ในยุคปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะของ “สังคมผู้สูงอายุ” หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Aging Society” ซึ่งหมายถึงสังคมที่มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

จากข้อมูลรายงานการคาดการณ์ประชากรของประเทศไทย ปี 2553 – 2583 ของสำนักกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คสช.) พบว่าประเทศไทย ได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ตั้งแต่ปี 2553 โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 12.9 ของจำนวนประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน และคาดว่าในปี 2573 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” เนื่องจากมีสัดส่วนของผู้สูงอายุสูงถึง ร้อยละ 25.8  ของจำนวนประชากรทั้งหมด 68.3 ล้านคน

ทั้งนี้เมื่อรูปแบบของการดำเนินชีวิตในสังคมบ้านเราที่เริ่มมีการเปลี่ยนเปลี่ยนไป เนื่องจากจำนวนผู้คนสูงวัยที่มีมากขึ้น ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ที่อยู่อาศัย ที่มีเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการอยู่อาศัยและดำรงชีวิตอย่างสะดวกสบายนั้นจึงต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อสอดคล้องกับสมรรถภาพของร่างกายด้วยเช่นกัน จึงจะเห็นได้ว่าหลายผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันเริ่มเล็งเห็นประเด็นสำคัญนี้ค่อนข้างมากขึ้น ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ออกแบบเพื่อรองรับผู้สูงอายุขยายตัวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ตลาดที่อยู่อาศัยกับผู้สูงอายุ)

เพราะสิ่งสำคัญที่ครอบครัวต้องการ คือ บ้าน ที่ตอบสนองการใช้งานแก่ผู้ใช้งานได้ทุกคนภายในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ซึ่งต้องการการดูแลและช่วยเหลือมากกว่าวัยอื่นๆ แต่จะดีกว่าหรือไม่หากการออกแบบจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้คือการลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ หรือการที่ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลานตลอดเวลา และถึงแม้ว่าขณะนี้ตัวเราเองยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอายุเท่านี้ตลอดไป วันหนึ่งทุกคนก็ต้องกลายเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้นการออกแบบที่พักอาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุไม่เพียงแต่เป็นการทำเพื่อผู้สูงอายุในบ้านแล้ว ยังอาจเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อตัวเราเองในอนาคตด้วยเช่นกันค่ะ

 

คำถามต่อมาคือ เราจำเป็นที่ต้องซื้อบ้านใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุไหม คำตอบคือ ไม่จำเป็นเลยค่ะ หากคุณมีบ้านอยู่แล้ว การ Renovate ก็ถือเป็นอีกคำตอบนึงที่ดีและประหยัดกว่า ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการและตามงบประมาณที่เรามี

ข้อควรคำนึงสำหรับการออกแบบ (อ้างอิงจากข้อมูลบางส่วนของ SCG Elder Care) มีดังนี้

  • สิ่งเร้า (Stimulation) เมื่ออายุมากขึ้นการรับรู้ต่างๆ จะลดลงตามไปด้วย ทั้งประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น การมองเห็น, การรับรส, การได้กลิ่น, การได้ยิน และการสัมผัส ทำให้การจัดการพื้นที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามไปด้วย การปรับแสงสว่างภายในห้องให้มองเห็นได้ชัดเจน ไม่ใช่ไฟสลัวๆ เพื่อความสวยงามแต่เพียงอย่างเดียว หรือทาสีโทนที่แตกต่างกันแยกผนังและพื้นให้ชัดเจนเพื่อลดอุบัติเหตุ และเมื่อใช้โทนสีที่เห็นได้ชัดเจนอย่างสีสดๆ หน่อย จะช่วยกระตุ้นการมองเห็นได้ดีค่ะ
  • การเคลื่อนที่และการเข้าถึง (Mobility & Accessibility) เนื่องจากผู้สูงอายุนั้นจะมีการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้คล่องตัวมากนักเหมือนหนุ่มสาว รวมทั้งการประคองตัวและความยืดหยุ่นของร่างกายก็ไม่ได้มีมากเช่นกัน ทำให้การเดินไปไหนมาไหนภายในบ้านเองไม่ได้สะดวกมากนัก จึงต้องออกแบบทางเดินและพื้นสำหรับผู้สูงอายุเพื่อความสะดวกสบายในการเคลื่อนที่ ลดอุบัติเหตุได้ อย่างการทำทางลาดเอียง, ขั้นบันไดที่เหมาะสม และระดับของพื้นต่างๆ ที่ไม่ควรต่างระดับกันมากนัก
  • ความปลอดภัย (Safety) ถือเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบสำหรับผู้สูงอายุเลยค่ะ ด้วยสมรรถภาพทางร่างกายที่ไม่ได้สมบูรณ์พร้อมเหมือนหนุ่มสาว ฉะนั้นความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุมักจะรุนแรงกว่าและพบบ่อยมากกว่าหนุ่มๆ สาวๆ อยู่แล้ว ดังนั้นการออกแบบสำหรับผู้สูงอายุนั้นควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับ 1 เพื่อลดความรุนแรงและอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นภายในบ้านให้ได้มากที่สุดค่ะ
  • ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้สูงอายุแล้ว หรือคนในวัยไหนก็ตามต่างก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพทางจิตใจที่ยังคงไว้กับความเป็นตัวของตัวเอง ความภูมิฐานของตัวเอง
  • ความสะดวกสบาย (Comfort) ความสะดวกสบายนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุให้ดีมากขึ้น โดยการออกแบบนี้ต้องส่งเสริมทั้งเรื่องของกายและใจ อย่างวัสดุที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดอุณหภูมิที่ร้อนหรือหนาวเกินไปจนไม่สบาย หรือเรื่องของเสียงในห้องที่ก้องจนเกินไป

อ้างอิงข้อมูลของ SCG Elder Care

แนวคิดและข้อแนะนำเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ

อ้างอิงข้อมูลของ SCG Elder Care

มาดูแนวการออกแบบโดยแยกเป็นฟังก์ชันต่างๆ กันค่ะ

  • บริเวณภายนอกบ้าน

  • ทางลาด พื้นผิวทางลาดต้องเป็นวัสดุไม่ลื่น พื้นผิวต่อเนื่อง ระหว่างพื้นกับทางลาดเอียงต้องเรียบ ไม่สะดุด มีความกว้าง 90-150 ซม. มีความยาวช่วงละไม่เกิน 600 ซม. และมีราวจับเสมอ ความลาดชันต้องไม่เกิน 1:12 ซึ่งหากจะดีที่สุดคือความลาดเอียงที่ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อย่างการเข็นรถเข็นขึ้นเองได้ (Wheel Chair) คือความลาดที่ 1:20 แต่ทั้งนี้ข้อเสียคือความยาวของทางลาดก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจจะติดปัญหาในเรื่องของที่ดินของตัวบ้านไม่มีพื้นที่ยาวมากพอสำหรับทำทางลาดยาวถึง 1:20 ค่ะ
  • ทางเข้าบ้าน ควรมีระดับเดียวกันกับพื้นภายนอก ความกว้างขั้นบันได (ลูกนอน) อย่างน้อยขั้นละ 30 ซม. ความสูง (ลูกตั้ง) แต่ละขั้นไม่เกิน 15 ซม. ติดตั้งโคมไฟเพิ่มแสงสว่างเพื่อป้องกันอันตรายจากการเข็นรถหรือขึ้น-ลงในยามค่ำคืน โดยการเลือกโคมไฟสำหรับการใช้งานนอกบ้าน ต้องทนทานต่อแดดฝนได้ดี เลือกหลอดไฟแสงสีขาว เช่น โทนสี Cool Day Light และหลีกเลี่ยงโคมไฟที่ยื่นออกจากผนังเพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการเดินชนได้ หรือไม่ก็ติดตั้งให้สูงเกินความสูงของคนไปเลย

  • ห้องนอนและห้องแต่งตัว ควรอยู่ชั้นล่าง ไม่ต้องขึ้น-ลงบันไดบ่อยๆ ห้องนอนเป็นห้องที่ใช้มากที่สุด จึงควรมีความเป็นส่วนตัวมากที่สุด ควรแยกเป็นสัดส่วนจากห้องอื่นๆ ห้องนอนไม่ควรเล็กเกินไปและควรเป็นห้องที่ส่งเสริมและให้ความหวังได้ด้วยบรรยากาศและวิวทิวทัศน์ภายนอกจากหน้าต่าง เตียงควรจะเคลื่อนย้ายได้ในบางโอกาส และไม่ควรอยู่ในมุมใดมุมหนึ่ง
    • พื้นที่ห้องนอน ควรมีพื้นที่อย่างน้อย 10-12 ตร.ม./คน (ไม่รวมห้องน้ำ) และควรมี 16-20 ตร.ม. สำหรับห้องพักรวม 2 คน โดยพื้นที่นี้สามารถเคลื่อนที่รถเข็นได้สะดวก รวมไปถึงควรมีพื้นที่ว่างในการทำงานอดิเรก เช่นพื้นที่อ่านหนังสือ หรือพื้นที่สำหรับงานอดิเรกส่วนตัว
    • แสงสว่างในห้อง ไม่ควรเป็นแสงจ้า เลือกใช้แสงนวล เพื่อความสบายตาในการมองเห็น
    • หน้าต่าง หากสามารถเปลี่ยนได้ สำหรับห้องผู้สูงอายุควรทำให้กว้างขึ้น และไม่ควรอยู่สูงเกินไปเพื่อสามารถมองเห็นวิวด้านนอกได้ชัดเจน รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม รวมถึงไม่ลื่นหรือฝืดเกินไปเพราะจำทำให้เสียงดังเวลามีลมพัด
    • โต๊ะเครื่องแป้ง กระจกตัวช่วยสำรวจวัย การมีกระจกในห้องในแง่ของจิตวิทยากล่าวว่า การที่ผู้สูงอายุได้ส่องกระจกดูตัวเอง จะทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น เป็นการกระตุ้นเพื่อให้ได้รับรู้ถึงสภาพปัจจุบันของตัวเอง

    อ้างอิงข้อมูลของ SCG Elder Care

    • ห้องนั่งเล่น หน้าต่างในห้องนั่งเล่นควรสูงกว่าพื้นอย่างน้อย 50 ซม. มองเห็นวิวภายนอกได้ ระบายอากาศได้ดีและมีขนาดใหญ่พอให้แสงสว่างและแสงแดดผ่านเข้ามาได้ พื้นที่นี้จะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น สันทนาการและบันเทิง อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ นั่งเล่นและควรมีเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสม
    • ห้องครัว เตรียมอุปกรณ์ทำครัวให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสปรุงอาหารด้วยตนเองเพื่อไม่ให้เหงาและใช้เวลาว่างให้เกิดประโชยน์ ควรพิจารณาถึงข้อจำกัดในการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในครัว เช่น เตา ตู้เย็น อ่างล้างมือ สำหรับเตาควรมีโอกาสน้อยที่สุดที่จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ เตาไม่ควรอยู่ในมุม อ่างล้างมือควรเป็นแบบคู่ ด้านล่างของอ่างล้างมือควรมีพื้นที่สำหรับรถเข็น ตู้เย็นหรือลิ้นชักในครัวควรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อผู้ที่สูงอายุจะได้ไม่ก้มเกินไป ทำให้เสียสุขภาพหลัง
    • ห้องน้ำ ควรกว้างประมาณ 150-200 ซม. ห้องอาบน้ำเป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้มากที่สุด ควรมีราวจับหรือราวทรงตัวในห้องน้ำ โดยเฉพาะตรงฝักบัวและที่อาบน้ำ ควรมีสัญญาณฉุกเฉินในห้องน้ำ ฝักบัว ควรเป็นชนิดแรงดันต่ำ ก็อกน้ำและอุปกรณ์ควรเป็นชนิดที่เบาแรงเปิด ประตูห้องน้ำควรเป็นแบบที่เปิดออกเพื่อให้คนอื่นสามารถเข้าไปได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ห้องน้ำไม่ควรแคบเกินไปจนเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ พื้นผิวไม่ควรลื่น และแยกระหว่างส่วนเปียกและส่วนแห้งเพื่อกันลื่น

    • ก็อกน้ำ เลือกใช้ก็อกน้ำแบบปัดไปด้านข้างและต้องไม่ฝืดไม่ต้องใช้แรงในการเปิด-ปิดมาก สามารถใช้งานได้ด้วยมือข้างเดียว เนื่องจากผู้สูงอายุมีกำลังแขนน้อย
    • ปลั๊กไฟ ต้องอยู่สูงจากอ่างล่างหน้า 15 ซม. อยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานสะดวกและควรอยู่บริเวณส่วนแห้งของห้องน้ำ มีฝาครอบเพื่อป้องกันน้ำกระเด็นเข้าส่วนปลั๊กไฟ
    • อ่างล้างหน้า เลือกอ่างล้างหน้าที่มีส่วนโค้งด้านหน้าเพื่อสะดวกในการใช้งาน เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็น หากเป็นผู้สูงอายุที่เดินได้หรือใช้ไม้เท้า อ่างล้างหน้าควรเป็นแบบฝังเคาน์เตอร์เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักการท้าวแขนของผู้สูงอายุ
    • พื้นห้องน้ำ พื้นผิวเรียบ ไม่ลื่น ไม่มันวาว ไม่มีลวดลายเยอะเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการตาลายเมื่อมองที่พื้น
    • ห้องน้ำควรมีราวจับ ราวจับต้องมีที่ยึดติดอย่างแน่นหนาและอุปกรณ์ที่ใช้ต้องได้รับมาตรฐานเพราะเป็นจุดที่ต้องใช้บ่อยและเป็นส่วนสำคัญในการเหนี่ยวรั้ง เพื่อพยุงตัวขึ้น
    • โถส้วม ต้องออกแบบให้นั่งได้สะดวก ไม่ต้องย่อหรือเขย่งจนเกินไปเพราะผู้สูงอายุมักมีอาการเรื่องข้อเข่า การนั่งและการลุกจากที่นั่งลำบาก
    • มีที่นั่งอาบน้ำ มีที่นั่งมั่นคง ยึดติดกับผนังเพื่อให้สามารถนั่งอาบน้ำ ควรทำเป็นแบบที่พับเก็บได้ เพื่อสะดวกในการใช้งานห้องน้ำสำหรับคนอื่นในบ้าน

    สามารถอ่านกันเพิ่มเติมในส่วนของรายละเอียดการออกแบบและโครงการตัวอย่างได้จากบทความ (การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ) ค่ะ

     

    สิ่งที่ควรรู้และข้อพิจารณาในการออกแบบต่างๆ ก่อน Renovate

    เราจะขออ้างอิงจากแปลนบ้านจัดสรรทั่วไปที่ส่วนใหญ่มีลักษณะการวางฟังก์ชันภายในเพื่อประกอบความเข้าใจในการสำรวจบ้านของเราได้ง่ายขึ้นนะคะ

    ฟังก์ชันที่จำเป็นจะต้องมีเบื้องต้นเพื่อการอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ คือ

    • ทางเข้าบ้าน

    • ทางลาดเอียง 1:12 – 1:20 (สำหรับผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็น)
    • บันได ลูกนอนอย่างน้อย 30 ซม. และลูกตั้งไม่เกิน 15 ซม.

  • ห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ (ชั้นล่าง) อย่างน้อย 10-12 ตร.ม./คน หากอยู่เป็นคู่คุณตาคุณยาย ก็ต้องเพิ่มขนาดพื้นที่ขึ้นมาอีกเป็น 16-20 ตร.ม.
  • ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ (ชั้นล่าง) มีระดับพื้นที่เสมอกับพื้นบ้าน มีพื้นที่อาบน้ำภายใน และอุปกรณ์, สุขภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
  • ชนิดของทางลาดนั้นมีอยู่หลายแบบ โดยเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามเนื้อที่ดินและทางเข้าไปในตัวบ้าน ซึ่งหลักการคิดต้องเริ่มจากเช็คระดับพื้นชั้นบน (ตัวบ้าน) ว่าต่างระดับจากระดับของพื้นชั้นล่างอยู่เท่าไหร่ อย่างในรูปด้านบนยกตัวอย่างว่ามีระดับต่างกันอยู่ที่ 20 ซม. หรือ 0.2 ม. ส่วนทางลาดนี้จะต้องใช้ความยาวจากเกณฑ์คือ 1:12 – 1:20 ดังนั้นเมื่อเทียบบัญญัติไตรยางค์แล้วจะต้องใช้ความยาวของทางลาดทั้งหมด 2.4 – 4 ม. นั่นเองค่ะ

    หมายเหตุ A คือ การรื้อ-ทุบ B คือ การก่อสร้างใหม่

    จากนั้นเมื่อเราออกแบบทางลาดที่เหมาะสมกับบ้านของเราได้แล้วก็เข้าสู่วิธีการทำเบื้องต้นแบบง่ายๆ โดยการทำทางลาดเอียงเพื่อเข้าสู่ตัวบ้านนั้น สามารถใช้วัสดุในการก่อสร้างได้ทั้งการก่อพื้นปูนและแบบวางพื้นด้วยแผ่นเหล็ก (Grating) เริ่มจากต้องทุบบันไดบางส่วนที่จะทำทางลาดเอียงขึ้นไป จากนั้นจึงจะเริ่มเคลียร์พื้นที่และเริ่มก่อสร้างได้ค่ะ

    หมายเหตุ A คือ การรื้อ-ทุบ B คือ การก่อสร้างใหม่

    ส่วนผู้สูงอายุบ้านไหนที่ยังสามารถเดินได้ ไม่ต้องนั่งรถเข็นนั้น ก็สามารถขึ้นบันไดได้ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ แต่ก็ต้องเช็คระดับของลูกตั้ง-ลูกนอนว่ามีความสูง-ความกว้างที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุหรือไม่ ทั้งนี้เราจะขอยกตัวอย่างหากระดับบันไดไม่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งจะมี 2 วิธีคือ

    • หากบันไดมีความกว้างของลูกนอนมากเกิน 30 ซม. ขึ้นไป สามารถซอยขั้นบันไดเป็นขั้นเล็กๆ ได้ โดยใช้วัสดุตามบันไดเดิมคือจะเป็น คสล. (คอนกรีตเสริมเหล็ก) หรือเหล็กก็ได้ค่ะ
    • หากความกว้างของลูกนอนมีไม่เกิน 30 ซม. นั้น ทำให้ไม่สามารถซอยขั้นบันไดได้ จำเป็นต้องทุบหรือรื้อถอนบันไดทิ้ง และทำบันไดขึ้นมาใหม่ค่ะ

    ค่าใช้จ่ายโดยประมาณสำหรับการทำทางลาดหรือบันได

    • การรื้อถอน ทุบและขนย้ายโครงสร้าง

    • ราคาประมาณ 30 – 50 บาท/ตร.ม.
    • ราคาเหมา (ขึ้นอยู่กับการตกลงกับผู้รับเหมา)

  • การก่อสร้างโครงสร้างใหม่
    • ค่าปรับระดับพื้น ประมาณ 80 – 120 บาท/ตร.ม.
    • ค่างานทางลาดคลส. ประมาณ 500 – 1,000/ตร.ม.

  • ค่าแรง ประมาณ 300 – 500 บาท/ตร.ม.
  • ** เรทราคามาจากการสอบถามผู้รับเหมา และราคาจาก Real Estate Information Center ทั้งนี้ราคาอาจจะไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงได้จากหลายปัจจัย

    หมายเหตุ A คือ การรื้อ-ทุบ B คือ การก่อสร้างใหม่

    ห้องนอนชั้นล่างเป็นอีกฟังก์ชันนึงที่จำเป็นมากสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากการเดินขึ้น – ลงบันไดที่ค่อนข้างลำบากแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายอีกด้วย ทั้งนี้เราก็หันกลับมาสำหรับบ้านเราก่อนว่า มีพื้นที่ใช้สอยเหลือพอประมาณ 10-12 ตร.ม./คน หรือ 16-20 ตร.ม./2 คน สำหรับการกั้นห้องเป็นห้องนอนผู้สูงอายุในชั้นล่างหรือไม่ หากไม่มีพื้นที่เหลือก็จำเป็นที่ต้องขยับขยายบ้านเพิ่มเติมออกไปอีกหน่อย ซึ่งก็ต้องเช็คขนาดที่ดินด้านข้างด้วยนะคะ

    วิธีการก่อสร้างโดยการต่อเติมพื้นที่นั้นเริ่มการเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อยก่อน และพิจารณาเลือกจากเสาเข็ม ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท และมีราคาที่แตกต่างกันทำให้งบประมาณรวมแตกต่างกันไปด้วยนะคะ

    • เสาเข็มสั้น ราคาถูก แต่วัสดุโครงสร้างด้านบนควรใช้วัสดุเบาทั้งหมด
    • เสาเข็มยาว ราคาแพงกว่า รับน้ำหนักโครงสร้างด้านบนได้มากกว่า

    ต่อมาคือการกั้นผนังขึ้นมาให้เป็นห้อง ซึ่งหากใครที่มีพื้นที่ใช้สอยภายในเหลืออยู่แล้วก็ดูรายละเอียดเฉพาะส่วนของผนังได้เลยค่ะ สำหรับผนังนั้นจะนิยมใช้ผนังเบากัน เนื่องจากราคาที่ไม่แพงมากนัก การก่อสร้างที่รวดเร็ว และง่ายกว่า ซึ่งข้อจำกัดก็คือการรับน้ำหนักของโครงสร้างด้านบน หากไม่ได้จะทำชั้นขึ้นต่อจากห้องนอนนี้และรับน้ำหนักเพียงหลังคาการกั้นด้วยผนังเบาก็เป็นคำตอบที่ดีค่ะ

    สำหรับผนังเบาที่นิมใช้กั้นห้องในท้องตลาด หลักๆ ก็จะมี 2 ชนิดค่ะ

    • ผนังยิปซั่ม หนาประมาณ 12 มม.

    • ข้อดี สามารถกั้นผนังเป็นเนื้อเดียวกันไม่มีรอยต่อ ไม่ติดไฟ
    • ข้อเสีย ไม่กันความชื้นและปลวก ต้องใช้วัสดุกันชื้น
    • ราคา 400-500 บาท/ตร.ม. (รวมโครงเหล็กซีไลน์ และไม่รวมกลิ้งสี)

  • ผนัง Fiber Cement หนาประมาณ 8-12 มม.
    • ข้อดี กันความชื้นและกันปลวกได้
    • ข้อเสีย มีรอยต่อของผนังอาจจะไม่สวยงาม (ขึ้นอยู่กับความชอบแต่ละบุคคล)
    • ราคา 400-500 บาท/ตร.ม.

    การติดตั้ง (Installation) คือเป็นแผ่นผนังเบา 2 แผ่นประกอบกัน และตรงกลางใช้โครงสร้างเหล็กเป็นตัวยึดและรับน้ำหนัก ส่วนตรงกลางระหว่างโครงเหล็กนั้นจะเป็นช่องว่าง สามารถใส่ฉนวนกันเสียงเพิ่มลงไปที่ช่องว่างนั้นได้ค่ะ ซึ่งจะช่วยกัน (Absorb) เสียงรบกวนได้มากขึ้น ทั้งนี้ราคาก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วยนะคะ โดยแผ่นกันเสียงนี้จะอยู่ในเรทราคาประมาณ 1,500 – 2,000 บาท/กล่อง

    ค่าใช้จ่ายโดยประมาณสำหรับการต่อเติมห้องนอนผู้สูงอายุ

    • ใช้เสาเข็มสั้น ราคาทั้งหมดรวมวัสดุ ค่าแรง ประมาณ 8,000 – 12,000 บาท/ตร.ม.
    • ใช้เสาเข็มยาว ราคาทั้งหมดรวมวัสดุ ค่าแรง ประมาณ 15,000 – 18,000 บาท/ตร.ม.
    • กั้นผนังภายในบ้าน

    • ราคาผนังเบาประมาณ 400 – 500 บาท/ตร.ม.
    • ค่าแรง 300 – 400 บาท/ตร.ม.

    ** เรทราคามาจากการสอบถามผู้รับเหมา และราคาจากเจ้าหน้าที่ SCG Experience ทั้งนี้ราคาอาจจะไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงได้จากหลายปัจจัย

    อ้างอิงรูปภาพจาก SCG Elder Care

    ต่อมาคือห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ สำหรับใครที่บ้านเดิมไม่ได้มีการออกแบบห้องน้ำในชั้นล่างไว้ให้มีพื้นที่อาบน้ำด้วยนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องต่อเติมพื้นที่อาบน้ำเพิ่มขึ้นมาด้วยค่ะ โดยการทุบผนังด้านใดด้านนึงที่อยู่ฝั่งภายนอกทิ้งแล้วขยายเพิ่มส่วนพื้นที่อาบน้ำขึ้นมา ขนาดเริ่มต้นประมาณ 1.2 x 1.1 ม. ก็สามารถทำพื้นที่อาบน้ำได้แล้วค่ะ

    ค่าใช้จ่ายโดยประมาณสำหรับการต่อเติมพื้นที่อาบน้ำ (ไม่รวมอุปกรณ์ห้องน้ำ)

    • รื้อถอน, สกัดพื้น-ผนัง

    • ค่าแรงประมาณ 30-50 บาท/ตร.ม.

  • กั้นผนังพื้นที่อาบน้ำ
    • ราคาผนังเบาประมาณ 400 – 500 บาท/ตร.ม.
    • ค่าแรง 300 – 400 บาท/ตร.ม.

  • ปูกระเบื้อง + ยาแนว พื้น-ผนัง
    • ค่าวัสดุประมาณ 150 – 500 บาท/ตร.ม.
    • ค่าแรงประมาณ 150 – 250 บาท/ตร.ม. (รวมค่าปูนทรายและค่าปูกระเบื้องแล้ว)

    ** เรทราคามาจากการสอบถามผู้รับเหมา และราคาจาก Real Estate Information Center ทั้งนี้ราคาอาจจะไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงได้จากหลายปัจจัย

    อ้างอิงรูปภาพจาก SCG Elder Care

    เริ่มจากงานแก้ไขบานประตูที่ต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 90 ซม. เพื่อให้รถเข็นเข้า-ออกได้สะดวก

    อ้างอิงรูปภาพจาก SCG Elder Care

    กรณีเป็นประตูบานเปิด

    • ต้องเป็นประตูเปิดออกและสามารถเปิดค้างได้ 90 องศา และมีพื้นที่หน้าห้องน้ำ 1.5 x 1.5 ม.
    • บริเวณด้านในของประตูห้องน้ำ มีราวจับตามแนวนอนโดยราวมีความสูงจากพื้น 80 – 90 ซม. ยาวตลอดความกว้างของประตู
    • บริเวณด้านนอกของประตูห้องน้ำ มีมือจับในแนวดิ่ง (เหมือนกับภาพของประตูบานเลื่อน โดยปลายด้านหน้าด้านล่างสูงจากพื้นไม่เกิน 80 ซม. และมือจับมีความยาวเกิน 20 ซม.

    อ้างอิงรูปภาพจาก SCG Elder Care

    กรณีเป็นประตูบานเลื่อน

    • บริเวณด้านในของประตูห้องน้ำ มีมือจับในแนวดิ่ง โดยปลายด้านล่างสูงจากพื้นไม่เกิน 80 ซม. โดยมือจับมีความยาวไม่เกิน 20 ซม.
    • บริเวณด้านนอกของประตูห้องน้ำ มีมือจับในแนวดิ่ง โดยปลายด้านล่างสูงจากพื้นไม่เกิน 80 ซม. โดยมือจับมีความยาวไม่เกิน 20 ซม.
    • หากมีอุปกรณ์เปิด – ปิดประตู ต้องใช้ชนิดก้านบิด หรือแกนผลัก สูงจากพื้นประมาณ 1.00 – 12.00 น.

    ค่าใช้จ่ายโดยประมาณสำหรับการเปลี่ยนบานประตู

    • เปลี่ยนบานประตูติดบานพับ+ใส่มือจับ (บาน 70-90 cm)

    • ค่าแรง 150 – 250 บาท/บาน
    • ค่าวัสดุ 500 – 5000 บาท/บาน

  • บานประตู
    • ราคาค่อนข้างหลากหลายให้เลือกซื้อในท้องตลาด

    ** เรทราคามาจากการสอบถามผู้รับเหมา และราคาจาก Real Estate Information Center ทั้งนี้ราคาอาจจะไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงได้จากหลายปัจจัย

    อ้างอิงรูปภาพจาก SCG Elder Care

    ต่อมาคือการปรับระดับพื้นให้มีระดับที่เสมอกัน และสกัดธรณีออก สำหรับพื้นภายนอกและพื้นภายในห้องน้ำที่มีขนาดระดับที่ต่างกันอยู่ ความสูงของธรณีประตูต้องไม่เกิน 2 ซม. และบริเวณขอบต้องมีความลาดเอียงไม่เกิน 45 องศา จึงไม่ต้องแก้ไข

    อ้างอิงรูปภาพจาก SCG Elder Care

    หลังจากที่สกัดขอบคอนกรีตออกแล้ว จะทำการสกัดพื้นลงไปประมาณ 3-4 ซม. เพื่อติดตั้งรางน้ำทิ้ง (Floor Drian Rail) ในการทำหน้าที่ระบายน้ำแทน

    ค่าใช้จ่ายโดยประมาณสำหรับการปรับระดับพื้นและติดตั้งรางน้ำทิ้ง

    • รื้อถอน, สกัดพื้น-ผนัง

    • ค่าแรงประมาณ 30-50 บาท/ตร.ม.

  • ติดตั้งรางน้ำทิ้ง
    • งานระบบสุขาภิบาล ส่วนใหญ่คิดเป็นราคาเหมา
    • รางน้ำทิ้ง เรทราคา 300 – 6000 บาท

    ** เรทราคามาจากการสอบถามผู้รับเหมา, ราคาจาก Real Estate Information Center และราคาผลิตภัณฑ์จากท้องตลาด ทั้งนี้ราคาอาจจะไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงได้จากหลายปัจจัย

    ตำแหน่งและการจัดการวางอุปกรณ์ห้องน้ำ

    อ้างอิงรูปภาพจาก SCG Elder Care

    อ่างล้างหน้าควรสูงจากพื้นถึงขอบบนของอ่างประมาณ 75 – 80 ซม. ควรเป็นอ่าชนิดแขวนที่มีที่ว่างใต้อ่างไปจนถึงผนังไม่น้อยกว่า 45 ซม. เพื่อให้ผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็นสามารถสอดขาเข้าไปใต้อ่างแล้วใช้งานได้สะดวก เข่าจะไม่ติดกับเคาน์เตอร์ใต้อ่าง และควรมีราวจับบริเวณข้างอ่างล้างหน้า ซึ่งอาจเป็นชนิดพับเก็บได้หรือชนิด Fixed ก็ได้ค่ะ ทั้งนี้ราวจับควรมีความสูงประมาณ 75 – 80 ซม.

    อ่างล้างมือนั้นจากที่กล่าวไปเบื้องต้นว่าควรเป็นอ่างล้างมือที่มีพื้นที่ว่างด้านล่าง ซึ่งจะเหมาะสมและสะดวกในการใช้งานของผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็น ทั้งนี้หากบ้านไหนมีอ่างเป็นแบบแขวนอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ค่ะ ส่วนราคาของอ่างล้างมือแบบแขวนนี้ก็จะมีราคาประมาณตั้งแต่ 3,000 – 7,000 บาทค่ะ

    และอีกหนึ่งนวัตกรรมใหม่ในการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุก็คืออ่างล้างมือแบบนิ่ม ลดการบาดเจ็บจากแรงกระแทกได้ ด้วยการใช้วัสดุบนอ่างเป็น PU Foam ทั้งนี้สามารถล้างทำความสะอาดได้เช่นเดียวกับกระเบื้องเซรามิกนะคะ แต่ในเรื่องของอายุการใช้งานก็จะน้อยกว่าเซรามิกค่ะ

    อ้างอิงรูปภาพจาก SCG Elder Care

    โถสุขภัณฑ์

    • โถสุขภัณฑ์ควรสูงจากพื้นประมาณ 45 – 50 ซม. ควรมีพนักพิงและมีที่ปล่อยน้ำเป็นคันโยก
    • ระยะห่างของโถสุขภัณฑ์จากผนังและการติดตั้งราวจับ

    • โถสุขภัณฑ์จากผนังประมาณ 45 – 50 ซม.

    • ด้านติดผนัง มีราวจับติดผนังสูงจากพื้น 65 – 70 ซม. และยื่นล้ำออกมาด้านหน้าโถสุขภัณฑ์ประมาณ 25 – 30 ซม. และมีราวจับในแนวดิ่งขึ้นไปอย่างน้อย 60 ซม. (ตามรูป 2)
    • ด้านที่ไม่ติดผนัง ให้มีราวจับติดผนังแบบพับเก็บได้ในแนวราบ มีระยะห่างจากขอบสุขภัณฑ์ประมาณ 15 – 20 ซม. ยาวไม่น้อยกว่า 55 ซม. (ตามรูป 1)

  • หากโถสุขภัณฑ์มีระยะห่างเกิน 70 ซม. ต้องติดตั้งราวจับลอยตัว ชนิดเดียวกับด้านที่ไม่ติดผนัง
  • อ้างอิงรูปภาพจาก SCG Elder Care

    บริเวณโถปัสสาวะชายควรมีราวจับ เพื่อช่วยในการพยุงตัว โดยระยะติดตั้งที่เหมาะสมควรสูงจากพื้นประมาณ 70 ซม. และควรยื่นออกจากผนังประมาณ 55-60 ซม.

    รูปแบบของวัสดุก็มีให้เลือกหลากหลายแบบเพื่อให้เกิดความสวยงามและลงตัวกับการออกแบบ ตั้งแต่ราวจับสแตนเลสทั่วไป และแบบที่มีการออกแบบเพิ่มเติมพื้นที่ผิวให้จับกระชับมือยิ่งขึ้นด้วยวัสดุโพลิเมอร์พิเศษ โดยเรทราคาก็จะมีช่วงราคาที่แตกต่างกันไปค่ะ เนื่องจากลักษณะรูปร่างของราวจับเอง และวัสดุที่ใช้ โดยมีช่วงราคาประมาณ 1,000 – 13,000 บาท

    อีกแบบที่เห็นก็มีการทำบริเวณมือจับเป็นไม้เนื้อแท้เพื่อความสวยงามและจับได้ถนัดมือ

    ราวจับแบบพับได้ ประหยัดพื้นที่ใช้งานสะดวก เรทราคาประมาณ 8,000 – 13,000 บาท

    ส่วนของโถสุขภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องซื้อฝารองนั่งแบบอัตโนมัติที่มีราคาค่อนข้างสูง อยู่ในเรทราคาประมาณ 4,000 – 60,000 บาท ซึ่งเราสามารถเลือกใช้ฝารองนั่งที่เป็นระบบ Manual แต่ก็ใช้งานได้สะดวกเช่นเดียวกันค่ะ

    ระบบ Manual นี้ก็คือเป็นคันโยกเล็กๆ เหมือนคันโยกด้านบนบริเวณถังเก็บน้ำโถสุขภัณฑ์ ใช้งานเหมือนกันเพียงแค่เปลี่ยนตำแหน่งเพื่อเพิ่มความสะดวกมากขึ้น

    อ้างอิงรูปภาพจาก SCG Elder Care

    พื้นที่อาบน้ำ

    • แบบฝักบัว (Shower Room)

    • ควรมีพื้นที่ว่างขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 1.1 ม. และความยาว 1.2 ม. และไม่ควรมีพื้นที่ต่างระดับเพื่อความสะดวกในการเข้าถึง
    • มีที่นั่งสำหรับอาบน้ำที่มีความสูงจากพื้น 45 – 50 ซม.
    • มีราวจับตามลักษณะในภาพโดยมีความสูงจากพื้น 65 – 70 ซม.

  • แบบอ่างอ่างน้ำ
    • มีราวจับบริเวณด้านติดผนัง ห่างจากผนังอย่างน้อย 60 ซม. สูงจากพื้นประมาณ 65 – 70 ซม. หรือส฿งจากขอบอ่างอาบน้ำประมาณ 15 – 20 ซม.

    ลักษณะการติดตั้งฝักบัวจะเห็นได้ว่าต้องลดระดับลงมาให้ต่ำลงหน่อยเพื่อสะดวกในการเอื้อมจับของผู้สูงอายุที่ยืนไม่ได้

    หากบ้านไหนที่มีพื้นที่อาบน้ำไม่มากพอที่จะก่อที่นั่งคอนกรีตขึ้นมา ก็สามารถใช้เก้าอี้ลอยตัวได้เช่นกันนะคะ แต่เก้าอี้ที่ใช้อาบน้ำบนพื้นที่เปียกนี้สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือขาเก้าอี้จะต้องมั่นคงไม่ลื่น ส่วนราคาเก้าอี้ตัวนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3,250 บาทค่ะ

    อีกวิธีในการประหยัดพื้นที่มากขึ้นไปอีกคือการติดตั้งเก้าอี้นั่งแบบพับได้ค่ะ ซึ่งราคาก็จะสูงขึ้นตามความสะดวกในการใช้งานและการประหยัดพื้นที่ตามไปด้วย โดยจะตกอยู่ที่ประมาณ 13,000 – 50,000 บาท

    ในส่วนของพื้นนั้นเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรละเลย เนื่องจากอุบัติเหตุของผู้สูงอายุส่วนนึงนั้นมาจากการลื่นล้ม ดังนั้นกระเบื้องสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่ต่างๆ ควรพิจารณากระเบื้องจากค่าความเสียดทานบนผิวหน้ากระเบื้อง (R = Coefficient of Friction) ได้มาจากการทดสอบ Ramp Test โดยปูกระเบื้องบนทางลาดในระดับองศาต่างๆ

    • R 9 = เหมาะสำหรับพื้นที่ภายใน
    • R 10 = เหมาะสำหรับพื้นที่เปียกน้ำ เช่น ห้องน้ำ เป็นต้น
    • R 11 = เหมาะสำหรับพื้นที่ภายนอกอาคาร