ออกแบบบ้าน … ให้ “คุณตา คุณยาย” มีความสุข ตอนที่ 1

1

 

รูปที่ 1 สรุปความเสื่อมถอยทางด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุ

บทความตอนนี้เราขอให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่ในบ้านของเรากันบ้างนะคะ นั่นคือ “คุณปู่ คุณย่า” หรือ “คุณตา คุณยาย” ของเรานั่นเองค่ะ เราจะทำยังไงให้ผู้ใหญ่ในบ้านของเราเดินในบ้านได้อย่างสะดวก ไม่ลื่น ไม่หกล้ม หรือลดแนวโน้มในการเกิดอุบัติเหตุในบ้านลงได้ หรือมากไปกว่านั้น เราจะทำยังไงให้ผู้ใหญ่ในบ้านของเรามีความสุขได้จากการปรับเปลี่ยนอะไรเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน แต่สามารถทำให้ท่านใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น และมีความสุขขึ้นได้ (อ่านบทความ นวัตกรรมเพื่อบ้านแห่งความสุข ครบชุดได้ที่นี่)

ก่อนอื่นเราต้องมาเข้าใจสิ่งที่ทำให้ท่านทำกิจวัตรประจำวันลำบากขึ้น ท่าทางการเดินก็เปลี่ยนไป ย่องแย่ง สะดุดง่าย ล้มง่าย การมองเห็นก็ดูจะมองอะไรไม่ค่อยชัดเจนเหมือนเมื่อก่อน การหยิบการจับจากเรื่องง่ายๆ กลับดูยากสำหรับท่านไป หรืออื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันดูเหนื่อยและยากลำบากเหลือเกิน จนผู้ใหญ่ของเราบางท่านเกิดอาการท้อแท้ หดหู่ อะไรที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้ไปหมด ต้องพึ่งพาอาศัยลูกๆ หลานๆ มากขึ้นทุกวัน ทั้งหมดนี้เนื่องมาจากคนเราเมื่อมีอายุมากขึ้น จะเกิดการเสื่อมถอยในเรื่องหลักๆ 4 ด้าน คือ การมองเห็น  การได้ยิน การเคลื่อนไหว และสุดท้ายคือ ฮอร์โมนและอารมณ์ ซึ่งนี่เองถือเป็นสาเหตุของอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อภายในบ้านเองไม่เอื้อต่อปัญหาความเสื่อม จะยิ่งทำให้ท่านใช้ชีวิตยากขึ้นไปอีก

การเคลื่อนไหว ผู้สูงอายุมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ระยะก้าวเดินสั้นลง การเคลื่อนไหวช้าลง สะดุดหกล้มง่าย นอกจากนั้น ผู้สูงอายุยังมีระยะการเอื้อมมือและแขนลดลง กล้ามเนื้อมืออ่อนแรงลงจากเดิม ทำให้ความแข็งแรงในการจับ หมุนหรือบิดลดลง

การมองเห็น ผู้สูงอายุมีความเสื่อมทางสายตา ทำให้มองไม่ชัด สายตาปรับตามการเปลี่ยนแปลงของแสงได้ช้า ทำให้ตาพร่า ควรเพิ่มแสงสว่างมากขึ้นและสม่ำเสมอเพื่อการมองเห็นที่ดีขึ้น

การได้ยิน ผู้สูงอายุมีความเสื่อมทางการได้ยิน ทำให้ได้ยินไม่ชัด โดยเฉพาะเสียงสูง และไม่สามารถแยกเสียงพูดออกจากเสียงรบกวนได้ ทำให้ได้ยินการสนทนาไม่ชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นการได้ยินของผู้ชายยังเสื่อมเร็วกว่าผู้หญิงอีกด้วย

ฮอร์โมนและอารมณ์ ผู้สูงอายุจะมีความเสื่อมทางฮอร์โมน สารเคมีของร่างกายผลิตน้อยลง มีผลต่อการซึมเศร้า นอนไม่หลับ เมื่อประกอบกับการดำเนินกิจกรรม หรือทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองลำบากขึ้น จึงทำให้อารมณ์ไม่ดี อาจเกิดอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่ายขึ้น

2

รูปที่ 2 บรรยากาศการอยู่ร่วมกันของทุกคนในครอบครัว

เนื้อหาตอนนี้ทำให้เราเข้าใจความเสื่อมถอยทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ใหญ่กันไปแล้ว เพื่อเราจะได้ปรับปรุงบ้านให้เหมาะสมกับผู้ใหญ่ในบ้าน โดยเนื้อหาในตอนต่อไปจะแนะนำแนวทางการปรับปรุงบ้านให้สอดคล้องกับความเสื่อมแต่ละด้าน เอื้อต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเอง ทำกิจวัตรและใช้ชีวิตประจำวันสะดวกขึ้น ไม่ต้องพึ่งลูกหลาน สร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิต จนทำให้ท่านยิ้มได้ มีความสุขกาย สบายใจ และมีชีวิตยืนยาวอยู่กับเราไปได้อีกนานค่ะ

แบ่งปันข้อมูล : ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด