• …อยากจะนั่งทำงานอยู่บ้านเงียบๆทั้งที แต่กลับมีเสียงทีวีห้องข้างๆดังเข้ามากวน
  • …กำลังดูซีรีย์เกาหลีฟินๆ แต่เพื่อนบ้านอินดี้กลับหยิบกีต้าร์ขึ้นมาดีดซะงั้น
  • ….ห้องข้างๆชอบทำกิจกรรมออกรบเสียงดังกันยันเช้า ทำเอานอนไม่ค่อยหลับไปด้วยทุกคืน

ผมเชื่อว่าหลายๆคนคงต้องเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย และอาจเคยเห็นหัวข้อขอคำปรึกษาต่างๆใน Pantip กันมาก็เยอะแล้วใช่มั้ยครับ ซึ่งเรื่อง “เสียงดังรบกวนจากเพื่อนบ้าน” ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม หรือทาวน์โฮม ที่จะต้องมีผนังอย่างน้อยด้านใดด้านหนึ่งอยู่ติดกับเพื่อนบ้าน

ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุหลักของปัญหา ที่อาจทำให้มีเสียงไม่พึงประสงค์ดังผ่านผนังเข้ามา จนบางทีก็อาจส่งผลต่อปัญหาด้านสุขภาพ รบกวนสมาธิ นอนไม่ค่อยหลับ หรืออาจเสียสุขภาพจิตกันไปเลยก็มี งั้นเราลองมาดูกันดีกว่าครับว่า มีวิธีอะไรบ้างที่พอจะช่วยจัดการกับปัญหาแบบนี้ด้วยตัวเองได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องจ้างช่างเทคนิคแพงๆให้เสียเงินเยอะกันบ้าง?

ขอบคุณภาพกราฟฟิคจาก SCG

ผนังกันเสียง VS ผนังซับเสียง ต่างกันอย่างไร?

อย่างแรกผมต้องบอกก่อนว่า ผนังทั้ง 2 แบบนี้ไม่เหมือนกันนะครับ (ซึ่งยังอาจมีคนเข้าใจผิดอยู่) เพราะหลักการทำงานและวัตถุประสงค์ในการใช้งานนั้น จะค่อนข้างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเลย ตามนี้ครับ

  1. ผนังกันเสียง : มีหน้าที่ช่วยป้องกันเสียงจากภายนอก ไม่ให้เข้ามารบกวนพื้นที่ภายในห้อง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยป้องกันเสียงจากภายใน ไม่ให้ดังออกไปด้านนอกได้ด้วยเช่นกัน
  2. ผนังซับเสียง : มีหน้าที่ควบคุมเสียงที่อยู่ภายในไม่ให้ดังก้อง หรือเกิดการสะท้อนของเสียงภายในห้องมากเกินไป จนทำให้ประสิทธิภาพของเสียงที่ได้ยินลดลงหรือผิดเพี้ยนไป

เสียงดังผ่านผนังห้องเข้ามาจากจุดไหนได้บ้าง?

เสียงสามารถเดินทางได้ดีผ่านอากาศที่เป็นสื่อนำ แต่การที่เราได้ยินเสียงห้องข้างๆดังเข้ามาในห้องของเราได้นั้น นอกจากจะเป็นเสียงที่ดังผ่านผนังมาโดยตรงแล้ว ก็อาจมีจุดอื่นๆอีกที่เสียงจะสามารถเล็ดรอดผ่านเข้ามาได้ง่ายเช่นกัน โดยจะมีอยู่ทั้งหมด 4 จุดใหญ่ๆด้วยกันคือ

  1. ผนัง/กำแพง : เป็นเสียงที่เดินทางผ่านทะลุผนังมาได้โดยตรง แต่จะดังมาก-น้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความหนาของผนัง และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ที่มีผลในการกันเสียงได้ไม่เท่ากันครับ (Precast > ก่ออิฐมอญแดง > สมาร์ทบอร์ด > ก่ออิฐมวลเบา > ยิปซั่ม ตามลำดับ)
  2. ประตู/หน้าต่าง/ปลั๊กไฟ : จุดต่างๆเหล่านี้จะมีช่องเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกับผนังฝั่งตรงข้าม เลยทำให้เสียงสามารถเล็ดลอดผ่านเข้ามาได้ค่อนข้างง่าย
  3. ฝ้าเพดาน : ผนังส่วนใหญ่โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม จะมีความสูงเพียงแค่เลยฝ้าเพดานขึ้นไปหน่อยเท่านั้น แต่อาจไม่ได้สูงขึ้นไปจนสุดท้องแผ่นพื้นของห้องที่อยู่ชั้นบน เลยจะมีช่องว่างเหนือฝ้าเพดานเชื่อมต่อกัน ซึ่งเสียงจะดังข้ามผนังและผ่านฝ้าเพดานด้านบนเข้ามาได้
  4. พื้น : เกิดจากแรงสั่นสะเทือนที่มาตามงานโครงสร้าง อาจเป็นได้ทั้งเสา คาน และพื้นห้อง โดยส่วนใหญ่จะต้องเป็นการกระทบกระเทือนแรงๆ ถึงจะทำให้เกิดเสียงขึ้นมาได้ เช่น การเดินย่ำเท้าหนักๆ การเลื่อนเก้าอี้ ทำของตก เป็นต้น

วิธีการตรวจสอบที่มาของเสียงเบื้องต้น

สามารถทำได้ด้วยตัวเองง่ายๆ โดยการปิดประตู/หน้าต่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด จากนั้นให้ไปยืนอยู่กลางห้องแล้วลองฟังเสียงดูดีๆ ว่าห้องที่เรายืนอยู่มีเสียงอะไรแปลกๆดังลอดเข้ามาจากตรงไหนบ้าง เพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้นครับ


ประตู/หน้าต่าง

เราขอเริ่มจากฟังก์ชันที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด และสามารถแก้ไขได้ง่ายมากๆ อย่างประตู-หน้าต่างกันก่อนนะครับ ซึ่งในท้องตลาดปัจจุบันก็มีให้ใช้งานหลากหลายรูปแบบเลย โดยหลักๆก็จะแบ่งออกเป็นลักษณะการเปิดจะเห็นได้ชัดเจนสุด เช่น บานเปิด บานกระทุ้ง บานเฟี้ยม บานเกล็ด และบานเลื่อน ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีความสามารถในการป้องกันเสียงที่แตกต่างกันออกไปครับ

หากใครที่อยู่อาศัยในบ้านหรือทาวน์โฮม เราอาจสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนหรือติดตั้งประตู-หน้าต่างใหม่ ให้เหมาะสมกับการใช้งานและความต้องการของเราไปเลยได้นะครับ แต่สำหรับคนที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม เราอาจไม่สามารถเปลี่ยนประตู-หน้าต่างบานหลักที่อยู่ติดกับผนังภายนอกห้องได้ (แต่ถ้าเป็นในห้องของตัวเองยังสามารถทำได้อยู่นะ) ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็อาจต้องลองเลือกใช้วิธีปิดซีลช่องว่างเหล่านั้นได้แทนครับ

ปัจจุบันมีอุปกรณ์ซีลขอบประตู-หน้าต่างให้เลือกใช้มากมาย เพื่อให้ประตูหน้าต่างปิดได้แนบสนิทและมิดชิดมากขึ้น โดยเราสามารถซื้อมาติดตั้งเองได้ง่ายๆ ซึ่งหลายๆคนก็อาจมองข้ามอุปกรณ์เหล่านี้ไปครับ ทั้งที่จริงๆแล้วค่อนข้างมีประโยชน์ดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่วยเก็บเสียงได้ดี ป้องกันฝุ่นละอองหรือแมลงได้ รวมถึงช่วยกันแอร์ไม่ให้ไหลออกนอกห้องก็ยังได้ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้หาซื้อได้ไม่ยากครับ shopee หรือ lazada ก็มีขาย ราคาประมาณ 100 กว่าบาทเท่านั้นเอง และเราสามารถติดตั้งได้ง่ายๆ 2 ขั้นตอนดังนี้

  1. วัดระยะและตัดขอบยางด้วยกรรไกร ให้พอดีกับประตู/หน้าต่างด้านนั้นๆ
  2. ลอกเทปกาวที่อยู่ด้านหลังออก แล้วนำมาติดตามขอบในจุดที่ต้องการ

ปลั๊กไฟติดผนัง

ในกรณีที่ห้องของเรามีการเจาะช่องผนังเพื่อติดตั้งปลั๊กไฟ แล้วดันไปอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกับรูปลั๊กไฟของห้องข้างๆพอดีเหมือนกัน ก็จะทำให้เสียงสามารถเดินทางผ่านรูหรือช่องว่างเหล่านั้นเข้ามาได้ง่ายครับ ซึ่งแน่นอนว่าอุปกรณ์ชนิดนี้จะเกี่ยวข้องกับผนังห้องโดยตรง ผมจึงขอแบ่งวิธีการจัดการออกเป็น 2 กรณีหลักๆคือ

