จะทำอย่างไร? …เมื่อเพื่อนบ้านที่น่ารักเริ่มรุกล้ำความเป็นส่วนตัว และอาณาเขตของรั้วบ้านเรา ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ดี ซึ่งบางคนอาจเห็นแก่ความเป็นเพื่อนบ้านแล้วปล่อยผ่านไป แต่กับบางคนเขาก็ค่อนข้างซีเรียสในเรื่องนี้ก็มี แต่ไม่รู้จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไรดี ไม่ว่าจะเป็น

ซึ่งรู้หรือไม่? ว่าจริงๆแล้วกฎหมายมีข้อกำหนดและกฎระเบียบต่างๆ เขียนเอาไว้ชัดเจน เพื่อรักษาสิทธิของความเป็นเจ้าของบ้าน และการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุขอยู่แล้ว ซึ่งวันนี้ Think of Living จะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆ พร้อมวิธีแก้ปัญหา หรือทางออกของสถานการณ์นั้นๆให้ดูครับ


“รั้ว” ที่เพื่อนบ้านต่อเติมใหม่ ฝั่งบ้านเราไม่สวยเลย จะตกแต่งใหม่ได้ป่าว?

เวลาเราต่อเติมบ้านใหม่แต่ละครั้ง ก็มักจะเก็บงานและตกแต่งแต่เฉพาะภายในบ้านตัวเอง ให้สวยงามและเรียบร้อยที่สุดถูกต้องมั๊ยครับ โดยที่เราอาจไม่ได้สนใจภายนอกเท่าไหร่นัก เพราะเป็นจุดที่มองไม่เห็นอยู่แล้ว แต่เพื่อนบ้านที่อยู่ข้างๆเค้าคงต้องเห็นแน่นอน นั่นจึงเกิดคำถามขึ้นว่า


“เราสามารถฉาบและทาสี หรือตกแต่งใหม่ ให้ฝั่งบ้านเราสวยงามต่อจากบ้านข้างๆเลยได้หรือป่าว?”


คำตอบคือ “ไม่ได้” นั่นเป็นเพราะ 2 สาเหตุหลักๆด้วยกัน คือ

  1. สิ่งต่อเติมนั้นๆ ไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่ดินบ้านเรา
  2. สิ่งต่อเติมของบ้าน นับเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล เราไม่มีสิทธิ์ดัดแปลง แก้ไข หรือทำลายของผู้อื่นได้

ขอบเขตที่ดินบ้าน

ปกติเวลาที่เราไปซื้อบ้านตามโครงการจัดสรรต่างๆ รั้วบ้านที่กั้นอยู่ระหว่างบ้านทั้ง 2 หลัง มักจะสร้างอยู่กึ่งกลางระหว่างที่ดินบ้านทั้ง 2 แปลง ซึ่งสิทธิ์ความเป็นเจ้าของก็จะแบ่งกันคนละครึ่ง สมมุติว่ารั้วบ้านหนา 20 cm. แปลว่าบ้านทั้ง 2 หลังจะเป็นเจ้าของรั้วคนละ 10 cm. โดยแบ่งครึ่งกันตรงกลางนั่นเองครับ

แต่กลับกัน…หากเป็นบ้านสมัยก่อนที่ปลูกสร้างเอง หรือไม่ได้จัดสรรอยู่แล้ว ก็จะทำรั้วหรือผนังได้เฉพาะภายในขอบเขตบ้านตัวเองเท่านั้น เช่น ถ้าจะทำรั้วหนา 20 cm. บ้านนั้นๆก็จะต้องยอมเสียที่ดินโดยรอบบ้านไปด้านละ 20 cm. ให้กลายเป็นรั้วบ้าน ซึ่งอาจทำให้เสียพื้นที่ใช้สอยข้างบ้านไปบ้าง แต่ก็ไม่ต้องใช้งานรั้วร่วมกับใคร หรือมีปัญหาจุกจิกตามมาภายหลังครับ

แต่สำหรับเพื่อนบ้านที่มาปลูกสร้างตามมาทีหลัง เค้าก็จะได้อานิสงส์ไม่ต้องทำรั้วฝั่งนั้นๆไปด้วยนั่นเองครับ แต่เค้าก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะตกแต่ง หรือทำอะไรกับรั้วของบ้านที่สร้างอยู่ก่อนแล้วได้เหมือนกัน

ในทางกฎหมายเราเรียกว่า “แดนแห่งกรรมสิทธิ์” ซึ่งการครอบครองประโยชน์ในที่ดินนั้นๆ จะกินพื้นที่เหนือพื้นดินและใต้พื้นดินทั้งหมด ดังนั้นเวลาเราจะก่อสร้าง ต่อเติม หรือทำอะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่ควรล่วงล้ำเข้าไปในขอบเขตที่ดินที่อยู่ติดกัน ดังตัวอย่างสถานการณ์ ต่อไปนี้ครับ

ตัวอย่างสถานการณ์

  • กรณีที่ 1 : เพื่อนบ้านต่อเติมรั้วใหม่ให้สูงขึ้น โดยยังอยู่ในขอบเขตที่ดินฝั่งตัวเอง (หรือครึ่งนึงของรั้วเดิม) ไม่ได้ล้ำมาในเขตที่ดินของเรา >>> แบบนี้ถือว่าเพื่อนบ้านทำได้ “ถูกต้อง” ครับ

ซึ่งหากเราต้องการต่อเติม หรือตกแต่งรั้วฝั่งของตัวเองบ้าง เราก็ต้องทำรั้วเสริมขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งในเขตของตัวเอง จึงไม่แปลกที่บางครั้งเราจะเห็นรั้วบ้านที่เป็น 2 ชั้น แยกของใครของมันแบบนี้อยู่บ่อยๆ โดย พรบ. ควบคุมอาคาร จะกำหนดความสูงรั้วอยู่ที่ไม่เกิน 3 m. ครับ

และการต่อเติมที่ว่านี้ ผมหมายถึงการกระทำเพิ่มเติมกับรั้วทุกแบบเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นรั้วทึบ รั้วโปร่ง รั้วเหล็กแหลมกันขโมย หรือแม้กระทั่งการการติดเศษขวดแก้วก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ควรล้ำเข้าไปในเขตที่ดินคนอื่นโดยเด็ดขาดครับ

  • กรณีที่ 2 : รั้วต่อเติมของเพื่อนบ้านฝั่งเราไม่สวย และเราก็ไม่อยากทำรั้วใหม่เองด้วย เลยฉาบปูนหรือทาสีรั้วเพื่อนบ้านที่หันมาฝั่งบ้านเรา ให้เรียบร้อยสวยงามมากขึ้นหน่อย >>> แบบนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ “ผิด” ครับ

สาเหตุ : เพราะรั้วที่ต่อเติมนั้นๆ ถือเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของเพื่อนบ้าน และยังอยู่ในอาณาเขตที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเขา เราจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะดัดแปลง แก้ไข หรือทำลายได้นั่นเอง

วิธีที่ถูกต้อง : 

ควรมีการไกล่เกลี่ย หรือบอกกล่าวล่วงหน้าแก่เพื่อนบ้านก่อน เช่น ให้เค้าช่วยบอกช่างให้เก็บงานฝั่งเราให้เรียบร้อยหน่อยนะ หรือขอเค้าตกแต่งปรับปรุงฝั่งของเราเพิ่มเติม โดยไม่กระทบต่อรั้วของอีกฝ่าย และจะออกค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง เป็นต้น

และอย่าลืม!! หาใครสักคนที่น่าเชื่อถือ เช่น นิติบุคคล ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น มาช่วยเป็นพยานหรือคนกลางในข้อตกลงครั้งนี้ ซึ่งบางทีก็อาจมีการออกหนังสือยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อที่จะได้ไม่เกิดข้อพิพาทในภายหลัง (หรืออาจต้องทำรั้วเพิ่มอีกชั้นในเขตที่ดินของตัวเอง เพื่อปิดส่วนที่ไม่สวยงามเหมือนกรณีที่ 1 ก่อนหน้านี้ครับ)


“การต่อเติม” จะกระทบกับบ้านข้างๆหรือไม่?

การต่อเติมของเราในบางครั้ง อาจสร้างผลกระทบแก่เพื่อนบ้านไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่น การต่อเติมห้องหรือผนังยื่นออกมาจนสุดรั้ว ก็อาจทำให้บ้านของเพื่อนบ้านฝั่งนั้นๆ รู้สึกปลอดโปร่งน้อยลง หรือน้ำฝนจากหลังคาอาจกระเด็นข้ามรั้วไป เป็นต้น จึงควรมีการบอกกล่าว และอาจหาพยานที่น่าเชื่อถือมาร่วมรับทราบข้อตกลงด้วยจะเป็นการดีที่สุด

ตัวอย่างสถานการณ์

จากภาพการต่อเติมหลังคา กันสาด หรือผนังห้อง ให้ยาวไปจนสุดเขตที่ดินตรงกึ่งกลางรั้ว แน่นอนว่าสิ่งปลูกสร้างของเราไม่ได้ล้ำเขตที่ดินเลยก็จริงครับ แต่หากมีการเก็บงานไม่เรียบร้อย หรือทำไม่ถูกวิธี ก็อาจเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบไปยังบ้านข้างๆได้เหมือนกัน เช่น

  • กรณีที่ 1 : น้ำฝนที่เราปล่อยให้ไหลลงตรงกึ่งกลางรั้ว อาจไหลหรือกระเด็นไปยังฝั่งเพื่อนบ้านจนเกิดน้ำท่วมขัง ดินกัดเซาะ หรือไปโดนข้าวของของเค้าเสียหายได้ ซึ่งในทางกฎหมายเพื่อนบ้านจะมีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และฟ้องร้องให้มีการรื้อถอนได้ด้วยนะครับ ดังนั้นเราจึงควรป้องกันแต่เนิ่นๆ

วิธีที่ถูกต้อง : ควรทำรางรับน้ำฝนตลอดความยาวของหลังคา กันสาด หรือส่วนต่อเติม แล้วระบายน้ำลงสู่พื้นในเขตที่ดินของตัวเองให้เรียบร้อย

  • กรณีที่ 2 : การฝากโครงสร้างส่วนต่อเติมไว้กับรั้วบ้าน แน่นอนว่าน้ำหนักจะต้องถ่ายเทลงบนรั้ว ซึ่งในอนาคตก็อาจเกิดการทรุดหรือแตกร้าวได้ และอย่าลืมว่ารั้วนี้เราเป็นเจ้าของร่วมกับบ้านข้างๆคนละครึ่ง หากรั้วมีความเสียหายย่อมต้องส่งผลกระทบต่อทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบและออกค่าเสียหาย ย่อมจะต้องเป็นหลังที่ทำการต่อเติมนั่นเอง (แต่หากต่อเติมด้วยกันทั้งคู่ ก็ต้องรับผิดชอบของใครของมัน หรือรับผิดชอบร่วมกันครับ)

วิธีที่ถูกต้อง : อาจใช้วิธีทำเสาโครงสร้างรับน้ำหนัก ให้ถ่ายเทลงสู่ที่พื้นโดยตรง หรือหากจำเป็นต้องฝากโครงสร้างบางส่วนไว้บนรั้วจริงๆ เช่น ผนังห้อง หรือรั้วโปร่ง ก็ควรเป็นโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบา เช่น โครงเหล็ก หรือโครงไม้ต่างๆ เพื่อที่รั้วบ้านจะได้ไม่ต้องรับภาระน้ำหนักที่เยอะเกินไปนั่นเอง


“ต้นไม้” ของเพื่อนบ้านแผ่กิ่งก้าน และรากไม้มาฝั่งเรา จะเก็บผลกินหรือตัดกิ่งเลยได้มั๊ย?

สำหรับบ้านที่มีเนื้อที่ด้านข้าง คนส่วนใหญ่ชอบปลูกต้นไม้ครับ (ผมเองก็ชอบนะ) แต่ต้นไม้จะสวยงามได้ก็ต้องได้รับการดูแล และตัดแต่งกิ่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นก็จะอาจดูรกหรืออาจเป็นอันตรายได้เช่นกัน ซึ่งหลายๆครั้งที่ต้นไม้ของบ้างข้างๆ ก็มักจะโตจนล้ำเข้ามาในเขตบ้านของเรา โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ

ตัวอย่างสถานการณ์

  • กรณีที่ 1 : เมื่อต้นไม้หรือพุ่มไม้แผ่กิ่งก้านข้ามรั้วล้ำที่มายังเขตบ้านเรา เวลาลมพัดมาแรงๆ ก็เหมือนลำต้นและกิ่งจะโอนเอนล้มมาทางเรา ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ หรือบางครั้งก็อาจมีดอกผลติดมาด้วย ถามว่า..เราจะตัดกิ่งเอง หรือเก็บดอกผลนั้นๆมากินได้ใช่มั๊ย? เพราะมันล้ำมาอยู่ในที่ดินของเราแล้ว >>> คำตอบคือ “ไม่ได้”

สาเหตุ : ตามกฎหมายแล้วถือว่าต้นไม้เป็น “ทรัพย์สินส่วนบุคคล” ของเพื่อนบ้าน ซึ่งเราจะไปทำลายหรือดัดแปลงของๆเค้าให้เสียทรัพย์ไม่ได้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นการตัด หรือเก็บผลผลิตของเค้ามากินก็ตาม

แต่ถ้าหากว่าผลผลิตนั้นๆร่วงหล่นจากต้น ลงมาบนที่ดินเราแบบตามธรรมชาติ เราจะสามารถเก็บไปกินได้ครับ เพราะทางกฎหมายจะถือว่า ผลไม้นั้นๆเป็นดอกผลของที่ดินของเรา (แต่หากแอบอ้างไปเด็ดมาแล้วบอกว่า “มันร่วงลงเอง” เราอาจมีความผิดทางอาญา ฐานทำให้เสียทรัพย์หรือลักทรัพย์ได้นะ)

วิธีที่ถูกต้อง :

  1. ควรมีการบอกกล่าวกับเจ้าของต้นไม้ให้เขามาตัดให้เรียบร้อยครับ แต่ถ้าเขาไม่สนใจตัด เราจะสามารถตัดได้ (เป็นสิทธิ์ของเรา เพราะอยู่ในเขตที่ดินบ้านเรา และถือว่าได้บอกกล่าวแล้ว ไม่ผิดต่อหลักกฎหมาย) หรือจะใช้วิธีแจ้งกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนก็ได้ เพราะนอกจากเราจะได้พยานแล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่ประเมินแล้วเห็นว่าต้นไม้นี้เป็นอันตรายหรือมีความผิดจริง จะมีสิทธิ์สั่งให้เจ้าของตัดกิ่งหรือขุดต้นไม้นั้นๆทิ้งได้ด้วยครับ ซึ่งฝ่ายที่เป็นผู้เสียหายก็ไม่จำเป็นต้องออกแรงหรือเสียเงินเองอีกด้วยครับ
  2. สำหรับบ้านที่ต้องการปลูกต้นไม้ อาจใช้วิธีเลือกพันธุ์ไม้ที่ลักษณะพุ่มเป็นช่อ ที่สูงชะลูดขึ้นไป ไม่ได้แผ่กิ่งก้านออกไปด้านข้างมากนัก ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง
  3. เลือกใช้รั้วแบบทึบและสูงกว่าต้นไม้ เพื่อที่เวลาต้นไม้แผ่ขยายออกจะได้อยู่แต่ภายในรั้วบ้านเรา ไม่เล็ดลอดไปฝั่งบ้านข้างๆได้ครับ

  • กรณีที่ 2 : รากต้นไม้ของเพื่อนบ้านชอนไชมาตามใต้ดิน แล้วมาโผล่ในเขตบ้านเรา หรือทำให้รั้วและโครงสร้างบ้านเราเกิดความเสียหาย จะสามารถตัดเลยได้มั๊ย? >>> คำตอบคือ “ทำได้”

สาเหตุ : ทางกฎหมายถือว่า “รากไม้” สร้างความเสียหายให้แก่รั้วบ้าน หรือโครงสร้างอื่นๆ ที่เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของผู้อื่น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายมากกว่ากิ่งไม้ที่อยู่ด้านบน เราสามารถตัดทิ้งได้เลยโดยไม่ต้องบอกกล่าว (อ้างอิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1347)

ขอบคุณภาพประกอบจาก บ้านและสวน

วิธีที่ถูกต้อง :

  1. ถึงแม้ว่าตามกฎหมายเราจะตัดทิ้งได้เลยก็จริง แต่เพื่อมิตรภาพอันดีกับเพื่อนบ้าน เราก็ควรที่จะบอกกล่าวกับเค้าก่อนเป็นมารยาทครับ และถ้าหากรั้วหรือโครงบ้านสร้างเสียหาย ซึ่งเป็นผลมาจากต้นไม้ที่เป็นทรัพย์สินของฝั่งนั้น เราก็สามารถเรียกร้องให้เค้าช่วยรับผิดชอบ หรือเรียกค่าสินไหมทดแทนได้เหมือนกัน
  2. สำหรับบ้านที่ต้องการจะปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ นอกจากต้องพิจารณาพันธ์ุไม้ที่เป็นพุ่มด้านบนแล้ว ยังอาจต้องพิจารณาลักษณะของรากที่ต้องไม่แผ่ขยายเป็นวงกว้างเกินไปอีกด้วย
  3. ตอนปลูกเราอาจต้องวัดระยะให้ห่างจากรั้ว หรือแนวสิ่งก่อสร้างอื่นๆ พร้อมกับมีการตัดแต่งกิ่งหรือรากในทิศทางที่อาจเกิดปัญหานั้นๆ ประมาณ 50 cm. โดยใช้เลื่อย (ระวังไม่ให้เนื้อไม้ฉีกขาด) จากนั้นจึงค่อยกลบดินตามเดิมครับ

สรุป 4 ประเด็นง่ายๆ ในการจัดการปัญหาการรุกล้ำที่ดิน

1.) บอกกล่าวหรือพูดคุยกับเพื่อนบ้าน ถือเป็น “มารยาททางสังคม” ของคนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน หากเป็นเรื่องแค่เล็กๆน้อยๆ หรือเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทกัน ก็จะคุยกันได้ง่าย และสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

2.) หาคนกลางหรือพยาน เพราะการบอกกล่าวด้วยปากเปล่าแต่ละครั้ง ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างหรือหลักฐานในชั้นศาลได้ (กรณีเกิดเป็นคดีความ) จึงจำเป็นต้องใช้พยานหรือบุคคลที่สาม ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ เช่น นิติบุคคล ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่เขต เพื่อให้รับทราบข้อตกลง และหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน ซึ่งบางครั้งอาจมีการเขียนหนังสือยินยอม เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยก็มีครับ

3.) หลีกเลี่ยงการล่วงล้ำอาณาเขตที่ดิน หรือทำสิ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อบ้านข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมสิ่งปลูกสร้าง การระบายน้ำ หรือการปลูกต้นไม้ต่างๆ ถึงแม้ว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะไม่มีบทลงโทษสำหรับคนที่ล่วงล้ำอาณาเขตโดยตรงก็จริง แต่หากสิ่งที่ล้ำอาณาเขตนั้นได้ก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้อื่น ก็จะมีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หรือหากสร้างความรำคาญมากเกินควร ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เสียง หรือการบดบังทัศนียภาพแบบจงใจกลั่นแกล้ง ผู้เสียหายก็สามารถฟ้องร้องหรือเรียกร้องค่าชดเชยด้านอื่นๆได้เหมือนกัน ดีไม่ดีหากเรื่องไปถึงเจ้าหน้าที่ และมีการตรวจสอบพบเจอว่ามีการต่อเติมที่ผิดกฎหมาย พรบ.ควบคุมอาคาร หรือก่อสร้างผิดแบบ ก็มีสิทธิ์โดนสั่งรื้อถอน กลายเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วยครับ

4.) ต้องเข้าใจสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เช่น รั้วบ้านที่อยู่ตรงกลางถือเป็นเจ้าของร่วม เราควรช่วยกันดูแลรักษา ถ้าต้องมีการซ่อมแซมหรือดัดแปลง ซึ่งเกิดจากการเสื่อมโทรมโดยธรรมชาติ และเห็นพ้องด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ก็สามารถช่วยกันออกเงินคนละครึ่งได้ครับ (แต่ส่วนใหญ่จะฉาบและทาสีใหม่ที่ฝั่งใครฝั่งมันไปเลยง่ายๆ)

หรือกรณีต้นไม้ที่ยื่นข้ามรั้วมา ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของบ้านข้างๆ เราไม่มีสิทธิ์จะตัดได้นะ ควรบอกให้เค้ามาจัดการด้วยตัวเองครับ แต่หากเราบอกแล้วเค้าไม่มาจัดการสักที เราก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เขตให้ช่วยออกคำสั่งให้เค้าทำตามได้ครับ ไม่เช่นนั้นเค้าก็อาจโดนโทษปรับ เพื่อที่เราไม่จำเป็นต้องเสียเงินหรือออกแรงด้วยตัวเอง เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินในความรับผิดชอบของเราด้วยนั่นเองครับ (แต่ถ้าใครอยากตัดความรำคาญ ออกเงินจ้างคนมาตัดเองให้จบไวๆเลยก็ได้ไม่ว่ากันนะ)


จบแล้วนะครับสำหรับบทความ “เมื่อเพื่อนบ้านทำรั้ว ต่อเติม ปลูกต้นไม้ ล้ำที่มาบ้านเรา จะทำไงดี?”  หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังมีปัญหาเรื่องนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร หรือไม่รู้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง? โดยส่วนตัวผมมองว่า

“ทุกอย่างต้องเริ่มมาจากการพูดคุย และเคารพในสิทธิ์ความเจ้าของสินทรัพย์ของกันและกัน”

ซึ่งบ้างครั้งอาจต้องพึ่งบุคคลที่สาม หรือข้อกฎหมายต่างๆมารองรับ เพื่อความยุติธรรมและให้เกิดระเบียบของการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุขนั่นเองครับ และคราวหน้า ThinkofLiving จะมีบทความอะไรดีๆมาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามชมกันด้วยนะ


ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving