ไม่ว่าจะผ่านไปสักกี่ปี “พื้นลายไม้” ยังคงเป็นที่นิยมกันอยู่ตลอดนะคะ ไม่ว่าจะเป็นพื้นในบ้าน หรือในคอนโดมิเนียม เพราะว่าลายไม้มีความสวยงาม ช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่น ดูเป็นธรรมชาติภายในบ้าน เข้ากันได้กับบ้านหลายสไตล์
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าไม้จริงนั้นมีราคาสูงนะคะ ซึ่งในปัจจุบันมีวัสดุเกิดขึ้นใหม่มามากมาย เพื่อรองรับความต้องการของผู้ซื้อที่มีปัจจัยแตกต่างกันและทดแทนกันได้ ไม่ว่าจะเป็นไม้ Engineered และ Hybrid Engineered ที่ทำออกมาแก้ไขข้อจำกัดของไม้จริง หรือวัสดุลายไม้อย่างแผ่นยางหรือที่เรียกกันว่ากระเบื้องยาง และพื้นลามิเนตที่ทำออกมาให้ราคาเข้าถึงง่าย แต่ยังให้ความสวยงาม ผิวสัมผัสคล้ายกับไม้จริง เป็นต้น
วันนี้เราจึงพาทุกคนมารู้จักกับวัสดุพื้น (ลาย) ไม้ ภายในบ้านทั้ง 7 ชนิด มาเปรียบเทียบข้อดี – ข้อด้อย แบบไหนเหมาะกับเรามากที่สุด สำหรับคนที่กำลังจะสร้างบ้าน หรืออยากเปลี่ยนพื้นกระเบื้องธรรมดาให้กลายเป็นพื้นลายไม้ ได้ตัดสินใจกันง่ายขึ้นค่ะ
- กระเบื้องลายไม้
- พื้นไม้ลามิเนต
- แผ่นยางไวนิลลายไม้
- แผ่นพื้น SPC ลายไม้ (Stone Plastic Composite)
- พื้นไม้ Engineered
- พื้นไม้ Hybrid Engineered
- พื้นไม้จริง
กระเบื้องลายไม้
เริ่มต้นกันที่วัสดุยอดฮิตอย่าง “กระเบื้อง” กันค่ะ กระเบื้องเป็นวัสดุที่นิยมใช้ปูพื้นกันมากอันดับแรกเลยก็ว่าได้นะคะ เพราะมีข้อดีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นราคาที่มีตั้งแต่หลักสิบ เข้าถึงได้ง่าย การดูแลทำความสะอาดก็ง่าย กันน้ำได้ดี มีหลายขนาดปูสลับได้หลาย Pattern โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กระเบื้องออกมาหลากหลายแบบ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้
- กระเบื้องเซรามิก (ceramic)
เซรามิก นั้นเป็นชื่อรวมๆ ของกระเบื้องที่ทำมาจากดินเผาค่ะ ถ้าเป็นกระเบื้องแผ่นที่ไม่ได้ผสมสีหรือทำลวดลายอะไรเลยบ้างก็เรียกว่ากระเบื้องดินเผา ถ้ามีการเคลือบผิวก็เรียกได้ว่ากระเบื้องเคลือบ เราจะเห็นการใช้งานได้ทั่วไปตามพื้นระเบียงคอนโดมิเนียม หรือพื้นลานซักล้างภายในบ้านต่างๆ เพราะมีราคาถูก ได้รับความนิยมใช้กันมานาน โดยส่วนใหญ่จะเป็นกระเบื้องเซรามิกจะเป็นแบบขอบมน ต้องเว้นระยะขอบยาแนว 3 – 5 มม. แต่ว่าปัจจุบันก็มีกระเบื้องเซรามิกขอบตัด ทำให้สามารถปูชิดกันได้มากขึ้น เว้นร่องยาแนวได้ 2 มม. ซึ่งจะมีราคาที่สูงขึ้นมาหน่อยค่ะ - กระเบื้องพอร์ซเลน (porcelain)
เป็นกระเบื้องดินเผาชนิดหนึ่งที่ทำมาจาก ดินขาว หรือมีส่วนผสมของหินแกรนิต ซึ่งจะมีคุณสมบัติคือเนื้อที่แข็งแรง แกร่ง และละเอียดกว่ากระเบื้องเซรามิกทั่วไป มีอัตราการซึมน้ำต่ำ สามารถตัดขอบและปูชิดกันได้ เว้นรองยาแนว 2 – 3 มม. บางคนติดปากเรียกกระเบื้องพอร์ซเลนว่า “กระเบื้องแกรนิตโต้” เพราะว่ายี่ห้อแกรนิตโต้นั้นนำเข้ามาขายในประเทศไทยนานแล้วนั่นเองค่ะ
กระเบื้องปูพื้นมีพื้นผิวให้เลือก 2 แบบ คือกระเบื้องผิวมัน (Glossy) และกระเบื้องผิวด้าน (Matt) ซึ่งกระเบื้องผิวด้านก็จะมีให้เลือกอีก 2 แบบ คือกระเบื้องแบบผิวเรียบ (Satin) และกระเบื้องผิวหยาบ (Rustic)
ปัจจุบันกระเบื้องลายไม้ที่ทำออกมาทดแทนการใช้ไม้จริงนั้น ทำออกมาคล้ายกับไม้เมื่อมองด้วยตาเปล่าเลยค่ะ อีกทั้งยังมีหลายขนาดไม่ใช่แค่สี่เหลี่ยมจัตุรัสธรรมดา แต่เราสามารถเลือกขนาดได้หลากหลาย เช่น 15 x 60 ซม. / 15 x 90 ซม. / 20 x 100 ซม. / 20 x 120 ซม. เป็นต้น ทำให้ปูสลับ หรือจัด Pattern แล้วเหมือนกับพื้นไม้ได้จริง
- ราคา : ตารางเมตรละ 300 – 890 บาท/ตร.ม. (ไม่รวมค่าแรงติดตั้ง)
ข้อดี : ข้อดีของกระเบื้องลายไม้คือทำความสะอาดได้ง่าย ทนน้ำได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาด หรือเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกระเบื้องจะไม่เสียหายมากนัก นอกจากนั้นยังมีความแข็งแรง อายุการใช้งานที่ยาวนาน และราคาถูก ติดตั้งภายนอกอาคารได้
ข้อด้อย : จุดด้อยของกระเบื้องคือ ต้องเว้นขอบยาแนว และผิวสัมผัสที่ไม่เหมือนไม้จริง อาจจะมีความใกล้เคียงเมื่อมองด้วยสายตา แต่ถ้าสัมผัสสำหรับบางคนจะรู้สึกได้ว่าพื้นกระเบื้องเย็น และแข็งกว่าวัสดุทดแทนไม้อื่นๆ
พื้นไม้ลามิเนต (Laminate)
ถัดมาวัสดุที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในพื้นคอนโดมิเนียมหรือพื้นห้องนอนของโครงการบ้านต่างๆ นั่นก็คือ “ไม้ลามิเนต” ค่ะ ซึ่ง ลามิเนตนั้นใช้เรียกสิ่งที่มาประกบกันเป็นชั้นๆ บางๆ หรือเป็นแผ่นที่มีความบาง ลามิเนตลายไม้จะผลิตจากการอัดไม้ให้มีความหนาแน่นสูง นำมารวมกันกับชั้นอื่นๆ ทำให้มีผิวสัมผัส ลวดลาย คล้ายกับไม้จริงมากขึ้น
โดยแผ่นไม้ลามิเนตสามารถแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ดังนี้
1. Overlay เป็นชั้นวัสดุเคลือบผิวหน้าด้วยอลูมิเนียมออกไซด์ เพื่อป้องกันการกระแทก รอยขีดข่วน และความชื้นเข้าสู่ตัวแกนกลางไม้ มีการแบ่งระดับค่าความคงทนของผิวหน้าไม้ออกเป็น Class เรียกว่าค่า AC Rating (Abrasion Resistance Class) ตั้งแต่ AC1 – AC5 ยิ่งค่าสูง ก็จะยิ่งมีความคงทนต่อรอยขีดข่วนและแรงกระแทกมากขึ้น สำหรับบ้านพักอาศัยใช้เพียง AC1 – AC2 ก็เพียงพอแล้วค่ะ
2. Printed Decoration เป็นชั้นลวดลายไม้เคลือบด้วยเมลามีนเรซินที่ปิดทับบนแผ่นไม้ HDF ซึ่งส่วนใหญ่มักเลียนแบบลายไม้จริง และได้ผิวสัมผัสที่คล้ายไม้ธรรมชาติ
3. HDF (High Density Fiberboard) เป็นส่วนที่ใช้ในการรับน้ำหนัก วัสดุที่ใช้คือแผ่นไม้ HDF เป็นการนำไม้จริงมาย่อยจนเป็นผงละเอียด และผสมกับสารเคมีอื่นๆ เช่น เรซิน นำมาขึ้นรูปเป็นแผ่นขนาดใหญ่ แล้วผ่านเครื่องอัดแรงดันสูง เพื่อให้ได้ความหนาที่ต้องการ
4. Counterbalance เป็นแผ่นรองพื้นชั้นล่างเคลือบสารเมลามีน เพื่อป้องกันความชื้นและปลวกเข้าสู่แกนกลางแผ่น
พื้นไม้ลามิเนตนั้นจะมีความหนาหลายระดับนะคะ โดยส่วนใหญ่ที่นิยมใช้กันคือความหนา 8 มม. และ 12 มม. ซึ่งพื้นไม้ลามิเนตจะต้องติดตั้งบนพื้นที่มีความเรียบเสมอกัน ถ้ามีความแตกต่างกัน พื้นลามิเนตที่มีความหนาก็จะยิ่งช่วยลดความยุบตัว และเสียงดังขณะใช้งานได้
- ราคา : 300 – 1,500 บาท/ตร.ม. (รวมค่าแรงติดตั้ง)
ข้อดี : ราคาถูก น้ำหนักเบา ติดตั้งง่ายรวดเร็ว และการติดตั้งสะอาดด้วยระบบ Click-lock มีความทนต่อรอยขูดขีด แรงกด ทนความร้อนได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงไม่เก็บฝุ่นและเชื้อโรค และมีลวดลายให้เลือกหลากหลาย
ข้อด้อย : ทนความชื้นได้ไม่ดี ถ้าโดนน้ำนานๆ หรือบ่อยครั้งจะบวมได้ง่าย ต้องติดตั้งบนพื้นที่เรียบเสมอกัน เพราะถ้าไม่เรียบอาจจะเกิดเสียงเวลาเดินได้ รวมถึงยังไม่สามารถขัดสีออก เพื่อทำสีใหม่ได้ มีอายุการใช้งาน 10 – 15 ปี ไม่ควรติดตั้งภายนอกอาคาร
แผ่นยางไวนิลลายไม้ (Poly Vinyl Chloride)
ตามมาด้วยวัสดุอีกชนิดที่ติด Top ให้เราได้เจอกันประจำนั่นก็คือ “กระเบื้องยางไวนิล” นั่นเอง กระเบื้องยางนั้นทำมาจากวัสดุได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นยางพารา, PU (Polyurethane) , PVC (Poly Vinyl Chloride) มีการนำมาใช้ทดแทนไม้ลามิเนตกันมากขึ้นเพราะมีความเหนียว ยืดหยุ่นได้ดี ทำความสะอาดง่าย แต่จะไม่ได้มีส่วนผสมของไม้นะคะ
1. UV Coating หรือ ชั้นบนสุดของกระเบื้องยาง จะเป็นชั้นที่เคลือบด้วย PU เพื่อ ปกป้องสีซีดจางจากแสงแดด ทำให้พื้นกระเบื้องยางมีสีสดใหม่เสมอ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบางเจ้าอาจมีการผสมสารอื่นๆ เช่น Nano Silver เพื่อเพิ่มความคงทนของผิวหน้าให้มากขึ้น เป็นต้น
2. Wear Layer หรือ ชั้นกันสึก เป็นแผ่นโพลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติปกป้องสี และลวดลายของกระเบื้องยาง
3. Print Layer หรือ ชั้นแผ่นที่แสดงลวดลายและสีสันของกระเบื้องยาง มีให้เลือกมากมายและหลากหลาย ทั้งรูปแบบลายไม้, หินอ่อน และเฉดสีต่างๆ
4. Middle Layer PVC หรือ ชั้นไวนิลที่กำหนดความหนาของกระเบื้องยาง และ มีคุณสมบัติป้องกันแรงกระแทก และมีส่วน support ช่วยลดการยืดหดของกระเบื้องยางอีกด้วย ซึ่งในบางรุ่นอาจมีการผสมคาร์บอน เพื่อดูดซับเสียงและกลิ่น รวมถึงช่วยเพิ่มความแข็งแรง ทนทานต่อน้ำและความชื้นได้ดีขึ้น และลดการแตกหักหลังการติดตั้งอีกด้วย
5. Base Layer หรือ ชั้นล่างสุดของกระเบื้องยาง มีคุณสมบัติลดการยืด-หดของแผ่นกระเบื้อง และออกแบบมาเป็นรูปตาราง/ตาข่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยึดติดระหว่างกาวกับพื้นผิว
แผ่นกระเบื้องยางไวนิลนั้นมีอยู่หลากหลายประเภท สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มตามลักษณะการติดตั้ง
1 กลุ่มที่ต้องใช้ Backing เป็นตัวยึดเกาะ
- เป็นรุ่นที่ต้อง “ใช้กาว” เป็น Backing ด้านหลัง ซึ่งตัวนี้นี่เองที่ส่งผลต่อประโยชน์การใช้สอยและอายุใช้งาน เพราะเดิมทีวัสดุไวนิลนั้นสามารถใช้ได้นานเกือบ 20 ปี แต่ตัว Backing ด้านหลังมักจะมีการเสื่อมสภาพที่เร็วกว่า แถมยังไม่ทนน้ำด้วยค่ะ จึงทำให้อายุการใช้งานของพื้นที่ต้องใช้กาวเป็น Backing ด้านหลังจะอยู่ที่ประมาณ 10 – 15 ปี
- มีความบาง อยู่ที่ประมาณ 2 – 3 mm. ดังนั้นข้อจำกัดในการติดตั้งคือ พื้นจะต้องเรียบมากๆ เพราะถ้าขรุขระแม้เพียงนิดเดียว ตัวแผ่นพื้นจะนูนเด่นขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นถ้าพื้นที่ไหนใช้วัสดุปูพื้นประเภทนี้แล้วยังดูเรียบร้อยดี ก็การันตีได้ว่างานพื้นด้านล่างมีความเรียบจริงๆค่ะ
พื้นกระเบื้องไวนิลทั้ง 2 ชนิดนี้ จะมีความแตกต่างกันเล็กๆน้อยๆในเรื่องของลักษณะและการใช้งานดังต่อไปนี้
1.) พื้นกระเบื้องยางแบบแผ่น
ตัว Product จะมีลักษณะเป็นแผ่นๆ ซึ่งจะมีหลากหลายขนาดตั้งแต่ 30 x 30 ซม. , 15 x 90 ซม., 18 x 120 ซม. เป็นต้น ซึ่งก็แล้วแต่รุ่นและแต่ละเจ้าที่จะทำออกมาไม่เหมือนกัน บางรุ่นก็อาจมีกาวติดอยู่ที่พื้นด้านหลังมาให้เลย เพื่อความสะดวกในการติดตั้ง เพียงแค่ลอกสติกเกอร์ออกแล้วติดลงกับพื้นได้เลย นิยมนำมาปูพื้นภายในอาคาร
ราคาประมาณ 150 – 700 บาท/ตร.ม. (ไม่รวมค่าแรงติดตั้ง)
2.) พื้นกระเบื้องยางแบบม้วน
ตัว Product จะมีลักษณะเป็นม้วนที่สามารถคลี่ออกมาเป็นแผ่นใหญ่ได้ประมาณ 1.2 x 8 m. หรืออาจจะมากกว่า 10 – 20 m. ก็มี ซึ่งจะทำให้สามารถปูพื้นที่กว้างๆ ได้เสร็จเร็วขึ้น แถมยังมีรอยต่อของพื้นน้อยกว่าด้วยค่ะ แต่เรื่องการซ่อมแซมจะต่างจากกระเบื้องแบบแผ่นคือ ถ้าเป็นแบบแผ่นจะสามารถเลือกเปลี่ยนเฉพาะแผ่นที่เสียหายแค่ส่วนนั้นได้เลย ซึ่งทำได้ง่ายกว่าแบบม้วนที่มีลักษณะต่อแผ่นที่ใหญ่มาก คือถ้าไม่อยากเปลี่ยนทั้งแผ่นใหญ่ๆ ก็จะต้องตัดเอาเฉพาะพื้นที่ส่วนนั้นไป ซึ่งมันจะเกิดรอยต่อใหม่ไม่เนียนเท่าแผ่นเล็กๆ นั่นเอง
ราคาประมาณ 300 – 450 บาท/ตร.ม. (ไม่รวมค่าแรงติดตั้ง)
ข้อดี : มีตั้งแต่ราคาถูกมากๆ ติดตั้งง่าย มีลวดลายให้เลือกหลากหลาย ทำความสะอาดง่าย
ข้อด้อย : แผ่นมีความบางจะต้องติดตั้งบนพื้นที่เรียบเสมอกัน มีความแข็งแรงไม่มากนัก เหมาะกับการใช้งานพื้นภายในอาคาร ผิวสัมผัสลื่นมีความมันเงา ทนต่อการขูดขีดได้ไม่เยอะ อาจมีการยืดหดตัวตามสภาพแวดล้อม ตัวกาวมีอายุการใช้งานสั้นประมาณ 10 – 15 ปี
2 กลุ่มที่ไม่ต้องใช้ Backing เป็นตัวยึดเกาะ
เป็นรุ่นที่ไม่ต้องใช้ “กาว” แต่สามารถยึดเกาะกันได้เอง มี 2 แบบ คือ
1.) กระเบื้องยาง Click Lock หรือแบบมีลิ้น
แผ่นกระเบื้องยางจะมีความหนามากกว่าแบบกลุ่มแรก อยู่ที่ประมาณ 4 – 5 มม. เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะสามารถติดตั้งได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้กาวเป็นตัวเชื่อมประสาน ซึ่งพอไม่มี Backing ด้านหลังที่ไม่ถูกกับน้ำหรือจะเสื่อมสภาพเร็วกว่าตัวพื้น จึงทำให้สามารถนำมาปูพื้นห้องน้ำส่วนแห้งเพื่อการตกแต่งได้ แล้วยังทำให้สามารถใช้งานพื้นไวนิลได้เต็มอายุการใช้งานมากขึ้น ซึ่งอาจอยู่ได้ถึง 15 – 20 ปีเลยทีเดียว แต่ก็ต้องแลกมากับราคาที่อาจสูงกว่าแบบที่ต้องใช้กาวแบบเดิมๆอยู่บ้างค่ะ
ราคาประมาณ 400 – 1,000 บาท/ตร.ม. ขึ้นไป (รวมค่าแรงติดตั้ง)
2.) กระเบื้องยางระบบ Loose Lay Antiskid คล้ายสุญญากาศ
เป็นแผ่นกระเบื้องยางระบบ Loose Lay Antiskid จากยี่ห้อ Floover ที่นำเข้าจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดย Modernform ที่พื้นด้านหลังจะทำหน้าที่ยึดเกาะกับพื้นผิวเดิมได้โดยไม่ต้องใช้กาว (หรือใช้กาวน้อยมาก) ทำงานคล้ายระบบสุญญากาศ และไม่กลัวน้ำ 100% แต่ข้อจำกัดคือ พื้นผิวที่จะไปยึดเกาะได้นั้นจะต้องเรียบมากๆ เช่น กระเบื้องพอร์ซเลนผิวเรียบ หรือพื้นปูนขัดมัน เป็นต้น
ราคาประมาณ 1,500 บาท/ตร.ม. ขึ้นไป (รวมค่าแรงติดตั้ง)
ข้อดี : ติดตั้งง่าย ขั้นตอนการติดตั้งสะอาด มีลวดลายให้เลือกหลากหลาย ผิวสัมผัสนุ่มเท้า รับแรงกระแทกได้ดี ไม่ลื่น ทนทานต่อน้ำและรอยขีดข่วนได้มากกว่าแบบใช้กาว ทำความสะอาดง่าย
ข้อด้อย : จะต้องติดตั้งบนพื้นที่เรียบเสมอกัน และเหมาะกับการใช้งานพื้นภายในอาคารมากกว่า Outdoor ราคาอยู่ในระดับกลางๆ มีอายุการใช้งาน 15 – 20 ปี
แผ่นพื้น SPC ลายไม้ (Stone Plastic Composite)
เราดูกระเบื้องยางไวนิลกันไปแล้ว มาดู “กระเบื้องยาง SPC” กันค่ะ เนื้อวัสดุของกระเบื้องยาง SPC ผลิตมาจากแคลเซียมคาร์บอเนต (หินปูน) ผสมพลาสติก PVC หลายคนเข้าใจผิดว่ามีเป็นใยหิน ที่ทำให้เกิดอันตราย จริงๆ แล้วไม่มีนะคะ กระเบื้องยาง SPC ทำมาจากหินที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
กระเบื้องยาง SPC คุณสมบัติจะคล้ายกับกระเบื้องยางไวนิลเลยค่ะ แต่จะให้ความรู้สึกแข็งกว่า ไม้ไม่โค้งงอแบบแผ่นกระเบื้องยางไวนิล แผ่นพื้น SPC จึงมีความแข็งแรงมากกว่า ไม่ยืดหดตัวง่ายตามสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิซึ่งเป็นข้อดีของตัวนี้เลย
การติดตั้งแผ่นกระเบื้องยาง SPC จะเป็นระบบ Click Lock ไม่ต้องใช้กาวในการติดตั้ง แต่เงื่อนไขในการติดตั้งจะต้องวางบนพื้นเรียบ มีความขรุขระได้บ้าง (ไม่เกิน 3 มม.) พื้นแห้ง เช่นเดียวกับกระเบื้องยางไวนิลค่ะ และที่สำคัญคือจะต้องมีโฟมรองก่อนปูแผ่นพื้น
- ราคา : 500 – 1,000 บาท/ตร.ม. (รวมค่าแรงติดตั้ง)
ข้อดี : ติดตั้งง่ายด้วยระบบ Click Lock แผ่นพื้นมีความทนทานต่อความชื้น น้ำ และทนไฟได้ มีความแข็งแรงทนทาน รับแรงกระแทกได้ดี ไม่ลื่น ไม่ยืดหดตามสภาพแวดล้อมมากเท่าไวนิล
ข้อด้อย : จะต้องติดตั้งบนพื้นที่เรียบเสมอกัน และเหมาะกับการใช้งานพื้นภายในอาคารมากกว่า Outdoor ราคาอยู่ในระดับกลางๆ มีอายุการใช้งาน 15 – 20 ปี
พื้น Engineered Wood
“Engineered Wood” เป็นวัสดุทดแทนไม้จริงที่มีการนำมาใช้กันในโครงการระดับ High – Luxury Class เป็นแผ่นพื้นที่มีโครงสร้างซ้อนกันหลายๆ ชั้น มีหน้าไม้เป็นผิวไม้จริง เคลือบด้วย UV Acrylic เพื่อให้มีความคงทนมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีความหนาประมาณ 3-5 มม. โดยเราจะเอาไม้ชิ้นนี้ไปประกบกับไม้เนื้อแข็ง(ไม้ประสาน) สลับชั้นกันกับน้ำกาวเรียงไปมาจนมีความหนาประมาณ 14 มม. หลังจากนั้นเราจะนำไปอบควบคุมความชื้น ให้แข็งแรง ลดการบิดตัว โก่ง งอ และยืดหดขยายของไม้ ซึ่งราคาของวัสดุประเภทนี้ จะมีราคาถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับแผ่นไม้ด้านบนที่นำมาปิดผิวค่ะ
โครงสร้างของพื้น Engineering Wood มีประมาณ 4 ชั้น ประกอบด้วย
1.) ชั้นบนสุด : เคลือบผิวหน้าไม้ด้วย UV Acrylic Lacquer เพื่อทำให้สีไม้คงทน สวยงาม ลวดลายไม้ชัดเจน รวมถึงยังป้องกันรอยขูดขีดที่ผิวหน้าได้ระดับนึง
2.) ชั้นถัดมา : แผ่นไม้จริง หนาประมาณ 3 มม. เวลาสัมผัสจะเหมือนไม้จริงเลย ส่วนใหญ่ที่เลือกมาใช้กัน ได้แก่ ไม้โอ๊ก, ไม้แดง, ไม้มะค่า, ไม้สัก และ ไม้เมเปิ้ล มาใช้เป็นต้น
3.) ชั้นกลาง : แผ่นไม้เนื้อแข็ง(ไม้ประสาน) สลับกับน้ำกาวเรียงกันไปมา มีความหนาประมาณ 11 มม. วางสลับขวางเสี้ยน เพื่อลดการยืดหดตัวของไม้ และแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
4.) ชั้นล่างสุด : เป็นชั้นสุดท้ายหรือที่เขาเรียกกันว่า Backing Layer มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นเข้าไปทำลายชั้นไม้อื่นๆ
- ราคา : 2,000 – 2,500 บาท/ตร.ม.ขึ้นไป (รวมค่าแรงติดตั้ง)
ข้อดี : พื้นผิวสัมผัสเหมือนไม้จริง แต่มีราคาที่ถูกกว่าไม้จริง ติดตั้งรวดเร็ว ไม่ต้องรอขัดทำสี เพราะผลิตมาจากโรงงาน ช่วยลดปัญหาเรื่องฝุ่นฟุ้ง นอกจากนี้ยังออกแบบมาให้แผ่นไม้ทนต่อการบิดงอได้สูง
ข้อด้อย : เหมาะใช้งานเฉพาะพื้นที่ภายในอาคาร เนื่องจากยังไม่ทนน้ำและความชื้นมากนัก รวมถึงมีรอยขีดขูดง่าย และราคาที่สูงเมื่อเทียบกับวัสดุทดแทนไม้ชนิดอื่นๆ เนื่องจากใช้วัสดุไม้จริงปิดผิวค่ะ
พื้น Hybrid Engineered Wood
“Hybrid Engineered Wood” เป็นวัสดุที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจาก Engineered Wood แบบดั้งเดิมนะคะ โดยจะมีเฉพาะบางแบรนด์เท่านั้น เพราะตัวที่เขาเสริมข้อดี เช่น สามารถกันน้ำและรอยขีดขูดได้ดีกว่า และลดข้อด้อยของ Engineered Wood ในด้านราคาลงได้ เนื่องจากผิวด้านบนของ Hybrid Engineered Wood จะไม่ได้เป็นผิวไม้จริง 100% แต่จะเป็น การผสมของผงไม้ และพลาสติกค่ะ
โครงสร้างของพื้น Hybrid Engineered Wood มีความแตกต่างจากไม้ Engineering Wood แบบดั้งเดิมเล็กน้อย ดังนี้
1.) ชั้นบนสุด : เคลือบผิวด้วยสาร Hydro – Seal เป็นสารกันน้ำเพื่อไม่ให้เกิดการบวมน้ำในภายหลัง และสาร Scratch Guard เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนได้ดี
2.) ชั้นถัดมา : เป็นวัสดุที่เกิดจากการผสมของผงไม้ + พลาสติก ขึ้นรูปออกมาให้เป็นลวดลายไม้ ซึ่งเวลาสัมผัสแล้วจะให้ความรู้สึกเหมือนไม้จริงเลยนะคะ
3.) ชั้นกลาง : วัสดุที่ใช้คือแผ่นไม้ HDF ( High Density Fiberboard) มาตรฐานยุโรป เพื่อให้มีความหนาแน่นและแข็งแรงมากเป็นพิเศษ
4.) ชั้นล่าง : เป็นแผ่นรองพื้นชั้นล่าง เพื่อป้องกันความชื้นเข้าสู่แกนกลางแผ่น
- ราคา : 1,500 – 2,000 บาท/ตร.ม.ขึ้นไป (รวมค่าแรงติดตั้ง)
ข้อดี : ติดตั้งง่ายช่างทั่วไปสามารถทำได้ กันน้ำได้ดี พื้นไม่โก่ง งอ ยืด หด รวมถึงสามารถกันรอยขีดขูดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดี นอกจากนี้ยังได้ผิวสัมผัสเหมือนไม้จริง สามารถดูดซับเสียง และลดแรงกระแทกได้ดี
ข้อด้อย : เหมาะใช้งานกับพื้นภายในห้องมากกว่า เช่นเดียวกับ Engineering Wood ทั่วไป เนื่องจากยังทนความชื้นและแสงแดดได้ไม่ดีนัก และราคาที่ค่อนข้างสูง
พื้นไม้จริง
“ไม้จริง” เป็นวัสดุที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานนะคะ แต่ปัจจุบันนี้หายากมากขึ้น ทำให้ไม้จริงราคาสูงมาก แต่หลายคนก็ยังนิยมกันอยู่ เพราะให้ความเป็นธรรมชาติ ให้ความรู้สึกอบอุ่นเท้าเวลาสัมผัส และมีความแข็งแรง สำหรับไม้ที่นิยมนำมาปูพื้น คือไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้มะค่า ไม้ประดู่ และไม้เนื้ออ่อนที่ปลวกไม่ชอบ เช่น ไม้สัก เป็นต้น
ด้วยความที่เป็นไม้จริงล้วนๆ ไม่ได้มีวัสดุอื่นผสมอยู่เลย ทำให้มีข้อด้อยอยู่เหมือนกันค่ะ นอกจากเรื่องของราคา ไม้จริงยังมีความทนน้ำได้ต่ำ โดนน้ำขังแล้วบวม สามารถยืดหดไปตามสภาพแวดล้อมได้ ใช้งานไปนานๆ ปลวกก็ขึ้นได้ค่ะ นอกจากนั้นยังดูแลรักษาได้ยากอีกด้วย
ปัจจุบันบริษัทขายวัสดุไม้แบรนด์ต่างๆ จึงได้คิดวิธีการลดข้อเสียของไม้จริงโดยการทำเป็นไม้ “Compound Solid” คือการนำไม้เนื้อแข็งมาประกบกัน 3 ชั้น เพื่อลดการบิดตัว หรือยืดหดตามสภาพแวดล้อม พร้อมกับเคลือบน้ำยากันความชื้นและปลวก ยืดอายุการใช้งานมากขึ้นนั่นเอง
- ราคา : 3,500 – 8,500 บาท/ตร.ม. (รวมค่าแรงติดตั้ง)
ข้อดี : ผิวสัมผัสดี มีความสวยงาม ให้ความรู้สึกอบอุ่น เป็นวัสดุธรรมชาติแท้ๆ มีความแข็งแรง มีอายุการใช้งานยาวนาน สามารถขัดทำสีผิวหน้าไม้ได้หลายครั้ง
ข้อด้อย : ราคาสูง ไม่ทนต่อความชื้น น้ำ ปลวก และไฟ สามารถยืดหดไปตามสภาพแวดล้อมได้ เกิดรอยขีดข่วนที่ผิวหน้าไม้ได้ง่าย การซ่อมแซมขัดทำสีได้ยาก
เปรียบเทียบ 7 วัสดุพื้นลายไม้ภายในบ้าน
พื้นไม้แต่ละประเภทก็มีข้อดี – ข้อด้อยแตกต่างกันไปนะคะ ถ้าต้องการผิวสัมผัสที่ให้ความรู้สึกเหมือนไม้จริง ก็จะต้องเลือกวัสดุที่มีผิวหน้าเป็นไม้จริงเช่น Engineered Wood, Hybrid Engineered Wood หรือไม้จริง ซึ่งราคาจะค่อนข้างสูงเลย ถ้าต้องการราคาถูกก็จะเป็นแผ่นลามิเนตทดแทนได้ แต่ก็ตามมาด้วยการดูแลรักษา เพราะไม่ว่าจะเป็นไม้แบบไหนก็มีความเสี่ยงที่จะถูกปลวกขึ้นได้ค่ะ นอกจากนั้นความเป็นไม้ยังไม่ทนต่อความชื้นและน้ำ อาจเกิดการบิดงอ บวม หรือเกิดเชื้อราได้ ไม่สามารถใช้งานภายนอกอาคารได้นะ หรือบ้านใครที่อยู่ในทำเลน้ำท่วมถึงก็ไม่แนะนำนะคะ
ส่วนวัสดุประเภทที่ไม่มีเนื้อไม้เป็นองค์ประกอบ อย่างกระเบื้องลายไม้, แผ่นกระเบื้องยางไวนิล หรือ แผ่นกระเบื้องยาง SPC จะมีความทนน้ำ ทนความชื้นได้มากกว่าวัสดุที่มีเนื้อไม้ด้านใน ไม่ต้องกังวลเรื่องปลวก แต่ก็แลกกับผิวสัมผัสที่เป็นการพิมพ์ลาย ขึ้นรูปเลียนแบบไม้จริง แต่ปัจจุบันแบรนด์ต่างๆ ก็ทำผิวสัมผัสออกมาได้ใกล้เคียงกับไม้จริงมากขึ้น ซึ่งราคาก็จะขึ้นอยู่กับคุณภาพ และพื้นผิวแตกต่างกันไปค่ะ
หวังว่าเพื่อนๆ จะสามารถเลือกวัสดุปูพื้นลายไม้ได้ถูกใจ ถูกงบประมาณ และตรงกับความต้องการของตัวเองกันนะคะ ครั้งหน้าอยากให้เราทำบทความเรื่องไหน Comment มาบอกกันที่ด้านล่างนี้ได้เลย : )