ทุกคนครับ…เวลาที่เราซื้อบ้านหรือทาวน์โฮมมาแล้ว ตอนใช้งานเปิดประตูรั้วหน้าบ้าน เคยเจอปัญหาแบบนี้กันบ้างรึป่าว?

  • ประตูใช้งานยาก มีข้อพับและกลอนเยอะ ก้มบ๊อยบ่อย ปวดหลัง
  • ภรรยาใช้ลงไปเปิด ต้องตากแดดตากฝนบ่อยๆ แถมไม่สบายอีก
  • ประตูชนกับรถจนเป็นรอย ต้องเคลมเป็นอาทิตย์ๆ
  • อยากเปลี่ยนประตูแต่พื้นที่ไม่อำนวย เพราะไม่รู้ว่ามีประตูแบบไหนอีกบ้าง

หากใครประสบปัญหาเหล่านี้อยู่…เราคือเพื่อนกัน ซึ่งผมก็เป็นเหมือนกันครับ ทั้งกับที่บ้านตัวเองหรือตอนไปถ่ายรีวิวโครงการต่างๆก็ตาม ซึ่งวันนี้ผมก็ได้รวบรวมข้อมูลรูปแบบประตูต่างๆ และวิธีการใช้งานที่เหมาะสมมาฝากกันด้วย

รวมถึงจะมีบอกราคาคร่าวๆเอาไว้ให้ด้วยนะ เผื่อใครอ่านแล้วสนใจอยากจะเปลี่ยนตาม จะได้มีข้อมูลตัวเลขประกอบการตัดสินใจว่า “งบที่เรามีเพียงพอหรือป่าว” โดยบทความนี้ผมจะให้ถือคติไว้ว่า…“จะเปลี่ยนทั้งที ชีวิตต้องดีใช้งานง่าย และสบายกระเป๋า”


แบบประตูรั้วไหนที่ใช่สำหรับเรา?

จากที่ Think of Living เราเคยทำรีวิวมาแล้วหลายต่อหลายโครงการ และได้มีโอกาสสัมผัสกับประตูบ้านต่างๆมาแล้วทุกรูปแบบ ซึ่งผมสามารถแบ่งออกเป็น 5 แบบด้วยกัน ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีข้อดี-ข้อเสีย และความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปดังนี้

1. ประตูแบบบานเปิด

รูปแบบประตูที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี สำหรับโครงการบ้านสมัยก่อนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เพราะให้ความรู้สึกภูมิฐานและปลอดภัย แถมการใช้งานก็ไม่ยุ่งยากอีกด้วย แต่มีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่ 3 เรื่องหลักๆคือ

  • วงสวิงหรือรัศมีของประตูตอนเปิด : จะถูกกำหนดด้วยหน้ากว้างของที่จอดรถทั้งหมด (แล้วหาร 2) สมมุติที่จอดรถกว้าง 5 m. ประตูก็จะต้องกว้างฝั่งละ 2.5 m. โดยบ้านที่ใช้ประตูรูปแบบนี้ส่วนใหญ่ หากมีความลึกของที่จอดรถไม่มากพอ ก็อาจต้องใช้วิธีการเปิดออกมาด้านนอกแทนครับ
  • น้ำหนัก : ด้วยลักษณะของประตูที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน หากใช้วัสดุที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก ผู้ใช้งานก็จะต้องรับน้ำหนักนั้นๆที่มากขึ้นตามไปด้วย
  • ความกว้างของประตู : สืบเนื่องจาก 2 ข้อด้านบน ยิ่งบานประตูกว้างมากเท่าไหร่ น้ำหนักก็จะยิ่งเยอะ และใช้งานยากมากขึ้นเท่านั้น สมมุติ ถ้าบ้านหน้ากว้างถึง 10 m. เราคงไม่ทำประตูสูง 2 m. ออกมาด้านละ 5 m. หรอกจริงมั๊ยครับ ดังนั้นเราจึงเห็นบ้านบางหลังเค้าใช้วิธีการ แบ่งช่วงของประตูออกเป็น 2 ชุด ให้พอดีกับระยะการเข้า-ออกของรถที่ใช้ แล้วยังสามารถเลือกใช้งานเฉพาะบานประตูที่ต้องการได้อีกด้วย (ไม่จำเป็นต้องเปิดทั้งหมดนั่นเองครับ)
  • ราคา : 1,200 – 4,000 บาท/ตร.ม.

2. ประตูแบบบานเฟี้ยม

หากใครซื้อโครงการทาวน์โฮมในรุ่นใหม่ๆ มักจะคุ้นเคยกับประตูชนิดนี้ดีครับ เป็นรูปแบบที่พัฒนามาจากประตูบานเปิด โดยการนำประตูบานเล็กๆมาต่อกันด้วยบานพับ เวลาเปิดใช้งานก็จะซ้อนทบกันไปเรื่อยๆ

  • ข้อดี : ค่อนข้างประหยัดพื้นที่ในการใช้งาน เพราะจะไม่ต้องเสียระยะสวิงค์เยอะๆเหมือนประตูบานเปิด
  • ข้อเสีย : บานพับมากขึ้น…ย่อมมาพร้อมกับจำนวนกลอนที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย เพื่อช่วยยึดและล็อคให้ประตูมั่นคงอยู่กับที่ ซึ่งสิ่งนี้แหละที่เป็นความยากลำบากในการใช้งาน เพราะเราจะต้องก้มๆเงยๆหลายครั้ง และใช้เวลาในการเปิด-ปิดพอสมควร นอกจากอาการปวดหลังปวดเอวแล้ว เราอาจต้องตากแดดตากฝนอีกด้วยครับ
  • ข้อควรระวัง : ไม่ควรมีการซ้อนทับของประตูหลายๆชั้นมากเกินไป เพราะจะทำให้ประตูนั้นๆที่อยู่ด้านข้างยิ่งหนามากขึ้น จนบางครั้งอาจกีดขวางการเข้า-ออกของรถยนต์ได้
  • ราคา : 1,200 – 4,000 บาท/ตร.ม.

ตัวอย่างอีกสถานการณ์นะครับ คือประตูบานพับลักษณะแบบนี้ บางเจ้าจะสามารถพับเข้าด้านใน/หรือออกด้านนอกก็ได้ ส่วนตัวผมไม่ได้มองในเรื่องความสะดวกนะ แต่เราควรมองเรื่องความปลอดภัยมากกว่า ลองจินตนาการดูว่า…หากเราเปิดประตูเอาไว้ แต่อยู่ๆก็มีลมแรงๆพัดประตูดันกลับเข้ามา แล้วกระแทกหรือชนเข้ากับรถที่จอดอยู่ในบ้าน ก็จะทำให้ทรัพย์สินอื่นๆเสียหายได้

ซึ่งวิธีแก้ก็อาจเลือกใช้เป็นข้อพับบานประตู ที่เปิดออกเฉพาะด้านที่เราต้องการเท่านั้น หรืออาจเพิ่มรางเล็กๆบนพื้นเพื่อบังคับทิศทาง หรือล็อคไม่ให้เกิดการแกว่งของประตูได้ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของประตูที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี้นั่นเองครับ

3. ประตูบานเลื่อน

เป็นที่นิยมสำหรับโปรดักส์บ้านเดี่ยวและบ้านแฝด เพราะใช้งานค่อนข้างง่าย เพียงแค่เราสไลด์หรือเลื่อนประตูไปด้านข้างเท่านั้น แต่หากเป็นโครงการประเภททาวน์โฮม เราจะพบประตูรูปแบบนี้ได้เฉพาะทาวน์โฮมแบบ 1 ที่จอดรถเท่านั้น เพราะจะต้องเผื่อพื้นที่หน้ากว้างอีกฝั่งไว้เลื่อนเก็บประตู สมมุติที่จอดรถมาตรฐานกว้าง 2.5 m. ดังนั้นทาวน์โฮมจะต้องมีหน้ากว้างอย่างน้อย 5 m. โดยจะมีที่จอดรถ 1 คัน เป็นต้น

  • ข้อดี : ใช้งานง่าย ด้วยการเลื่อนหรือผลักไปทางด้านข้าง แต่อาจจะมีเรื่องน้ำหนักและความฝืดของล้อที่จะมีผลต่อการใช้งานบ้าง ทั้งนี้จึงขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและวัสดุที่เลือกใช้ครับ
  • ข้อเสีย : ไม่เหมาะกับบ้านหน้าแคบ จำเป็นต้องมีระยะในการเลื่อนเก็บประตู
  • ราคา : 1,500 – 5,000 บาท/ตร.ม.

และสำหรับบ้านหรือทาวน์โฮมที่มีหน้ากว้างมากๆหน่อย เราก็อาจได้เห็นประตูบานเลื่อนแบบ 2 ตอนอีกด้วยครับ โดยการเพิ่มรางซ้อนกัน 2 เส้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในแง่การเลือกใช้งานประตูได้อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น..บ้านในภาพด้านบน เราอาจเลือกจอดรถคันที่ใช้บ่อยๆเอาไว้ฝั่งขวา เพื่อที่เวลาเปิดประตูก็อาจเปิดแค่ครึ่งเดียวให้รถ 1 คันออกได้ก็พอ (ไม่จำเป็นต้องเปิดทั้งหมด) แต่เมื่อเราจำเป็นต้องเลื่อนเปิดทั้งหมด ก็อาจมีข้อเสียในเรื่องน้ำหนักของประตูที่เพิ่มเป็น 2 เท่า (หากล้อฝืดหรือเราเลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก ก็จะมีผลกับการใช้งานได้เหมือนกันครับ)

ประตูบานเลื่อนแบบโค้ง เป็นการรวมประตูบานเลื่อน+ประตูบานเฟี้ยมเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นรูปแบบประตูที่ส่วนตัวผมค่อนข้างชอบมากที่สุด แต่เราอาจไม่ได้พบเห็นกันบ่อยๆนัก

  • ข้อดี : ใช้งานค่อนข้างง่าย แถมยังประหยัดพื้นที่ค่อนข้างมาก ลองดูที่ประตูตามภาพตัวอย่างด้านบน ซึ่งลักษณะเป็นฝั่งละ 2 – 3 ตอน หากประตูดังกล่าวใช้วิธีเปิดแบบบานเฟี้ยมธรรมดา ก็จะต้องมีการทบกัน 2 – 3 ครั้ง (ประตู 1 บานมีความหนาประมาณ 5 – 10 cm. เราก็อาจต้องเสียระยะเข้า-ออกจอดรถ ไปฝั่งละประมาณ 15 – 30 cm.) ซึ่งอาจเป็นปัญหาสำหรับทาวน์โฮมที่ออกแบบระยะจอดรถมาไว้แบบพอดีๆ แต่สำหรับประตูบานเลื่อนแบบโค้งนี้ เราจะเสียพื้นที่ด้านข้างไปฝั่งละประมาณ 10 cm. เท่านั้น
  • ข้อเสีย : จำนวนล้อจะมีเยอะกว่าประตูบานเลื่อนปกติ อาจมีปัญหาเช่น ล้อฝืดหรือตกรางได้บ่อยกว่า
  • ราคา : 5,000 – 7,500 บาท/ตร.ม.

4. ประตูม้วนแบบโรงจอดรถ

ปกติเรามักจะเห็นประตูลักษณะแบบนี้ตามเมืองนอกกันบ่อยๆ ซึ่งรูปแบบจะเป็นโรงจอดรถมิดชิดจริงจังไปเลย แต่สำหรับบ้านเรามักจะถูกนำมาใช้ในอาคารพาณิชย์กันมากกว่าครับ เพราะด้วยลักษณะการใช้งานที่ม้วนเก็บขึ้นไปด้านบน ทำให้ไม่รบกวนพื้นที่ใช้สอยด้านล่างเลยนั่นเอง

แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย บวกกับการออกแบบที่สวยงามมากขึ้นในปัจจุบัน เราจึงได้เห็นประตูลักษณะแบบนี้กลับมาอีกครั้งในโครงการบ้านหรูๆแพงๆ เพราะคนกลุ่มนี้จะเน้นเรื่องความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูง โดยเฉพาะคนรักรถอย่างคุณผู้ชายทั้งหลาย ก็คงไม่อยากจอดรถราคาหลายล้านให้ตากแดดตากฝนหรอกจริงมั๊ยครับ ซึ่งประตูรูปแบบนี้ก็ตอบโจทย์แบบสุดๆเลยล่ะ

ถึงแม้ว่าชื่อจะถูกเรียกว่าเป็นประตูแบบม้วน แต่ลักษณะการใช้งานในยุคใหม่นี้ จะไม่ได้ม้วนเป็นก้อนกลมๆ ขึ้นไปเก็บไว้ในกล่องด้านบนเหนือช่องประตูเหมือนเดิมแล้วนะ เพราะรูปแบบนั้นอย่างที่เราคุ้นตากันดีว่า ประตูจะเป็นลวดลายทางริ้วๆเส้นๆเยอะๆ ซึ่งมันก็ไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่นัก

แต่สำหรับประตูแบบใหม่จะใช้วิธีเลื่อนประตูขึ้นไปเก็บบนฝ้าเพดานทั้งผืนเลยครับ โดยการลดจำนวนบานพับของประตูลงให้เหลือน้อยที่สุด แล้วยังสามารถปิดได้สนิท แนบเนียนและสวยงามมากขึ้นอีกด้วย

  • ข้อดี : ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวมากๆ รวมถึงไม่รบกวนพื้นที่ใช้สอยที่พื้นเลยครับ
  • ข้อเสีย : ถูกจำกัดเรื่องความสูงของฝ้าเพดาน อาจไม่ได้เหมาะกับรถที่ต้องเสริมอุปกรณ์ หรือบรรทุกของบนหลังคาเยอะๆได้ และเพื่อความสะดวกจึงมักใช้งานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า กลายเป็นประตูแบบอัตโนมัตินั่นเองครับ
  • ราคา : 3,000 – 4,000 บาท/ตร.ม. (เฉพาะบานประตู) + ค่ามอเตอร์ไฟฟ้าประมาณ 10,000 – 30,000 บาท

5. ประตูรั้วอัตโนมัติ

ก่อนอื่นผมต้องบอกว่า ประตูทุกรูปแบบที่เรากล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นบานเปิด บานเฟี้ยม บานเลื่อน และบานม้วน ทุกแบบสามารถกลายเป็นประตูอัตโนมัติได้ทั้งหมดเลย เพียงแค่เราติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าไป แล้วสามารถสั่งการหรือควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรลครับ

  • ข้อดี : ค่อนข้างสะดวกมากๆ เพราะเราไม่ต้องลงจากรถมาตากแดดตากฝนเพื่อเปิดประตูเอง ส่วนเรื่องความปลอดภัยก็ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนประตูหนีบหรือชนรถนะครับ เพราะส่วนใหญ่แล้วประตูไฟฟ้าอัตโนมัติมักจะมีเซ็นเซอร์ติดมาให้ด้วย ซึ่งหากมีอะไรขวางอยู่ก็จะหยุดเคลื่อนไหวทันที (จนกว่าเราจะกดรีโมทให้เริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง)
  • ข้อเสีย : มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นตัวมอเตอร์ที่เพิ่มขึ้นมา ค่าติดตั้งและเตรียมงานระบบต่างๆ รวมถึงค่าบำรุงรักษาในอนาคตด้วย
  • ราคา : ค่ามอเตอร์ไฟฟ้าประมาณ 10,000 – 30,000 บาท + ราคาประตู

นอกจากนี้สิ่งที่หลายๆคนอาจเป็นกังวลคือ “…แล้วถ้าไฟดับล่ะ จะทำยังไง?” แน่นอนครับว่าหากไม่มีไฟฟ้า ประตูประเภทนี้ก็จะไม่สามารถใช้งานแบบอัตโนมัติด้วยรีโมทได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วทางผู้พัฒนาหลายๆเจ้า ก็มักจะมีแผนสำรองคือ เราสามารถปรับเป็นโหมดแมนนวล (Manual) เพื่อเลื่อนเปิดประตูด้วยมือได้ครับ (ปกติแล้วหากไม่ปรับเข้าโหมดนี้ ก็จะไม่สามารถใช้มือเลื่อนประตูได้นะ)

แต่วิธีการคือ เราจะต้องใช้กุญแจฉุกเฉินเพื่อไขกล่องมอเตอร์ไฟฟ้า แล้วสับโหมดหรือคันโยกที่อยู่ด้านใน(แล้วแต่ยี่ห้อ) แน่นอนว่าตัวกล่องมักจะติดตั้งอยู่ด้านในรั้วบ้าน ซึ่งหากเป็นบ้านที่มีหน้ากว้างอย่างบ้านเดี่ยวหรือบ้านแฝด ก็มักจะมีประตูเล็กสำหรับคนเดินให้ไขเข้าบ้านได้สะดวก แต่หากเป็นทาวน์โฮมหรือประตูหน้าบ้านเป็นประตูอัตโนมัติบานใหญ่ทั้งหมด คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปีนเข้าบ้านตัวเองนะครับ ^^”

