศดีๆมาเปิดอยู่พอสมควร และถ้าใครสนใจที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดในชั้นสูงๆเราก็จะเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยค่ะ คนที่อยู่ทำเลนี้จะดีตรงที่ใกล้สะพานพระราม 7 ซึ่งเราสามารถข้ามไปทางฝั่งพระนครได้สะดวก แต่การจราจรช่วงเวลาเร่งด่วนจะติดพอสมควรเลย

ตลาดยันฮี

บรรยากาศภายในตลาดนัดบางอ้อ หรือ ตลาดข้างรพ.ยันฮี มีขายทั้งของกินของใช้

5 สถานีบางพลัด

สถานีบางพลัด  ตั้งอยู่บริเวณใกล้ๆกับสำนักงานเขตบางพลัด ระหว่างซอยจรัญสนิทวงศ์ 76 และซอยจรัญสนิทวงศ์ 81 สภาพแวดล้อมส่วนใหญ่จะคล้ายๆกับสถานียันฮี สถานีนี้จะใกล้กับ Tesco Lotus สาขาจรัญสนิทวงศ์ และ สำนักงานเขตบางพลัด บริเวณนี้ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีโครงการคอนโดมาขึ้นก็ตาม แต่ถ้าสังเกตจะเห็นแปลงที่ดินว่างๆกั้นรั้วสังกะสีอยู่เยอะพอสมควร คาดว่าน่าจะพัฒนาเป็นโครงการใหม่ๆในอนาคต

6 สถานีสิรินธร

สถานีสิรินธร ตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์  บริเวณแยกซังฮี้ เป็นจุดบรรจบของถนนราชวิถีและถนนสิรินธร  โดยสถานีนี้จะเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้การก่อสร้างตัวสถานี  ถนน ราชวิถีถ้าตรงไปจะข้ามสะพานกรุงธนฯ หรือ สะพานซังฮี้ใช้มุ่งหน้าไปยังอนุสาวรีย์ ซึ่งบริเวณริมน้ำจะมีท่าเรือสะพานกรุงธนฯ ซึ่งชาวบ้านสามารถใช้เป็นอีกทางเลือกในการเดินทางได้  สำหรับความอุดมสมบูรณ์ย่านนี้มีร้านอาหารอยู่ตามข้างทาง และ มีร้านอาหารริมน้ำบรรยากาศชิลๆ อีกทั้งยังมีตลาดเก่าแก่อย่างตลาดกรุงธนที่มีขายทั้งของสดของแห้ง ถ้าห้างสรรพสินค้าจะมีตั้งฮั่วเส็ง ห้างเก่าแก่ ตั้งอยู่บนถนน สิรินธร โดยถนนสิรินธรถ้าตรงไปสามารถไปออกถนน บรมราชชนนีได้ ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ถ้าเป็นฝั่งริมถนนก็จะคล้ายๆกับสถานีอื่นๆคือเป็นตึกแถว คอนโดที่อยู่ใกล้ๆสถานีนี้คือ Brix Condominium

สะพานกรุงธน

สะพานกรุงธนฯ หรือ สะพานซังฮี้ หนึ่งในสะพานที่ใช้ข้ามไปฝั่งพระนคร ซึ่งทำเลที่อยู่ใกล้สะพานจะถือว่าได้เปรียบในการเดินทางข้ามไปในตัวเมือง แต่ช่วงเช้าและเย็นการจราจรจะติดขัดมาก

