เป็นที่รู้กันดีว่าประเทศไทยช่วงเวลากลางวันไม่ว่าจะฤดูกาลไหน แดดบ้านเรานั้นร้อนขึ้นทุกปี หลายๆคนจึงพยายามมองหาวิธีที่จะช่วยลดความร้อนให้กับตัวบ้าน ถึงแม้ว่าหลังคาจะเป็นวัสดุที่สามารถป้องกันแดดฝนและความร้อนได้ แต่สำหรับในบ้านเราที่มีอากาศร้อนมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาระหว่างวัน จึงจำเป็นที่ต้องเสริม “ฉนวนกันความร้อน” เพิ่มให้กับหลังคาบ้าน เพื่อลดการสะสมของอุณหภูมิและป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านให้ได้มากที่สุด นอกจากจะบรรเทาความร้อนที่จะสู่เข้าสู่บ้านแล้ว การติดตั้งฉนวนยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย ซึ่งฉนวนกันความร้อนที่นิยมใช้งานก็มีหลากหลายประเภท เราไปดูกันว่าแบบไหนใช้งานอย่างไรกันบ้าง
โดยปกติ ฉนวนกันความร้อน จะแบ่งการติดตั้งออกเป็น 3 วิธี ได้แก่
- ติดตั้งบนฝ้า สำหรับฉนวนแบบม้วนวางบนฝ้าเพดาน ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ก็จะมี พอลิเอทิลีนโฟม , พอลิเอทิลีน บับเบิลฟอยล์, พอลิยูรีเทนโฟม และฉนวนใยแก้ว เป็นวัสดุที่มีความหนาและหุ้มด้วยวัสดุกันความชื้นจากแผ่นฟอยล์ ช่วยลดการสะสมของความร้อนที่ตัวหลังคา ส่งผลให้พื้นที่ใต้หลังคามีความร้อนลดลง ทำให้บ้านโดยเฉพาะชั้นบนของตัวบ้านที่อยู่ถัดจากหลังคาลงจะมีมาความร้อนลงลด แต่จะต้องมีช่องระบายเพื่อให้ความร้อนออก โดยปกติแล้วจะอยู่บริเวณฝ้าชายคาบ้าน เพื่อช่วยลดความร้อนใต้หลังคาไม่ให้สะสมมากเกินไป
- ติดตั้งใต้แผ่นหลังคา ฉนวนที่ติดตั้งใต้แผ่นหลังคา เช่น ฉนวนใยแก้วแบบแผ่น อะลูมิเนียมฟอยล์ พอลิเอทิลีนโฟม , พอลิเอทิลีน บับเบิลฟอยล์ และฉนวนชนิดฉีดพ่น เยื่อกระดาษ ทำหน้าที่ลดความร้อนไม่ให้เข้าสู่ใต้หลังคา แต่ขั้นตอนการติดตั้งต้องติดฉนวนแบบนี้ไปพร้อม กับสร้างหลังคาตั้งแต่สร้างบ้าน แต่ข้อดีขอบการติดตั้งในรูปแบบนี้จะสามารถกันความร้อนได้ดีกว่าแบบอื่นๆ
- ติดตั้งบนหลังคา ฉนวนที่ติดตั้งบนแผ่นหลังคา เช่น สีสะท้อนความร้อน ทำหน้าที่สะท้อนความร้อนไม่ให้เข้าสู่ใต้หลังคาบ้าน การติดตั้งแบบนี้จะนิยมทำเพิ่ม เสริมเข้าไปพร้อมกับการติดตั้งฉนวนแบบอื่นๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อน
จริงๆแล้วฉนวนกันความร้อนมีหลากหลายประเภท ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้ในการป้องกันความร้อน แต่ถ้าหากแบ่งตามคุณสมบัติ ฉนวนกันร้อนจะมี 2 คุณสมบัติหลัก คือ
- ดูดซับความร้อน
- สะท้อนความความร้อน
โดยวัสดุแต่ละประเภทก็จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ แบบแผ่น และแบบพ่น ดังนี้
ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น ที่มา : SCG Building Materials
ประเภทของวัสดุฉนวนกันความร้อน
ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น
เป็นฉนวนกันความร้อนสำเร็จรูป มีลักษณะเป็นแผ่น หรือเป็นม้วน ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น สามารถหาซื้อมาติดตั้งเองได้ง่าย โดยการติดตั้งสามารถติดตั้งได้ทั้งปูบนฝ้าเพดาน ติดในโครงผนังเบา ติดบนแป หรือติดใต้จันทัน ซึ่งหากติดบนแปหรือใต้จันทันจะต้องขึงลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวฉนวนห้อยแอ่นตกท้องช้าง แบ่งออกเป็น 4 ชนิดตามวัสดุ ได้แก่
- อลูมิเนียมฟอยล์ (Aluminium Foil)
- โพลีเอธิลีนโฟม (Polyethylene Foam) หรือโฟม PE
- Air Bubble Insulation
- ใยแก้ว (FiberGlass)
เราลองมาดูคุณสมบัติของแผ่นฉนวนความร้อนประเภทต่างๆ ว่ามีลักษณะและสามารถป้องกันความร้อนได้อย่างไร
อะลูมิเนียม ฟลอยส์ (Aluminium Foil)
ลักษณะเป็นแผ่นบางๆมันวาว หลักการทำงานคือการสะท้อนรังสีความร้อนไม่ให้เข้ามาในบ้าน โดยมีทั้งติดตั้งใต้แปอยู่ติดกับแผ่นหลังคากับแบบติดตั้งอยู่เหนือฝ้า แผ่นฟรอยด์จะทำหน้าที่สะท้อนความร้อนที่แผ่ลงมาจากหลังคากระเบื้อง ไม่ให้ผ่านมาในตัวบ้าน ช่วยลดอุณหภูมิจากใต้หลังคา
โพลีเอธิลีนโฟม (Polyethylene Foam)
เป็นวัสดุที่สังเคราะห์มาจากโพลีเอทิลิน (Polyethylene) ชนิดความหนาแน่นต่ำหรือ LDPE (Low Density Polyethylene) มีคุณสมบัติป้องกันความความร้อนสูง สามารถสะท้อนความร้อนได้ดี มีอายุการใช้งานยาวนาน ภายในเนื้อฉนวนมีช่องอากาศเป็นโพรง เรียกว่า Air Gap เป็นจำนวนมากทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันความร้อน และยังทนต่อสารเคมี กรด ด่าง และแอลกอฮอล์ และสามารถป้องกันเสียงจากภายนอก เช่น เมื่อฝนตกกระทบลงบนหลังคาจะทำให้ไม่เกิดเสียงดัง
ฉนวนใยแก้ว (Fiberglass Insulation )
ฉนวนใยแก้ว คือ ไฟเบอร์กลาส สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นฉนวนกันความร้อน และดูดซับเสียง ทำจากเส้นใยแก้ว ที่บางมาก มีน้ำหนักเบามีลักษณะเป็นแผ่นฟูโปร่งด้วยเส้นใย มีลักษณะเป็นโพรงอากาศจึงสามารถกันความร้อนและกันเสียงได้ดี ส่วนใหญ่จะมีสีเหลืองหรือสีขาว มีแผ่นเงาสะท้อนรังสีความร้อนหุ้มอยู่ด้วย ความหนาโดยประมาณ 1 – 2 นิ้ว น้ำหนักเบา ป้องกันความร้อนได้ดีและติดตั้งง่าย โดยใช้ติดตั้งทั้งที่ฝ้าเพดานและผนัง แต่ก็ต้องระวังไม่ให้สัมผัสกับร่างกายโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้
ฉนวนกันความร้อนแบบพ่น
เป็นฉนวนกันความร้อนที่ต้องมาพ่นลงบนพื้นผิว เช่น หลังคา ผนัง หรือฝ้าเพดาน โดยจะต้องจ้างบริษัทที่ให้บริการพ่นฉนวนกันความร้อนมาให้บริการ ฉนวนกันความร้อนแบบพ่น การติดตั้งจะยุ่งยากกว่า ต้องใช้คนที่มีความชำนาญโดยเฉพาะมาพ่น และจะต้องทำการคลุมพื้นที่เพื่อป้องกันละอองของโฟม หรือสีที่จะฟุ้งไปติดตามส่วนต่างๆ ของบ้าน
ฉนวนกันความร้อนแบบพ้น ที่มา :SCG Building Materials
หากเปรียบเทียบราคาแล้วฉนวนกันความร้อนแบบพ่นจะมีราคาที่สูงกว่า โดยสามารแบ่งออกตามวัสดุได้ 3 ชนิด ได้แก่
- สีสะท้อนความร้อน (Ceramic Coating)
- โพลียูริเทนโฟม (Rigid Polyurethane Foam) หรือโฟม PU
- เยื่อกระดาษ (Cellulose)
สีสะท้อนความร้อน (Ceramic Coating)
คือฉนวนกันความร้อน มีส่วนประกอบของเม็ดเซรามิคโบโรซิลิเกต (Ceramic Borosilicate) ซึ่งมีส่วนผสมของสารต่อต้านความร้อน มีลักษณะเดียวกับวัสดุเซรามิค ที่ใช้เป็นฉนวนป้องกันรังสีความร้อน และมีส่วนผสมของอิมัลชั่นบิทุเมนเหลว เสริมความแข็งแรงด้วยเส้นใยโพลีเอสเตอร์, สารอะครีลิคโพลิเมอร์เรซิ่นและไททาเนียมไดอ๊อกไซด์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านทานรังสีอัลต้าไวโอเลต ทำให้มีคุณสมบัติในการสะท้อนความร้อนสูง ดูดซับความร้อนต่ำ กระจายความร้อนได้ดีช่วยลดอุณหภูมิในตัวอาคาร ป้องกันรังสี UV ให้สีบ้านสวยสดใสเหมือนใหม่อยู่เสมอ ช่วยป้องกันการแตกร้าวของหลังคา ป้องกันน้ำจึงทำให้น้ำไม่สามารถไหลผ่านรั่วซึมเข้ายังตัวอาคารได้ มีส่วนผสมของสารเคมีที่ช่วยต่อต้านการเกิดรา ไม่ติดไฟและไม่มีสารพิษต่อสุขภาพและร่างกายหรือสิ่งแวดล้อม
โพลียูรีเทนโฟม
ฉนวนกันความร้อนที่ต้องมาพ่นลงบนพื้นผิว ที่ฉีดไปที่ผิววัสดุหลังคาเลย ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่นอกจากจะช่วยกันความร้อนแล้วยังช่วยกันเสียงและกันสนิมให้วัสดุที่เป็นเหล็กอีกด้วย
ฉนวนเยื่อกระดาษ
ฉนวนเยื่อกระดาษ หรือ ฉนวน Cellulose ทำจากเศษหนังสือพิมพ์ที่ใช้แล้วมาตัด มาปั่นเป็นเส้นใย ผสมกับสารเคมีต่างๆ ที่ไม่เป็นอันตราย ผสมสารกันไฟลาม ฯลฯ มีทั้งแบบแผ่นและแบบพ่น มักนิยมใช้พ่นหลังคาเพื่อกันร้อน มีราคาถูก สามารถฉีดพ่นในพื้นที่ใหญ่ๆได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มา :SCG Building Materials
การป้องกันความร้อนจากภายนอกผ่านเข้าสู่บ้านทางหลังคา หากต้องการให้เห็นผลในการป้องกันเราสามารถเลือกติดตั้งวัสดุเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดความร้อนได้ เป็นการเพิ่มฉนวนป้องกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ติดตั้งแผ่นสะท้อนความร้อน หรือแผ่นยิปซั่ม ก็สามารถสะท้อนความร้อนได้เพราะด้วยคุณสมบัติของแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ที่สามารถสะท้อนรังสีความร้อนจากหลังคาได้มากถึง 95% แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันความร้อนที่ผ่านเข้ามาใต้หลังคาได้มากพอ เราสามารถติดตั้งฉนวนกันความร้อนอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น ฉนวนใยแก้วร่วมกับแผ่นสะท้อนความร้อน จะช่วยป้องกันความร้อนจากใต้หลังคาเข้าสู่ตัวบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น