สวัสดีคุณผู้อ่านทุกคนนะคะ สำหรับใครที่คลิกเข้ามาอ่านบทความนี้เชื่อว่าคงกำลังเล็งที่จะซื้อทาวน์โฮมกันอยู่แน่นอนเลย ซึ่งหากใครลองเข้าไปสำรวจโครงการ หรือลองเสริชโครงการทาวน์โฮมจาก Developer ต่างๆ ไปบ้างแล้ว อาจจะมีคำถามหลายคำถามเกิดขึ้นในหัวอย่าง ทาวน์โฮมมีแบบไหนบ้าง ต่างกันอย่างไร แล้วเลือกแบบไหนดี ส่วนกฎหมายการต่อเติมแบบไหนถูกกฎหมายและแบบไหนที่ผิดกฎหมายบ้าง เป็นต้น หากคุณผู้อ่านกำลังสงสัยอยู่ หรืออยากมาทำการบ้านไว้ก่อนจะเตรียมซื้อนั้น มาอ่านบทความนี้กันค่ะ 🙂


ทาวน์โฮมคืออะไร?

ทาวน์โฮมหรือทาวน์เฮ้าส์ ที่เราเรียกกันในปัจจุบันนี้ เดิมเราเรียกกันว่า “บ้านแถว” ซึ่งลักษณะจะเป็นที่พักอาศัยที่อยู่ติดกัน (มีผนังใช้ร่วมกัน) ยาวเรียงกันไปหลายคูหา แต่เดิมอาจจะไม่ได้มีการนำกฎหมาย หรือกฎควบคุมต่างๆ เข้ามาคลุมคำจำกัดความว่า “ทาวน์โฮม” ชัดเจนนัก แต่ปัจจุบันมีกฎเข้ามาชัดเจนแล้วนะคะ ได้แก่

พื้นที่และขนาดของทาวน์โฮม (แต่ละยูนิต)

  • ความกว้าง (วัดจากระยะตั้งฉากจากแนวศูนย์กลางของเสาด้านหนึ่งไปยังแนวศูนย์กลางของเสาอีกด้านหนึ่ง) ไม่น้อยกว่า 4 เมตร
  • ความลึกของอาคาร (วัดระยะตั้งฉากกับแนวผนังด้านหน้าถึงผนังตั้งฉากด้านหลังในชั้นล่าง) ไม่น้อยกว่า 4 เมตร และไม่เกิน 24 เมตร

**ในกรณีที่ความลึกของอาคารเกิน 16 เมตร จะต้องจัดให้มีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุม (เช่น หลังคา หรือ กั้นห้องเป็นพื้นที่ปิด ) ที่ระยะระหว่าง 12 เมตรถึง 16 เมตร โดยให้มีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 20 % ของพื้นที่ชั้นล่างอาคาร

  • พื้นที่ใช้สอยชั้นล่าง ไม่น้อยกว่า 24 เมตร

ที่ว่างภายนอกอาคาร

นอกจากพื้นที่และขนาดของทาวน์โฮมแล้ว ต้องบอกว่าที่ว่างภายนอกอาคารก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จำเป็นต้องมีกฎกระทรวงเข้ามาควบคุม เพื่อลดทอนอุบัติเหตุต่างๆ ให้เกิดได้น้อยที่สุด ยกตัวอย่างกรณีเมื่อเกิดอัคคีภัย การมีพื้นที่ว่างจะช่วยให้การทำงานของพนักงานดับเพลิงและรถดับเพลิงง่ายยิ่งขึ้น โดยจะอาศัยพื้นที่ว่างทางด้านหลังและด้านข้างของตัวบ้าน ให้เข้าไปดับเพลิงได้ทั่วถึง และการเว้นพื้นที่ว่างของตัวบ้านยังสามารถช่วยเรื่องการลุกลามของเพลิงไหม้ไปยังบ้านข้างเคียงได้  จึงทำให้เกิดกฎเรื่องที่ว่างภายนอกอาคาร ดังนี้

  • ที่ว่างด้านหน้าของทาวน์โฮม ระหว่างรั้วหรือขอบเขตที่ดิน – แนวผนังอาคาร ไม่น้อยกว่า 3 เมตร : ซึ่งที่ว่างด้านหน้าส่วนใหญ่จัดให้เป็นพื้นที่จอดรถ หรือเป็นพื้นที่สวนขนาดย่อมๆ หน้าบ้าน
  • ที่ว่างด้านหลังอาคาร ระหว่างรั้วหรือแนวเขตที่ดิน – แนวผนังอาคาร ไม่น้อยกว่า 2 เมตร : โดยส่วนมากทางโครงการก็จะใช้พื้นที่บริเวณนี้ เป็นที่ตั้งเครื่องปั้มน้ำ ถังน้ำสำรอง หรือทำเป็นพื้นที่ครัวเปิดไม่มีสิ่งปกคลุม ลานซักล้าง หรือพื้นที่สวนหลังบ้าน

นอกจากนี้ ทาวน์โฮมยังสามารถสร้างติดกันสูงสุดได้เพียง 10 คูหา หรือไม่จำเป็นต้องเรียงกันถึง 10 คูหาก็ได้ แต่ต้องมีความยาวของด้านหน้าอาคารไม่เกิน 40 เมตร เท่านั้น จากนั้นต้องเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 4 เมตร และต้องยาวตลอดด้านข้างของทาวน์โฮม ก่อนจะสร้างทาวน์โฮมชุดถัดไป

ในส่วนของพื้นที่ว่างด้านข้างระหว่างอาคารสามารถใช้เป็นแนวทางเดินเชื่อมต่อไปยังซอยถัดไปภายในโครงการได้  จัดเป็นพื้นที่สวน หรือใช้เป็นพื้นที่สำหรับกลับรถ แต่จะต้องเปิดเป็นพื้นที่ว่างโล่งเท่านั้น ห้ามมีสิ่งปลูกสร้างปกคลุม รวมไปถึงพื้นที่เว้นระยะห่างนี้จะต้องเป็นพื้นที่สาธารณะเท่านั้น ไม่ได้เป็นพื้นที่ของบ้านใดบ้านหนึ่งที่อยู่ระหว่างพื้นที่ว่างนั้นๆ กรณีบ้านบางหลังมีการทำรั่วหรือสร้างอาณาเขต ทำหลังคาต่อเติมทำเป็นที่จอดรถของตนเองนั้นถือว่าผิดกฎหมายนะคะ

การต่อเติมแบบไหนไม่ผิดกฎหมาย และไม่ผิดใจกับเพื่อนบ้าน?

ต้องบอกว่าการต่อเติมทาวน์โฮมนั้นเป็นที่นิยมมากๆ ทีเดียวนะคะ เรียกว่าซื้อบ้านมาแล้วก็เตรียมต่อเติมกันต่อเลยทันที เนื่องจากพื้นฐานแล้วทาวน์โฮมก็คือบ้านที่ถูกจำกัดในเรื่องที่ดินและพื้นที่ใช้สอย ต่างจากบ้านเดี่ยว ซึ่งทำให้พื้นที่ใช้สอยภายในอาจจะไม่พอในการใช้งาน คนจึงนิยมต่อเติมค่อนข้างมาก

แต่การต่อเติมของทาวน์โฮมนั้น ไม่ใช่คิดจะต่อเติมในที่ดินของตัวเอง มี Set Back ตามกฎหมายแล้วจะต่อเติมหรือดัดแปลงได้เลยนะคะ เนื่องจากทาวน์โฮมมีพื้นที่หลายจุดที่ใช้ร่วมกันกับเพื่อนบ้าน จึงเกิดข้อจำกัดหลายข้อด้วยกัน เพื่อป้องกันไม่ให้การต่อเติมอะไรก็ตามไปส่งผลเสียหรือไปรบกวนเพื่อนบ้าน ช่วยให้เราอยู่ร่วมกันกับเพื่อนบ้านอย่างมีความสุข

โดยส่วนใหญ่การต่อเติมของทาวน์โฮมมีจุดใหญ่ๆ ที่มักจะต่อเติมกันประมาณ 2 จุดคือ

  • พื้นที่หน้าบ้าน

สำหรับพื้นที่โซนหน้าบ้านส่วนใหญ่รูปแบบการต่อเติมจะเป็นหลังคาที่จอดรถกันเสียส่วนใหญ่ ซึ่งการต่อเติมหลังคาจอดรถนี้ไม่ถือว่าผิดกฎหมายแต่อย่างใดนะคะ และสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็นผ้าใบกันแดดกันฝน (ตามรูปบน) หรือจะเป็นโครงสร้างชัดเจนเลยมีเสาหลังคาเรียบร้อยก็สามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องนำแบบที่จะต่อเติมนี้ไปคุยกับทางนิติบุคคลโครงการก่อนว่าเราจะต่อเติมตามนี้ ทางนิติฯ อนุญาตหรือไม่ เพราะบางโครงการต้องการคุมภาพลักษณ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อความสวยงามทางสายตา จึงอาจจะมีข้อกำหนดในโครงการนั้นๆ เพิ่มขึ้นมาด้วยนะคะ

