สวัสดีค่ะทุกคน เดี๋ยวนี้คอนโดมิเนียมใจกลางเมืองนับวันยิ่งมีราคาสูงขึ้นนะคะ ยิ่งบนทำเลที่ใกล้กับรถไฟฟ้าด้วยแล้ว ต่ำกว่า 1 ล้านบาทไม่ต้องพูดถึงเลย ต่ำกว่า 2 ล้านบาทยังต้องบอกว่าถูก ยิ่งคอนโดมิเนียมใกล้กับสถานีรถไฟฟ้ากลางเมืองอย่างราชเทวี, พร้อมพงษ์, ทองหล่อ ราคาเริ่มต้นก็เกิน 5 ล้านบาทไปแล้ว ในขณะที่ราคาคอนโดสูงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่แปรผกผันกับราคาคือขนาดห้องนั่นเองค่ะ ราคาที่สูงก็มาจากที่ดินราคาเพิ่ม ค่ากินอยู่สูงขึ้น แต่เงินเดือนและเงินเก็บเราก็ไม่ได้สูงขึ้นตามทัน ดังนั้นขนาดห้องที่เล็กลงจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทาง Developer ต้องคิด และออกแบบพื้นที่เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคน และตอบรับกับสภาพทางการเงินในกระเป๋าของลูกค้าด้วยค่ะ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจกันเลยถ้าทุกวันนี้คอนโดขนาดต่ำกว่า 25 ตร.ม.กลายเป็นขนาดห้องที่เราเห็นขายกันเป็นเรื่องปกติแล้ว

ขนาดไม่ถึง 25 ตร.ม. เล็กไปไหม?

ก่อนที่จะไปดูว่าเล็กไปไหมเราลองมาคิดถึงดูกันสักนิดดีกว่าค่ะ ว่าจริงๆแล้วที่อยู่อาศัยที่เราต้องการนั้น ควร ที่จะมีฟังก์ชันอะไรบ้างกันก่อน

  1. นอน + พักผ่อน (Living Area)
  2. กิน + ทำอาหาร (Kitchen Area)
  3. ห้องน้ำ (WC)

3 อย่างนี้เรามองว่าเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการอยู่อาศัยเลยนะคะ และในความเป็นจริงแล้ว แต่ละคนอาจจะต้องการพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย พื้นที่เพื่อทำงาน พื้นที่ซักล้างหรือ พื้นที่เพื่อใช้งานอื่นๆมากกว่านี้อีก บางคนมีลูก ก็ต้องการพื้นที่สำหรับวางเตียงเด็กเพิ่มขึ้น ดังนั้นส่วนตัวเรามองว่าห้องขนาดไม่เกิน 25 ตร.ม. จึงเหมาะกับการใช้ชีวิตอยู่ไม่เกิน 2 คนเท่านั้นค่ะ

ส่วนคำถามที่ว่าอยู่ได้ไหม? นอกจากจำนวนสมาชิกในห้องแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคนด้วยนะคะ แน่นอนว่าบางฟังก์ชันอาจจะมีขนาดเล็กมากหรือไม่มีเลยในห้องเล็กขนาดนี้ เช่น โต๊ะกินข้าว หรือ โต๊ะเครื่องแป้ง ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ เราลองมาดูกันก่อนว่าห้องเล็กๆที่วางขายเนี่ย? ส่วนใหญ่แล้วออกแบบแปลนห้องไว้อย่างไรบ้าง?

แบบห้องขนาดไม่เกิน 25 ตร.ม.ในปัจจุบัน

ในผังห้องขนาดเล็กที่เราลองค้นหามา ส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 แบบค่ะคือ

ห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า(ห้องตอนลึก) และ ห้องรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส(ห้องหน้ากว้าง) ห้องทั้ง 2 แบบนี้จะมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันอยู่ค่ะ

“โดยห้องตอนลึกจะมีข้อดีเรื่องพื้นที่ส่วนพักผ่อนจะได้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า เพราะอยู่ลึกเข้าไปด้านในห้อง เมื่อเข้าห้องมา หรือมองจากภายนอกก็จะไม่เห็นส่วนที่เป็นเตียงนอนโดยตรง ส่วนห้องหน้ากว้างที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยมจัตุรัส จะได้ข้อดีที่ได้ขนาดของหน้าต่างหรือช่องแสงมากขึ้น เลยช่วยเรื่องการระบายอากาศ และทำให้ฟังก์ชันส่วนมากได้รับแสงจากธรรมชาติค่ะ “


ห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า(ห้องตอนลึก)

เรามาลองดูที่แบบแรกกันเลยดีกว่าค่ะ ห้องตอนลึกแบบนี้ มีทั้งทำเป็น Studio Type และ 1 Bedroom Type ค่ะ ข้อแตกต่างของ Studio กับ 1 Bedroom คือ ประตูกั้น อันที่จริงแล้ว Bedroom แปลว่า ห้องนอนใช่ไหมค่ะ ดังนั้นความหมายของห้อง 1 Bedroom จึงหมายถึงห้องพักอาศัย ที่มีห้องนอน 1 ห้อง แต่ด้วยรูปแบบห้องตอนลึกนั้น ถ้าเกิดเรากั้นห้องด้วยผนังทึบ จะทำให้พื้นที่ส่วนทางเข้าหรือส่วนที่เป็นครัวจะมืด และด้วยขนาดพื้นที่ห้องที่เล็กอยู่แล้ว จะดูอึดอัดมากขึ้น ดังนั้นในห้อง 1 Bedroom ขนาดเล็กส่วนใหญ่มักจะใช้ประตูบานเลื่อนกระจกในการแบ่งพื้นที่จากห้อง Studio เป็นห้อง 1 Bedroom นั่นเองค่ะ

” ห้อง Studio จะมีข้อดีที่ความโล่งกว้างของห้อง ทำให้พื้นที่ห้องดูมีขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับขนาดห้อง 1 Bedroom ในขนาดที่เท่ากัน แต่ว่าห้องแบบ 1 Bedroom จะเป็นห้องที่แยกพื้นที่ออกเป็นสัดส่วน ทำให้ได้ความเป็นส่วนตัวในการใช้งานแต่ละพื้นที่มากขึ้น “

Zoning เหมือน แต่ Details แตกต่าง

สำหรับผังห้องที่เป็นแนวลึกส่วนใหญ่มักจะมีส่วนครัวและห้องน้ำอยู่ตำแหน่งใกล้ประตูทางเข้าห้องเหมือนกัน แต่สิ่งที่มักจะแตกต่างกันคือรายละเอียดฟังก์ชันส่วน Living area ที่เราใช้กิน พักผ่อน และใช้นอนนั่นเองค่ะ ซึ่งรูปแบบการขายก็จะมีทั้งแบบ Fully Furnished หรือว่าขายห้องพร้อมเฟอร์นิเจอร์เลย แบบนี้ก็จะสบายสำหรับผู้ซื้อหน่อย เพราะว่าไม่ต้องไปเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ให้วุ่นวาย แต่ถ้าเป็นห้องที่ขายแบบ Fully Fitted สิ่งที่ให้มาพร้อมกับตัวห้องมักจะมีแค่ห้องน้ำ และ Built-in ส่วนครัวให้เท่านั้นค่ะ ดังนั้น เป็นหน้าที่เราเองที่จะต้องสรรหาเฟอร์นิเจอร์มาจัดวางให้ตอบรับกับความต้องการของเรานะคะ ดังนั้น เราลองมาดูแปลนการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เป็นไอเดีย เทียบข้อดีข้อเสียของตัวอย่างแต่ละแบบกันดู เผื่อผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้กันได้ค่ะ

แบบ A และ B เป็นการจัดผังที่เน้นพื้นที่เตียงนอน โดยมีระยะทางเดินรอบเตียงเว้นไว้ แต่จะขาดฟังก์ชันอย่างเช่นมุมโซฟาสำหรับดูทีวี หรือว่าโต๊ะกินข้าวไป

แบบ A : สำหรับผังห้องแบบนี้เรามองว่าเหมือนกับห้องพักตามโรงแรมอยู่เหมือนกัน เพียงแต่โรงแรมส่วนใหญ่มักจะไม่มีครัวมาให้ใช่ไหมคะ? ซึ่งการจัดวางห้องแบบนี้จะสามารถวางเตียงที่มีขนาดใหญ่ได้ แต่จะต้องใช้ชั้นวางทีวีเป็นโต๊ะอเนกประสงค์ ใช้กินข้าว ทำงานในพื้นที่เดียวกันเลย และผังแบบนี้จะไม่มีพื้นที่สำหรับวางโซฟา ดังนั้นจึงเป็นผังที่เหมาะกับคนที่เอาห้องไว้นอนเป็นหลักเลยค่ะ คนที่ชอบกินข้าวและ Hangout นอกบ้าน พอกลับถึงบ้านขอแค่เตียงที่ใหญ่นุ่มเอาไว้นอนก็เพียงพอแล้ว

แบบ B : แบบ B จะเป็นห้องที่มีประตูกั้นพื้นที่ครัวกับพื้นที่ Living Area ไว้ให้ ซึ่งการกั้นครัวเอาไว้ก็จะเหมาะกับคนที่ชอบทำอาหารกินเอง เพราะว่าพวกกลิ่นและควันที่เกิดจากการทำอาหารจะไม่ไหลวนเข้ามาส่วนที่นอนและที่นั่งเล่นค่ะ แต่ด้วยตำแหน่งครัวที่อยู่ติดกับประตูทางเข้า และห่างจากหน้าต่างซักหน่อย ถ้าโครงการไหนให้เครื่องดูดควันแบบต่อท่อออกนอกห้อง หรือว่าติดพัดลมดูดอากาศเอาไว้ให้ก็ถือว่าเป็นข้อดีนะคะ หรือใครจะเปิดประตูห้องระบายควัน ก็ระวังอย่าให้กลิ่นกระเพราลอยเต็มทางเดินรบกวนเพื่อนบ้านด้วยค่ะ

ตัวอย่างห้อง 1 Bedroom แบบ B จากโครงการ The Tree สุขุมวิท-พระราม4

ในส่วนที่เป็น Living Area ของแบบนี้เราจะเห็นได้ว่าพื้นที่หลักจะเอาไว้วางเตียงนอนค่ะ และสามารถจัดโซฟาไว้ที่ริมหน้าต่างได้ แต่สำหรับโซฟาพักผ่อนนี้ เหมาะกับการนั่งเล่น นอนเล่นมากกว่าจะใช้นั่งดูทีวี นอกจากนี้จะมีมุมสำหรับวางโต๊ะ ที่เป็นเหมือนกับพื้นที่อเนกประสงค์ เอาไว้นั่งกินข้าว นั่งทำงาน หรือจะปรับเป็นโต๊ะเครื่องแป้งก็ได้สำหรับสาวๆ สำหรับห้องแบบนี้เรามองว่าอยู่สบายสำหรับ 1 คนเลย แต่ถ้าอยู่กันสองคนก็จะลำบากกับการกินข้าวซักหน่อย อยากทำอาหารมื้อใหญ่ก็จะไม่มีโต๊ะนั่งหันหน้าเข้าหากัน และไม่มีพื้นที่เอาไว้วางจานกับข้าว อดโรแมนติกกันเลยนะคะ

สำหรับห้องตอนลึก ก็ยังสามารถจัดให้มีส่วนที่เป็นพื้นที่นั่งเล่น แยกออกมาจากพื้นที่วางเตียงนอนได้นะคะ ซึ่งในหลายๆโครงการ ได้ออกแบบผังแบบนี้เอาไว้เพราะถือว่าเป็นการจัดห้องที่เพิ่มฟังก์ชันการใช้งานได้ครบขึ้น แต่ว่าขนาดของเฟอร์นิเจอร์ต่างๆก็อาจจะต้องเลือกขนาดเล็กลงแทน อย่างเช่นเตียงนอนค่ะ ในแบบ A,B เราอาจเลือกความกว้างของเตียง 1.8-2 เมตรได้ แต่สำหรับแบบ C,D เป็นผังที่สามารถวางเตียงที่กว้างไม่เกิน 1.6 เมตร และจะไม่มีพื้นที่เหลือด้านข้างเตียง ดังนั้นในการใช้งานถ้าอยู่กันสองคนก็คงต้องนอนเบียดกันอบอุ่นหน่อย และมีคนหนึ่งที่ต้องนอนชิดผนังหรือว่าหน้าต่าง กรณีที่ถ้าเกิดอยากเข้าห้องน้ำกลางดึก ก็คงต้องเดินลงทางปลายเตียงแทนนะคะ

แบบ C : สำหรับแบบนี้จะจัดเตียงนอนและตู้เสื้อผ้าไว้ใกล้กับห้องน้ำ พื้นที่นั่งเล่นก็จะอยู่ใกล้กับหน้าต่างแทน และอาจหาโต๊ะกินข้าวเล็กๆมาวางเพิ่มไว้ข้างหน้าต่างได้นะคะ ซึ่งการวางเตียงแบบนี้เราว่าเหมาะกับคนตื่นสาย ไม่อยากให้ความร้อนหรือแสงที่มาจากหน้าต่างอยู่ใกล้กับเตียงนอนมาก กลางคืนจะเข้าห้องน้ำก็ใกล้หน่อย แต่ว่าข้อเสียคือ พื้นที่โซฟาที่อยู่เลยเตียงเข้าไป วันไหนถ้าเพื่อนมาเยี่ยมก็ต้องเดินผ่านพื้นที่เตียงนอนก่อน บางคนอาจจะไม่ชอบ เพราะรู้สึกว่าถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัว หรือว่าเก็บเตียงไม่ค่อยเรียบร้อย ทำให้อายเพื่อนได้

แบบ D : ในแบบ D นั้นจะแตกต่างกับ C ตรงที่สลับพื้นที่ส่วนนั่งเล่นกับเตียงนอนกันค่ะ ซึ่งแบบ D นี้มักจะเป็นผังที่เห็นกันบ่อยเหมือนกัน ในบางโครงการก็จะมีฉากกั้นมาให้ด้วย เวลาใช้งานก็เลื่อนประตูกระจกได้ ตรงบานประตูเราก็สามารถหาสติ๊กเกอร์ขุ่นมาแปะได้ เพื่อบังพื้นที่ส่วนเตียงนอน แต่ถ้าอยู่เองก็เปิดไว้ พื้นที่ห้องก็จะดูกว้างขึ้น เชื่อมต่อกันมากขึ้นค่ะ

สำหรับทั้ง 2 แบบนี้เราจะไม่เห็นพื้นที่นั่งกินข้าวแบบจริงจังสักเท่าไหร่นะคะ สำหรับแบบ D เราจะเห็น Guideline วางโต๊ะสำหรับกินข้าวเอาไว้ให้ แต่ถ้าเราวางแล้วก็จะมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทางเดินเหมือนกันนะคะ ทางแก้คือเราอาจจะหาโต๊ะหรือเก้าอี้แบบที่พับได้มาไว้ในห้องแทน เวลาไหนจะใช้ก็กางออกมา แต่ถ้าเวลาไหนไม่ใช้ก็พับเก็บ ถือว่าเป็นการประหยัดพื้นที่ค่ะ หรือว่าในบางโครงการที่ขายพร้อมกับเฟอร์นิเจอร์ ก็จะดีไซน์โต๊ะหน้าโซฟาเอาไว้ให้ปรับระดับขึ้นมาเอาไว้ใช้กินข้าวกับโซฟาไปได้ในตัว นอกจากนี้บางดีไซน์ของโซฟาก็ออกแบบมาให้ปรับเป็นเตียงนอนได้ (Sofa Bed) ถือเป็นการปรับเปลี่ยนการใช้งานและประหยัดพื้นที่ไปในตัวค่ะ

ตัวอย่างโต๊ะหน้าโซฟาที่ปรับระดับใช้เป็นโต๊ะกินข้าวด้วยได้จากโครงการ The LINE สุขุมวิท 101

ตัวอย่างห้อง

เราลองมาดูตัวอย่างห้องตอนลึกกันค่ะ โครงการ KAVE TU ห้องขนาดเล็ก 23-25 ตร.ม. โดยโครงการนี้จะเจาะกลุ่มนักศึกษา(ตามทำเลที่ติดกับมหาลัย) ดังนั้นพื้นที่อ่านหนังสือจึงเป็นฟังก์ชันที่มีเพิ่มขึ้น ส่วนพื้นที่ครัวก็จะเหลือแค่อ่างล้างจาน ไม่มีเตาไฟฟ้ามาให้ทำอาหารค่ะ ซึ่งเหมาะกับนักศึกษาที่ไม่ค่อยจะได้ทำอาหารกินเองเท่าไร โดยพื้นที่ส่วนนั่งเล่นและห้องนอนจะแยกจากกั้น มีประตูบานเลื่อนกระจกกั้นไว้ ทำให้เวลาใช้งานจริงไม่ได้ดูอึดอัดมากจนเกินไปค่ะ


ห้องรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส(ห้องหน้ากว้าง)

สำหรับห้องหน้ากว้างส่วนใหญ่จะจัดผังแบบเดียวกันหมดเลยค่ะ จากประตูห้องจะเป็นพื้นที่นั่งเล่น-ดูทีวี อาจจะมีมุมโต๊ะเล็กๆอยู่ข้างๆ เอาไว้เป็นโต๊ะกินข้าวขนาด 1-2 ที่นั่ง(เลื่อนโต๊ะออกมาจัดได้ 2 ที่นั่ง) ในบางโครงการจะแยกพื้นที่ครัวและพื้นที่กินข้าวเอาไว้(ขวาบน) แลกกับพื้นที่โต๊ะเครื่องแป้ง(ขวาล่าง)แทน เห็นได้ว่าในขนาดพื้นที่เท่าๆกัน เราสามารถเลือกแปลนห้องที่เหมาะกับเราได้นะคะ ถ้าเป็นคุณผู้หญิง อาจจะอยากได้โต๊ะเครื่องแป้งมากกว่าโต๊ะกินข้าว ส่วนคุณผู้ชายอาจจะเลือกโต๊ะกินข้าวแทน

แม้ว่าการจัดวาง Zoning จะค่อนข้างคล้ายกัน แต่ก็จะมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกันไปค่ะ เช่นประตูกั้นแบ่งพื้นที่ต่างๆ บางโครงการไม่มีประตูกั้นมาให้เลย ห้องนอน ห้องครัว ห้องนั่งเล่น รวมเป็นพื้นที่เดียวกันหมด ส่วนบางโครงการก็จะกั้นครัวไว้ให้เป็นครัวปิด ทำอาหารสะดวกหน่อย กลิ่นไม่รบกวน และก็บางโครงการ กั้นทั้งครัว ทั้งห้องนอนมาให้เลยค่ะ

ตัวอย่างห้องหน้ากว้างจากโครงการ The Excel ลาดพร้าว-สุทธิสาร

ในห้องหน้ากว้างแบบนี้จะแบ่งพื้นที่ส่วนที่เป็นครัวและห้องน้ำแยกออกไปอีกฝั่งเลย ดังนั้นการใช้งานก็จะแบ่งแยกจากกันชัดเจน จากทางเข้าก็เป็นพื้นที่นั่งเล่น/รับแขก ลึกเข้าไปด้านในเป็นห้องนอน ถ้าอยู่กัน 2 คน แต่ละคนก็มีพื้นที่ส่วนตัวได้ เผื่อเวลาไหนต้องการความสงบไว้ทำงานค่ะ

ตัวอย่างห้อง

มาดูบรรยากาศภายในห้องกันดูนะคะ ห้องนี้มีขนาด 24 ตร.ม. แยกพื้นที่ใช้งานแต่ละส่วนออกจากกันชัดเจนค่ะ โดยห้องนอนก็จะมีเตียง และตู้เสื้อผ้า พื้นที่นั่งเล่นจะมีมุมโซฟาพักผ่อนกับโต๊ะกินข้าวขนาด 2 ที่นั่ง มีครัวแยกออกมา ใกล้กับระเบียง จัดเป็นพื้นที่ครัวและส่วนซักล้างไปในตัว ส่วนห้องน้ำก็จะเข้าจากทางครัวค่ะ

นอกจากผังที่เราเห็นแล้ว เราไปเจอผังห้องขนาดเล็กของโครงการจาก ลุมพินี (LPN) ที่ออกแบบมาฉีกจาก Developer เจ้าอื่นๆค่ะ โดยผังแบบนี้จะมีทั้งแบบ Studio และ 1 Bedroom แตกต่างกันที่ประตูบานเลื่อนกั้น โดยห้องนี้จะมีขนาดประมาณ 22-24 ตร.ม. จุดที่เราว่าแปลกกว่าโครงการอื่นคือตำแหน่งครัวและห้องน้ำ จะมาอยู่ชิดริมทางเดินหรือว่าใกล้กับประตูทางเข้า ส่วนพื้นที่ห้องนอนและห้องนั่งเล่นจะเป็นพื้นที่ใกล้กับหน้าต่าง ได้รับแสงธรรมชาติเต็มที่ค่ะ

ตัวอย่างห้อง

มาดูตัวอย่างห้องกันนะคะ ถ้าเราดูจากผังห้อง เราจะเห็นว่าภายในห้องจะแทบไม่กั้นอะไรเพิ่มเติมเลย นอกจากห้องน้ำที่ต้องเป็นห้องปิดมิดชิด ดังนั้นเมื่อเรามองเข้าไปจะรู้สึกได้ว่าห้องมีขนาดกว้างขวางค่ะ แต่ด้วยขนาดห้องที่เล็ก และเป็นห้องหน้ากว้าง ทำให้ความลึกของห้องไม่มาก อย่างโครงการที่ยกตัวอย่างมาให้ดูนี้จะลึกเพียง 3.7 เมตร เป็นห้องที่จัดฟังก์ชันได้ครบดีค่ะ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ไม่ได้กั้นพื้นที่ภายในมาเลย ดังนั้นถ้าใครทำอาหาร กลิ่นควันก็จะคงอยู่ทั่วทั้งห้องนะคะ

ตัวอย่างห้อง

อีกหนึ่งโครงการที่สามารถออกแบบ Walk-in Closet เพิ่มมาในห้องขนาดเล็กได้คือ Groove Scape 48 ค่ะ ในแปลนห้องนี้จะได้ทั้งครัวปิด พื้นที่กินข้าว พื้นที่นั่งเล่น พื้นที่นอน และพื้นที่แต่งตัว รวมกันได้ในขนาด 23-24 ตร.ม.นะคะ เป็นห้องที่เหมาะกับสาวๆมาก เพราะจะได้พื้นที่เก็บของ พื้นที่แต่งตัวแยกออกเป็นสัดส่วน และครัวก็จะได้ครัวปิดมิดชิดอีก ทำอาหารสะดวก แต่งตัวสบายค่ะ


ข้อควรคำนึงในการเลือกห้องขนาดเล็ก

ก่อนจะจบบทความถ้าผู้อ่านมีงบประมาณจำกัดและกำลังตัดสินใจซื้อคอนโดห้องขนาดเล็กๆกันอยู่ เรามี Checklist ไว้ให้เตรียมตัวและเตือนใจก่อนซื้อนะคะ

  • รูปแบบการขาย ขายพร้อมเฟอร์นิเจอร์หรือไม่?

ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญหรอคะ? ยิ่งห้องขนาดเล็ก ยิ่งเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ยาก บางพื้นที่ก็เล็กเกินไปจนเราไม่สามารถหาเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวขนาดมาตรฐานมาใช้ได้ จนสุดท้ายอาจจะต้องเสียเงิน Built-in ให้เข้ากับพื้นที่ที่มีเพิ่มเติม ราคาแพงกว่างบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเสียอีก

  • เลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์อย่าลืมคิดถึงทางเดิน

เวลาที่เราเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ นอกจากเรื่องดีไซน์แล้ว สำหรับห้องขนาดเล็ก ขนาดของเฟอร์นิเจอร์เป็นอีกเรื่องสำคัญที่เราต้องเช็คให้ดี และอย่าคิดว่าพื้นที่เหลือ 2×2 เมตร เราจะต้องหาเฟอร์นิเจอร์ขนาด 2×2 เมตรมาลงนะคะ ให้เผื่อพื้นที่สำหรับเดินไว้ด้วยค่ะ ตอนเราเรียนสถาปัตย์จะมีขนาดมาตรฐานสำหรับทางเดินไว้อยู่ที่ 60 ซม. ถือว่าเป็นระยะที่เราเดินได้ไหล่ไม่ชน แต่สำหรับห้องที่ขนาดเล็ก บางครั้งเราอาจจะต้องเลือกว่าเว้นระยะเท่าไหร่ ถึงจะใช้งานได้ แต่ไม่อึดอัด เช่น เว้นเตียงห่างหน้าต่าง 15-20 ซม.สำหรับรางม่าน(เดินไม่ได้แน่นอน) ปลายเตียงทางเดิน 40 เป็นขนาดที่พอเดินได้ แต่ถ้าเกิดจะติดทีวีที่ผนังปลายเตียง กรณีนี้ก็เริ่มเดินลำบากแล้วนะคะ ถ้าใครซื้อห้องเปล่ามา ลองเอาเทปมาขีดเส้นทางเดินในห้องเอาไว้ก่อน แล้วค่อยไปเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ก็ดีค่ะ

  • อย่าลืมคิดถึงฟังก์ชันเก็บของต่างๆ

พื้นที่เก็บรองเท้า : ในบางโครงการจะคำนึงถึงพื้นที่เก็บรองเท้าเอาไว้ให้ เช่น พื้นที่ใต้เคาน์เตอร์ครัว หรือมีดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ที่ให้มาสำหรับเก็บรองเท้าได้ (ใต้โซฟาหรือชั้นวางทีวี) แต่ถ้าโครงการที่ไม่มี ก็อย่าลืมคิดพื้นที่สำหรับวางรองเท้าด้วยนะคะ

พื้นที่วางเครื่องซักผ้า : บางโครงการจะเตรียมพื้นที่ใต้เคาน์เตอร์ครัวไว้วางเครื่องซักผ้าด้วย หรือบางโครงการก็สามารถติดตั้งเครื่องซักผ้าไว้ที่ระเบียงห้องได้ค่ะ ซึ่งอยากให้ผู้อ่านลองเช็คดูด้วยว่า ทางโครงการเดินงานระบบไฟ และท่อน้ำรองรับการวางเครื่องซักผ้าเอาไว้ให้ไหม?

อื่นๆ : มองไปรอบๆตัวตอนนี้แล้วสังเกตข้าวของที่มีกันหน่อยดีกว่าค่ะ มีกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ไหม? เก็บไว้ที่ไหนดี? ช่วงนี้ Work from home บ่อยๆ ถ้าต้องทำงานที่บ้าน จะใช้พื้นที่ตรงไหนจัดเป็นมุมทำงาน วาง notebook วางแก้วน้ำได้บ้าง? รายละเอียดพวกนี้อย่าลืมคิดนะคะ

สุดท้ายนี้.. เลือกฟังก์ชันตามรสนิยม

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่หลายๆคนไม่รู้ตัวว่าตัวว่าจริงๆแล้วตัวเองต้องการอะไร ใช้ชีวิตอย่างไร เราไม่ได้หมายถึงรสนิยมทางเพศหรืออะไรนะคะ แต่เป็นเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ว่าเราให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน เช่น คุณเป็นคนที่ทำอาหารทานเองบ่อย นอกจากครัวปิดที่ควรเลือกแล้ว พื้นที่เตรียมอาหารบริเวณเคาน์เตอร์ครัวมีให้ไหม? พื้นที่กินอาหารมีรึเปล่า? หรือว่าคุณเป็นสายแฟชัน ซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกซีซัน ก็ลองดูว่าพื้นที่ตู้เสื้อผ้าที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่? มีที่เก็บกระเป๋า รองเท้าเพียงพอไหม? เพราะจากบทความเราจะเห็นได้ว่าพื้นที่ขนาดเล็กก็สามารถจัดวางฟังก์ชันได้หลากหลายแบบ เราไม่อยากให้ผู้อ่านตัดสินใจซื้อเพียงแค่ราคาหรือทำเลเท่านั้นนะคะ อยากให้เลือกผังห้องหรือแปลนห้องที่เหมาะกับเราด้วย เพราะที่อยู่อาศัยนั้นเป็นสถานที่ที่เราจะต้องอยู่กับมันไปอีกนาน ยิ่งห้องขนาดเล็ก ยิ่งปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานเองทีหลังยาก ถ้าเรายังไม่รู้ตัวว่าชอบอะไรแล้วตัดสินใจซื้อไป ห้องที่ควรจะเป็นที่พักผ่อนสร้างความสุข อาจจะเป็นที่ที่รกหรือใช้งานไม่ได้จริงก็เป็นได้ค่ะ