7 สถานีบางยี่ขัน

สถานีบางยี่ขัน ตั้งอยู่บริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 42 ตรงข้ามกับโครงการ คอมมอนเวลธ์ ปิ่นเกล้า  อยู่ใกล้กับแยก บรมราชชนนี หรือ แยกปิ่นเกล้า ซึ่งสามารถใช้เดินทางข้ามสะพานปิ่นเกล้าไปทางถนนราชดำเนินซึ่งก็เป็นแหล่งที่มีมหาวิทยาลัย และ หน่วยงานราชการอยู่จำนวนมาก ซึ่งทั้งนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ก็นิยมมาหาที่พักที่บริเวณปิ่นเกล้า เนื่องจากบนถนนราชดำเนินเป็นเขตที่อยู่ใกล้วังจึงไม่สามารถสร้างอาคารสูงๆได้ อีกฝั่งของถนนจะเป็นทางมุ่งหน้าไปถนนบรมราชชนนี โดยเส้นนี้ถือจะมีศูนย์การค้า และ Hypermarket อยู่เยอะที่สุด ถือเป็นแหล่งช้อปปิ้งของชาวจรัญฯเลยทีเดียว ได้แก่ พาต้า , Tesco Lotus ปิ่นเกล้า , เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า และ The Sense ปิ่นเกล้า และถ้าเลยไปทาง ถนน ราชพฤกษ์ก็จะมี community mall และร้านอาหารอยู่หลายร้าน ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นตึกแถว และ อาคารพาณิชย์ ส่วนคอนโดที่เพิ่งเปิดตัวไปบริเวณใกล้ๆสถานีนี้คือ Life ปิ่นเกล้า

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MAP ช่วงปลายตำแหน่งสถานีเป็นเพียงแค่ภาพประกอบการบรรยายไม่สามารถอ้างอิงได้อย่างเป็นทางการนะคะ

พอข้ามแยกปิ่นเกล้ามาก็จะเป็นช่วงปลายสาย  ได้แก่ สถานีบางขุนนท์-สถานีแยกไฟฉาย-สถานีจรัญสนิทวงศ์ 13-สถานีท่าพระ ทำเลในช่วงนี้สภาพแวดล้อมก็ยังคงเป็นชุมชนเก่า ที่ทั้ง 2 ฝั่งถนนเป็นตึกแถวอยู่แต่จะมีความเป็นชุมชนมากกว่า ยังไม่ค่อยมีห้างสรรพสินค้า แต่จุดเด่นของทำเลนี้คือมีตลาดค่อนข้างเยอะ แทบจะทุกจุดของชุมชน มีตลาดริมแม่น้ำที่สำคัญคือตลาดวังหลังตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาล ศิริราช ซึ่งมีท่าเรือให้ชาวบ้านเลือกใช้สัญจรกัน บนถนนจรัญฯช่วงนี้การจราจรจะค่อนข้างติดขัดเพราะไม่ค่อยมีเส้นทางให้ระบายรถ จะมีซอยใหญ่ที่สามารถใช้เชื่อมออกไปยังถนนราชพฤกษ์ได้เช่นซอยจรัญฯ13 และ ซอยจรัญฯ35 แต่ภายในซอยไม่ใหญ่นักรถจึงไปติดกันในซอยอีก ปัจจุบันได้มีการตัดถนนเพิ่มเติมบริเวณแยกไฟฉาย เชื่อมไปยังถนนราชพฤกษ์  ถนนพุทธมณฑล สาย 1 ไปจนถึง ถนน กาญจนาภิเษกเพื่อช่วยระบายรถบนถนนจรัญฯ สำหรับการเดินทางถ้าไม่ใช้รถ นอกจากรถเมล์และรถแท็กซี่จะมีสามล้อเล็กหรือกระป้อวิ่งให้บริการแต่อาจจะต้องรอนานนิดนึง ถ้าจะไปขึ้นรถไฟฟ้าชาวจรัญฯในย่านนี้จะต้องต่อรถไปขึ้นที่สถานีตลาดพลูซึ่งระยะทางไกลพอสมควร การมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินพาดผ่านจะช่วยทำให้เดินทางได้สะดวกขึ้น สำหรับที่อยู่อาศัยทำเลเริ่มมีคอนโดมาขึ้นบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็น Low Rise และไม่ติดถนนใหญ่  ซึ่งล่าสุดก็มีคอนโด High Rise โครงการ บริเวณใกล้ๆแยกบางขุนนนท์

8 สถานีบางขุนนนท์

สถานีบางขุนนนท์ ตั้งอยู่บริเวณใกล้ๆแยกบางขุนนนท์ ซึ่งถนน บางขุนนนท์นอกจากจะมีตลาดบางขุนนนท์แล้ว ถนนนี้ยังขึ้นชื่อเรื่อง ก๋วยเตี๋ยวอร่อย ซึ่งมีอยู่หลายร้านให้เลือกไปชิมกัน จากแยกบางขุนนท์เดินถัดมาจะเจอกับถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน ซึ่งฝั่งตรงข้ามจะมีตลาดสหกรณ์ศาลาน้ำเย็นซึ่งเป็นตลาดสด ถัดจากตลาดศาลาน้ำเย็นไปอีกบริเวณใกล้ๆกับโรงพยาบาลศิริราชจะมีตลาดสถานีรถไฟ หรือ ตลาดศาลาน้ำร้อนซึ่งจะขายสินค้าส่งและผลไม้เป็นหลัก เดินถัดมาตามถนนจรัญฯจะเจอกับ แม็คโคร จรัญสนิทวงศ์ ซึ่งด้านในจะมี Community mall เล็กๆอยู่มีร้านอาหารเช่น MK , KFC พอพึ่งพาได้ ช่วงเย็นๆด้านข้างแม็คโครจะมี ตลาดนัดเสื้อผ้า ถ้าเดินเลยแม็คโครมาอีกหน่อยจะเจอตลาดบางขุนศรี ตลาดใหญ่ซึ่งภายในมีขายทั้งเสื้อผ้า ของสด ของแห้ง และ ร้านอาหาร หากใครสนใจอยู่ทำเลนี้จุดเด่นคือความอุดมสมบูรณ์ แต่จะต้องทำใจเรื่องการจราจรที่ค่อนข้างจะติดขัด ซึ่งข้างๆตลาดบางขุนศรีจะมีซอย จรัญฯ35 สามารถใช้ลัดไปออกถนน ราชพฤกษ์ได้ ภายในซอยนี้ก็จะมีโครงการแนวราบมาขึ้นค่อนข้างเยอะอยู่เหมือนกัน

ตลาดบางขุนศรี

ตลาดบางขุนศรี ตลาดใหญ่ในย่านนี้ค่ะ

8 สถานีบางขุนนนท์_3

ภาพมุมสูงของสถานีบางขุนนนท์จะเห็นว่าที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นแนวราบ เพิ่งจะมีโครงการ IDEO Mobi จรัญ-Interchange เป็นHigh Rise ตัวแรกในย่านนี้

9 สถานีแยกไฟฉาย

สถานีแยกไฟฉาย ตั้งอยู่บริเวณแยกไฟฉาย แยกนี้กำลังมีการขุดอุโมงค์ทางลอด และตัดถนนใหม่ ที่มีอย่างไม่เป็นทางการว่า ถนน พระเทพฯ  เป็นถนนที่เชื่อมถนนจรัญสนิทวงศ์ ไปยัง ถนนราชพฤกษ์ ถนนพุทธมณฑลสาย 1 และ ถนน กาญจนาภิเษก ซึ่งถ้าถนนเส้นนี้ตัดเสร็จจะสามารถช่วยระบายการจราจรที่ติดขัดของถนนจรัญฯได้บ้าง บริเวณถนนตัดใหม่จะมีโครงการประเภทบ้านระดับหรูมาเปิดตัวบ้างแล้วคาดว่าในอนาคต แนวทางการเจริญเติบโตของถนนเส้นนี้น่าจะคล้ายๆกับถนนราชพฤกษ์ ปัจจุบันถนนเส้นนี้ได้เปิดให้ใช้บริการบางส่วนแล้ว  บริเวณใกล้ๆกับแยกจะมีตลาดนครหลวง ตลาดเก่าแก่เปิดให้บริการตั้งแต่เช้ายันเย็น ส่วนฝั่งตรงข้ามแยกตัดใหม่จะเป็นถนน พรานนก มุ่งหน้าไปยังตลาดวังหลัง ซึ่งถือได้ว่าเป็นตลาดใหญ่ ที่มีของกินและสินค้าหลากหลาย ตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาลศิริราช และ ท่าเรือวังหลัง ซึ่งบริเวณวังหลังจะมีรถสามล้อเล็กหรือกระป้อวิ่งให้บริการอยู่หลายเส้นทาง ค่าโดยสารประมาณ 7 บาท  สำหรับที่อยู่อาศัยบริเวณรอบๆสถานีส่วนใหญ่เป็นตึกแถวและอาคารพาณิชย์ บ้านจัดสรรจะอยู่ภายในซอย

ศิริราช

โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นแหล่งงานที่สำคัญของย่านนี้ ใกล้ๆมีตลาดวังหลังซึ่งมีสินค้าให้เลือกช้อปหลากหลาย

รถสองแถว

บริเวณหน้าตลาดวังหลังจะมีสามล้อเล็ก หรือ รถกระป้อวิ่งให้บริการโดยเส้นทางที่วิ่งจะมีวิ่งไปกลับ วังหลัง และ พาณิชยการธนบุรี (จรัญฯ13) , ปิ่นเกล้า , วังดง และ บางขุนนท์ เป็นต้น

10 สถานีจรัญ13

สถานีจรัญสนิทวงศ์ 13 ตั้งอยู่บริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 ย่านนี้จะเป็นโซนที่แหล่งอยู่อาศัยและแหล่งค้าขายเก่าแก่ของฝั่งธนฯช่วงต้นซอยจรัญฯ13  มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูงมีทั้งร้านตึกแถวและร้านรถเข็นตามริมถนน   บรรยากาศค่อนข้างคึกคักโดยเฉพาะบริเวณต้นซอย รวมทั้งยังมีวิทยาลัยดังๆในย่านนี้อีก 2 แห่ง อย่างวิทยาลัยพาณิชยการธนบุรี และวิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรีซอยจรัญฯ13 นี้ก็เป็นซอยใหญ่อีกซอยหนึ่งที่สามารถลัดไปยังถนนราชพฤกษ์ได้ ภายในซอยก็เป็นแหล่งชุมชนมีโครงการแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อยู่ค่อนข้างเยอะ ซอยนี้จะมีรถสามล้อวิ่งรับส่งด้วยโดยวินรถจะจอดอยู่บริเวณหน้าปากซอย

จรัญ13

บรรยากาศช่วงต้นซอย จรัญสนิทวงศ์ 13 จะค่อนข้างคึกคัก ซอยนี้จะมีรถเข้าออกตลอดทั้งวันเนื่องจากเป็นซอยที่มีคนอยู่เยอะและเป็นซอยลัด มีทั้งรถกระป้อและสามล้อเล็กวิ่งให้บริการ

11 สถานีท่าพระ_2

สุดท้ายคือ สถานีท่าพระ ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง – ท่าพระ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกท่าพระ ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างถนนจรัญสนิทวงศ์ และ ถนนเพชรเกษม สภาพแวดล้อมจะมีลักษณะคล้ายๆกับสถานีอื่นๆ  ส่วนห้างที่ใกล้ๆก็จะมีเดอะมอลล์ท่าพระซึ่งเป็นห้างที่มีคนเดินค่อนข้างเยอะ จากสถานีนี้ถ้ามุ่งหน้าตามถนนจรัญฯไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตรกว่าๆ ซึ่งเป็นระยะที่ไกลพอสมควร ก็จะเจอรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีตลาดพลู  ซึ่งถ้าอยากเข้าไปในเมืองก็มาต่อที่สถานีนี้ได้ค่ะ

ความคืบหน้ารถไฟฟ้า

ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ รูปนี้เอามาจากเพจใน Facebook ของ โครงการรถไฟฟ้าจะเห็นว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทำไปได้เยอะพอสมควรแล้วประมาณ 69.82% ถ้ายังคงความเร็วในการก่อสร้างไว้แบบนี้คงได้ใช้กันในปี 2562

—————————————————————————————————————————————-

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “เปิดทำเลใหม่ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย” ซึ่งเป็นหนังสือที่มีบทความน่ารู้เกี่ยวกับทำเลรอบๆรถไฟฟ้าที่ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วมากกว่า 60% ของปัจจุบัน และสถานีใหม่ที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆนี้อย่างสายสีม่วง โดยทางทีมงานของ Thinkofliving เขียนและรวบรวมเอาไว้อย่างดี ในรูปแบบ 4 สี  โดยจะมีแจกในงาน ThinkOfLiving Condo Expo 2016 ที่สยามพารากอน ชั้น 1 ลาน Paragon Hall ในวันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ 2559 สามารถติดตามข่าวสารการลงทะเบียนรับหนังสือได้ในเร็วๆนี้