แต่ต้องบอกว่ามีลูกบ้านบางรายที่อยากได้พื้นที่ใช้สอยในบ้านเพิ่มเติม แล้วจะทำพื้นที่ว่างหน้าบ้านเป็นห้องอีกห้องเลย แบบนี้ไม่สามารถทำได้นะคะ จัดว่าผิดกฎหมาย ด้วยพื้นที่ว่างภายนอกอาคารมีความยาวน้อยกว่า 3 เมตร และสิ่งสำคัญคือรถยนต์ของลูกบ้านรายนั้นจะไม่มีที่จอดของตัวเองชัดเจน อาจจะต้องไปจอดบนถนนส่วนรวมหน้าบ้านเอย กินพื้นที่หน้าบ้านคนอื่นบ้างเอย ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้างข้างเคียง ขับรถสัญจรบนถนนส่วนรวมได้ลำบากมากขึ้น

  • พื้นที่หลังบ้าน

สำหรับพื้นที่หลังบ้านจะค่อนข้างเป็นประเด็นเรื่องผิดกฎหมายมากกว่าพื้นที่หน้าบ้านนะคะ เนื่องจากหลายๆ คนมองว่าพื้นที่ด้านหลังบ้านนี้สามารถจัดสรรฟังก์ชันได้มากกว่าที่จะเป็นเพียงลานซักล้างเท่านั้น และส่วนใหญ่มักจะปรับให้เป็นพื้นที่ครัวหลังบ้านที่เป็นสัดส่วนได้ดีกว่า โซนภายในบ้านที่มีขนาดเล็กกว่า หรือบางหลังไม่สามารถกั้นเป็นครัวปิดได้ ซึ่งหลายคนจะไม่ชอบเพราะทำอาหารหนักได้ไม่ดี หรือบางครอบครัวมีจำนวนสมาชิกในบ้านเยอะ ก็จะเอาพื้นที่ครัวด้านในปรับให้เป็นห้องนอนเพิ่มแทน ยิ่งส่งผลให้ด้านหลังบ้านจำเป็นต้องต่อเติมมากยิ่งขึ้น

สำหรับการต่อเติมที่สามารถทำได้และไม่ผิดกฎหมายคือ การต่อเติมที่ไม่ทำเป็นพื้นที่ปิดทึบ รวมไปถึงมีความยาวของหลังคาส่วนหลังบ้านไม่ยื่นเลยไปถึงบ้านฝั่งตรงข้าม ซึ่งหากดูจากภาพฝั่งซ้ายมือ จะเห็นว่าการต่อเติมในรูปแบบนี้ (ต่อเติมพื้น+หลังคาที่ไม่ยื่นข้ามไปยังบ้านเพื่อนบ้าน) สามารถทำได้และไม่ผิดกฎหมาย แต่ที่ผิดกฎหมายจะเป็นบ้านที่ต่อเติมโซนหลังบ้านให้เป็นห้องปิดชัดเจน พร้อมหลังคาที่มี Slope ไปลงบ้านเพื่อนบ้านแทน (อย่างภาพขวามือนั่นเอง) ซึ่งก็แอบงงๆ ตรงที่ Developer หลายเจ้าที่ขายทาวน์โฮมในปัจจุบันกลับตกแต่งบ้านตัวอย่างที่ปรับลานซักล้างไปเป็นห้องครัวปิดแทน ส่งผลให้หลายคนเห็นแล้วเข้าใจผิดว่าสามารถต่อเติมตาม Developer ได้นั่นเอง

แต่ก็จะมีหลายโครงการที่ออกแบบด้านหลังบ้านมาให้ในรูปแบบเผื่อการต่อเติมของลูกบ้าน แต่ยังใส่ใจเพื่อนข้างบ้านโดยการทำรางระบายน้ำฝนมาให้ วิธีใช้คือเดินท่อลงในแปลงที่ดินของบ้านแต่ละหลังไว้เรียบร้อยและทำให้เป็นรูปแบบเดียวกันทุกหลัง ทำให้ช่วยลดปัญหาการต่อเติมหลังคาที่ยาวไปบ้านเพื่อนบ้าน


ทาวน์โฮมมีกี่รูปแบบ?

พูดคำว่าทาวน์โฮมสมัยนี้ต้องบอกว่ามีให้เลือกหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ นะคะ ทาวน์โฮมเดิมถูกจำกัดไว้ที่เป็นบ้านขนาดเล็ก ราคาถูกกว่าบ้านเดี่ยว ก็จะไม่ใช่แบบนั้นเสมอไปแล้ว เพราะปัจจุบันมีให้เห็นตั้งแต่ทาวน์โฮมระดับ ECONOMY ไปจนถึง LUXURY เลยก็มีเช่นกันค่ะ

สำหรับการจำแนกทาวน์โฮมที่มีหลากหลายในปัจจุบันนี้ เราจะขอแยกตาม Character ต่างๆ ดังนี้

ชั้น

เริ่มต้นกันที่ “ชั้น” ของทาวน์โฮมกันก่อนนะคะ โดยหลักๆ แล้วทาวน์โฮมในท้องตลาดมีให้เห็นกันอยู่ประมาณ 3 รูปแบบด้วยกัน ซึ่งแต่ละแบบนี้นอกจากจำนวนชั้นที่แตกต่างแล้ว สิ่งที่แตกต่างจริงๆ คือ “การจัดวางผังภายในอาคาร” นะคะ ซึ่งเมื่อการจัดวางผังภายในอาคารต่างกัน ก็จะส่งผลต่อรูปแบบการอยู่อาศัยของสมาชิกในบ้านไปเช่นเดียวกัน

ทาวน์โฮม 2 ชั้น : เป็นทาวน์โฮมที่นิยมมากในท้องตลาด มักจะอยู่ในเรทราคาหยิบจับง่ายนะคะ การจัดวางผังทั่วไปของทาวน์โฮม 2 ชั้น คือการวางส่วน Common Area ทั้งหมดอยู่ด้านล่าง เพื่อเป็นชั้นของสมาชิกในบ้านทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ รวมไปถึงเป็นพื้นที่รับแขกด้วย อาจจะมีส่วน Private เพิ่มมาหน่อยในชั้นนี้อย่าง ห้องนอนผู้สูงอายุ

ในส่วนชั้น 2 ทั้งหมดจะออกแบบให้เป็นพื้นที่ Private โดยจัดเป็นห้องนอนทั้งหมด จะ 2 ห้องนอน วางหน้า-หลังบ้าน หรือจะเป็น 3 ห้องนอนก็ขึ้นอยู่กับการจัดวางของแบบบ้านนั้นๆ นะคะ และจะมีห้องน้ำอยู่บริเวณกลางบ้าน ซึ่งหากเป็นแปลงมุมห้องน้ำนี้ก็จะได้หน้าต่างระบายอากาศได้ แต่หากเป็นแปลงกลางก็จะมีพัดลมดูดอากาศแทน นอกจากนี้บางแบบอาจจะมีแทรกพื้นที่นั่งเล่นมาบ้าง แต่พื้นที่นั่งเล่นชั้นบนรูปแบบการใช้งานก็ต่างจากชั้นล่างออกไป ตรงที่จะมีความเป็นส่วนตัวกว่า และไม่ได้จัดไว้สำหรับรับแขกเหมือนชั้นล่าง

ทาวน์โฮม 3 ชั้น : รูปแบบทาวน์โฮม 3 ชั้นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นทาวน์โฮมจะมีราคาสูงขึ้นมาจาก ECONOMY นะคะ โดยมีตั้งแต่ MAIN-LUXURY กันเลยทีเดียว เนื่องจากเหตุผลหลักๆ ก็คือพื้นที่ใช้สอยที่มากขึ้น

หากสังเกตที่ตัวผังจะเห็นว่าสิ่งที่แตกต่างจากทาวน์โฮม 2 ชั้นคือการแยกชั้นห้องนอน Master Bedroom ออกมาแยกเดี่ยวชั้นเดียวเลย ซึ่งทำให้ห้องนี้มีความ Private มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงได้ขนาดใหญ่ ครอบครองพื้นที่ตั้งแต่หน้าบ้านไปถึงหลังบ้าน ตอบโจทย์ครอบครัวที่ชอบพื้นที่ภายในห้องขนาดใหญ่มากขึ้น เป็นสัดส่วนชัดเจน ซึ่งนอกจากขนาดของห้อง Master Bedroom แล้วก็จะช่วยให้ห้องนอนเล็กทั้ง 2 ห้องมีขนาดพื้นที่ใหญ่มากกว่าห้องนอนเล็กของทาวน์โฮม 2 ชั้นด้วยนะคะ เพราะไม่ได้แบ่งพื้นที่ของชั้นไปให้กับ Master Bedroom แล้ว

สังเกตต่ออีกหน่อยสำหรับทาวน์โฮม 3 ชั้นด้วยกันเองก็มีการจัดผังที่ต่างกันในเรื่องของชั้น อย่างรูปแรกวาง Master Bedroom ไว้ที่ชั้น 3 ขณะที่รูปที่ 2 วาง Master Bedroom ไว้ที่ชั้น 2 แทน ซึ่งความต่างกันนั้นส่งผลต่อการใช้งานพอสมควรนะคะ เริ่มจากการวาง Master ไว้ชั้น 3 ข้อดีที่ได้คือห้องนี้มีความ Private เพิ่มมากขึ้น เพราะสมาชิกในบ้านที่นอนห้องนอนเล็กทั้ง 2 ห้องไม่ต้องมาเดินบันไดผ่านชั้นตัวเอง ไว้วิวภายนอกสูงมากขึ้น หรือบางแบบบ้านสามารถเชื่อมต่อไปชั้นดาดฟ้า ที่จัดเป็นสวนหรือพื้นที่นั่งเล่นส่วนตัว ก็จะเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น แต่รูปแบบนี้ก็จะเหมาะกับคนที่อายุไม่ได้มากนัก ขึ้น-ลงบันไดได้สะดวก

กรณีวาง Master Bedroom ไว้ที่ชั้น 2 นี้ข้อดีเลยคือเดินขึ้น-ลงบันไดได้สะดวก ซึ่งก็จะเหมาะกับคุณพ่อ-คุณแม่ที่มีอายุพอสมควรแล้ว หรือไม่อยากเดินขึ้น-ลงบันไดมากนัก แต่ก็แลกมาตรงเรื่องความ Private หน่อยเพราะ สมาชิกที่นอนห้องนอนชั้นบนก็จะเดินขึ้น-ลงผ่านได้

ทาวน์โฮม 3 ชั้นครึ่ง : ความแตกต่างคือการได้ “ชั้นลอย” เพิ่มเติมขึ้นมานะคะ ซึ่งชั้นลอยนี้มีความสำคัญหลักๆ อยู่ 2 อย่างด้วยกัน

  • ทำให้เกิด Double Volume ในพื้นที่ชั้นล่าง ช่วยเรื่องความโอ่โถงโปร่งโล่งภายในบ้านมากขึ้น
  • มีพื้นที่สำหรับจัดฟังก์ชันอิสระได้ เนื่องจากพื้นที่ของทาวน์โฮมค่อนข้างจำกัดกว่าบ้านเดี่ยวอยู่แล้ว หลักๆ จึงมักจะมีแต่ฟังก์ชันที่จำเป็นต่อการใช้งานอยู่แล้ว ซึ่งใครที่อยากได้พื้นที่ที่เราสามารถจัดได้อิสระเพิ่มเติมก็จะตอบโจทย์ได้ดี เช่น พื้นที่ทำงาน, พื้นที่โชว์ของสะสม, พื้นที่เด็กเล่น เป็นต้น

หน้ากว้าง

ต้องบอกว่า “หน้ากว้าง” นี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หลายคนค่อนข้างซีเรียสนะคะ ด้วยความที่ทาวน์โฮมนั้นแตกต่างจากบ้านเดี่ยวตรงที่มีผนังอย่างน้อย 1 ผนังติดกับเพื่อนบ้าน ทำให้ทาวน์โฮมจะได้พื้นที่เปิดจากหน้าต่าง-ประตูกระจกหลักๆ อยู่เพียง 2 ด้านคือ หน้า-หลังบ้าน นั่นเอง ดังนั้นหากหน้ากว้าง ไม่ได้กว้างมากนักจะส่งผลต่อความโปร่งโล่งในบ้าน เพราะแสงธรรมชาติเข้ามาได้ไม่มากนัก