  1. กรณีสำหรับคนที่สามารถเจาะผนังใหม่ได้ เพราะอยากแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้เด็ดขาดไปเลย
  2. กรณีสำหรับคนที่ไม่ต้องการเจาะผนัง ต้องการแก้ไขด้วยตัวเองแบบง่ายๆ หรือผนังห้องอาจเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ไม่สามารถทุบเจาะได้

กรณีที่สามารถเจาะผนังได้

เป็นการย้ายตำแหน่งปลั๊กไฟใหม่ ซึ่งอาจเป็นจุดที่อยู่ไม่ไกลจากตำแหน่งเดิมมากนักก็ได้ครับ ขอแค่ไม่ตรงกับห้องข้างๆก็เพียงพอ และเป็นวิธีที่ได้ผลค่อนข้างดีที่สุด แต่อาจต้องพึ่งช่างไฟให้เข้ามาช่วยทำให้นะครับ

กรณีที่ไม่ต้องเจาะผนัง

สามารถทำได้ง่ายด้วยตัวเอง และลงทุนน้อยเพียงหลักร้อยเท่านั้น ซึ่งก็มีหลากหลายวิธีให้เลือกใช้พอสมควร ยกตัวอย่างเช่น

  • ฝาครอบปลั๊กไฟ : เราสามารถหาซื้อขนาดที่พอดีมาใช้ เพื่อช่วยปิดกั้นเสียงที่อาจเล็ดรอดเข้ามาได้อีกชั้นหนึ่ง รวมถึงยังช่วยป้องกันฝุ่น แมลง และกันน้ำได้อีกด้วยครับ
  • ซิลิโคลน/ยาแนว/พียู : สามารถใช้ยิงเพื่ออุดช่องว่างที่อยู่รอบๆกรอบของปลั๊กไฟ เพื่อให้มีความมิดชิดมากขึ้นได้ ซึ่งวิธีนี้ยังสามารถนำไปใช้กับกรณีของวงกบประตู-หน้าต่างก่อนหน้านี้ได้อีกด้วยนะครับ
  • บล็อกลอย : เป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผลดีสุดในกรณีที่ไม่ต้องเจาะผนัง เพราะเราสามารถตัดปัญหาช่องผนังที่ตรงกับเพื่อนบ้านไปได้เลย แต่ก็ต้องแลกกับความสวยงามที่ลดลง เพราะด้วยลักษณะของกล่องปลั๊กไฟที่ยื่นออกมา และสายไฟต่างๆที่จะเดินลอยเห็นได้ชัดอยู่บนผนัง รวมถึงอาจต้องจ้างช่างไฟให้เข้ามาช่วยติดตั้งให้ด้วยนะครับ

ผนัง/กำแพง

เป็นส่วนสำคัญที่สุด ซึ่งต่อให้เราจะปิดช่องว่างอื่นๆไปหมดแล้ว แต่ผนังทั่วไปที่ไม่ใช่ผนังกันเสียงโดยเฉพาะ ก็ยังคงมีเสียงดังผ่านทะลุเข้ามาได้อยู่ดี ซึ่งวิธีแก้ปัญหาหลักๆจะเป็นการทำผนังกันเสียงแบบจริงจัง ที่ต้องมีการก่อผนังเบาเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง และใส่ฉนวนกันเสียงอย่างพวก Acoustic เข้าไปด้านใน แบบนี้จึงจะสามารถช่วยกันเสียงได้ดีที่สุดครับ แต่ก็เป็นรูปแบบที่ต้องพึ่งพาทีมช่างและผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก ซึ่งจริงๆแล้วเรายังมีวิธีอื่นๆ ที่อาจไม่ได้ผล 100% แต่ก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ และใช้งบประมาณไม่เยอะด้วย ได้แก่

  1. เก็บรอยแตกร้าวที่ผนังด้วยการโป๊ว
  2. ติดวอลเปเปอร์แบบอย่างหนา
  3. ติดตั้งแผ่น Acoustic Foam
  4. การจัดการกับเฟอร์นิเจอร์ภายในห้อง

เก็บรอยร้าวที่ผนังด้วยการโป๊ว

ก่อนจะทำอะไรกับผนัง อย่างแรกเลยเราต้องสำรวจก่อนว่า ผนังห้องของเรามีรอยแตกร้าวบ้างหรือเปล่า ซึ่งนั่นก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เปิดช่องว่าง ทำให้เสียงจากภายนอกดังเข้ามาในห้องของเราได้ครับ

ซึ่งถ้าเป็นรอยร้าวขนาดเล็กๆเพียงไม่กี่มิลลิเมตร เราสามารถใช้พวก Putty ปูนโป๊ว หรืออะคริลิค ในการซ่อมแซมด้วยตัวเองได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพึ่งช่างสีเลยก็ได้ครับ เพียงแต่งานที่ออกมาก็อาจไม่ได้สวยงามเท่ามืออาชีพเค้าทำให้นะ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือและสกิลของแต่ละคนแล้วล่ะครับ ซึ่งเมื่อเราโป๊วรอยร้าวและรอให้แห้งเรียบร้อยดีแล้ว ก็สามารถทาสีรองพื้นและสีจริงทับไปได้ตามปกติเลย

ติดวอลเปเปอร์แบบอย่างหนา (3D Wallpaper)

เปรียบเหมือนการช่วยปกปิดรอยร้าว และเพิ่มความหนาให้กับผนังขึ้นอีกชั้นหนึ่งไปในตัว ซึ่งก็มีส่วนช่วยลดความดังของเสียงที่จะทะลุผ่านมาได้อีกระดับหนึ่งครับ แถมยังเป็นการตกแต่งและเพิ่มความสวยงามให้กับผนังห้องไปในตัวได้อีกด้วย ซึ่งสมัยนี้ก็มีวอลเปเปอร์หลายสีหลายลายให้เลือกใช้กันเยอะเลยครับ

และด้วยความหนาของแผ่น ก็เลยทำให้ติดตั้งด้วยตัวเองได้ง่าย เพียงแค่ตัดแผ่นและต่อลวดลายให้พอดีกับพื้นที่หน้างาน แล้วค่อยลอกสติกเกอร์ด้านหลังออกก็สามารถติดได้เลย ซึ่งไม่ต้องกังวลว่ากระดาษจะยับย่น ติดแล้วจะไม่สวยไม่เนียนเหมือนวอลเปเปอร์กระดาษแบบบางๆสมัยก่อน ที่อันนั้นควรจะให้ช่างมาช่วยน่าจะเวิคกว่า แต่ก็ต้องแลกกับราคาค่าตัวที่ค่อนข้างสูงกว่าปกติเช่นกัน ซึ่งจะมีตั้งแต่หลักร้อย-หลักพันบาท/แผ่นเลยครับ

ขอบคุณภาพจาก SCG

ติดตั้งแผ่น Acoustic Foam

บอกเลยว่าอันนี้เป็นสำหรับสายจริงจังมากๆครับ โดยแผ่น Acoustic Foam จะถูกออกแบบมาให้มีส่วนช่วยในการกันเสียงได้ส่วนหนึ่ง และจะเน้นไปในทางการดูดซับเสียง ลดความก้องกังวาล หรือเสียงสะท้อนภายในห้องได้ดีมากๆ จึงเหมาะสำหรับคนที่อาจมีชุดโฮมเธียเตอร์ใหญ่ๆ กะจะไว้ดูหนังฟังเพลงอยู่บ้านจริงจัง หรืออาจเป็นคนที่ต้องใช้เสียงตัวเองในการทำงานประจำ โดยเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นห้องอัดเสียงขนาดย่อมๆไปในตัวได้ เช่น Game Caster, Streamer, Youtuber, นักร้อง/นักดนตรี

ซึ่งแผ่น Acoustic Foam ที่มีขายอยู่ในท้องตลาดนั้น ก็มีให้เลือกหลากหลายแบบมากๆครับ มีทั้งแบบฟองน้ำลายรังไข่ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี และมีแบบที่หุ้มด้วยผ้าหลากสีสำหรับใช้ตกแต่งผนังไปด้วยในตัวได้ด้วย ซึ่งค่าตัวของเค้าก็อาจสูงอยู่สักหน่อยครับ ขนาด 1.2 x 0.6 m. ก็มีราคาประมาณ 300 – 400 บาท/แผ่น ส่วนการติดตั้งก็ง่ายและสามารถทำได้ด้วยตัวเองสบายๆ เพราะใช้แค่กาวตะปูที่ราคาประมาณ 200 – 300 บาท/หลอด เอามาติดตัวแผ่น Acoustic Foam เข้ากับผนังในจุดที่ต้องการได้เลยครับ

การจัดการกับเฟอร์นิเจอร์ภายในห้อง

ตำแหน่งการวางเฟอร์นิเจอร์นับว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งถ้าเราจัดให้เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นอยู่ถูกที่ถูกทาง ก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องเสียงรบกวนลงได้ดังนี้ครับ

ไม่ควรวางเตียงนอนไว้ใกล้ห้องน้ำ : เพราะห้องน้ำถือเป็นฟังก์ชันที่มีเสียงดังค่อนข้างบ่อย ไม่ว่าจะเป็นจากการใช้งานของคนในห้องเอง หรือแม้แต่เสียงน้ำที่ไหลอยู่ตามท่อในห้องน้ำ ซึ่งหากเราวางเตียงไว้ชิดหรือใกล้กับห้องน้ำมากเกินไป ก็อาจได้ยินเสียงจนรบกวนการพักผ่อนของเราได้ หรือบางคนอาจเกิดอาการนอนไม่ค่อยหลับเลยก็มีครับ และนอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความชื้นที่ซึมผ่านผนังเข้ามา ซึ่งอาจส่งผลต่อร่างกายในระยะยาวได้อีกด้วยนะครับ

ใช้หัวเตียงที่มีความหนาขึ้นมาหน่อย : บางครั้งเสียงที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เรากำลังนอนหลับอยู่ อาจเป็นเสียงที่ดังผ่านผนังหัวเตียงจากห้องข้างๆเข้ามาโดยตรงก็เป็นได้ ดังนั้นหากเราใช้หัวเตียงที่มีความหนาสักหน่อย ก็จะช่วยเป็นเกราะป้องกันเสียงอีกชั้นหนึ่งได้ครับ ซึ่งปัจจุบันก็มีหัวเตียงหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นหัวเตียงแบบทึบ แบบที่เป็นชั้นวางของได้ และแบบที่บุด้วยผ้า/หนัง เป็นต้น

เพิ่มตู้เสื้อผ้า/ชั้นวางหนังสือ : 2 สิ่งนี้มีส่วนช่วยในการดูดซับเสียงได้ดี เหมาะที่จะใช้เป็นตัวช่วยเพิ่มความหนาของผนังฝั่งที่มีปัญหา เพื่อป้องกันเสียงรบกวนได้อีกชั้นหนึ่ง เช่น การวางตู้เสื้อผ้าติดกับผนังห้องน้ำ ก็จะช่วยลดเสียงที่ดังผ่านผนังห้องน้ำ ไม่ให้รบกวนบริเวณเตียงนอนของเราได้ เป็นต้น

ติดผ้าม่าน : วัสดุประเภทผ้ามีคุณสมบัติในการดูดซับเสียงได้ดี ซึ่งเวลาที่เราเลื่อนม่านมาปิดหน้าต่าง ปกติแล้วก็เพื่อป้องกันแสง หรือต้องการความเป็นส่วนตัวเป็นหลักใช่มั้ยครับ แต่เราอาจไม่ทันได้สังเกตว่า จริงๆแล้วมันช่วยลดเสียงที่อาจดังผ่านช่องว่างของหน้าต่างได้อีกนิดหน่อยด้วย ซึ่งเราสามารถนำไปปรับใช้ในจุดอื่นๆที่ต้องการ นอกเหนือจากบริเวณประตู-หน้าต่างก็ได้นะครับ เช่น เราอาจประดับหัวเตียงด้วยม่าน หรือใช้ภาพแขวนผ้าใบสวยๆก็ได้ (อะไรที่เป็นวัสดุจากผ้าสามารถใช้แทนได้หมดเลย)

กั้นห้องครัวหน้าห้อง : สำหรับคนที่อยู่อาศัยในคอนโด เสียงที่ได้ยินชัดเจนที่สุดคือ เสียงคนเดินผ่านหน้าห้อง หรือเสียงเปิด-ปิดประตูดังๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะดังผ่านมาตามช่องประตูของเราเนี่ยแหละครับ โดยนอกจากเราจะมีการซีลกรอบประตูเรียบร้อยดีแล้ว ถ้าใครที่มีฟังก์ชันสามารถกั้นส่วนพักผ่อนให้แยกออกจากโซนประตูหน้าห้องได้ด้วยก็จะดีมาก ซึ่งบางแปลนอาจเป็นส่วนของห้องครัว และบางแปลนก็อาจเป็นส่วนของห้องนั่งเล่นก็ได้ วิธีนี้ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องสะดุ้งตื่นมากลางดึก เพราะได้ยินเสียงเพื่อนบ้านเพิ่งกลับมาตอนกลางดึก เป็นต้น

เสียงที่มาจากพื้น/โครงสร้าง + ฝ้าเพดาน

จริงๆแล้วหมวดนี้ถือเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากที่สุดครับ โดยเราอาจใช้วิธีการปูพรมขนาดใหญ่ในบริเวณที่ใช้งานอยู่เป็นประจำ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการลดแรงสั่นสะเทือน เพื่อให้เรารู้สึกถึงมันได้น้อยลงบ้าง ส่วนเรื่องการป้องกันเสียงก็อาจเป็นผลพลอยได้ในทางอ้อมนะครับ เพราะวัสดุประเภทผ้าแบบนี้ หลักๆแล้วจะช่วยลดการสะท้อนเสียงในห้องของเราเอง มากกว่าที่จะช่วยกันเสียงที่มาจากภายนอก รวมถึงยังได้ในเรื่องความสวยงาม และความสบายเท้าในการใช้งานพื้นบริเวณนั้นด้วยครับ

ส่วนเสียงที่มาจากฝ้าเพดานจะมีอยู่ 2 ส่วนหลักๆคือ เสียงจากพื้นชั้นบน และเสียงจากห้องข้างๆ ที่ดังข้ามผ่านช่องว่างของผนังที่อยู่เหนือฝ้าเพดาน เพราะปกติแล้วหลายๆคอนโดเค้าอาจจะไม่ได้ทำผนังจนเต็มความสูงไปสุดท้องพื้นชั้นบนให้นั่นเองครับ ซึ่งวิธีจัดการเรื่องนี้จำเป็นต้องเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญให้มาช่วยเปิดฝ้า และติดฉนวนกันเสียงฝ้าเพดานที่ด้านบน หรืออาจก่อผนังเพิ่มความสูงเพื่อปิดช่องว่างบนฝ้า ไม่ให้เชื่อมต่อกับห้องอื่นๆไปเลยก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองนะครับ แต่ก็บอกเป็นข้อมูลเผื่อๆไว้ให้ก่อนนะ


…เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับวิธีการรับมือกับปัญหาเรื่อง “เสียงรบกวนจากเพื่อนบ้านในคอนโด” ที่ผมนำมาฝากกันในวันนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีวิธีการหลายๆอย่าง ที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องจ้างช่างภายนอก ที่บางทีก็อาจต้องหมดเงินไปเป็นหมื่นเป็นแสนเลยก็มี

โดยเนื้อหาของส่วนที่ผมเลือกเอามาแนะนำกันในวันนี้ จะเป็นสิ่งของรอบๆตัวที่หาซื้อได้ตามร้านขายวัสดุทั่วไป หรือใน shopee / lazada ก็มีครับ รวมถึงอาจมีบางสิ่งบางอย่างที่เราอาจมองข้ามไป เช่น การจัดเฟอร์นิเจอร์ หรือการใช้ตู้ต่างๆให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ก็จะช่วยป้องกันเสียงที่เกิดขึ้นบริเวณจุดนั้นๆได้อีกชั้นหนึ่ง เป็นต้น

เทคนิคง่ายๆเหล่านี้ก็เป็นวิธีการเบื้องต้น ที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง และใช้งบประมาณที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งถึงแม้จะไม่สามารถป้องกันเสียงได้ดีมาก 100% เหมือนการไปจ้างบริษัทใหญ่ๆมาทำให้ก็จริง แต่ก็เพียงพอที่จะช่วยบรรเทาให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นนั่นเองครับ

และผมก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆคนนะ โดยเฉพาะชาวคอนโดมิเนียมทั้งหลาย ที่กำลังประสบปัญหาแบบเดียวกันอยู่นี้ ซึ่งถ้าใครมีประสบการณ์แปลกๆ หรือเทคนิคดีๆที่ใช้แล้วได้ผลจริง ก็สามารถมาช่วยแชร์ความรู้กันได้ที่ใต้ Comment ด้านล่างได้เลยนะครับ


ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc