เราเห็นหลายๆ คนที่กำลังจะซื้อบ้านจัดสรร พอเข้าไปดูโครงการแล้วเจอเซลล์โครงการบอกว่า “โครงการ A ใช้ระบบก่อสร้างแบบ Precast นะคะคุณลูกค้า” เชื่อว่าคนที่ไม่ได้ติดตามในด้านนี้อยู่แล้วคงจะสงสัยว่าอะไรคือ Precast แล้วต่างจากการก่อสร้างแบบธรรมดา มีเสา-คาน ก่ออิฐอย่างไร รวมถึงข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัด มีอะไรบ้าง ซึ่งก่อนจะตัดสินใจเอาเองว่า ดี หรือ ไม่ดี มาอ่านบทความนี้กันก่อนค่ะ


ระบบการก่อสร้างแบบ Precast คืออะไร?

ต้องขออนุญาตบอกที่มาที่ไปของการก่อสร้างกันก่อนนะคะ ถ้าเริ่มจากยุคประวัติศาสตร์มาเนิ่นนานของการก่อสร้างด้วย “คอนกรีต” นั้น จริงๆ แล้วจะก็เริ่มต้นด้วยระบบ เสา-คาน-พื้น หรือที่เรียกอีกอย่างง่ายๆ ว่า Conventional ซึ่งเราก็ยังเห็นอยู่ในรูปแบบการก่อสร้างทั่วๆ ไปอยู่ยังไม่ได้หายไปไหน แต่เมื่อการก่อสร้างจริงนั้นมีปัญหาระหว่างการก่อสร้างหลายอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขนส่ง ฝีมือของช่างหน้างาน หรือแม้กระทั่งลมฟ้าอากาศ ก็นับเป็นปัญหาใหญ่ของการก่อสร้างทั้งนั้น

ดังนั้นเพื่อลดปัญหาเรื่องการก่อสร้างใหญ่ๆ อย่าง ฝีมือช่างหน้างานที่ต้องเข้าใจว่าเป็นงาน Handmade ล้วนเหล่านี้ก็ย่อมมี Defect บ้าง เพื่องานที่สามารถควบคุมคุณภาพได้ดีและลดระยะเวลาการก่อสร้างได้มากขึ้นด้วย จึงเป็นที่มาของการพัฒนารูปแบบการก่อสร้างที่ชื่อว่า Precast นั่นเองค่ะ

Precast หรือ ผนังสำเร็จรูป

มาจากคำผสมคือ Pre = ก่อน / Cast = หล่อ หรือ เทแบบ
หรือพูดง่ายๆ ก็คือผนังที่ผลิตมาเป็นแผ่นๆ จากโรงงานเลย ไม่ต้องมาคอยนั่งก่ออิฐฉาบปูนหน้างานเหมือนทั่วไปที่เราเห็นกัน

ภายในผนัง Precast คืออะไร?

ภายในของผนังนี้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) ที่มีความแข็งแรงและคงทนกว่าก่ออิฐฉาบปูนทั่วไปหลายเท่ามาก คำถามว่าทำไมถึงแข็งแรงกว่า… เนื่องจากว่าผนัง Precast นี้ออกแบบมาเพื่อให้ “รับน้ำหนักของตัวบ้าน” แทนที่เสาบ้านด้วย จึงกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของผนังรูปแบบนี้

บ้าน Precast มักเห็นในบ้านแบบไหน?

การจะทำบ้าน Precast นั้น ปกติแล้วผู้ก่อสร้างจะเลือกเฉพาะแบบบ้านที่ต้องมีการสร้างซ้ำเรื่อยๆ เช่น ออกแบบบ้าน A ต้องการสร้างทั้งหมด 200 หลัง ก็จะเลือกรูปแบบการก่อสร้างแบบ Precast เพราะทำแค่ บล็อกผนัง จากนั้นก็สามารถปั๊มได้ 200 ผนังเลย ง่ายและเร็วกว่าการใช้แรงงาน ดังนั้นคำถามที่ว่ามักจะเห็นบ้าน Precast ในบ้านแบบไหน คำตอบก็คือ โครงการบ้านจัดสรร ที่มีการสร้างแบบบ้านซ้ำๆ กันนั่นเองค่ะ

แล้วกรณีที่เราตั้งใจจะปลูกบ้านเอง ไม่ได้อยู่ในบ้านจัดสรรที่ใช้ระบบก่อสร้าง Precast จะเลือกก่อสร้างแบบ Precast ได้ไหม? คำตอบคือ ได้ แต่ไม่เหมาะกับการก่อสร้างแบบ Precast เพราะเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เนื่องจากการผลิตบล็อกผนังขึ้นมาเพื่อสร้างบ้านเพียง 1 หลัง ไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบเท่ากับการให้ช่างมาก่ออิฐฉาบปูน สังเกตว่าบ้านสั่งสร้างแทบทั้งหมด รวมถึงบ้านจัดสรรขนาดใหญ่ที่มียูนิตไม่มาก ก็จะเลือกการก่อสร้างด้วยระบบ Conventional เป็นหลัก


ข้อดี – ข้อเสีย – ข้อจำกัดของ Precast สำหรับผู้ซื้อบ้าน

แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการก่อสร้างที่พัฒนามาจากรูปแบบการก่อสร้างแบบ Conventional ทั่วไป เพื่อเพิ่มคุณภาพในการก่อสร้าง รวมถึงระยะเวลาในการก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะรูปแบบการก่อสร้างแบบไหนก็ย่อมมีข้อดี – ข้อเสีย – ข้อจำกัด เช่นเดียวกัน ซึ่งในแง่ของผู้ประกอบการนั้นจริงๆ มีหลายข้อเลยค่ะ แต่เราขอโฟกัสในแง่ของคนซื้อบ้านกันดีกว่าเพื่อจะได้เป็นอีกข้อพิจารณาในการเลือกซื้อบ้าน

ข้อดีของ Precast ในแง่ผู้ซื้อ

1. ความแข็งแรง

ถ้าพูดถึงเรื่องของความแข็งแรงของผนังแล้ว คงเป็นปัจจัยต้นๆ ที่ใครหลายคนถามถึง ซึ่งถ้าพูดเรื่องนี้นั้นต้องบอกว่า ผนัง Precast มีความแข็งแรงกว่า ผนังก่ออิฐฉาบปูน แน่นอนนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการก่ออิฐมอญแดงหรือมวลเบา เนื่องจากว่าผนัง Precast นี้ถูกออกแบบมาให้สามารถรับน้ำหนักตัวบ้านได้ แทนที่เสาบ้านนั่นเอง ดังนั้นภายในของผนังจะเป็นเหล็กเสริมกับคอนกรีตที่แตกต่างจากการก่ออิฐฉาบปูนที่ไม่ได้ออกแบบให้มีหน้าที่รับน้ำหนักของตัวบ้าน

2. ไม่มีรอยร้าวบนผิวผนัง

ปกติแล้วการก่อสร้างแบบ Conventional จะก่อผนังขึ้นมาผนังหนึ่งไม่ได้มีแค่อิฐอย่างเดียวนะคะ บางผนังต้องมีการเดินท่อน้ำดี และท่อไฟฟ้าด้วยที่อยู่ภายในของผนัง ซึ่งถ้าเข้าใจ Nature ของช่างทั่วไป มักจะก่อผนังก่อนเสมอและค่อยมากรีดผนังเพื่อเดินท่อน้ำ ท่อไฟ จากนั้นค่อยฉาบเก็บทับ ดังนั้นจึงมักเกิดปัญหารอยร้าวบนผิวผนังบริเวณที่กรีดผนังฝังท่ออยู่บ่อยครั้ง

แต่ผิดกับผนัง Precast ที่ผนังจะถูกออกแบบมาเป็นเซตคือมีทั้งผนัง การเจาะช่องว่างเพื่อวางประตู-หน้าต่าง และมีการเดินท่อน้ำ ท่อไฟ มาให้เสร็จและจบที่โรงงานเลย ดังนั้นเรื่องของรอยร้าวผิวผนังต่างๆ ก็จะแทบไม่เห็นในผนัง Precast เลยค่ะ

3. บ้านไม่มีเหลี่ยมมุมเสา วางเฟอร์นิเจอร์ได้ลงตัว

รูปแบบบ้านที่ก่อสร้างแบบ Conventional ก็คือบ้านที่มีเสาบ้านถูกไหมคะ แต่เมื่อผนัง Precast ไม่มีเสาบ้านแล้ว ข้อดีคือข้อหนึ่งก็คือ เรื่องเหลี่ยมมุมภายในตัวบ้านที่เกิดจากเสาบ้านนั้นจึงไม่มี ช่วยเพิ่มพื้นที่ในการวางเฟอร์นิเจอร์ได้มากขึ้นอีกหน่อย

เช่น ผนัง A กรณีมีเสา มีความกว้างระหว่างเสาถึงเสา เพื่อวางตู้เสื้อผ้า Built-in อยู่ที่ 90 เซนติเมตร กรณีไม่มีเสา (Precast) ก็จะทำให้มีความกว้างระหว่างผนังถึงผนัง เพื่อวางตู้เสื้อผ้า Built-in ได้มากขึ้นอีกประมาณ 10 ซม.(เป็นอย่างต่ำ) อยู่ที่ 100 เซนติเมตร

4. เก็บเสียงได้ดี

เนื่องจากผนังที่เป็นคอนกรีตนั้นจะมีความทึบตันมากกว่าอิฐมอญที่ทำมาจากดิน หรืออิฐมวลเบาที่มีรูพรุนมากกว่า ดังนั้นเรื่องของการเก็บเสียงผนัง Precast จะทำหน้าที่ได้ดีกว่าพอสมควรเลยค่ะ ซึ่งในกรณีบ้านแฝด หรือ ทาวน์โฮม ที่มีผนังบางจุดที่ต้องใช้ร่วมกันนั้นการได้เป็นผนัง Precast จะเหมาะสมกว่าในแง่นี้ ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวได้ดี

ข้อเสียของ Precast ในแง่ผู้ซื้อ

1. การระบายอากาศ

ด้วยความที่วัสดุของผนังเป็นคอนกรีตที่มีความทึบตันมากกว่า ย่อมมีข้อเสียคือเรื่องของการระบายอากาศ เมื่อเทียบกับผนังก่ออิฐนะคะ โดยขอเรียงลำดับการระบายอากาศดีสุดไปแย่สุดดังนี้ อิฐมวลเบา > อิฐมอญแดง > Precast

ซึ่งการระบายอากาศนี้ไม่ใช่มีแค่ผนังอย่างเดียวที่ทำหน้าที่นี้ เพราะจริงๆ แล้วหน้าที่หลักในระบายอากาศก็ยังเป็นของหน้าต่าง และพัดลมดูดอากาศอยู่ หากเรากังวลเรื่องความร้อนภายในบ้าน แนะนำให้ติดตั้งพัดลมดูดอากาศเพิ่มเติมก็พอช่วยระบายอากาศได้ดีขึ้นค่ะ

2. การเจาะยึดของบนผนัง ทำได้ลำบาก

ด้วยความที่ผนังของ Precast นั้นตั้งใจออกแบบมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างบ้านด้วย ดังนั้นอย่างที่เขียนไปข้างต้นคือ เด่นเรื่องความแข็งแรง ด้วยความแข็งแรงนี้ก็ทำให้เกิดข้อเสียหนึ่งขึ้นมาก็คือเรื่องของการเจาะยึดของต่างๆ บนผนัง เช่น ชั้นวางของ ทำได้ลำบากทีเดียวเมื่อเทียบกับผนังก่ออิฐที่เราสามารถใช้สว่านเจาะยึดเองได้ แต่ในกรณี Precast นั้นแนะนำให้จ้างช่างเพื่อเจาะยึดจะเหมาะสมกว่า เพราะกรณีที่เราเจาะเองอาจจะทำให้เกิดการแตกร้าวของผนังได้ ซึ่งอาจหมายถึงประสิทธิภาพของโครงสร้างบ้านที่น้อยลงไปได้เช่นกัน

3. การรั่วซึมตามรอยต่อผนัง Precast

ขอบคุณภาพจาก SCG

อย่างที่ทราบกันว่าผนัง Precast จะมาจากโรงงานผลิตเป็นแผ่นๆ แล้วนำมาประกอบเป็นบ้านที่บริเวณหน้างาน ดังนั้นในขั้นตอนการประกอบนั้นจะต้องพึ่งพาฝีมือของช่าง รวมถึงการฉาบเรียบให้เป็นเนื้อเดียวกันด้วย ทำให้ปัญหาของ Precast ส่วนใหญ่จะอยู่ที่รอยต่อระหว่างแผ่น Precast นั่นเองค่ะ ดังนั้นก่อนจะรับโอนบ้าน Precast นั้นแนะนำให้ช่างตรวจรับบ้านเช็คบริเวณรอยต่อของแผ่น Precast อย่างละเอียด ด้วยการใช้เครื่องมือตรวจวัดความชื้นบริเวณรอยต่อด้วยนะคะ

ข้อจำกัดของ Precastในแง่ผู้ซื้อ

1. ปรับเปลี่ยนผนังยาก

หลายคนซื้อบ้านจัดสรรมา อาจจะไม่พอใจในการกั้นพื้นที่บางส่วนในตัวบ้าน ต้องการทุบเพื่อปรับเปลี่ยน Layout ในบ้าน ต้องบอกว่าบ้านที่เป็นรูปแบบ Precast ไม่เหมาะสมในการทุบหรือปรับเปลี่ยนเลยค่ะ อย่างที่บอกไปว่าผนังถูกออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักโครงสร้างบ้าน การทุบผนัง Precast ก็เปรียบได้เหมือนกับเราทุบเสาบ้านนั่นเอง ดังนั้นถ้าคุณผู้อ่านคิดว่าถูกใจโครงการที่ทำบ้านจาก Precast แล้วล่ะก็ ควรเลือกแบบบ้านที่เราชอบ Layout จริงๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องทุบ-ปรับเปลี่ยนผนังเองในอนาคต

กรณีที่ต้องการบ้าน Precast และต้องการทุบ ปรับเปลี่ยนผนังจริงๆ ควรปรึกษาวิศวกรโครงการก่อนเสมอนะคะ


เปรียบเทียบ Precast VS ก่ออิฐฉาบปูน

หลังจากรู้จักบ้านแบบ Precast กันมาแล้ว เรามาเปรียบเทียบระหว่าง Precast กับ ก่ออิฐฉาบปูนกันค่ะ เผื่อเป็นข้อพิจารณาสำหรับคุณผู้อ่านในการจะเลือกซื้อระหว่างบ้าน Precast และ บ้านก่ออิฐฉาบปูน

เห็นไหมคะว่าจริงๆ แล้วบ้านที่สร้างด้วยผนัง Precast นั้นก็มีข้อดีมากมายเช่นกัน และในส่วนข้อเสีย ข้อจำกัดนั้นก็มีบางข้อที่เราสามารถป้องกัน หรือปรับแก้ไขให้ข้อเสียนั้นไม่กระทบต่อการอยู่อาศัยได้ ดังนั้นไม่ต้องกังวลไปว่าการที่เราซื้อบ้านรูปแบบ Precast จะเป็นบ้านที่ไม่ดีเท่าบ้านก่ออิฐฉาบปูน