อยากให้ลมเข้าบ้าน ทำอย่างไรได้บ้าง ?

ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ที่ถึงแม้จะมีสภาพอากาศ 3 ฤดูในหนึ่งปี แต่ทุกฤดูก็ยังคงต้องเผชิญกับความร้อนอบอ้าวอยู่ตลอด ฉะนั้นการออกแบบจึงต้องคำนึงถึงการลดความร้อนภายในบ้าน ซึ่งการออกแบบให้บ้านมีลมพัดผ่าน หรืออากาศถ่ายเทได้ดีนั้น จะทำให้อุณหภูมิในบ้านเย็นลง และไม่ทำให้บ้านมีความอับชื้น เกิดภาวะอยู่สบาย ลดการใช้เครื่องปรับอากาศและช่วยประหยัดพลังงานอีกด้วยค่ะ

แล้วถ้าอยากให้ลมเข้าบ้าน ทำอย่างไรได้บ้าง? บทความนี้เราจึงจะพาทุกคนมาหาคำตอบถึงหลักการดักลมเข้าบ้านต่างๆ ที่จะสามารถนำไปปรับใช้ ทำให้บ้านเย็นลง หรือนำไปเป็นแนวทางในการเลือกบ้านได้ถูกใจมากยิ่งขึ้น

ทิศทางของ แดด ลม ฝน ของประเทศไทย

พื้นฐานที่สำคัญที่ควรรู้ก่อน คือ สภาพ แดด ลม ฝน ของประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร ลมพัดเข้าทิศทางไหนบ้างในแต่ละฤดู หรือแดดส่องเข้าบ้านทางทิศไหนบ้าง เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นในการออกแบบเพื่อลดความร้อนให้กับตัวบ้านค่ะ

ทิศทางของลมและฝน

  • ฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) ลมจะพัดมาทางทิศใต้ ถือว่าเป็นลมที่ดี ช่วยลดความร้อนของอากาศลงได้
  • ฤดูฝน (มิถุนายน-พฤศจิกายน) ลมจะพัดมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ลมนี้เรียกว่า “ลมมรสุม”
  • ฤดูหนาว (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) ลมจะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเรียกว่า “ลมหนาว”

ฤดูร้อน เป็นช่วงเวลาที่เราต้องการลมเพื่อการสร้างความรู้สึกสบายมากที่สุด ซึ่งในช่วงฤดูร้อนจะมีทิศลมประจำอยู่ทางทิศใต้ ดังนั้น ช่องเปิดของบ้านควรหันมาทางทิศนี้  และถ้าจะให้ดีควรมีการปรับสภาพแวดล้อมให้อุณหภูมิลดลงก่อนพัดเข้าบ้าน ด้วยการปลูกต้นไม้ สร้างร่มเงา หรือมีบ่อน้ำ เพื่อให้ลมพัดพาอุณหภูมิที่เย็นลงแล้วเข้ามาภายในบ้าน

ทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเป็นทิศที่มีฝนสาดเข้าบ้านมากที่สุด เพราะในช่วงฤดูฝนจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม พัดพาฝน และความชื้นมา

ทิศทางของแดด

อย่างที่ทุกคนรู้กันนะคะว่าดวงอาทิตย์จะขึ้นจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก แต่จะไม่ได้ตั้งฉากพอดีนะคะ ดวงอาทิตย์จะเอียงทำมุมเล็กน้อย โดยจะอ้อมไปทางทิศใต้นาน 8 เดือน และอ้อมไปทางทิศเหนือเล็กน้อย 4 เดือน ทำให้ทิศใต้เป็นทิศที่รับแดดมากที่สุด แต่ทิศที่ร้อนที่สุดคือทิศตะวันตก เพราะรับแสงแดดโดยตรงในช่วงบ่าย

  • แดดเอียงอ้อมไปทางทิศใต้ ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน และเดือนกันยายน – ธันวาคม (8 เดือน)
  • แดดเอียงอ้อมไปทางทิศเหนือ ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม (4 เดือน)

การที่แดดเอียงทำมุมกับอาคาร มีผลต่อการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน หากเราเข้าใจจะสามารถวางผังอาคารในทิศที่โดนแดดน้อยได้ หรือมีการบังแดดในทิศที่ได้รับแดดโดยตรง ก็จะช่วยลดอุณหภูมิในบ้านได้อีกทางค่ะ

หน้าบ้านหันทางทิศไหนได้ลมดี ?