นอกจากนี้การติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าในประตูแต่ละแบบ จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของจำนวนเครื่อง และยังจำเป็นต้องเผื่อระยะสำหรับวางตัวเครื่องอย่างน้อยฝั่งละ 20 – 30 cm. ดังนี้

  • ใช้มอเตอร์ 1 ตัว : แบบบานเลื่อนตรงๆ และแบบเลื่อนโค้ง 1 ฝั่ง
  • ใช้มอเตอร์ 2 ตัว : แบบบานเฟี้ยม แบบบานยก และแบบบานเลื่อน 2 ฝั่ง

การเตรียมพื้นที่ติดตั้ง
– ควรเดินเมนไฟมารอไว้ตรงบริเวณที่เราจะติดตั้งประตู ขนาดสายอย่างน้อย 2 x 2.5 vct หรือเป็นสายเดินภายนอกอาคาร
– หากเป็นบ้านใหม่ ควรวางท่อข้ามพื้นถนน ระหว่างเสาประตูทั้ง 2 ฝั่ง สำหรับร้อยสายตัวเซ็นเซอร์กันหนีบ
– ควรทำหางปลาด้านล่างของประตูเผื่อไว้ ความยาวอย่างน้อย 30 cm.
– เสากันล้ม ไม่ควรชิดประตูมากเกินไป ควรมีช่องว่างอย่างน้อยประมาณ 7 cm.
– หากพื้นที่ เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมขังได้ ควรทำกระดูกงูที่ประตู ให้สูงขึ้นมา เผื่ออนาคตเราสามารถยกมอเตอร์ขึ้นที่สูงได้

อีกหนึ่งตัวอย่างสำหรับคนที่อยากจะติดตั้งประตูไฟฟ้าอัตโนมัติ แต่ด้วยขนาดพื้นที่หน้าบ้านอาจไม่เอื้ออำนวยเท่าไหร่นัก สามารถแก้ได้โดยการทำเสา คาน หรือซุ้มประตูหน้าบานขึ้นมา เพื่อใช้วางกล่องมอเตอร์ไฟฟ้าและงานระบบต่างๆไว้ด้านบนได้ครับ โดยสิ่งที่แลกมาคือ…เราจะถูกจำกัดความสูงไปบ้าง แต่ก็ไม่เสียพื้นที่ใช้สอยด้านล่างเลยนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลประตูจาก ALNEX ที่เคยมาร่วมงานสถาปนิก 59 ด้วยครับ

และเช่นเดียวกันสำหรับประตูรั้วไฟฟ้าอัตโนมัติแบบบานยก ก็จะถูกจำกัดในเรื่องความสูงอยู่ที่ 2.14 m. โดยผมได้ลองสำรวจตลาดรถยนต์มาแล้ว ซึ่งรถคันใหญ่ๆอย่าง กระบะ หรือ SUV ปกติจะมีความสูงอย่างมากไม่เกิน 1.7 – 1.8 m. (เว้นแต่ว่าเราจะเสริม Option หรือความสูงเพิ่มเติมเองทีหลัง) ซึ่งความสูงของประตูรูปแบบนี้ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานอยู่ครับ

จากสอบถามราคามาคร่าวๆคือ รั้วสูง 1.5 เมตร(มีความสูงเดียว) ถ้าเราเลือกความยาวของรั้วประมาณ 2.7 – 3.3 เมตร ราคาอยู่ที่ประมาณ 94,000 บาท ส่วนถ้าเราเลือกความยาวของรั้วอยู่ที่ประมาณ 3.4 – 6.3 ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 148,000 บาท ซึ่งเป็นราคารวมค่าติดตั้งแล้ว (เฉพาะเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล)

ดูลักษณะการทำงานของประตูได้ที่ >>> Living Idea ตอนที่ 42 – ประตูรั้วอัตโนมัติ

ขอบคุณภาพประกอบจาก dsignsomething.com

วิธีคำนวณขนาดของมอเตอร์ประตูรั้วไฟฟ้า

ปกติแล้วมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีขายในท้องตลาด จะมีอยู่ด้วยกันหลากหลายขนาด ซึ่งจะมีความสามารถในการรับน้ำหนักของประตูที่แตกต่างกันคือ 400 , 600 , 800 , 1000 , 1200 , 1500 และ 2000 กิโลกรัม โดยเราจะสามารถปรึกษาและให้ช่างมาคำนวณให้ได้ว่า จะต้องใช้มอเตอร์ขนาดเท่าไหร่ หรือจะลองคำนวณเพื่อกะราคาค่าใช้จ่ายเองคร่าวๆก่อนได้ โดยมีสูตรดังนี้


ความยาวของประตูรั้วส่วนที่เลื่อน (เมตร) x น้ำหนักประตูรั้ว (กิโลกรัม) = ขนาดมอเตอร์ที่ใช้ (กิโลกรัม)


โดยมีตัวอย่างของน้ำหนักประตูแบบคร่าวๆที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ

  • ประตูรั้วสเตนเลส น้ำหนักประมาณ 75 กิโลกรัม/เมตร (ที่ความสูงประตู 2 เมตร)
  • ประตูรั้วสเตนเลสและไม้ น้ำหนักประมาณ 175 กิโลกรัม/เมตร (ที่ความสูงประตู 2 เมตร)
  • ประตูรั้วเหล็กกล่อง น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม/เมตร (ที่ความสูงประตู 2 เมตร)
  • ประตูรั้วเหล็กกล่องและไม้ น้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม/เมตร (ที่ความสูงประตู 2 เมตร)
  • ประตูรั้วอัลลอยด์ น้ำหนักประมาณ 225 กิโลกรัม/เมตร (ที่ความสูงประตู 2 เมตร)

มาเลือกวัสดุที่จะใช้ทำประตูกันเถอะ

หลังจากที่เราสามารถเลือกรูปแบบประตูที่เหมาะสมกับการใช้งานได้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “การเลือกวัสดุ” ซึ่งไม่ได้มีผลแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของน้ำหนัก ความแข็งแรง และการดูแลรักษาที่แตกต่างกันอีกด้วย ซึ่งจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. เหล็ก

มีความแข็งแรงทนทาน และถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ราคาไม่สูงมาก แต่เหล็กก็มีหลากหลายเกรดให้เลือก ยิ่งเหล็กมีความหนาและแข็งแรงมากขึ้นเท่าไหร่ ก็อาจยิ่งมีราคาสูงมากขึ้นตามเท่านั้น เช่น เหล็กแป๊ป ที่นิยมนำมาทำท่อน้ำต่างๆ ซึ่งผ่านกระบวนการชุบกัลวาไนซ์ จะไม่เป็นสนิมได้ง่าย (แต่ก็จะมีราคาสูงกว่าเหล็กธรรมดาเกือบ 2 เท่า)

  • ข้อดี : แข็งแรงทนทาน ราคาไม่แพง สามารถดัดหรือทำลวดลายได้หลากหลาย รวมถึงยังสามารถทาสีตกแต่งเพื่อความสวยงามได้อีกด้วย
  • ข้อเสีย : มีโอกาสเกิดสนิมได้ง่าย ควรหมั่นดูแลรักษาโดยการทาสีกันสนิมบ่อยๆ
  • ราคา : 2,000 – 4,000 บาท/ตร.ม.

2. สเตนเลส

หรือมีอีกชื่อว่า เหล็กกล้าไร้สนิม เป็นโลหะผสมที่มีปริมาณคาร์บอนน้อยกว่า 2% ของน้ำหนัก และมีส่วนผสมของโครเมียมอย่างน้อย 10.5% ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นฟิล์มโครเมียมออกไซด์อยู่บนพื้นผิว คอยป้องกันไม่ให้ออกซิเจนในอากาศสัมผัสกับเหล็ก ช่วยให้ไม่เกิดสนิม อีกทั้งยังทนทานต่อการกัดกร่อนต่างๆได้อีกด้วย

  • ข้อดี : น้ำหนักเบากว่าเหล็ก ไม่เป็นสนิม และทนต่อการกัดกร่อนได้ดี จึงดูแลรักษาได้ง่ายเพียงแค่ฉีดน้ำล้าง หรือนำผ้าหมาดๆมาเช็ดทำความสะอาด เหมาะกับบ้านที่อยู่ใกล้ทะเล ความสวยงามอยู่ที่ความมันเงาและดูทันสมัยของตัวเหล็ก
  • ข้อเสีย : มีสีสันให้เลือกน้อย เนื่องจากมีฟิล์มโครเมียมออกไซด์เคลือบอยู่ที่พื้นผิว จึงไม่สามารถทา/พ่นสีให้เกาะติดได้เหมือนวัสดุประเภทอื่น
  • ราคา : 4,500 – 6,000 บาท/ตร.ม.

3. อลูมิเนียม

เป็นวัสดุธรรมชาติที่สกัดจากแร่อลูมินา มักจะถูกรีดออกมาเป็นแผ่นบางๆ จึงมีน้ำหนักเบา แต่เหนียวและทนต่อการแตกหักค่อนข้างสูง ไม่เป็นสนิม นำความร้อนได้ไวกว่าพวกสเตนเลสและเหล็ก แต่ก็มีราคาที่สูงกว่าเช่นกัน นิยมนำมาใช้ตกแต่งที่อยู่อาศัยทั้งภายในและภายนอก เนื่องจากวัสดุสามารถดัดงอ ทำสีและลวดลายได้หลากหลายมากๆ ทั้งสีเรียบๆสไตล์โมเดิร์น หรือจะเป็นสีลายไม้ก็มี

  • ข้อดี : มีสีสันและลวดลายให้เลือกหลากหลาย น้ำหนักเบา ง่ายต่อการใช้งาน ดูแลรักษาง่ายเพียงใช้น้ำล้างหรือผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาด และยังพ่นสีใหม่ได้อีกด้วย
  • ข้อเสีย : ราคาค่อนข้างสูง และอาจไม่เหมาะกับบ้านที่ต้องการความโปร่งโล่งมากนัก เพราะส่วนใหญ่ลักษณะประตูจะค่อนข้างทึบตัน และเน้นความเป็นส่วนตัวมากกว่า
  • ราคา : 5,000 – 7,000 บาท/ตร.ม.

4. อัลลอยด์

คือโลหะผสมตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป บางคงอาจเรียกว่าเหล็กหล่อ บางคนก็เรียกว่าเหล็กชุบ ถึงแม้ว่าวัสดุชนิดนี้จะไม่เป็นสนิมง่ายเหมือนเหล็กทั่วไป แต่หากโดนแดดหรือกรดด่างมากๆ ก็มีสิทธิ์ผุกร่อนได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องหมั่นทาสีเคลือบบ่อยๆ หากดูแลดีๆก็สามารถอยู่ได้ 20 – 30 ปีเลยครับ แต่ไม่ควรใช้กับบ้านที่อยู่ใกล้ทะเลนะ

  • ข้อดี : สามารถทาสีได้ตามต้องการ มีลวดลายที่สวยงาม มักใช้กับบ้านที่ต้องการความหรูหราและโอ่โถง แข็งแรงทานทาน และไม่เป็นสนิมง่าย
  • ข้อเสีย : มีราคาค่อนข้างสูง และเนื่องจากเป็นโลหะผสม จึงค่อนข้างเปราะ แตกหักง่าย และไม่เหนียวเท่าเหล็ก เวลานำมาใช้ทำประตูจึงต้องใช้ในปริมาณที่มาก และมีความหนามากกว่าปกติ จึงทำให้ประตูมีน้ำหนักเยอะ ไม่เหมาะกับบ้านที่มีผู้สูงอายุที่ต้องเปิดประตูด้วยตัวเอง
  • ราคา : 7,000 – 8,000 บาท/ตร.ม.

5. ไม้

ปกติแล้วไม้ที่นิยมนำมาทำประตูรั้วหน้าบ้าน จะต้องเป็นไม้เนื้อแข็งที่ปลวกหรือแมลงไม่กินคือ ไม้แดง , ไม้เต็ง , ไม้มะค่า , ไม้สัก และไม้สนยุโรป ซึ่งการใช้ไม้จริงต่างๆเหล่านี้ จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง รวมถึงยังต้องมีการบำรุงรักษาที่ดีอีกด้วย เป็นวัสดุที่ขึ้นอยู่กับความชอบและรสนิยมส่วนบุคคล เพราะบางคนก็ให้ความสำคัญกับคุณค่าของไม้ อย่างไม้สักที่ยิ่งเก่า ลายยิ่งสวย ก็ยิ่งมีราคาแพง เป็นต้น

สำหรับใครที่ชอบหรือต้องการประตูรั้วลายไม้ แต่ไม่อยากเสียเวลาดูแล หรือเสียค่าบำรุงรักษาเยอะๆ ปัจจุบันก็มีวัสดุอื่นๆที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ แถมยังมีราคาที่ถูกกว่าอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นประตูอลูมิเนียมก่อนหน้านี้ก็สามารถทำเป็นลายไม้ได้เหมือนกัน หรือจะเป็นพวกไม้เทียมและไม้สังเคราะห์ต่างๆ เช่น Wood Plastic Composite และไม้สังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะให้สีสันและลวดลายที่เหมือนไม้จริงแล้ว ยังมีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศ และไม่กลัวแมลงอีกด้วย

  • ข้อดี : มีสีสันและลวดลายที่สวยงาม เป็นธรรมชาติ ทำให้บรรยากาศบ้านรู้สึกอบอุ่น และหากเป็นไม้จริงเวลาใช้ไปจนเก่าซีด จะสามารถใช้กระดาษทรายขัดเพื่อให้เผยลวดลายเนื้อไม้ใหม่ด้านใน แล้วค่อยทาสีทับอีกครั้งก็จะเหมือนได้ประตูบานใหม่เลยครับ ส่วนไม้เทียมก็สามารถทาสีพลาสติกอื่นๆใหม่ได้หากต้องการ
  • ข้อเสีย : สำหรับไม้จริงจะต้องมีการดูแลและบำรุงรักษาที่ดี คอยทาสีย้อมไม้เพื่อเคลือบเงา ป้องกันแมลงและมลภาวะต่างๆ รวมถึงไม้จริงอาจมีการบวมหรือแตกร้าวตามธรรมชาติได้เหมือนกัน
  • ราคา : 1,000 – 3,000 บาท/ตร.ม.


ใช้ตารางนี้คำนวณราคาแบบคร่าวๆยังไง?

Image 1/2

จากตารางในข้างต้นก็พอจะทำให้เรารู้ถึง “จุดเด่น-จุดด้อย” และยังสามารถเลือกรูปแบบประตู กับวัสดุที่เหมาะสมกับความต้องการ และการใช้งานของเราได้แล้วนะครับ แต่ทั้งนี้ทุกคนย่อมมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งราคาในตารางนี้เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ ที่ทำให้เราเห็นภาพรวมในท้องตลาดเท่านั้น ว่าแบบไหนถูก/แบบไหนแพง และถ้าอยากทำแบบนี้บ้างจะต้องใช้เงินประมาณเท่าไหร่ โดยมีสูตรคำนวณง่ายๆคือ


ราคาค่าทำประตูรั้วบ้าน (บาท) = ขนาดพื้นที่ประตู (กว้าง x สูง) x ราคารูปแบบประตู (บ./ตร.ม.)


ส่วนราคาวัสดุ…อาจใช้วิธีการเทียบบัญญัติไตรยางค์ง่ายๆเอาได้ครับ เช่น หากใช้สเตนเลสก็จะมีราคาสูงกว่าเหล็กประมาณ 2 เท่า หรือถ้าเป็นอลูมิเนียมและอัลลอยด์ ก็จะแพงกว่าเหล็ก 3 เท่า เป็นต้น

แต่ทั้งนี้…ก็ควรสอบถามกับช่างอีกครั้ง เพราะจะมีบางเคสที่ออกแบบประตูโดยใช้วัสดุหลายๆอย่างผสมกันด้วยครับ ซึ่งช่างบางรายจะมีบริการตรวจวัดพื้นที่หน้างาน และประเมินราคาให้ฟรีอีกด้วยนะ ส่วนถ้าใครต้องการติดตั้งประตูไฟฟ้าอัตโนมัติ ก็จะต้องบวกค่ามอเตอร์ตามขนาดที่ต้องใช้เพิ่มเข้าไปด้วยครับ


…จบแล้วนะครับสำหรับบทความเรื่อง “5 ไอเดีย เปลี่ยนประตูรั้วทาวน์โฮมให้ใช้งานง่าย ต้องใช้เงินเท่าไหร่?” หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์และนำไปใช้กันได้จริงนะ ซึ่งหากใครมีไอเดียหรือประสบการณ์อะไรเกี่ยวกับประตูรั้วบ้านเพิ่มเติม ก็สามารถ comment เพื่อแชร์กับเพื่อนๆคนอื่นที่ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

และพอดีว่าวันที่ลงทบความนี้เป็นวันแม่พอดี หากใครมีแพลนพาครอบครัวไปเที่ยวที่ไหนก็ขอให้เดินทางปลอดภัยนะครับ “สุขสันต์วันหยุดยาว…เฮ่!!” และคราวหน้า Think of Living จะมีบทความอะไรดีๆมาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะ


ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving