สวัสดีค่ะ ช่วงนี้ก็ใกล้เข้าสู่ฤดูร้อนกันแล้วนะคะ ถึงแม้ในประเทศไทยของเราจะมีสภาพอากาศที่ร้อนตลอดปี และยิ่งร้อนมากขึ้นทุกปีอีกต่างหาก ยิ่งช่วงต้นปีมีเหตุการณ์ฝุ่นละอองมาผสมเข้าไปอีก ทำให้ใครหลายๆคนเริ่มมาให้ความสนใจกับอากาศที่เราใช้อยู่อาศัยและหายใจกันมากขึ้นด้วย และเมื่อสภาพอากาศนอกบ้านเป็นสิ่งที่เราไม่อาจจะควบคุมได้ ทั้งความร้อนและฝุ่นละออง แต่ภายในบ้านยังเป็นสิ่งที่เราสามารถจัดการเองได้นะคะ ดังนั้นใครหลายคนก็มองหาตัวเลือกในการรับมือกับสภาพอากาศร้อนและฝุ่นละอองกันมากขึ้น เครื่องปรับอากาศ หรือ แอร์จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้สภาพความเป็นอยู่ภายในบ้านของเราสามารถอยู่อาศัยได้สบายมากขึ้นด้วย

แต่ว่าเครื่องปรับอากาศเองก็มีอยู่หลายประเภทนะคะ ก่อนที่เราจะแนะนำวิธีเลือก เรามาลองทำความรู้จักกับประเภทต่าง ๆ ของเครื่องปรับอากาศกันแบบคร่าว ๆ ที่เรามักจะพบเจอกันก่อนดีกว่า

เครื่องปรับอากาศแบบชิ้นเดียว

เครื่องปรับอากาศชนิดนี้จะมีชิ้นเดียวจบครบตามชื่อเลย คือจะมี FCU หรือตำแหน่งปล่อยลมเย็นกับ CDU ตำแหน่งสำหรับปล่อยความร้อนรวมอยู่ภายในเครื่องเดียวกันค่ะ ตัวอย่างของเครื่องปรับอากาศแบบนี้ก็เช่น

  • เครื่องปรับอากาศแบบหน้าต่างหรือผนัง (Window Type) : จริงๆสมัยนี้เครื่องปรับอากาศก็จะมีติดผนังเหมือนกันใช่ไหมค่ะ แต่อย่าสับสนนะคะ ที่เราหมายถึงจะเป็นเครื่องปรับอากาศที่ค่อนข้างโบราณเลย ที่เราจะเจาะช่องบริเวณผนังเพื่อติดตั้ง โดยด้านนึงของตัวเครื่องหันหน้าเข้าหาห้องปล่อยลมเย็นตรงๆ ส่วนอีกด้านจะหันออกระบายความร้อนจากตัวเครื่องออกไปยังภายนอกค่ะ
  • เครื่องปรับอากาศแบบเคลื่อนที่ (Portable Type) : สำหรับแบบนี้ก็ยังสามารถเห็นได้บ่อยอยู่ ที่เรามักจะเห็นกันก็จะเป็นแอร์เคลื่อนที่มีปลั๊กไฟเสียบปุ๊ปทำงานปั๊ปใช้งานได้ทันที จะเลื่อนไปไหนมาไหนก็ได้ แต่แบบนี้อาจจะไม่สามารถทำความเย็นได้มากนะคะ เหมาะกับการใช้งานเฉพาะจุดมากกว่า เรามักจะเจอเครื่องปรับอากาศแบบนี้ตามออฟฟิศที่มีเวลาเปิด-ปิดแอร์ที่แน่นอน หลังจากแอร์หลักของอาคารหมดเวลาทำงานแล้วก็จะต้องพึ่งพาแอร์แบบนี้ในการช่วยให้เรายังสามารถทำงานต่อได้อย่างสบายกายค่ะ

เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน (Split Type)

สำหรับเครื่องปรับอากาศแบบนี้จะมีเครื่องปล่อยลมเย็นหรือ FCU แยกออกมาจาก CDU ค่ะ โดยจะต้องมีการเดินท่อเชื่อมต่อทั้ง 2 ส่วนนี้อีกด้วย ซึ่งชื่อเรียกก็จะเเตกต่างกันไปตามระบบและเทคนิคในการทำงาน เครื่องปรับอากาศแบบนี้มักจะเป็นระบบที่ถูกใช้งานบ่อย ๆ เช่น

  • เครื่องปรับอากาศแบบติดผนัง (Wall Type) : เป็นแบบที่นิยมมากที่สุด คือหาซื้อง่าย หรือบางคอนโดหรือบ้านก็มักจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แถมมาพร้อมกับบ้านเลยค่ะ
  • เครื่องปรับอากาศแบบตั้งแขวน (Convertible Type) : แบบนี้จะสามารถติดตั้งส่วน FCU ได้ทั้งตั้งพื้นหรือแขวนไว้ใต้ฝ้าเพดาน (เคยเห็นแอร์ในร้านสะดวกซื้อไหมค่ะ จะเป็นแอร์แบบแขวนส่วนใหญ่ ข้อดีของแบบนี้คือสามารถส่งลมเย็นได้ไกล แต่ราคาอาจจะสูงกว่าแบบ Wall Type และไม่ค่อยมีรูปแบบให้เลือกมากเท่าค่ะ
  • เครื่องปรับอากาศแบบเปลือย (Concealed Type) : สำหรับแบบนี้เรามักจะเห็นตามคอนโดที่มีราคาสูงหน่อยเพราะตัวเครื่องปรับอากาศจะถูกซ่อนไว้ฝ้าเพดานที่ถูกลดระดับลงมา ดังนั้นการติดตั้งอาจจะต้องถูกออกแบบไว้ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างกันเลย แต่แบบนี้ก็จะได้ข้อดีตรงที่ดูเรียบร้อยสวยงาม ไม่เห็นตัวแอร์ค่ะ
  • เครื่องปรับอากาศแบบฝังฝ้า สี่ทิศทาง (Cassette Type) : แบบนี้ก็จะเป็นแบบที่ฝังอยู่ใต้ฝ้าเพดานเช่นกัน แต่จะถูกออกแบบให้เป่าลมเย็นลงมาจากฝ้าแทน ในขณะที่แบบ Concealed ส่วนใหญ่ยังจะเป่าลมออกทางด้านข้างอยู่ สำหรับแบบนี้ก็จะมีข้อดีที่สามารถกระจายลมได้ทั้ง 4 ทิศทาง แต่ก็จะมีการดูแลรักษาที่ยากกว่าแบบอื่นเล็กน้อยค่ะ

หลังจากที่เราไปรู้จักชนิดของเครื่องปรับอากาศกันคร่าว ๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ได้ยินบ่อยไม่แพ้กันเลยก็คือ BTU แล้วสิ่งนี้คืออะไร ? สำคัญอย่างไร เราไปดูกันดีกว่าค่ะ เพื่อที่ครั้งต่อไปเวลาที่เราไปเลือกซื้อแอร์แล้วพนักงานถามเราว่าอยากได้แอร์กี่ BTU ครับ/ค่ะ เราจะได้ตอบได้ถูกต้อง

BTU หรือ British Thermal Unit คือ หน่วยที่ใช้วัดปริมาณความร้อนหน่วยหนึ่งที่นิยมใช้กันมากในระบบของเครื่องปรับอากาศ ค่า 1 BTU มักจะหมายถึง ปริมาณความร้อนที่ทำให้น้ำ 1 ปอนด์ หรือ 0.45 กิโลกรัม มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นหรือลดลง 1 องศาฟาเรนไฮด์ หรือ 0.56 องศาเซลเซียสค่ะ … ฟังแล้วหลายคนอาจจะงงว่ามันจะไปเกี่ยวข้องกับห้องพักอย่างไร? อันที่จริงแล้ว BTU ในความหมายของแอร์นั้นจะหมายถึงค่า TON (ตัน) ค่ะ โดยคำว่า “1 ตันความเย็น” นั้นจะหมายถึงปริมาณความร้อนที่ใช้ในการละลายน้ำแข็ง 1 ตัน หรือ 2,000 ปอนด์ ในเวลา 24 ชม. หรือเท่ากับ 12,000 บีทียูต่อชั่วโมงนั่นเอง แต่ถ้าใครไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร เราไปดูที่ย่อหน้าถัดไปดีกว่า

การจะเลือกขนาดแอร์ว่าเราจะใช้แอร์กี่ตัน BTU นั้น ส่วนมากจะดูจากขนาดของห้องที่เราจะติดตั้งเป็นหลักค่ะ โดยเรามีตารางเปรียบเทียบขนาดห้องกับจำนวนตัน BTU ที่เหมาะสมมาให้ ดังนี้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขนาดห้องที่กล่าวถึงจะเป็นห้องที่มีความสูงปกตินะคะ สำหรับห้องที่สูงมากขึ้น มีคนใช้งานจำนวนเยอะขึ้น หรือว่าเป็นห้องที่ตั้งอยู่ที่ทิศทางที่ไม่ใช่แค่แดดส่องถึง แต่แดดสาดมาเต็มๆ เราก็อาจจะต้องเลือกใช้แอร์ที่มีขนาด BTU ที่สูงขึ้นตามไปด้วยค่ะ

แนะนำ 5 เทคนิค เลือกแอร์อย่างไรให้คุ้มค่า

หลังจากที่เราไปทำความรู้จักชนิดแอร์และวิธีการเลือกขนาด BTU ที่เหมาะสมกันแล้ว เราลองมาดู 5 เทคนิคที่จะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกแอร์ที่ตรงตามความต้องการ และตอบโจทย์ความคุ้มค่ากันดีกว่านะคะ

1. สำรวจความต้องการพื้นฐานของเราก่อน

ความต้องการนี้เราจะหมายถึง เครื่องปรับอากาศที่เราอยากได้นั้น เราจะไปติดตั้งไว้ที่ตำแหน่งไหน? ห้องนั้นมีขนาดเท่าไหร่กันแน่? เป็นห้องอะไร? ใช้งานกันประมาณกี่คน? ห้องอยู่ทางทิศอะไร? และเราใช้งานห้องนี้ในช่วงเวลาไหนบ้าง? ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จะช่วยเราในการตัดสินใจเลือกขนาดแอร์ที่ถูกต้องตามความเหมาะสมกับการใช้งานนะคะ ซึ่งเราก็สอนวิธีเลือกขนาด BTU จากการคำนวณขนาดห้องคร่าวๆกันไปแล้ว แล้วทำไมการเลือกขนาดที่เหมาะสมมีความสำคัญมากจริงๆหรือ? ผู้อ่านลองคิดตามดูนะคะว่า ถ้าเราเพียงเลือกแอร์ตามขนาดห้องคร่าวๆ แต่ในการใช้งานจริงห้องนั้นเป็นห้องกระจกที่มีแดดส่องแทบตลอดทั้งวัน คนใช้งานกันหลายคน แถมห้องยังมีความสูงแบบ Double volume เข้าไปอีก กลายเป็นว่าเราเลือกขนาดแอร์มาไม่เพียงพอกับการใช้งาน แอร์ที่ทำงานหนักไปอาจจะพังเร็วก็ได้ และยังทำให้คนที่ใช้งานภายในห้องไม่สบายตัวอีก งานหรือกิจกรรมก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดูสิคะ เกิดผลเสียหลายอย่างเพียงแค่เราเลือกแอร์ที่ผิดขนาด ไม่เหมาะสมกับการใช้งานเท่านั้นเอง! และนอกจากการเลือกขนาด BTU ที่เหมาะสมแล้ว ตำแหน่งที่เหมาะสมกับการวางเครื่องปรับอากาศภายในห้องก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเช่นกันค่ะ ลองดูว่าเรามีผนังที่สามารถติดตั้งได้หรือไม่ หรือคอนโดที่เราอยู่อาศัยมีการใช้งานแอร์เป็นระบบแบบไหน บางทีอาจจะเป็น Concealed Type มาให้ เราก็ควรเลือกชนิดแอร์ให้ตรงกับรูปแบบของห้องค่ะ

2. เลือกแอร์มีฟังก์ชันประหยัดพลังงาน Energy Saving

สมัยนี้ไม่ได้มีแค่แอร์ประหยัดไฟฉลากเบอร์ 5 เท่านั้นแล้วนะคะที่จะช่วยให้เราสามารถประหยัดพลังงานได้ ต้องขอบคุณเทคโนโลยีต่างๆที่ช่วยมาพัฒนาระบบประหยัดพลังงานมาเป็นทางเลือกให้เราได้มี Option เสริมนอกจากจะได้ความเย็นสบายจากแอร์แล้ว ยังได้เก็บเงินในกระเป๋าสตางค์ของเราเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย แถมยังช่วยประเทศชาติประหยัดพลังงานได้อีกทางด้วยค่ะ ตัวอย่างเช่น

  • ระบบ FUZZY AUTO MODE เป็นระบบอัตโนมัติที่กำหนดการทำงานและการตั้งค่าอุณหภูมิโดยการคำนวณและปรับค่าความถี่ของคอมเพรสเซอร์ เป็นต้น
  • ระบบ HUMAN SENSOR ที่จะช่วยตรวจจับการเคลื่อนไหวต่างๆภายในห้อง เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินความจำเป็น (ลองนึกภาพห้องเดียวกันที่มีจำนวนคนเท่ากัน ระหว่างคนที่นอนหลับ กับคนที่ออกกำลังกาย พลังงานหรือความร้อนที่เกิดขึ้นภายในห้องก็จะไม่เท่ากันใช่ไหมค่ะ ระบบนี้ก็จะสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวต่างๆภายในห้องเพื่อคำนวณความเหมาะสมในการใช้งานของเครื่องปรับอากาศภายในห้องให้นั่นเองค่ะ)
  • ระบบ ECO OPERATION โหมดประหยัดพลังงาน
  • ระบบ ECONOMY MODE ในเครื่องปรับอากาศบางรุ่น โหมดนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้อุณหภูมิภายในห้องเย็นหรือร้อนจนเกินไป
  • ระบบ AUTO OFF ซึ่งจะเป็นระบบที่ปิดการทำงานของเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ เมื่อเซนเซอร์ตรวจพบว่าไม่มีการเคลื่อนไหวหรือใช้งานภายในห้องในระยะเวลา 1 ชม.

3. ทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศ (CLEAN OPERATION & FILTER)

ขั้นตอนหนึ่งในการดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและใช้งานได้ยาวนานคือการล้างแอร์ใช่ไหมค่ะ ในระบบการทำงานของแอร์จะมีการดึงเอาอากาศจากบริเวณรอบๆเข้าไปในตัวเครื่องเพื่อทำให้อากาศนั้นมีความเย็นและส่งกลับออกมา กลายเป็นอากาศเย็นๆที่เราสัมผัสกัน มวลอากาศที่ผ่านเข้าไปในตัวเครื่องนั้นส่วนมากจะผ่านแผ่นกรองอากาศ เพื่อกรองเอาฝุ่นต่างๆออกไป ให้ความเย็นที่ออกมานั้นสะอาดและบริสุทธิ์มากขึ้น ดังนั้นบริเวณแผ่นกรองอากาศนี้มักจะเป็นตำแหน่งที่มีฝุ่นเกาะอยู่ค่อนข้างมาก เราจึงต้องหมั่นทำความสะอาดมันบ่อยๆ นอกจากจะช่วยให้อากาศหรือความเย็นที่ออกมาสะอาดขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ตัวเครื่องปรับอากาศนั้นทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และช่วยประหยัดไฟอีกด้วย โดยทั่วไปแต่ละบ้านมักจะมีกำหนดการล้างแอร์เป็นประจำอยู่แล้ว บ้านไหนล้างเองได้ก็จะล้างเอง ส่วนบ้านไหนสะดวกเรียกช่างมาช่วยล้างให้ก็จะเรียกช่างมา ในส่วนของการล้างทำความสะอาดนั้น ควรที่จะล้างทั้งระบบทุกๆ 6 เดือนหรือปีละ 2 ครั้งนั่นเอง ส่วนแผ่นกรองและแผ่นฟอกอากาศควรจะมีการล้างทำความสะอาดทุก 2 สัปดาห์ เพื่อที่จะช่วยให้เครื่องปรับอากาศสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นค่ะ

แต่ถ้าเครื่องปรับอากาศนั้นมีฟังก์ชันที่สามารถช่วยเราเรื่องทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศได้ รวมถึงระบบอื่นๆที่ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพให้อากาศที่ออกมาจากเครื่องปรับอากาศนั้น สะอาด บริสุทธิ์ เช่น

  • ระบบ Self clean operation ฟังก์ชันที่ทำให้คอยล์เย็นแห้งเพื่อยับยั้งการเติบโตของเชื้อรา โดยที่พัดลมจะทำงานในรอบต่ำ เพื่อเป่าลมไล่ความชื้นออกจากตัวคอยล์เย็นเป็นเวลา 2 ชั่วโมงหลังจากปิดเครื่อง
  • โหมด Allergen clear operation ที่จะทำงานเป็นเวลา 90 นาทีหลังปิดเครื่อง ทำให้แบคทีเรียที่สะสมอยู่บน Allergen clear filter (แผ่นฝอกอากาศที่ประกอบไปด้วยเอ็นไซม์ยูเรียช่วยต่อต้านเชื้อก่อภูมิแพ้) จะถูกทำลายโดยการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น
  • Natural enzyme filter ที่มีส่วนประกอบที่สามารถทำลายผนังของเชื้อโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

ฟังก์ชันเหล่านี้ก็จะช่วยให้สภาพอากาศภายในบ้านของเรามีอากาศที่บริสุทธิ์มากขึ้น เเถมยังช่วยป้องกันการเกิดเชื้อโรคต่างๆได้อีกด้วย ดังนั้นครั้งต่อไปลองมองหาเครื่องปรับอากาศที่มีฟังก์ชันเสริมเหล่านี้กันดูนะคะ

4. กระจายอากาศได้ดี Air Flow

นอกจากตำแหน่งการวางที่ควรจะอยู่ในจุดที่เหมาะสมแล้ว การกระจายอากาศก็ควรกระจายตัวได้ดีด้วยนะคะ เพราะคงจะไม่ดีแน่ถ้าอากาศเย็นจะไม่สามารถส่งไปรอบๆห้องได้ และการที่อาการจะสามารถกระจายตัวไปรอบๆห้องได้ก็ต้องพึ่งพิงระบบของบานสวิงนั่นเอง ซึ่งระบบการปรับบานสวิงก็ถูกพัฒนามาเป็นระบบอัตโนมัติที่สามารถ ขึ้น-ลง (Auto Flap Mode) หันซ้าย-ขวา (Right/Left Louver Swing) หรือจะเลือกให้ทำมุมตามที่เราต้องการได้ด้วย นอกจากนี้ในปัจจุบันตัวเครื่องปรับอากาศเองยังสามารถจดจำการตั้งค่ามุมที่เรากำหนดเอาไว้ก่อนปิดเครื่อง (Memory Flap) ทำให้เมื่อเปิดเครื่องใช้งานใหม่อีกครั้ง ตำแหน่งการปรับอากาศก็จะได้องศาเดิมที่เราต้องการ และอีกสิ่งที่น่าสนใจคือ เทคโนโลยีระบบ JET FLOW ที่ช่วยให้การกระจายลมสามารถกระจายไประยะไกลได้มากขึ้น เพราะใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับใบพัดในเครื่องยนต์เจ็ตนั่นเองค่ะ

5. ความทนทานในการใช้งาน

และเรื่องสุดท้ายที่ขาดไม่ได้เลยคือ ความทนทานในการใช้งาน คงไม่ประหยัดและไม่คุ้มค่าแน่ๆ ถ้าเครื่องปรับอากาศที่เราซื้อมา ใช้งานไปได้ไม่ไม่นานก็พังซะแล้ว ต้องซื้อใหม่หรือเรียกช่างมาซ่อม เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงินอีก ดังนั้นเราควรเลือกซื่อเครื่องปรับอากาศที่ทนทาน สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานๆ แต่เราจะรู้ได้ยังไง ว่าเครื่องปรับอากาศที่เราซื้อนั้น ทน และใช้งานได้นานคุ้มค้าจริงๆ จุดนี้เราอาจจะต้องพิจารณาจาก

  • แบรนด์ (Brand) หรือ ยี่ห้อ ของเครื่องปรับอากาศที่เราซื้อ แบรนด์ที่มีประวัติยาวนาน ก็อาจจะรับรองกับเราได้ว่าบริษัทนี้น่าเชื่อถือ และมีทีมที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสินค้าต่างๆออกมาต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานได้
  • เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology & Innovation) การพัฒนาสินค้าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดสินค้าที่มีคุณภาพ วางขายออกสู่ตลาดมากกว่าเดิมและดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่สินค้าต่างๆก็จะมีความแข็งแรงและความคงทนต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและนวัตกรรมของบริษัทนั้นๆ

นอกจาก 5 ข้อที่กล่าวมาแล้ว ปัจจุบันยังมีการพัฒนาระบบต่างๆที่น่าสนใจออกมาอย่างต่อเนื่องเลย เช่น

  • High power operation  เป็นระบบที่สามารถช่วยเร่งพลังงานให้สูงแบบ Hi-Power ได้เป็นเวลา 15 นาที ทำให้ภายในห้องได้อุณหภูมิตามที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
  • Child Lock เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่เหมาะกับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก เอาไว้ช่วยป้องกันการกดปุ่มโดยไม่ได้ตั้งใจค่ะ
  • Sleep timer ช่วยลดความสามารถในการทำความเย็นหรือความร้อน ช่วยทำให้เราประหยังพลังงานในขณะที่กำลังนอนหลักได้
  • On/off timer การตั้งเวลา เปิด-ปิดการทำงานของตัวเครื่องอัตโนมัติ
  • 24 Hour ION ตัวเครื่องปรับอากาศจะปล่อยประจุลบออกมาตลอดเวลา 24 ชม. ช่วยทำให้อากาศชื่นเหมือนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ
  • DC PAM INVERTER เป็นแผงควบคุมความเร็วของคอมเพรสเซอร์และมอเตอร์ โดยการปรับเปลี่ยนการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน

ถ้าใครยังคิดไม่ออกว่าเครื่องปรับอากาศแบบนี้จะมีจริงหรือ? เรามีตัวอย่างมาให้ดูกันค่ะ

อย่างเครื่องปรับอากาศ Mitsubishi Heavy Duty รุ่น Super Deluxe Inverter : ZSXS Series ซึ่งเป็นรุ่นที่มาพร้อมกับคุณสมบัติจำเป็นที่ครบถ้วนอยู่นะคะ มีการใช้เทคโนโลยี Inventer แท้ทั้งระบ

“100% Inverter” ที่ประกอบด้วย 4 ชิ้นส่วนคุณภาพดังนี้

  • แผงวงจรอัจฉริยะ PAM ที่ควบคุมความเร็วรอบของคอมเพรสเซอร์และมอเตอร์โดยการปรับเปลี่ยนความถี่ในการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้พลังงาน
  • มอเตอร์กระแสตรง ที่มาพร้อมกับความแม่นยำในการควบคุมความเร็วรอบ สามารถเปลี่ยนแปลงความเร็วรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • คอมเพรสเซอร์กระแสตรง DC สามารถปรับเปลี่ยนความเร็วรอบในการทำงานให้สัมพันธ์กับอุณหภูมิภายในห้อง ช่วยให้ประหยัดพลังานมากขึ้น
  • วาล์วอิเล็กทรอนิกส์ EEV (Electronic Expansive Valve) ที่ควบคุมการไหลของสารทำความเย็นให้อยู่ในสภาวะที่สมดุลที่สุด

นอกจากนี้เครื่องปรับอากาศซีรีย์นี้มีฟังก์ชันที่น่าสนใจเช่น Jet Flow, Hi power, 3D Auto, Allergen clear filter, Sun filter (Solar filter), Allergen clear operation เป็นต้น ซึ่งนับเป็นฟังก์ชันที่ช่วยให้การใช้งานเครื่องปรับอากาศของเราใช้งานได้อย่างคุ้มค่า ตรงกันเทคนิค 5 ข้อที่แนะนำกันไป และยังมีรูปลักษณ์ดูทันสมัยสวยงามที่การันตีด้วยรางวัลการออกแบบ A’Design Award จากประเทศอิตาลีอีกด้วย

หวังว่าเทคนิค 5 ข้อในการเลือกแอร์อย่างไรให้จ่ายครั้งเดียวแล้วคุ้มค่ามากที่สุดที่เรานำมาฝากกันจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศในครั้งต่อไปกันนะคะ ใครมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทความหรือเทคนิคอื่นๆที่อยากแนะนำเพิ่มเติมก็สามารถแนะนำกันมาได้เลยค่ะ แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้านะคะ