อย่างที่ได้บอกไปนะคะว่าทิศทางของแดดและลมเป็นปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อการอยู่อาศัยภายในบ้าน ซึ่งการวางผังบ้านให้หันไปในทิศทางต่างๆ นั้นมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป

บ้านหันหน้าทิศเหนือ

ลม : ทิศทางของลมในฤดูร้อนและฤดูฝน ลมจะเข้าทางด้านหลังบ้าน ในฤดูหนาวลมจะเข้าทางหน้าบ้าน ทำให้ได้รับลมหนาวอย่างเต็มที่

แดด : บ้านหันหน้าทิศเหนือจะไม่โดนแสงแดดส่องถึงตรงๆ เกือบทั้งปี บริเวณหน้าบ้านจะเย็นได้ร่มเงาตลอดวัน จึงเป็นทิศที่เหมาะต่อการเปิดช่องแสง ใครชอบบ้านที่มีกระจกบานใหญ่ล่ะก็ ทิศเหนือเป็นทิศที่เหมาะที่สุดค่ะ 

บ้านหันหน้าทิศตะวันออก

ลม : บ้านหันหน้าทิศตะวันออก ในช่วงฤดูหนาวจะได้รับลมเย็นพัดผ่านเข้ามาตรงๆ ส่วนในช่วงฤดูร้อนจะไม่ค่อยได้รับลมเท่าไรนัก

แดด : บ้านหันหน้าทิศตะวันออก รวมไปถึงทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนแต่เป็นทิศที่ในตอนเช้าจะได้รับแสงแดดอ่อนๆ ทำให้ตื่นง่าย เหมาะกับผู้อยู่อาศัยที่ชอบตื่นเช้า แต่ช่วงเวลาใกล้เที่ยงก็จะร้อนพอสมควร ส่วนช่วงเวลาบ่ายจะร่มตลอด

 

บ้านหันหน้าทิศใต้ :

ลม : ทิศใต้เป็นทิศที่เหมาะกับผู้อยู่อาศัยที่ชอบลมธรรมชาติ เพราะจะได้รับลมเข้าทางหน้าบ้านในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนต่อเนื่อง หากเปิดหน้าต่างจะรู้สึกเย็นสบายโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศมากนัก

แดด : นอกจากทิศใต้จะได้ลมดีแล้ว ยังได้แดดดีด้วยค่ะ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าแดดประเทศไทยส่วนใหญ่เกือบทั้งปีนั้นอ้อมใต้ ทำให้บ้านที่หันหน้าทางทิศใต้จะได้รับแสงแดดเข้าหน้าบ้านเกือบทั้งปี และยังรับแดดเกือบทั้งวันอีกด้วย ทำให้เป็นทิศที่บ้านจะสะสมความร้อน บริเวณหน้าบ้านจึงควรยื่นชายคาบังแดด หรือ ผนังบังแดดที่ยอมให้ลมเข้า อย่าง ระแนง อิฐบล็อกช่องลม เป็นต้น หรือจะแก้ไขด้วยการปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยบังแดด และให้ร่มเงา

บ้านหันหน้าทิศตะวันตก :

ลม : บ้านหันหน้าทิศตะวันตก จะร้อนกว่าบ้านทิศอื่นๆ ในช่วงบ่าย แต่จะได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงพัดผ่าน ทำให้ช่วยระบายความร้อนออกจากบ้านได้

แดด : บ้านหันหน้าทิศตะวันตก รวมไปถึงทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ต่างก็เป็นทิศที่ช่วงเช้าจะไม่ได้แดด จึงไม่รบกวนการนอนในช่วงเช้า เหมาะกับผู้อยู่อาศัยที่ชอบตื่นสาย แต่จะได้รับแสงแดดช่วงบ่าย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แดดแรงที่สุด หากหน้าบ้านหันทางทิศนี้ควรยื่นชายคาบังแดด หรือ ผนังบังแดดที่ยอมให้ลมเข้า อย่าง ระแนง อิฐบล็อกช่องลม หรือปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยบังแดด และให้ร่มเงา


การระบายอากาศ (Ventilation)

เมื่อเข้าใจหลักการเคลื่อนตัว และทิศทางของ แดด ลม ฝน ประเทศไทยแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ควรคำนึงถึงต่อมาคือ วิธีการทำให้ลมไหลเข้า และไหลออก เพื่อให้เกิดการระบายอากาศ ซึ่งการระบายอากาศมี 2 แนวทาง คือ การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ (Natural Ventilation) และ การระบายอากาศโดยพึ่งพาเครื่องจักรกล (Mechanical Ventilation) สำหรับบทความนี้เราจะเน้นไปที่การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ ช่วยให้ห้องเย็นสบาย พึ่งพาเครื่องปรับอากาศน้อยลง และประหยัดพลังงาน

การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ (Natural Ventilation) หรือที่เรียกว่า Passive Cooling ซึ่งมีหลากหลายวิธี แต่สำหรับบทความนี้จะขอเน้นไปที่ การระบายอากาศและความร้อนผ่านช่องลมภายในบ้าน เพื่อทำให้คุณภาพอากาศภายในบ้านดีขึ้น ลมโกรก เย็นสบาย ไม่อับชื้น

Cross Ventilation คือ การระบายอากาศโดยให้ลมพัดผ่านเข้าห้องช่วยพาความร้อนและความชื้นเดินทางออกไปนอกห้องในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง โดยการเปิดหน้าต่าง หรือช่องรับลม โดยต้องมีช่องเปิดให้ลมเข้า และช่องเปิดให้ลม ออกในทิศทางที่เหมาะสม

Stack Ventilation เป็นการระบายอากาศโดยให้มวลอากาศร้อนลอยตัวขึ้นที่สูง และระบายออกในส่วนบนของอาคาร วิธีนี้เหมาะกับบ้านที่มีหลังคาทรงสูง และต้องมีช่องระบายอากาศอยู่ในส่วนบนของอาคาร เพราะตามหลักแล้ว อากาศร้อนจะลอยขึ้นที่สูงเสมอ เมื่ออากาศร้อนลอยตัวสูง จะทำให้กระแสมวลของอากาศเย็นไหลเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดเคลื่อนตัวของอากาศภายในบ้าน


ช่องเปิด ( Void )

การเปิดหน้าต่างหรือช่องรับลม เพื่อให้ลมเข้าบ้านนั้น นอกจากต้องอยู่ในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว ขนาด และตำแหน่งช่องลม เข้าและลมออกก็มีความสำคัญมาก ถ้าอยู่ในตำแหน่งและขนาดไม่เหมาะสม ลมก็ไม่เข้าและไม่สามารถระบายอากาศได้

หลักการออกแบบช่องเปิด

การออกแบบช่องเปิด เพื่อให้ลมเข้าได้ดี และระบายอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องมีช่องลมเข้า และช่องลมออกเสมอ  กรณีมีช่องเข้าลมด้านเดียวนั้นลมแทบจะไม่เข้าเลยค่ะ ซึ่งในบทความนี้เราขอยกตัวอย่างลักษณะการออกแบบช่องเปิดแบบต่างๆ เปรียบเทียบกันดังนี้

  • ช่องเปิดด้านเดียว : ลมเข้าน้อยมาก  ปริมาณการไหลเวียนลมต่ำ
  • ช่องเปิดเยื้องกัน : ปริมาณการไหลเวียนลมสูง อากาศหมุนเวียน และกระจายตัวได้ดี
  • ช่องเปิดบริเวณผนังที่ตั้งฉากกัน : ลมพัดผ่านเข้าห้องได้ดี ปริมาณการไหลเวียนลมน้อยกว่า
  • ช่องเปิดแบบ ลมเข้าช่องใหญ่ – ออกช่องเล็ก : ลมเข้ามาในห้องแบบเอื่อยๆ ปริมาณการไหลเวียนลมน้อยกว่า
  • ช่องเปิดขนาดใกล้เคียงกัน ตรงกัน  :  ลมเข้าห้องดี ประสิทธิภาพการไหลเวียนอากาศดี
  • ช่องเปิดแบบ ลมเข้าช่องเล็ก – ออกช่องใหญ่ : ลมที่เข้าห้องจะแรง แต่ปริมาณการไเวียนลมน้อยกว่า

ช่องเปิดแบบต่างๆ

ประตู หน้าต่าง : ช่องเปิดทั้งประตูและหน้าต่าง ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีบทบาทในการช่วยระบายอากาศภายในบ้าน ซึ่งหน้าต่างก็มีวิธีการเปิดหลากหลายรูปแบบ ทุกแบบมีปริมาณการรับลมที่แตกต่างกันไป หากเลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่และฟังก์ชันของห้องนั้นๆ ก็จะช่วยให้ภายในบ้านมีการระบายอากาศที่ดี

  • บานเลื่อน – ลมผ่านได้ 50% สามารถเปิดได้เพียงครึ่งเดียวของความกว้างทั้งหมด จึงทำให้เปิดรับลมได้เพียงครึ่งบาน แต่ก็มีข้อดีตรงที่ใช้พื้นที่ในการเปิดน้อย
  • บานเกล็ด – ลมผ่านได้ 80% เนื่องจากมีลักษณะของบานที่เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ หลายชิ้นวางเรียงกันตลอดทั้งบานเอียงตามองศาที่ตั้ง ทำให้มีการบังทิศทางของลมไปบ้าง ถึงแม้จะเป็นช่องเปิดที่ทำความสะอาด แต่ก็มีข้อดีตรงที่ ใช้พื้นที่ในการเปิดน้อย แต่ได้ลมค่อนข้างเยอะ
  • บานกระทุ้ง – ลมผ่านได้ 30% รูปแบบการเปิดที่จุดหมุนอยู่ด้านบน ส่วนใหญ่เปิดได้เพียงเล็กน้อย จึงมักจะใช้ในบริเวณที่ต้องการระบายอากาศบ้าง แต่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากกว่าอย่างห้องน้ำ
  • บานเปิด – ลมผ่านได้ 100 % บานเปิดนี้สามารถเปิดออกได้ 90 – 180 องศา ต้องใช้พื้นที่ในการเปิดค่อนข้างเยอะ แต่ก็เป็นรูปแบบที่สามารถรับลมหรือถ่ายเทอากาศได้เต็มบาน สามารถดักลมเข้าบ้านได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับการเปิดแบบอื่น
  • บานเฟี้ยม– ลมผ่านได้ 100 % สามารถเปิดออกได้ 90 องศา ใช้พื้นที่ในการเปิดน้อยกว่าแบบบานเปิด เพราะตัวบานสามารถพับทบกันได้ เป็นอีกรูปแบบที่สามารถรับลมหรือถ่ายเทอากาศได้ดี

นอกจากช่องเปิดในรูปแบบของประตูหน้าต่างแล้ว ยังมีองค์ประกอบรูปแบบอื่นๆ อีกที่มีลักษณะเป็น “ผนังที่หายใจได้” เป็นผนังโปร่ง ที่นอกจากจะช่วยพรางตา กันแดด กันฝน แล้ว ยังสามารถให้ลมพัดผ่านได้ ซึ่งเราขอยกตัวอย่างวัสดุยอดนิยมที่นำมาใช้ เพื่อเป็นไอเดียในการตกแต่งบ้าน ดังนี้

ขอบคุณภาพจาก www.archdaily.com

ระแนงไม้ : เป็นวัสดุยอดนิยมที่ถูกนำมาตกแต่งอาคาร นอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังเป็นผนังที่สามารถบังแดด หรือพรางตาได้ดี แต่ยังคงได้แสง และลม โดยปัจจุบันระแนงไม้นิยมนำมาติดตั้งซ้อนกับช่องเปิดหน้าต่างกระจกอีกชั้น เพื่อบังสายตา ลดความร้อนจากแสงแดดให้กับอาคาร ซึ่งปัจจุบันมีการออกแบบที่หลากหลาย ทั้งแบบติดตาย และแบบที่ทำเป็นระแนงไม้บานเลื่อนที่สามารถเปิดปิดได้ตามความต้องการ โดยสามารถใช้ได้ทั้งไม้จริงธรรมชาติ และวัสดุทดแทนไม้ต่างๆ อย่าง ระแนงไวนิล (UPVC) ระแนงพลาสวูด (WPC) และ ระแนงไฟเบอร์ซีเมนต์

ขอบคุณภาพจาก www.archdaily.com

อิฐช่องลม : จัดเป็นอีกหนึ่งวัสดุยอดนิยม ที่ถูกนำมาใช้ในงานออกแบบ เพราะนอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว ยังช่วยพรางตา และสามารถนำ ลม มาใช้ประโยชน์ให้กับพื้นที่อาศัย ช่วยถ่ายเทอากาศให้บ้านได้เป็นอย่างดี ซึ่งอิฐช่องลมนั้นมีหลากหลายลวดลายหลากหลายชนิดทั้ง ช่องลมดินเผา ช่องลมปูน ช่องลมเซรามิก เป็นต้น

ขอบคุณภาพจาก www.dezeen.com

ผนังตะแกรงเหล็กฉีก : คือแผ่นเหล็กที่นำมายืดออกเป็นตะแกรง ตาข่าย มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา และดูสวยงาม มักถูกนำมาตกแต่งในงานสไตล์ลอฟท์ ปัจจุบันมีลวดลายให้เลือกหลากหลาย สามารถทำเป็นผนัง ในพื้นที่ที่ต้องการพรางสายตา แต่ยังคงมีลมผ่านได้ สามารถระบายอากาศได้ดี

เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับบทความ อยากให้ลมเข้าบ้าน ทำอย่างไรได้บ้าง? ที่เราได้รวบรวมหลักการต่างๆ ในการดักลมเข้าบ้าน ตั้งแต่พื้นฐานของทิศทางลมประจำฤดูต่างๆ ในประเทศไทยไปจนถึงเทคนิคการเปิดช่องเปิดแบบต่างๆ เพื่อนำลมเข้าบ้าน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกคนนะคะ สามารถแชร์ประสบการณ์ หรือพูดคุยกันต่อได้ที่ comment ด้านล่างนี้ได้เลย ส่วนคราวหน้า Think of Living จะมีบทความอะไรดีๆ มาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามชมกันด้วยนะคะ ^^