ถ้าพูดถึงที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย แต่เดิมเราจะคุ้นเคยกับบ้านพักคนชราที่หลายคนติดภาพว่าคนที่มาอยู่เกิดจากการไม่ได้รับการดูแลจากครอบครัวกันใช่มั้ยล่ะคะ ต่อมาเทรนด์การอยู่อาศัยเริ่มมีเปลี่ยนแปลงไป คนนิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้นหลายๆคนไม่อยากมีลูกไว้สืบสกุล คนกลุ่มนี้มักจะมีการวางแผนทางการเงินเพื่อใช้ชีวิตในบั้นปลายเป็นอย่างดี จึงเกิดคอนโดมิเนียมผู้สูงวัยขึ้น โดยจะมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันและบริการทางการแพทย์แต่ก็แลกมากับค่าใช้จ่ายที่สูงจนหยิบจับได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น สำหรับในบทความนี้เราจะพาไปรู้จักกับแนวคิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัยอีกรูปแบบหนึ่งที่ผสมผสานกับทุก Generation เข้าด้วยกัน โดยเป็นแนวคิดที่กำลังนิยมในประเทศญี่ปุ่นกันค่ะ
ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากข้อมูล World Population Ageing โดยองค์การสหประชาชาติ ที่จัดอันดับประเทศในเอเชีย พบว่าในปี 2573 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็น 19% เป็นอันดับที่ 3 รองจากประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ดังนั้นกลุ่มผู้สูงอายุจะกลายมาเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีบทบาทสำคัญในอนาคตและเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ โดยกลุ่มผู้สูงอายุในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนในยุคเบบี้ บูม (Baby Boom) หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 2489 – 2507 แต่ในอนาคตจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังจะก้าวย่างเข้าสู่การเป็น ‘ผู้สูงวัยรุ่นใหม่’ (The Young Old) นั่นก็คือเจนเนอเรชั่น เอ็กซ์ (Generation X) ที่วันนี้มีอายุมากสุดคือ 57 ปี (เกิดระหว่าง พ.ศ. 2504 – 2524) นั่นเองค่ะ
คนกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมที่ต่างไปจากกลุ่ม Baby Boom ทั้งพฤติกรรมที่คุ้นชินกับการใช้ชีวิตในเมือง การเดินทางที่สะดวกสบาย อยากอยู่ใกล้เพื่อน ลูกหลาน การไม่กลัวเทคโนโลยี ชอบเข้าสังคมและความพร้อมทางการเงินที่มีการวางแผนมาอย่างดี เรียกได้ว่าการใช้ชีวิตมีความคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่ในปัจจุบันนั่นเอง ดังนั้นการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงความชื่นชอบในอสังหาริมทรัพย์จะมีความแตกต่างจากผู้สูงอายุในยุค Baby Boom คือยังคงชื่นชอบของที่ใช้ในวัยหนุ่มสาวอยู่ อย่างถ้าเป็นการใช้ชีวิตจะเริ่มเห็นแนวโน้มของผู้สูงอายุบ้านเราที่เล่นไลน์กันคล่องแคล่ว หรือเราจะเห็นผู้สูงอายุมาอยู่คอนโดใจกลางเมืองกันมากขึ้น แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพของร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยอาจจะหยิบจับอะไรไม่สะดวก สายตาพร่ามัว เดินไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน จึงต้องมีการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นมีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือ รวมถึงการออกแบบพื้นที่ให้เหมาะกับกับการใช้งานเป็นต้น
สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในประเทศไทยนอกจากบ้านพักคนชราแล้ว ก็เริ่มมีคอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงอายุ ที่นอกจากจะมีห้องพักอาศัยแล้วยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆที่ครบครันทั้ง Facilities มีการออกแบบ Universal Design รองรับผู้สูงวัย และ บริการทางการแพทย์ แต่ก็แลกมากับค่าใช้จ่ายที่สูงหรือไม่ก็อยู่ในทำเลที่ค่อนข้างไกลจนลูกหลานมาเยี่ยมได้ยาก จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่า Lifestyle ของผู้สูงวัยรุ่นใหม่นั้น มักจะชอบการเข้าสังคมและการเดินทางที่สะดวกสบาย ดังนั้นคอนโดสำหรับผู้สูงอายุแบบที่มีอยู่อาจจะไม่ตอบโจทย์ Generation X ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยรุ่นใหม่ จากประเด็นดังกล่าวบริษัทเอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท มิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ (บริษัทในเครือ มิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป – MECG) ได้เล็งเห็นช่องว่างนี้จึงจับมือกันพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงวัยรุ่นใหม่ ให้สอดรับกับพฤติกรรมที่ต่างออกไปดังนั้นจึงจัดให้มีการศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับสื่อมวลชน เพื่อนำเอาความรู้กลับมาพัฒนาโครงการ โดยทางเราได้นำเอาเนื้อหาบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ค่ะ
โมเดลการพัฒนาสังคมผู้สูงอายุจากญี่ปุ่น
ก่อนอื่นต้องกล่าวถึงแนวคิดในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่นกันก่อน ประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของผู้สูงวัยต่อประชากรโดยรวมสูงที่สุดและสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆของโลก เนื่องจากแต่เดิมได้มีการผลิตประชากรจำนวนมากเพื่อใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเปรียบเสมือนฮีโร่ก็ว่าได้ ดังนั้นภาครัฐจึงส่งเสริมให้มีการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยเหล่านี้ โดยโมเดลที่น่าสนใจคือ “The Community-Based Integrated Care System Model” หรือแนวคิดที่บ้านของผู้สูงวัยควรจะมีสถานที่เหล่านี้อยู่ใกล้ๆ ได้แก่ Health Care และ Nursing Care เป็นต้น แนวคิดนี้นอกจากจะส่งเสริมให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่ล้อมรอบบ้านผู้สูงอายุแล้ว ยังส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอยู่ในที่ที่ตัวเองคุ้นเคยได้อย่างมีความสุข นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้มีการอยู่ร่วมกันในทุก Generation ทั้งลูกและหลาน เพื่อให้เกิดสังคมที่มีคุณภาพและไม่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดการหดหู่จากการอยู่ตามลำพังอีกด้วย
สำหรับสถานที่ที่เราจะพาไปเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงวัยในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีดังนี้ค่ะ
- Charm Premier Fukasawa
- Wellness Square in Fujisawa SST by Panasonic Corporation
- Mitsubishi Estate Home (MEH)
- NODA Corporation
Nursing Home “Charm Premier Fukasawa”
Charm Premier Fukasawa คือตัวอย่างของบ้านพักผู้สูงวัยในประเทศญี่ปุ่น บริหารจัดการโดย Charm Care Corporation ซึ่งเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของบริษัทมิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ จำกัด (MJR) บริษัทในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 มีห้องพักทั้งสิ้น 85 ห้อง ปัจจุบันมีผู้สูงวัยเข้าพักแล้วประมาณ 50% ส่วนใหญ่เป็นประชากรที่ช่วยญี่ปุ่นฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม พื้นที่ภายในได้รับการออกแบบให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้สูงวัย โดยมีการจัดสรรให้เป็นส่วนของห้องพักและพื้นที่ส่วนกลางเพื่อใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน
ภายในประกอบไปด้วยห้องออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย โดยอุปกรณ์ต่างๆจะถูกเลือกและออกแบบมาให้เหมาะกับผู้สูงวัย พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาเรื่องการออกกำลังกาย ผู้พักอาศัย 1 คนจะได้รับการบริหารร่างกายอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งจะประกอบด้วยกลุ่มละ 2-3 คน นอกจากนั้นคนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษขอเทรนเนอร์ครั้งละ 1 ชั่วโมงเพิ่มเติมได้โดยทางผู้บริหารโครงการได้เล่าให้ฟังว่ามีผู้อาศัยหลายท่าน ตอนแรกต้องนั่งรถเข็นแต่พอได้รับการบริหารก็สามารถเดินเองได้ค่ะ รวมถึงมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสันทนาการ โดยภายในอาคารให้บรรยากาศเหมือนแกลเลอรี่ศิลปะเพราะประกอบด้วยงานศิลป์ของนักศึกษามากกว่า 100 ชิ้นที่จัดแสดงไว้ให้ผู้สูงวัยได้เสพงานศิลป์เพื่อการผ่อนคลาย ส่วนด้านนอกจัดเป็นสวน Outdoor พร้อมระเบียงไม้ให้ออกไปนั่งชมสวนได้
อีกทั้งยังได้มีบริการและกิจกรรมอีกมากมายที่ตรงกับความต้องการเฉพาะบุคคลโดยมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้สูงวัยได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต การแสดงมายากล ยิมนาสติกเพื่อการฟื้นฟูร่างกาย การออกกำลังกาย กิจกรรมทางวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงวัยไม่เหงาและเกิดสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
เนื่องจากวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่ชอบแช่น้ำร้อน ใน Charm Premier Fukasawa แห่งนี้ก็มีอุปกรณ์ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุแช่น้ำร้อนได้ ทั้งผู้สูงอายุที่อยู่ในระดับดูแลตัวเองได้ ยังนั่งรถเข็นอยู่ก็เข็นรถเข้าไปในเครื่องแช่น้ำร้อนได้เลย และ ระดับที่ไม่สามารถเดินเหินได้ต้องนอนอยู่บนเตียง การแช่น้ำต้องยกตัวลงมาบนเตียงแล้วค่อยๆหย่อนลงในน้ำ โดยในการแช่น้ำนี้จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิดค่ะ
สำหรับห้องพักอาศัย ที่นี่ถูกออกแบบให้มีความสะดวกสบายเหมือนกับคอนโดมิเนียมห้องหนึ่งเลย โดยจะมีห้องแบบ Double Bed หรือเตียงคู่ ให้คู่สามีภรรยาผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันได้ พร้อมทั้งมีห้องน้ำที่ได้รับการออกแบบให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานเหมาะสมกับผู้สูงอายุอีกด้วย
เมนูอาหารมีการจัดเตรียมโดยเฉพาะ เลือกที่ถูกหลักโภชนาการ มีการแบ่งระดับอาหารตามระดับของผู้สูงอายุ หรือพูดง่ายๆก็คือตามระดับของการเคี้ยวข้าวได้หรือไม่ได้นั่นเองค่ะ ถ้าไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้แล้วก็จะเป็นอาหารปั่นละเอียด แต่รสชาติอาหารยังคงเดิม และนอกจากนั้นยังมีอาหารมื้อพิเศษในโอกาสต่างๆเพิ่มเติมอีก เป็นต้นค่ะ
Wellness Square in Fujisawa SST by Panasonic Corporation
เรามาดูกันต่อที่ Wellness Square อาคารพักอาศัยเพื่อผู้สูงวัยตั้งอยู่ภายในโครงการ Fujisawa Sustainable Smart Town หรือ SST ซึ่งถูกพัฒนาโดย Panasonic Corporation แต่เดิมเป็นโรงงาน Fuji เก่าที่ทุบทิ้งนำมาพัฒนาเป็นที่แห่งนี้ ภายใน Wellness Square ประกอบด้วย 2 อาคาร คือ North และ South พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า ปฎิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีย่อมส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ที่นี่จึงพัฒนาให้สามารถรองรับบุคคลได้ทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงวัย โดยมีแนวคิดส่งเสริมการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของคนทุกเพศทุกวัยเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย โดยพื้นที่หลักของ Wellness Square มุ่งเน้นไปที่การใช้สอยของผู้สูงวัย และยังประกอบไปด้วยบริการอื่นๆที่สามารถเชื่อมโยงคนทุกเพศทุกวัยเข้าไว้ด้วยกัน เช่น บ้านพักผู้สูงวัย คลินิกตรวจรักษาสุขภาพ ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย ห้องจัดกิจกรรม และ อื่นๆ
Fujisawa Sustainable Smart Town หรือ SST ถูกพัฒนามาจากแนวคิด “The Community-Based Integrated Care System Model” ที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่ถึงแม้จะมีอายุมากแล้วแต่ก็ยังอยู่ในที่ที่ตัวเองคุ้นเคยได้อย่างมีความสุข จากโมเดลการพัฒนา สถานที่ที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ควรจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ครบครัน มีโรงพยาบาล คลินิก Nursing Care ต่างๆ สำหรับภายในโครงการนี้จะประกอบด้วย Facilities ต่างๆทั้ง ร้านค้า ร้านอาหาร บ้านเดี่ยว 600 หลัง คอนโด 400 ห้อง รวมถึง Wellness Square อีก 2 อาคาร แบ่งออกเป็นดังนี้ค่ะ
- Fujisawa SST Square – สำนักงานที่ประกอบด้วยห้องประชุม , Shonan Cooking School เป็นต้น
- Shonan T-Site – อาคารที่มี Facilities ต่างๆครบครันทั้ง ห้องสมุด ร้านค้า ห้องประชุม
- Committee Center – ตั้งอยู่ตรงกลางโครงการ มีห้องประชุม ห้องเรียน ห้องเด็กเล่น EV Charging Station
- Next Delivery Square – บริการจัดส่งเอกสารและสิ่งของ
- Wellness Square – อาคารพักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
- Smart House – บ้านที่ออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมมีเทคโนโลยีต่างๆครบครัน
บ้านจัดสรรภายในโครงการ Fujisawa Sustainable Smart Town ที่เราเดินผ่านเฉพาะด้านหลัง ทำออกมาดูดีและจากขนาดเหมาะกับการอยู่อาศัยแบบ 3 Generation
บรรยากาศภายในโรงอาหารชั้น 2 ที่นี่จะมีบริการอาหารหลายประเภทและสามารถเลือกได้ว่าจะทานเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยหรือเป็นของเหลว ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเคี้ยวของแต่ละบุคคล นอกจากนั้นที่นี่ยังมีบริการส่งเบนโตะหรือข้าวกล่องให้คนในละแวกนี้ ซึ่งทางโครงการถือเป็นการสร้างปฎิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่รอบๆโครงการอีกด้วย
ห้องพักที่อยู่บนชั้น 2 ทุกห้องจะกว้าง 18 ตารางเมตร ในห้องจะไม่มีห้องครัวเพราะสามารถเดินมาที่โรงอาหารได้สะดวก และไม่มีห้องอาบน้ำต้องมาใช้ห้องน้ำรวมที่มีออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ มีการติดตั้งอุปกรณ์ราวจับต่างๆและมีระยะที่เหมาะสม รวมถึงมีห้องซักรีดผ้าให้ใช้ด้วย โดยค่าใช้จ่ายรวมอยู่ในค่าส่วนกลางแล้วค่ะ ส่วนห้องในชั้นอื่นๆจะเป็นอีกลักษณะหนึ่งค่ะ
Mitsubishi Estate Home (MEH)
Mitsubishi Estate Home ดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านและรีโนเวทที่อยู่อาศัยโดยมีมาตรฐานการออกแบบที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงวัย การออกแบบพื้นที่ใช้สอยสำหรับผู้สูงวัยมีความซับซ้อนมากกว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป เช่นการออกแบบให้มีสิ่งกีดขวางบนพื้นให้น้อยที่สุด การติดตั้งราวจับเพื่อความปลอดภัยในการเคลื่อนไหวของผู้สูงวัย การออกแบบประตูทางเข้าให้มีความกว้างมากกว่าปกติหรือการจัดวางระบบไฟส่องสว่างทั้งเวลากลางวันและกลางคืน รวมถึงการบริหารจัดการอุณหภูมิภายในบ้านให้เหมาะสมตลอดทั้งวัน เดี๋ยวเราจะพาเข้าไปชมบ้านหลังนี้กันค่ะ
บ้านตัวอย่างหลังนี้ถูกออกแบบมาให้รองรับการอยู่อาศัยแบบ 3 Generation เข้ามาจะเจอกับห้องรับแขกขนาดใหญ่ ให้สมาชิกในบ้านได้มาใช้เวลาทำกิจกรรมอยู่ร่วมกัน บริเวณนี้มีความโปร่งโล่งเนื่องจากฝ้าเพดานที่สูงและมีช่องแสงขนาดใหญ่ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีฤดูหลากหลาย ร้อนก็ร้อนมาก หนาวก็หนาวมาก บ้านหลังนี้จึงออกแบบให้มีระบบควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ ซึ่งอุณหภูมิที่เท่ากันตลอดจะดีต่อผู้สูงอายุช่วยให้ไม่ป่วยไข้ได้ง่ายค่ะ
ชั้นล่างพื้นที่จะถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกัน เป็นพื้นที่ที่ดีต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเป็นการดีต่อจิตใจของผู้สูงอายุด้วย อย่างบริเวณนี้เป็นพื้นที่รับประทานอาหารซึ่งต่อเนื่องกับส่วนครัว
ครัวของบ้านหลังนี้เป็นครัวเปิดดังนั้นจึงเหมาะกับการเตรียมอาหารง่ายๆ มีการออกแบบเป็นสัดส่วน พื้นที่เก็บของมีเพียงพอเป็นระเบียบเรียบร้อยทำให้ไม่ต้องวางของเกะกะ ไม่ขวางทางเดินของผู้สูงอายุ อุปกรณ์ต่างๆก็จัดมาให้ครบครัน มีการออกแบบหน้าบานตู้ให้เปิดซ่อนไปในตู้ได้ เวลาผู้สูงอายุนั่งรถเข็นมาสามารถเปิดและใช้งานได้โดยไม่โดนกีดขวาง
พื้นที่ครัวมีทางเดินเชื่อมต่อไปยังห้องน้ำด้านหลังได้เลย จะเห็นว่าถึงแม้ว่าจะเป็นส่วน Service ของบ้านแต่ก็มีช่องแสงขนาดใหญ่ ระบายอากาศได้ดี มีแสงสว่างที่เพียงพอซึ่งสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุจากการมองไม่เห็นได้ ทางฝั่งขวาเป็นพื้นที่สำหรับเก็บของทั้งหมดค่ะ อีกทั้งยังมีช่องเก็บของใต้ดินอีก(อยู่ตรงพื้นสามารถเปิดออกมาได้)
เข้ามาภายในห้องน้ำจะเห็นว่าไม่มีธรณีกั้นให้เดินสะดุดเลย ดังนั้นผู้สูงอายุสามารถเข็นรถเข็นเข้ามาได้สบายๆค่ะ นอกจากนั้นเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้ายังมีออกแบบให้มีความสูงต่ำกว่าเคาน์เตอร์ทั่วๆไป ซึ่งเป็นระยะที่ผู้สูงอายุนั่งรถเข็นมาใช้งานได้สะดวก บริเวณด้านข้างโถสุขภัณฑ์และอื่นๆของห้องน้ำก็มีการติดตั้งราวจับมาให้เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้สูงอายุค่ะ
พื้นที่อาบน้ำกั้นด้วยประตูบานเลื่อนทึบ ดังนั้นเวลาอาบจึงค่อนข้างเป็นส่วนตัว ในบ้านหลังนี้ถ้าสังเกตจะพบว่าพื้นแถบไม่มีการลดระดับหรือก่อขึ้นมาเพราะต้องการให้ผู้สูงอายุเดินเหินได้สะดวกที่สุดค่ะ
อ่างอาบน้ำแช่ตัวเป็นที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่นดังนั้นเราไปที่บ้านไหนก็มักจะเจอเกือบทุกหลังค่ะ และยังมีพื้นที่ยืนอาบเป็นสัดส่วน มีที่นั่งให้นั่งอาบด้วย สำหรับพื้นเค้าเลือกวัสดุที่กันลื่น มีผิวสัมผัสที่ขรุขระหน่อยเพื่อลดอุบัติเหตุในห้องน้ำซึ่งเป็นสาเหตุในการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุอันดับต้นๆเลยทีเดียว
สำหรับประตูห้องก็ออกแบบมาให้สามารถเลื่อนเก็บด้านข้างได้ ซึ่งดีต่อการใช้งานของผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นจะได้เปิดได้สะดวก โดยดีไซน์และวัสดุนั้นก็ทำออกมาดูดีเหมือนบานประตูบ้านปกติเลย
พื้นส่วนใหญ่ในบ้านหลังนี้จะออกแบบให้ไม่มีการลดระดับเพื่อให้ Wheel Chair ผ่านได้ง่าย
ห้องผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นห้องผู้สูงอายุอย่างเดียว ที่บรรยากาศหดหู่ ห้องนี้จึงออกแบบมาให้เป็นห้องผู้สูงอายุและห้องทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เพื่อให้ผู้สูงอายุไม่เหงา ลูกหลานสามารถมาหาได้ โดยจะมีการกั้นพื้นที่ใช้สอยด้วยประตูบานเฟี้ยม
สำหรับประตูบานเฟี้ยมที่กั้นทั้ง 2 ห้อง สังเกตว่าจะไม่มีการยกระดับพื้นใดๆเลย เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้งานได้สะดวก ดีเทลต่างๆประมาณนี้ค่ะ
บรรยากาศภายในห้องนอนผู้สูงอายุ จะเห็นว่ามีช่องแสงสำหรับชมวิวหรือเปิดระบายอากาศด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ อีกทั้งยังมีพื้นที่รอบเตียงพอสมควรสามารถเข็นรถเข็นเข้าไปเองได้
ขึ้นไปดูที่ชั้น 2 กัน ตัวบันไดเค้าจะออกแบบให้ลูกนอนมีขนาดที่กว้างกว่าบ้านทั่วๆไปจึงเดินสบาย อีกทั้งยังมีไฟส่องสว่างให้ตลอดทางอีกด้วย ซึ่งการขึ้นไปชั้น 2 จะเหมาะกับผู้สูงอายุที่ยังพอเดินไหวเท่านั้น ชั้น2 จึงเป็นพื้นที่สำหรับอีก 2 Generation ที่เหลือมากกว่า
สำหรับชั้นบนนี้อาจจะไม่เหมาะกับผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็นหรือเดินไม่สะดวกเท่าไหร่นัก แต่ก็เป็นพื้นที่สำหรับ Generationอื่นในบ้านเช่นลูกหลาน โดยการออกแบบก็ยังเน้นให้มีความโปร่งโล่ง ประกอบด้วย 2 ห้องนอน พื้นที่ซักรีด ห้องน้ำ และ ห้องสำหรับอ่านหนังสือ
มาดูพื้นที่ซักรีดและตากผ้ากัน เนื่องจากบ้านหลังนี้มีระบบควบคุมอุณหภูมิจึงสามารถตากผ้าในบ้านได้ ผนังบริเวณนี้เลือกใช้เป็นอิฐบล็อกแก้วที่ให้แสงสว่างแต่ยังได้ความเป็นส่วนตัว บริเวณ Built-in ทางฝั่งขวาจะเป็นที่เป็นของและซ่อนฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆเอาไว้ค่ะ เช่นลิ้นชักที่ดึงออกมาเป็นที่รองรีดผ้าได้
จากพื้นที่ซักรีดเดินถัดเข้ามาจะเป็น Walk-in Closet ของห้องนอนใหญ่ ออกแบบมาได้เป็นสัดส่วนดี เข้าห้องมาเราจะไม่เจอกับเตียงนอนก่อน ในแง่ของการใช้งานจึงค่อนข้างเป็นส่วนตัวค่ะ
ถัดเข้ามาด้านในส่วน Walk-in Closet จึงเป็นพื้นที่นอนพักผ่อน ห้องนี้มีช่องแสงแต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่แสงแยงเข้าตา แต่สามารถให้ความสว่างในตอนกลางวันได้พอเพียง ปลายเตียงเป็นผนังทึบทำให้มีความเป็นส่วนตัวเวลานอนพักผ่อนค่ะ
ห้องน้ำชั้นบนมีการแยกส่วนแห้งส่วนเปียกเป็นสัดส่วนดี แต่ถ้าพูดถึงการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุ ห้องน้ำข้างล่างจะเหมาะกับการใช้งานมากกว่า อย่างห้องนี้จะไม่มีติดตั้งราวจับของผู้สูงอายุจึงเหมาะกับสมาชิกรุ่นอื่นๆในบ้านมากกว่า
กระจกเงาเปิดออกมาเก็บของด้านหลังได้ค่ะ เป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับบริเวณนี้ ไม่ต้องวางของรกบนเคาน์เตอร์
มีอ่างล้างหน้ามาให้ 2 อ่าง รองรับการใช้งาน 2 ฟังก์ชั้น ด้านล่างของเคาน์เตอร์ลิ้นชักสามารถดึงออกมาเป็นที่เก็บของได้เยอะพอสมควร
พื้นที่อาบน้ำมีทั้งส่วนยืนอาบและอ่างอาบน้ำเช่นเดียวกับชั้นล่าง มีช่องแสงขนาดใหญ่ที่ช่วยให้ห้องดูโปร่งโล่ง ไม่อับชื้น
ถัดมาเป็นห้องสำหรับอ่านหนังสือ ทำงาน ทำการบ้าน ถือเป็นอีกห้องที่สามารถใช้ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวได้ค่ะ
เราดูห้องนอนผู้สูงอายุและห้องพ่อแม่มาแล้ว สุดท้ายคือห้องเด็กค่ะ ซึ่งห้องนี้ด้านล่างออกแบบเป็นห้องทำงานเอาไว้นั่งคุยกันกับพ่อแม่หรือสอนการบ้าน ด้านบนเป็นห้องนอนค่ะ แต่ถ้ามีสมาชิกเป็นเด็กหลายคนพื้นที่ชั้นล่างก็สามารถจัดเป็นห้องนอนได้
NODA Corporation
สุดท้ายคือ NODA Corporation บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุปูพื้นชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น เราจะพาไปชมวัสดุรับแรงกระแทก และการจำลองประสบการณ์สูงวัยให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสด้วยการสวมชุดที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ สัมผัสประสบการณ์เสมือนเป็นผู้สูงวัย ที่อยู่อาศัยภายในบ้านที่ออกแบบภายใต้แนวคิด ปลอดสิ่งกีดขวาง ( Barrier Free) คือการออกแบบการเดินทางให้ราบเรียบไร้ขั้นบันไดหรือทางต่างระดับ หรือมีบันไดน้อยที่สุด เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยดำเนินชีวิตประจำวันได้สะดวก ช่วยเหลือตนเองได้ ลดอุบัติเหตุและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในการทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ พื้นบ้านที่สามารถกันการลื่นหกล้ม และช่วยลดแรงกระแทกหากเกิดอุบัติเหตุ ประตูบ้านภายใต้แนวคิด Universal Design ที่สามารถผลักออกได้ไม่ว่าจะอยู่ภายในหรือภายนอกห้อง และถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่จำกัดประตูนี้ก็ยังสามารถเปิดได้กว้างและยังสามารถติดตั้งราวจับได้ด้วย ซึ่งช่วยดำนวยควาสะดวกให้กับผู้สูงวัยที่ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินหรือรถเข็น
การบริษัทได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการอยู่อาศัยของผู้สูงวัยขึ้น อันเริ่มต้นจากการทำวิจัยและพัฒนาโดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ และนำความชำนาญของตนมาพัฒนา วัสดุปูพื้นที่ช่วยลดแรงกระแทก (Shock Absorbing Floor) ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงวัย ด้วยคุณสมบัติพิเศษในการรองรับแรงกระแทกและให้ความอบอุ่นเมื่อสัมผัส
NODA Corporation นอกจากจะขายวัสดุแล้ว ยังมีการออกแบบวัสดุต่างๆเพื่อเอื้อกับผู้สูงวัยเช่นวัสดุ พื้น ประตู หรือ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆเป็นต้น
สิ่งที่ทาง NODA พาเราไปชมจะเริ่มจาก ตำแหน่งของสวิตช์ไฟหากอยู่สูงเกินไปผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็นอาจจะเอื้อมไม่ถึงได้ ดังนั้นการออกแบบจึงต้องคำนึงในจุดนี้ด้วยค่ะ
ระยะที่เข็นรถเข็นของผู้สูงอายุผ่านได้สบายๆคือประมาณ 1.00 เมตร ค่ะซึ่งประตูปกติทั่วไปจะอยู่ที่ 0.70-0.90 เมตร ถ้าบ้านใครมีผู้สูงอายุก็สามารถเอาตรงนี้ไปรับใช้ได้
ระยะต่างๆในห้องน้ำ ถ้าจะนั่งรถเข็นเข้ามาต้องมีระยะประมาณ 1.70 x 1.70 เมตรจึงจะเคลื่อนที่ได้สะดวก
ระยะต่างๆในการติดตั้งราวจับค่ะ เผื่อใครยังไม่รู้ว่าควรติดแบบไหนถึงจะเหมาะสมต่อการใช้งาน
การออกแบบประตูให้มีช่องเปิดที่กว้างเพื่อรองรับรถเข็นของผู้สูงอายุได้ อย่างชุดนี้เป็นแบบบานเลื่อนออกไปด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง และมีช่องเปิดตรงกลางเกิน 1.00 เมตร
ชุดนี้เป็นเลื่อน 1 บานและอีกบานนึงเป็นบานเปิด พอรวมๆแล้วก็สามารถเปิดให้มีช่องตรงกลางที่ใหญ่พอสมควรค่ะ
ประตูบานเลื่อนที่มี censor พอผู้สูงอายุมาใกล้ๆก็จะเปิดเองโดยอัตโนมัติ
สาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุที่เกิดในบ้านก็คือบันไดนี่แหละค่ะ การออกแบบบันไดให้เหมาะกับผู้สูงอายุ (ทางฝั่งขวา) ก็คือทำให้ลูกนอนมีขนาดกว้างและลูกตั้งมีขนาดสูงน้อยกว่าบันไดแบบปกติ พอขึ้นมาก็ให้เจอชานพักแบบสี่เหลี่ยมเลย มีไฟส่องสว่างอยู่ตลอดทาง สามารถมองเห็นในตอนกลางคืนได้ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุเดินและช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือช่วยเหมือนกับบันไดทางฝั่งซ้ายที่ค่อนข้างชันและมีขั้นบันไดแบบ 3 เหลี่ยมที่เดินยาก
สำหรับพื้นที่ต่างระดับเราควรออกแบบให้พื้นมีสีที่ต่างกันเพื่อช่วยเรื่องการมองเห็นของผู้สูงอายุ และทำเป็น Step หรือ หาที่นั่งในระยะที่ผู้สูงวัยจะมานั่งใส่รองเท้าได้สะดวก
ที่นั่งพักใส่รองเท้าหน้าบ้าน ซึ่งผู้สูงวัยสามารถมานั่งใส่รองเท้าได้ทำให้ไม่ต้องก้มหรือนั่งลงพื้น ถ้าไม่ใช้ก็สามารถพับเก็บได้ ช่วยประหยัดพื้นที่ได้ด้วยค่ะ
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นอีกภาคธุรกิจที่ลุกขึ้นมาตั้งรับกับแนวโน้มที่เปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยทาง บริษัท มิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ จำกัด (MJR) ในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท พันธมิตรของ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ได้ต่อยอดองค์ความรู้เฉพาะทางของสังคมสูงวัยในญี่ปุ่นมาปรับใช้ในไทย โดยได้นำแนวคิด ‘INTERGENERATIONAL LIVING’ หรือผสานความต่างของทุกเจนเนอเรชั่นมาใช้ในการออกแบบคอนโดมิเนียม โครงการนำร่องในทำเลสาทร-ตากสิน ใกล้รถไฟฟ้าสถานีวุฒากาศ ในราคาที่สามารถหยิบจับได้ง่ายขึ้นจากแต่เดิมที่คอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงอายุมักจะมีราคาสูง โดยแนวคิดนี้ประกอบด้วย 3 แกนหลักคือ
- Rethink Space การปรับวิธีคิดในการออกแบบพื้นที่ใหม่ทั้งหมด โดยนำหลัก Universal Design เข้ามาผสมผสานในการออกแบบพื้นที่เพื่อคนทุก Generation โดยออกแบบให้ที่อยู่อาศัยมีฟังก์ชั่นการใช้งานสอดคล้องกับกิจวัตรประจำวัน ที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยทุกเจนเนอเรชั่น โดยเฉพาะผู้สูงวัยรุ่นใหม่ดำเนินชีวิตประจำวันได้สะดวก ช่วยเหลือตนเองได้ ลดอุบัติเหตุและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในการทำกิจกรรมต่างๆ
- Redefine Living การสร้างนิยามใหม่ของการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงวัยรุ่นใหม่ ทั้งในเรื่องของทำเลที่ตั้งที่อยู่ในเมือง (Location in Location) จากที่แต่เดิมบ้านพักคนชรามักจะตั้งอยู่ห่างไกลหรืออยู่ในต่างจังหวัดสำหรับ ‘ผู้สูงวัยรุ่นใหม่’ นี้จะเป็นกลุ่มที่พฤติกรรมยังคงเหมือนกับตอนหนุ่มสาวคือต้องการที่จะออกไปข้างนอก เดินห้าง มีสังคมพบปะเพื่อนฝูง ซึ่งทำให้ลูกหลานเดินทางมาหาผู้สูงวัยได้สะดวกอีกด้วย อีกทั้งยังมีการเพิ่มสัดส่วนของพื้นที่ส่วนกลางที่มากขึ้นกว่าคอนโดมิเนียมทั่วไป รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในชีวิต
- Remodeling Community การพัฒนาโมเดลที่ส่งเสริมความสุขในการอยู่อาศัย ทั้งด้านจิตใจ และคุณค่าต่อชุมชน
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเยอะเพียงใด มีการออกแบบที่รองรับการใช้ชีวิตได้มากแค่ไหน การดูแลเอาใส่ใจจากลูกหลานก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลการพัฒนาของประเทศญี่ปุ่นที่ส่งเสริมการอยู่ด้วยกันแบบ 3 Generation อย่างที่เราได้ไปศึกษาดูงานมา ในอนาคตเราอาจจะเห็นคอนโดสำหรับผู้สูงวัยมากขึ้น และอาจจะเห็นรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งการออกแบบห้องพักและพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไปค่ะ ^^