…รู้หรือเปล่าครับว่า? ประเทศญี่ปุ่นมีขนาดเล็กกว่าประเทศไทยเกือบครึ่งหนึ่ง แต่กลับมีจำนวนประชากรมากกว่าไทยเกือบเท่าตัว นั่นหมายความว่า ความหนาแน่นของประชากรเค้าจะสูงกว่ามาก ซึ่งส่งผลต่อที่อยู่อาศัยด้วยเช่นกัน

โดยคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะนิยมพักอาศัยในอาคารสูงอย่าง คอนโด อพาร์ทเม้นท์ และหอพักให้เช่า มากกว่าที่จะสร้างบ้านอยู่เอง ซึ่งก็เป็นห้องพักขนาดเล็กประมาณ 20 – 30 กว่าตารางเมตรเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นคนญี่ปุ่นเค้าจะมีการวางแผนใช้สอยและตกแต่งห้อง ให้แต่ละพื้นที่เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์มากที่สุดได้นั่นเองครับ

ซึ่งห้องพักประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เค้าก็จะมีลักษณะคล้ายๆกับห้อง Studio หรือ 1 Bedroom บ้านเราเลยครับ นั่นแปลว่าจริงๆแล้ว ตลาดคอนโดมิเนียมบ้านเราหลายๆแห่ง ก็ได้รับอิทธิพลการอยู่อาศัยรูปแบบนี้มาไม่น้อย

โดยเฉพาะเมื่อหลายปีก่อนเรียกได้ว่าเป็น “ญี่ปุ่นฟีเวอร์” อยู่ช่วงหนึ่งเลย และก็มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรดักส์ กับบริษัทอสังหาบ้านเราหลายเจ้ามาก ดังนั้นในบทความนี้เรามาดูไอเดีย ในการจัดสรรพื้นที่ห้องไซส์เล็กของต้นฉบับกันดีกว่าครับ ว่าเค้ามีแนวคิดหรือเทคนิคดีๆอะไรน่าสนใจบ้าง? ตามนี้เลย

  1. การแบ่งฟังก์ชัน
  2. การเลือกเฟอร์นิเจอร์
  3. การใช้ประโยชน์พื้นที่แนวตั้งจากผนังห้อง
  4. การเก็บของใต้พื้น
  5. การจัดบ้านแบบ “คมมาริ”

การแบ่งฟังก์ชันของญี่ปุ่น

เวลาที่ทุกคนดูหนังญี่ปุ่นแล้วเคยเห็น “ประตูบานเลื่อน” ที่ติดกระดาษเป็นช่องๆมั้ยครับ? เขาเรียกว่า “Shoji Screen” หรือประตูบานเลื่อนไม้กรุกระดาษ มีหน้าที่เอาไว้กั้นห้องเพื่อแบ่งฟังก์ชันแต่ละส่วนออกจากกันให้เป็นสัดส่วน ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สำคัญของคนญี่ปุ่นครับ

โดยการที่เค้าใช้เป็นวัสดุประเภทไม้และกระดาษนั้น เป็นเพราะว่าประเทศญี่ปุ่นเค้ามีแผ่นดินไหวค่อนข้างบ่อย ดังนั้นเวลาที่บ้านพังเสียหายก็จะไม่มีเศษกระจกแตกเป็นอันตราย แถมตัวกระดาษก็มีความโปร่งแสง ทำให้ภายในห้องสว่าง และยังช่วยระบายอากาศได้แม้จะปิดประตูอยู่ก็ตาม โดยการแบ่งฟังก์ชันให้เป็นสัดส่วนสามารถทำได้ 3 แบบหลักๆคือ

  1. ใช้ประตูบานเลื่อน/ฉากกั้น
  2. เปลี่ยนวัสดุปูพื้น
  3. ใช้เฟอร์นิเจอร์แบ่งโซน

1. ใช้ประตูกระจกบานเลื่อน/ฉากกั้น

รูปแบบนี้เรายังสามารถนำภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นมาใช้ได้ เพียงแต่เปลี่ยนวัสดุให้เข้ากับยุคสมัยและเมืองไทยมากขึ้น โดยการใช้เป็นประตู/ฉากกั้นกระจกแทนกระดาษ เพราะจะมีความทนทานมากกว่า และผมก็เชื่อว่าหลายๆคนก็คงจะเปิดแอร์กันใช่มั้ยครับ ดังนั้นเราเลยต้องการให้เค้าสามารถเก็บความเย็นได้ รวมถึงยังช่วยป้องกันเรื่องเสียงรบกวนได้ดีมากขึ้นด้วยครับ

อย่างในภาพตัวอย่างเค้าก็ใช้ “ประตูบานเลื่อน” มากั้นพื้นที่ห้องนอนเพื่อทำเป็น Walk-in Closet ที่เป็นสัดส่วนเล็กๆภายในห้อง และเวลาไม่ใช้งานก็สามารถเลื่อนปิดได้ ซึ่งจะทำให้ห้องดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น หรือบางคนก็อาจใช้เป็นผ้าม่าน/มู่ลี่ ก็จะช่วยแบ่งฟังก์ชันและกั้นพื้นที่แยกได้เช่นกันครับ ขึ้นอยู่กับความชอบ สไตล์การตกแต่ง และงบประมาณของแต่ละคนนั่นเอง

2. เปลี่ยนวัสดุปูพื้นเพื่อแบ่งพื้นที่

ผมขอยกตัวอย่างอีกหนึ่งฟังก์ชันที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นมากๆ คือ “Foyer” หรือพื้นที่โถงตรงทางเข้า ซึ่งปกติแล้วจะเป็นพื้นต่างระดับบริเวณหน้าบ้าน ที่ชาวญี่ปุ่นมักจะใช้เป็นพื้นที่รับแขก รวมถึงเป็นจุดที่เอาไว้ถอด/ใส่รองเท้าได้ดีด้วย

แต่สำหรับห้องคอนโดแบบยุคใหม่ เราสามารถแบ่งพื้นที่บริเวณหน้าประตูให้เป็น Foyer เล็กๆแทนพื้นต่างระดับได้ โดยการเปลี่ยนวัสดุปูพื้นจากลายไม้เป็นพื้นกระเบื้อง เพื่อที่เวลาเราใส่รองเท้าตอนเข้า-ออกห้อง จะสามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่ายกว่า ไม่ต้องกลัวน้ำหรือสิ่งสกปรก รวมถึงพวกขอบพื้นต่างๆยังช่วยดักฝุ่นผง ที่เข้ามาจากภายนอกห้องได้อีกด้วยครับ

3. ใช้เฟอร์นิเจอร์เป็นตัวแบ่งโซน

เป็นวิธีที่ค่อนข้างง่ายและใช้ประโยชน์ได้ดีที่สุด เพราะเราสามารถเก็บของได้ด้วยนั่นเองครับ ซึ่งจากภาพตัวอย่างเป็นไอเดียการใช้ตู้เสื้อผ้ารูปตัว L มากั้นให้เกิดพื้นที่แต่งตัวหน้าห้องน้ำ หรือบางคนก็อาจเคยเห็นการกั้นโซนด้วยชั้นวางของ/ชั้นหนังสือใช่มั้ยครับ ซึ่งตัวเฟอร์นิเจอร์พวกนี้แหละที่จะช่วยแบ่งพื้นที่การใช้งาน และกั้นฟังก์ชันให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น รวมถึงยังช่วยพรางสายตาได้ในระดับหนึ่งด้วย

การเลือกเฟอร์นิเจอร์แบบญี่ปุ่น

ปกติแล้วชาวญี่ปุ่นมักจะนิยมเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็ก ที่มีลักษณะโปร่ง/ไม่ทึบตัน รวมถึงพยายามจัดให้ห้องมีเฟอร์นิเจอร์ให้น้อยชิ้นที่สุด เพื่อทำให้ภายในห้องไม่รู้สึกอึดอัดหรือสูญเสียพื้นที่ใช้สอยมากเกินไป ซึ่งหลายๆชิ้นก็อาจมีความอเนกประสงค์ และสามารถเก็บของได้ดีในระดับหนึ่งอีกด้วย เช่น

  • การเลือกฐานเตียงที่มีขาเตียงแบบโปร่ง ใต้เตียงสามารถเก็บของและทำความสะอาดง่าย
  • การวางฟูกที่นอนแบบไม่มีฐานเตียงกับพื้นห้อง หรืออาจวางบนพื้นที่ยกระดับสูงขึ้นมาจากพื้นห้องหน่อย เพื่อให้การลุกขึ้น-ลงจากเตียงทำได้สะดวกขึ้น
  • การใช้ราวแขวนผ้า แทนการใช้ตู้เสื้อผ้าบานทึบ
  • การใช้ชั้นวางของแบบไม่มีหน้าบานปิด

โดยสิ่งเหล่านี้เมื่อมารวมกับวัสดุเฟอร์นิเจอร์ ที่มักจะเป็นลายไม้ธรรมชาติ กับการแต่งห้องโทนสีอ่อนที่ดูอบอุ่นและสว่างตา ก็จะทำให้ห้องของเราดูโปร่งโล่งมากขึ้นนั่นเองครับ แต่ข้อจำกัดอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องหมั่นจัดของและทำความสะอาดอยู่บ่อยๆ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของห้องครับ

นอกจากนี้การใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นนิยมเลือกใช้ แถมเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ยังมีราคาไม่แพงอีกด้วย เช่น

  • การใช้โต๊ะญี่ปุ่นแบบพับเก็บได้ ซึ่งสามารถใช้เป็นโต๊ะอเนกประสงค์ จะนั่งทานอาหารก็ได้ นั่งทำงานชิลๆก็ดี หรือจะยกไปตั้งตรงไหนก็ได้ และเวลาไม่ใช้งานเราก็แค่พับเก็บไปไว้ตามมุมห้อง/ใต้ตู้ต่างๆ ก็จะทำให้ห้องเราได้พื้นที่คืนมานั่นเองครับ
  • การใช้กล่องเก็บของชิ้นเล็กๆ สามารถนำไปเก็บไว้ตามชั้นวางของ บนหลังตู้ หรือใต้เตียงนอน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมกับแยกสิ่งของเก็บไว้เป็นกลุ่มๆตามหมวดหมู่ได้ หรือจะมาเรียงต่อกันเป็นกล่องคอนโดสูงเท่าไหร่ก็ได้ เป็นต้น

Multifunction Furniture

เฟอร์นิเจอร์มัลติฟังก์ชัน คือ เฟอร์นิเจอร์ที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ได้มากกว่า 1 ฟังก์ชัน และยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามการใช้สอย เหมาะกับการใช้ภายในห้องที่มีพื้นที่จำกัดได้เป็นอย่างดี

ซึ่งส่วนใหญ่เฟอร์นิเจอร์แบบนี้ มักจะมีราคาค่าตัวที่ค่อนข้างสูงกว่าปกติอยู่สักหน่อย แต่บางทีก็อาจคุ้มค่ากว่าการต้องมาเสียเงินซื้อเฟอร์นิเจอร์ 2 – 3 ชิ้นแยกกัน ซึ่งเราต้องลองชั่งน้ำหนักก่อนซื้อดีๆหน่อย แต่ที่แน่ๆคือ เฟอร์นิเจอร์แบบนี้ก็จะช่วยประหยัดพื้นที่ใช้สอยของเราได้นั่นเองครับ

แต่จริงๆแล้วผมมีวิธีที่ง่าย และใช้ประโยชน์ได้หลากหลายกว่านั้นมาฝากคือ การใช้ “เฟอร์นิเจอร์ธรรมดาๆ” ถ้าเราวางเค้าให้อยู่ในตำแหน่งที่ “ถูกที่ถูกทาง” ก็จะสามารถใช้งานให้เป็นอเนกประสงค์ได้หลากหลายมากขึ้น (ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม) ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าเราต่อเติมโต๊ะเคาน์เตอร์ครัวเป็นรูปตัว L นอกจากเราก็จะได้พื้นที่ทำครัวที่ใหญ่ขึ้นแล้ว เรายังสามารถใช้เป็นโต๊ะรับประทานอาหาร หรือโต๊ะอเนกประสงค์ไว้นั่งทำงานก็ได้ อีกทั้งโต๊ะตัวนี้ยังช่วยแบ่งฟังก์ชันการใช้งานของพื้นที่ 2 ส่วนให้แยกออกจากกันได้เป็นสัดส่วนมากขึ้นด้วยนะ

และอีกสักตัวอย่าง จะเป็นการทำเคาน์เตอร์เป็นแนวยาวแบบนี้ เราก็สามารถใช้เป็นได้ทั้งชั้นวางทีวี ชั้นวางของ โต๊ะนั่งทำงานอ่านหนังสือ หรือจะเป็นโต๊ะเครื่องแป้งก็ได้ครับ เห็นมั้ยว่า แค่เคาน์เตอร์ยาวเพียงชิ้นเดียว ก็สามารถใช้งานฟังก์ชันได้หลากหลายแล้ว อยู่ที่ว่าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นๆเค้าจะตั้งอยู่ตำแหน่งไหน และเราจะปรับใช้อย่างไร? เท่านั้นเอง

การใช้ประโยชน์จากพื้นที่แนวตั้ง

ถ้าพื้นที่ใช้สอยแนวราบถูกจำกัดด้วยขนาดห้อง งั้นเราลองมาใช้ประโยชน์จากพื้นที่แนวตั้ง หรือ “ผนังห้อง” กันดูมั้ยครับ นั่นคือการติดชั้นวางของ หรือ Built in ตู้แขวนบนผนัง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราได้พื้นที่เก็บของเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใต้ตู้ พื้นที่ในตู้ และบนหลังตู้

หรือเราอาจ Built in ตู้เก็บของแบบเต็มผนังไปเลยก็ได้ครับ ซึ่งก็จะทำให้เก็บของได้เยอะมากๆ และถ้าใส่หน้าบานปิดเข้าไปก็จะทำให้ห้องดูเป็นระเบียบเรียบร้อย และเนียนไปกับผนังห้องได้ด้วยนั่นเองครับ และยิ่งห้องของเรามีฝ้าเพดานที่สูงมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะได้ความโปร่งโล่งและทำตู้เก็บของได้ใหญ่ขึ้นด้วยเท่านั้น

อีกหนึ่งเทคนิคที่น่าสนใจในสไตล์ญี่ปุ่น คือ “การออกแบบโดยคำนึงถึงช่องว่าง” โดยเฉพาะตามบริเวณโซฟา ตามที่นั่ง หรือตามเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ โดยคนญี่ปุ่นเค้าใช้เพื่อช่วยเสริมสร้างบุคลิกของเจ้าของบ้านให้ดูดีและภูมิฐานมากขึ้น ซึ่งก็นิยมทำกันมานานกว่าร้อยปีแล้ว

แต่ในยุคสมัยใหม่นี้ผมขอยกตัวอย่าง วิธีการทำแบบง่ายๆและไม่เปลืองพื้นที่ อย่างการทำ “ชั้นวางของ/ตู้เก็บของทรงเตี้ยๆ” ที่สูงจากพื้นห้องขึ้นมาประมาณ 30 – 40 cm. เท่านั้น ซึ่งวิธีนี้จะไม่ได้เน้นให้เก็บของได้เยอะนะครับ

แต่เราต้องการให้เฟอร์นิเจอร์อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา เพื่อเกิดพื้นที่ช่องว่างในแนวตั้ง และทำให้ห้องดูกว้าง/โปร่งโล่งมากขึ้น ซึ่งดูเผินๆก็เป็นเหมือนพื้นห้องที่ยกระดับขึ้นมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ไม่ทำให้ห้องดูแคบหรือรู้สึกอึดอัด (ปกติถ้า Built ตู้ที่ผนังด้านข้าง จะทำให้ห้องดูเล็กลงครับ)

และถ้าห้องของเราพอจะมีพื้นที่กว้างเพียงพอ ที่จะ Built in ผนังให้กลายเป็นตู้แบบเต็มทั้งผืนผนังได้โดยไม่อึดอัด ผมก็จะขอยกตัวอย่างไอเดียการใช้ “เตียงนอนที่พับเก็บได้” ซึ่งเวลาไม่ใช้งานก็สามารถพับเก็บให้เนียนไปกับตู้ที่ผนังได้ และจะทำให้เราได้พื้นที่ห้องนอนขนาดใหญ่กลับคืนมาให้ใช้งาน ส่วนเวลาที่เราจะนอนก็แค่เคลียพื้นที่ให้เรียบร้อย แล้วดึงเตียงลงมาใช้ได้ตามปกติครับ

ขอบคุณภาพประกอบจาก Younique by Index Living Mall

การเก็บของใต้พื้น

เป็นการออกแบบ Built in ด้วยการยกระดับพื้นที่บริเวณหนึ่ง ให้มีความสูงต่างระดับขึ้นมาจากพื้นห้องปกติ ซึ่งเราจะเห็นได้บ่อยๆในการออกแบบห้องสไตล์ญี่ปุ่น และถึงแม้ว่าการ Built in ลักษณะแบบนี้ จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงพอสมควร แต่ก็มีข้อดีที่น่าสนใจหลายๆอย่างคือ

  • พื้นที่ต่างระดับแบบนี้ จะช่วยแบ่งพื้นที่ฟังก์ชันการใช้งานให้ดูเป็นสัดส่วนและชัดเจนมากขึ้น
  • พื้นที่ด้านล่างสามารถใช้เป็นพื้นที่เก็บของได้ ทำให้ห้องดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น
  • ใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นด้วยเบาะรองนั่งแบบญี่ปุ่นได้ หรือถ้าทำเป็นหลุมแบบ Sunken ก็จะนั่งห้อยขาได้สะดวกมากขึ้นครับ (จากในภาพโต๊ะกลางสามารถปรับระดับ เลื่อนขึ้น-ลงให้ราบเรียบกลายเป็นพื้นที่นอนเล่นได้ด้วยนะ เป็นไอเดียจากทาง Younique by Index Living Mall ที่น่าสนใจดีทีเดียว)

ขอบคุณภาพประกอบจากโครงการ Runesu Thonglor 5

Runesu Structure

มาดูการออกแบบจริงจังในระดับงานโครงสร้างกันบ้างครับ …ซึ่งชื่อ Renesu มาจากคำว่า ルネス เป็นเทคโนโลยีก่อสร้างลิขสิทธิ์เฉพาะของ Shinwa Group ที่จะทำการกลับคานเอาพื้นไว้ด้านล่าง แล้วเอาคานที่ทำจากเหล็กชนิดพิเศษ ที่มีชื่อว่า Sigma Beam มาวางไว้บนคาน

ซึ่งเทคนิคนี้จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างพื้น 60 cm. เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่เก็บของเพิ่มเติมได้ (ช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้ประมาณ 25 – 40%) หรือเราอาจออกแบบพื้นบางส่วนให้ต่างระดับกัน กลายเป็น Sunken แบบเจ๋งๆ และทำหน้าที่แบ่งฟังก์ชันการใช้งานให้เป็นสัดส่วนไปในตัวด้วยก็ได้ รวมถึงยังได้ฝ้าเพดานที่สูงและโปร่งโล่งมากขึ้นอีกด้วยนะครับ

โดยถ้าใครอยากเห็นของจริงที่มีการประยุกต์ และนำมาใช้ในตลาดบ้านเรา ก็จะมีอยู่ในคอนโดหนึ่งที่ชื่อ Runesu ทองหล่อ 5 ซึ่งทางเราเคยทำรีวิวไปแล้วเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน ถ้าใครสนใจก็สามารถคลิกเข้าไปอ่านรีวิวเจาะลึกกันได้นะครับ


การจัดบ้านแบบ “คมมาริ”

ทุกคนรู้จักคุณ Kondo Marie (คนโด มาริเอะ) มั้ยครับ? เธอเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงมากของญี่ปุ่น ที่โด่งดังมาจากการเขียนหนังสือ The Life-Changing Magic of Tidying Up หรือถูกตีพิมพ์ในฉบับภาษาไทยว่า “ชีวิตดีขึ้นทุกๆด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” จนนิตยสารไทม์ยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกประจำปี 2015 เลยทีเดียว

และล่าสุดกับผลงานจากซีรีส์ชุด “Tidying Up with Marie Kondo” ที่ฉายใน Netflix ก็ยังทำให้เกิดกระแส “คมมาริ ฟีเวอร์” เมื่อช่วงต้นปี 2019 ที่ผ่านมา ทำให้เธอถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ประจวบเหมาะกับตอนนั้นที่ทุกคนหยุดอยู่บ้านกันพอดี ก็เลยทำให้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจกับการจัดบ้านกันมากขึ้นครับ

ซึ่งการจัดบ้านเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด และไม่ต้องเสียเงินเลยสักบาท แต่หลายๆคนกลับมองข้ามไป โดยสาเหตุหลักที่บ้านเรารกจริงๆอาจเป็นเพราะ “เรามีของเยอะเกินไป ไม่ใช่เพราะเรามีพื้นที่จัดเก็บน้อยเกินไป” ซึ่งวิธีจัดบ้านและทิ้งของที่ไม่จำเป็นของคุณมาริเอะ ก็จะช่วยให้บ้านของเราดูสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย และน่าอยู่มากขึ้นนั่นเองครับ

หลักการเก็บบ้านสไตล์ KonMari มีดังนี้

  • เก็บรวดเดียวให้เสร็จ : ถ้าเราเก็บบ้านวันละนิดวันละหน่อย เราจะต้องเก็บบ้านไปตลอดชีวิต แต่วิธีการเก็บรวดเดียวให้เสร็จ จะสร้าง “ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด” จนเราจะไม่ยอมให้บ้านรกอีกได้ง่ายๆ เพราะไม่อยากมาเหนื่อยจัดอีกรอบแน่นอน (แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเก็บวันเดียวเสร็จนะครับ อาจทำสามวันติดต่อกัน หรือวันเสาร์สามเสาร์ติดต่อกันก็ได้ เพราะขนาดบ้านแต่ละคนไม่เท่ากัน)
  • ให้ถือว่าการเก็บบ้านเป็นวาระพิเศษ : เหมือนกับที่เราไปเที่ยวต่างประเทศ หรือการจัดงานวันเกิดที่เป็นเหตุการณ์พิเศษ (Special Occasion) ที่เราจะมีการเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อนลงมือทำจริง
  • ให้จัดบ้านตามหมวดหมู่ : ไม่ใช่จัดตามห้องนะครับ เพราะมีความเสี่ยงสูงว่าของอย่างเดียวกันจะมีที่เก็บมากกว่าหนึ่งแห่ง และนั่นจะนำมาซึ่งความยุ่งยากในภายหลังอย่างแน่นอน
  • คัดของออกและการจัดเก็บให้เข้าที่ : นับเป็นหัวใจสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ครับ เพราะถ้าเราไม่คัดของทิ้งซะก่อน รับรองเลยว่าบ้านจะกลับมารกอีกครั้งแน่นอน ซึ่งการที่เราเลือกระหว่าง “จะทิ้งอะไร กับจะเก็บอะไรไว้” สองวิธีนี้ดูเผินๆจะเหมือนกัน แต่จริงๆแล้วไม่เหมือนกันเลยนะครับ เพราะวิธีการเลือกของที่จะทิ้งจะทำให้เราไม่มีความสุข (เพราะเราไปโฟกัสแต่สิ่งที่ไม่อยากได้) แต่ถ้าเราเลือกว่าจะเก็บเฉพาะของที่ทำให้เราชื่นใจ เราจะมีความสุข และตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งคุณมาริเอะเรียกว่า “Spark Joy”

… Spark Joy คือความรู้สึกเชิงบวกเมื่อเราหยิบหรือสัมผัสสิ่งของแต่ละชิ้น หากชิ้นไหนจุดประกายความสุขให้กับเราได้ ก็ให้เก็บชิ้นนั้นไว้ แต่หากชิ้นไหนเราไม่รู้สึกถึงจุดประกายความสุขอะไรเลยก็โยนทิ้งไป แต่ก่อนจะทิ้ง…ให้เราพูดขอบคุณของชิ้นนั้นก่อน ว่าเค้าเคยได้ทำหน้าที่ของตัวเองมาลุล่วงแล้วนะ วิธีนี้จะทำให้เราไม่รู้สึกผิดในภายหลัง และสามารถตัดสินใจทิ้งไปได้ง่ายขึ้น (ลองเอาไปใช้กันดูได้น้า นี่คุณมาริเอะแนะนำมา)