สำหรับรูปแบบ หน้ากว้างของทาวน์โฮม ในตลาดปัจจุบันก็จะมีตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป โดยปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ก็มักจะหยิบแนวคิด หน้ากว้าง มาใช้เพื่อทำการตลาดค่อนข้างหนัก โดยจะไม่ทำทาวน์โฮมหน้าแคบ 4 เมตร เหมือนแต่ก่อนแต่หันมานิยมทำหน้าบ้านขนาดกว้าง 5.5 เมตร และ 5.7 เมตร แทน และนอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรายย่อยๆที่พัฒนาทาวน์โฮมไป จนมีหน้ากว้างถึง 10 เมตร เลยทีเดียวค่ะ

หน้ากว้างที่ต่างกันส่งผลอะไรบ้าง?

หลักๆ เลยก็คือเรื่องของความโปร่งโล่งภายในตัวบ้านและการจัดวางพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านนะคะ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปคือ การได้ที่จอดรถมากน้อยไม่เท่ากัน ตามความกว้างของหน้าบ้าน

  • หน้ากว้าง 4 เมตร จะสามารถจอดรถหน้าบ้านได้แค่คันเดียว
  • หน้ากว้าง 5 เมตร จะจอดได้ 2 คันแบบที่เปิดประตูยากหน่อย
  • หน้ากว้าง 6 เมตร แล้วจอดรถ 2 คันก็จะเหมาะสมกว่า
  • หน้ากว้าง 10 เมตร จะสามารถจอดรถได้ 2-3 คันเลย

ดังนั้นเวลาจะเลือกแบบบ้านจึงควรคำนึงถึงจำนวนรถยนต์ของเราด้วยว่ามีกี่คัน รวมไปถึงคำนึงความลึกของที่จอดรถด้วยนะคะ ไม่ใช่แค่หน้ากว้างอย่างเดียวเพราะบางครอบครัวใช้รถกระบะ แต่เลือกความลึกบ้านไม่มาก อาจจะไม่สามารถปิดประตูหน้าบ้านได้ก็มี ซึ่งความยาวรถมาตรฐานจะอยู่ที่ราวๆ 5.2 เมตร เช่น Nissan Navara, Toyota Vigo หรือที่ยาวเป็นพิเศษหน่อยก็ Ford Ranger, Chevrolet Colorado, Mazda BT-50 ยาวประมาณ 5.4 เมตร

ตำแหน่งของแปลง

โดยทั่วไปทาวน์โฮมจะมีการวางพื้นที่เป็นบล็อกๆทำให้เกิดทาวน์โฮมแปลงกลางและแปลงมุมขึ้น การจัดฟังก์ชันภายในทาวน์โฮมจะเหมือนกันนะคะ แต่จะแต่งต่างกันตรงช่องเปิด จำพวกหน้าต่าง ประตู และพื้นที่รอบบ้าน

โดยทาวน์โฮมแปลงกลางจะไม่มีพื้นที่ข้างบ้านและไม่มีช่องเปิดด้านข้าง แสงธรรมชาติจึงเข้าได้เพียงแค่จากหน้าบ้านและหลังบ้านเท่านั้น ในขณะที่ทาวน์โฮมแปลงมุมจะมีพื้นที่ข้างบ้าน และสามารถทำช่องเปิดด้านข้าง ช่วยให้แสงธรรมชาติเข้าบ้านได้ดี และมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า แต่แลกมากับราคาที่สูงกว่าแปลงกลางเช่นกันค่ะ


ทาวน์โฮมมีฟังก์ชันอะไรบ้างและจัดแบบไหนบ้าง?

การจัดวางฟังก์ชันของทาวน์โฮมแบ่งออกเป็น 3 โซนใหญ่ๆ ดังนี้ค่ะ

  1. พื้นที่หน้าบ้าน : พื้นที่ภายนอกบ้านตั้งแต่รั้วบ้านจนถึงประตูทางเข้าภายในตัวบ้าน มักออกแบบเป็นพื้นที่จอดรถ, สวนหน้าบ้าน หรือหากมีหน้ากว้างมากสามารถจัดพื้นที่นั่งเล่นหน้าบ้านได้
  2. ตัวบ้าน : พื้นที่ภายในบ้านทั้งหมดทุกชั้น เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องนอน เป็นต้น
  3. พื้นที่หลังบ้าน : พื้นที่ลานซักล้างด้านหลังบ้าน

โดยหลักแล้วโซนพื้นที่หน้าบ้านและหลังบ้านจะมีการจัดไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นพื้นที่เหล่านี้มากนักนะคะ มักจะจัดให้มีพื้นที่ใช้สอยเพียงพอเท่านั้น ไม่จัดให้ใหญ่เหลือเฟือ เพื่อนำไปทุ่มกับพื้นที่ในตัวบ้านให้มากที่สุดที่ทำได้ ซึ่งความแตกต่างของแต่ละแบบ ในแต่ละโครงการก็จะมาดูกันที่พื้นที่ในตัวบ้านนี่แหละค่ะ

ผังทาวน์โฮมแบบไหนที่เหมาะกับเรา?

รูปแบบของผังทาวน์โฮมที่นิยมออกแบบและขายในท้องตลาดทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆ ดังนี้

แบบที่ 1 เป็นการจัดฟังก์ชันที่มักพบเห็นในทาวน์โฮมหน้ากว้าง 4 เมตร

    ชั้น 1 วางส่วน Public อย่างพื้นที่นั่งเล่นที่ใช้นั่งเล่นหรือรับแขกไว้ด้านหน้า แล้วผลักส่วน Service ไปไว้ด้านหลัง ข้อดีของการจัด Zone แบบนี้คือมีการแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนดี อย่างโซน Public ที่เป็นห้องนั่งเล่นกับห้องรับประทานอาหารก็อยู่ด้านหน้า เวลาแขกไปใครมาก็ให้อยู่หน้าบ้านไม่ไปปะปนกับโซน Service อย่างพวกห้องครัวที่อาจจะไม่เรียบร้อยเท่าใดนัก และการนำโซน Service ไปไว้ด้านหลังทั้งหมด ทำให้พื้นที่ต่อเนื่องกับลานซักล้างหลังบ้านและช่วยให้การวางงานระบบทำได้ง่ายขึ้นด้วย

   สำหรับบันไดสามารถวางไว้ได้ที่หน้าบ้าน กลางบ้าน หรือหลังบ้าน แล้วแต่การออกแบบ  ส่งผลให้เกิดความแตกต่างของ Circulation (ทางเดิน) ที่จะขึ้นมามายังชั้น 2 หากวางไว้หน้าบ้านจะตรงกับส่วน Public อย่างห้องนั่งเล่น, กินข้าว เราสามารถเดินขึ้นบ้านได้ง่าย แสงสว่างเข้าโถงบันไดได้ดีเพราะติดกับผนังหน้าบ้าน สามารถติดตั้งช่องเปิดได้ง่าย

หากวางบันไดไว้กลางบ้าน แสงสว่างอาจเข้าได้ไม่ดีนักอาจต้องใช้แสงไฟช่วย ส่วนหากวางบันไดไว้หลังบ้านจะตรงกับส่วน Service อย่างพวกห้องน้ำ, ห้องครัว แสงสว่างเข้าโถงบันไดได้ดี เพราะติดกับผนังหลังบ้านสามารถติดตั้งหน้าต่างได้

    ขึ้นมาที่ชั้น 2 ต่อจากบันไดต่อเนื่องขึ้นมาก็จะเจอกับโถงกลางบ้าน ซึ่งโถงมักจะเป็นตัวเชื่อมต่อกับห้องน้ำและห้องนอนใหญ่-เล็ก 

แบบที่ 2 เป็นการจัดฟังก์ชันให้ ชั้น 1 แยกส่วน Public กับ Service ไว้คนละด้านซ้าย-ขวา ส่วนใหญ่แล้วโซน Public จะวาง Living ไว้ด้านหน้า ด้านหลังเป็น Dining ส่วนโซน Service จะวางห้องน้ำไว้กลางบ้าน ถัดไปเป็นห้องครัวเพื่อให้เชื่อมต่อกับส่วนซักล้างหลังบ้านได้ค่ะ การจัดวางพื้นที่แบบนี้นอกจากจะดีกับการวางงานระบบน้ำและท่อต่างๆแล้ว ยังง่ายต่อ Circulation (ทางเดิน) สามารถเดินไปใช้งานฟังก์ชันโซนเดียวกันได้ง่าย โดยสามารถวางตำแหน่งบันไดได้ทั้งทางหน้าบ้าน กลางบ้าน และหลังบ้าน แต่การวางบันไดไว้หลังบ้านจะไม่ค่อยนิยมนัก เนื่องจากนิยมจัดหลังบ้านให้เป็นห้องครัวมากกว่า จะต่างกันก็แค่ทำเป็นครัวเปิดหรือจะกั้นครัวปิดให้เท่านั้นเอง ส่วนพื้นที่ชั้น 2 จะเป็นโซน Private ที่แบ่งเป็นห้องนอนและห้องน้ำ ส่วนใหญ่จะทำเป็น 2-3 ห้องนอน และ 1-2 ห้องน้ำ การจัด Zone แบบนี้เหมาะสำหรับบ้านหน้ากว้าง 5 เมตรขึ้นไปนะคะ

แบบที่ 3 การจัดวางฟังก์ชันแบบนี้จะคล้ายคลึงกับแบบที่ 2 นะคะ แต่มีเพิ่มพื้นที่ Semi-private ซึ่งเป็นห้องอเนกประสงค์เข้ามา โดยให้ส่วน Public มาอยู่ที่ด้านใดด้านหนึ่งของบ้าน ส่วน Service จะถูกนำมาไว้อีกด้านรวมกับโซน Semi-private

ทาวน์โฮมลักษณะนี้เหมาะกับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุหรือเด็กอ่อนที่ต้องการใช้ห้องนอนชั้นล่าง โดยห้องน้ำชั้น 1 ในบ้านลักษณะนี้จึงจะมีส่วนอาบน้ำรวมอยู่ด้วยเสมอ จริงๆแล้ว Semi-private ที่โครงการจัดไว้ให้มักจะระบุฟังก์ชันให้เป็นห้องนอน แต่เมื่อเข้าอยู่จริงแล้วเราสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้อเนกประสงค์นะคะ อย่างบ้านไหนที่ไม่มีผู้สูงอายุหรือไม่ได้ต้องการห้องนอนชั้นล่างก็สามารถเปลี่ยนให้เป็นห้องทำงาน หรือห้องดูหนังก็ได้ตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละบ้าน ผังแบบนี้จะเหมาะกับทาวน์โฮมหน้ากว้าง 5.5 หรือ 5.7 เมตรขึ้นไป 

    Type A วางส่วน Semi-private ไว้ด้านหน้า ส่วน Service จำพวกครัวและห้องน้ำก็จะถูกผลักไปทางด้านหลัง เพื่อให้สามารถติดตั้งหน้าต่างที่หลังบ้านช่วยในการระบายอากาศได้

   Type B  จะเป็นที่นิยมและคุ้นตามากกว่าคือการวางส่วน Semi- private ไปไว้หลังบ้านแล้วผลักให้ส่วน Service อย่างห้องน้ำมาไว้ด้านหน้า ส่วนห้องครัวมักจะถูกนำไปรวมกับห้องรับประทานอาหารในส่วน Public โดยทำเป็น Pantry เล็กๆ หรือบางที่จะผลักห้องครัวให้ไปอยู่หลังบ้านโดยต่อเติมครัวปูน ทำหลังคาเป็นห้องครัวกันจริงจัง มักจะพบเห็นได้ในหมู่บ้านทาวน์โฮมทั่วไป

   การจัดวางฟังก์ชันแบบนี้มักจะวางบันไดไว้ตรงกลางหรือหน้าบ้านเพื่อให้รับแสง ไม่นิยมไว้หลังบ้านเนื่องจากส่วนใหญ่จะถูกออกแบบให้เป็นห้องนอน ห้องครัว หรือห้องน้ำที่ต้องการแสงธรรมชาติและอากาศไหลเวียนมากกว่าค่ะ พอขึ้นมาที่ชั้น 2 ก็จะมีการวางผังคล้ายๆกับทาวน์โฮมแบบอื่นๆ คือขึ้นบันไดมายังโถงกลางที่เชื่อมต่อกับห้องนอนและห้องน้ำ โดยอาจจะแยกย่อยห้องนอนเป็น 2-3 ห้องนอน และห้องน้ำ 1-2 ห้องค่ะ