โดยสิ่งของที่เราต้องจัดการจะเรียงหมวดหมู่ตามลำดับดังนี้

  1. เสื้อผ้า
  2. หนังสือ
  3. เอกสาร
  4. ของจิปาถะ
  5. ของที่มีคุณค่าต่อใจ

วิธีการจัดและคัดเลือกของแต่ละหมวดหมู่จะคล้ายๆกันเลยนะครับ ซึ่งผมขอสรุปให้ฟังง่ายๆเลยก็คือ

  • ให้นำของออกมากองรวมกัน ไม่ว่าจะเก็บไว้ตู้ไหน/ห้องไหนไปเอามากองรวมกันให้หมด ทำแบบนี้เป็นขั้นตอนแรกในทุกๆหมวดหมู่เลยนะครับ
  • หยิบขึ้นมาดูทีละชิ้น ถ้าอันไหนที่ Spark Joy หรือจุดประกายความสุขให้เราได้ก็ให้เก็บชิ้นนั้นไว้ แต่ถ้าอันไหนที่ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย ก็ให้กล่าวขอบคุณมัน (พูดเบาๆหรือในใจก็ได้) แล้วตัดใจทิ้งมันไปซะอย่าลังเล
  • เวลาจัดบ้านอย่าให้คนอื่นเห็น หรือมีส่วนช่วยในการตัดสินใจ เพราะเค้าเหล่านั้นจะรู้สึกเสียดายแทนเรา และขอเก็บเอาไว้เอง ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดปัญหาคาราคาซังไม่จบสิ้น
  • คำว่า “วันหลัง” ไม่มีอยู่จริง เช่น ไว้วันหลังอาจจะได้ใส่ วันหลังเผื่อได้ใช้ วันหลังไว้จะอ่าน ฯลฯ คำพวกนี้ถ้าเราไม่หลอกตัวเองก็จะรู้ดีว่า “วันหลังไม่มีวันมาถึง” ซึ่งของบางอย่างอาจล่วงเลยเวลาที่เราจะให้ความสนใจ หรือจะได้ใช้มันจริงๆมานานแล้ว สู้เอาไปส่งต่อให้กับคนที่เค้าต้องการมันจริงๆยังจะมีประโยชน์กว่านั่นเองครับ

  • พวกเอกสารทิ้งไปให้หมด ยกเว้นของที่จำเป็นต้องใช้จริงๆเท่านั้น เพราะจะทำให้เรารู้ตัวอยู่เสมอว่า เอกสารชิ้นนั้นๆไม่มีแล้ว ซึ่งเราก็จะใช้วิธีอื่นเพื่อแก้ปัญหาต่อไปได้เลย เช่นหาใน Google ไม่ต้องเสียเวลามานั่งหาของในบ้านเป็นวันๆ
  • กล่องเปล่าก็ทิ้งไปให้หมด บางคนชอบเก็บกล่องไว้ เพราะหวังว่าจะช่วยให้ของที่จะเอาไปขายต่อมีราคาดีขึ้น แต่ถ้านับพื้นที่ที่เราต้องเสียไปกับการเก็บกล่องที่ไม่ได้ใช้ จะเห็นได้ชัดเลยว่า ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับพื้นที่เหล่านั้น (เหมือนค่าเช่าห้อง) เยอะกว่าเงินที่จะได้มาในอนาคตจากการขายของพร้อมกล่องซะอีกครับ
  • บางคนแพ้ของลดราคา ชอบซื้อมาทีละเป็นแพ็คเยอะๆ ซึ่งคุณมาริเอะบอกว่า “มันไม่คุ้มกันหรอก” เพราะกว่าเราจะใช้ของเหล่านั้นจนหมด ของก็เสื่อมสภาพและไม่ Spark Joy อีกต่อไปแล้ว สู้ซื้อมาใช้เท่าที่จำเป็นและประหยัดพื้นที่ใช้สอยจะดีกว่า

  • สิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจ เช่น รูปภาพ จดหมาย ของฝาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราควรทำเป็นหมวดสุดท้าย เพราะเป็นสิ่งที่ยากต่อการตัดสินใจมากที่สุด เช่น “รูปถ่าย” เราไม่อยากทิ้งมันเพราะมักชวนคิดถึงความทรงจำดีๆ และเรากลัวว่าจะลืมเรื่องเหล่านั้นไป

โดยคุณมาริเอะบอกว่า วิธีการที่จะช่วยให้เราปล่อยวางได้มากขึ้นก็คือ “จงให้ความสำคัญกับตัวเราในปัจจุบัน (Cherish what you have become) แทนที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราเคยเป็นในอดีต” ซึ่งถ้าเป็นความทรงจำอันล้ำค่าของเราจริงๆ ต่อให้มีหรือไม่มีรูปถ่ายพวกนี้ เราก็ยังจะจำมันได้อยู่ดี แต่ถ้าอยากจะเก็บไว้จริงๆก็อาจเลือกไว้สัก 3 – 4 รูป ก็เพียงพอที่จะทำให้เรานึกถึงเรื่องราวทั้งหมดในช่วงเวลาเหล่านั้นได้แล้วล่ะครับ

และของอีกชนิดนึงที่เรามักจะไม่กล้าทิ้งคือ “ของที่คนอื่นให้มา” อาจเป็นของขวัญจากผู้ใหญ่ ของฝากจากเพื่อนสนิท หรือรูปวาดของลูกสมัยเด็ก เพราะถ้าทิ้งของเหล่านี้ เราก็จะรู้สึกผิดทันที แต่คุณมาริเอะก็สอนอีกว่า …ให้ดูที่เจตนารมณ์ของสิ่งของเหล่านี้ว่าคืออะไร?

ถ้าของพวกนี้คือ “ของขวัญ” ดังนั้นวัตถุประสงค์ของมันคือการ “ถูกรับ” ในเมื่อเราได้เป็น “ผู้รับ” รับมันมาแล้ว ได้รู้สึกดีและรู้สึกขอบคุณกับผู้ให้แล้ว ของขวัญชิ้นนั้นก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้วนั่นเอง ซึ่งถ้าเราเข้าใจตรงนี้ได้ เราก็ย่อมกล่าวอำลากับของขวัญเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไรครับ


สรุป

…เห็นหรือยังครับว่า “คนญี่ปุ่น” เค้ามีไอเดียที่น่าสนใจ ในการวางแผนใช้สอยและตกแต่งห้องไซส์เล็ก ให้ได้พื้นที่เพิ่มมากขึ้นได้จริงๆ ซึ่งเค้าก็เพียงแค่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือสิ่งต่างๆรอบตัวให้เป็นประโยชน์เท่านั้น และเราก็สามารถเลือกนำมาปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็น…

การจัดแบ่งพื้นที่ฟังก์ชันให้เป็นสัดส่วน / การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่โปร่ง ไม่ทึบตัน และใช้งานได้แบบ Multifunction ในตำแหน่งที่เหมาะสม / การเพิ่มพื้นที่เก็บของด้วยการ Built in ผนังและใต้พื้นห้อง / การจัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยการทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็น

ซึ่งไอเดียแต่ละแบบก็มีความเหมาะสม กับการนำไปใช้ที่ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนมีความจำเป็น และข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดพื้นที่ สไตล์การตกแต่ง งานโครงสร้าง และงบประมาณในกระเป๋า ซึ่งเราอาจต้องลองชั่งน้ำหนักในหลายๆวิธี หรือนำมาปรับผสมกันดู ก็อาจเจอคำตอบที่เหมาะกับเรามากที่สุดก็ได้นะครับ

และสำหรับครั้งหน้า Think of Living จะมีบทความหรือไอเดียอะไรดีๆ ที่น่าสนใจมาฝากกันอีก ก็อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ สวัสดีคร้าบบบบ~


ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc