อยู่สบายในแนวราบตอน Sick Building = Sick Body 2
หลังจากที่บทความ Sick Building = Sick Body ตอนที่แล้ว ได้ตีพิมพ์ออกไป คุณนายได้รับคำชมแกมต่อว่าจากบรรดาเพื่อนฝูงว่า อะไรกันเนี่ย… กำลังอ่านมันส์ๆ อยู่ดีๆ ก็จบไปซะเฉยๆ อย่างงั้น จะแก้ปัญหาการถ่ายเทอากาศโดยให้ทำยังไงต่อก็ไม่บอก อ้าว….ก็คุณนายนึกว่ารูปมันก็อธิบายในตัวมันอยู่แล้วหนิ
ก็ให้ไปซื้อโครงการ บ้านริมสวน โครงการคุณภาพเยี่ยมจาก สวนหลวงบ้านและที่ดินไง อุปส์… เผลอโฆษณาแฝงอีกแล้ว (คุณบีมกับคุณโอ๋กำลังค้อนคุณนายอยู่) ไม่ช่าย….เอาเป็นว่าตอนนี้คุณนายจะมาขยายความ Sick Building Syndrome (SBS) ตอน 2 กันดีกว่านะคะ ว่าเราจะมีวิธีการป้องกันและแก้ปัญหากับมันอย่างไรดี
จากความเดิมตอนที่แล้ว (ถ้าใครยังไม่ได้อ่านกด) พบว่าสาเหตุหลักของ SBS เกิดจากการถ่ายเทอากาศไม่เพียงพอ ทำให้มีอากาศจากภายนอกหมุนเวียนถ่ายเทเข้าไปแลกเปลี่ยนกับอากาศภายในลดลง คุณภาพของอากาศภายในอาคารก็เลยไม่ดี มลพิษต่างๆ ที่สะสมอยู่ในบ้านไม่สามารถถ่ายเทออกไปได้ อากาศใหม่ๆ สดๆ ซิงๆ เข้ามาได้ไม่เพียงพอ จากการตั้งหน้าตั้งตาหาข้อมูลของคุณนาย สรุปได้ว่าวิธีการป้องกันไม่ให้บ้านของเราป่วยหลักๆ ก็มีอยู่ 3 อย่างด้วยกันนะจ๊ะ
ข้อแรกเลย ก็คือควบคุมแหล่งที่มาของมลพิษภายในบ้าน (Source Control) คุณผู้อ่านที่รักทราบไหมคะว่าพวกวัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านหลายอย่าง ก่อให้เกิดการปลดปล่อยสารพิษออกมาในอากาศ อาทิ สารระเหยฟอร์มาดีไฮด์ โทลูอีน โซลีน ซึ่งสารเหล่านี้มาได้จาก สีทาบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ประตู พรม กาวทาพื้นไม้ ที่มีส่วนประกอบของสารระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds) ซึ่งมีผลทำให้เกิดอาการปวดหัว ตาพร่ามัว กระสับกระส่าย ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ เวลาเราไปซื้อของเข้าบ้านจึงควรเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ประเภทที่มีสารระเหยต่ำ มาตรฐาน E1 อย่างที่เขาชอบโฆษณากันนั่นแหละค่ะ
ภาพจาก http://www.scgheim.com
นอกจากการไม่ใช้วัสดุที่มีสารระเหยแล้ว เทคนิควิธีการก่อสร้างบางแบบก็ไม่เหมาะนำมาใช้สร้างบ้านเพราะก่อให้เกิดมลพิษเวลาอยู่อาศัยได้เช่นกัน คุณนายยกตัวอย่างเช่น พื้นปูนขัดมันภายในนี่แหละค่ะตัวดีเลย ตอนคุณนายทำออฟฟิสเมื่อหลายๆ ปีก่อน ตอนนั้นอยากจะเก๋ค่ะ เห็นเขาทำพื้นขัดมันตามร้านค้าออกมาสวยดี เลยทำบ้าง โห…ดูไม่จืดเลยค่ะ ช่างบ้านๆ ทำไม่เป็นค่ะไม่เนี้ยบ ทั้งกลิ่นปูน ทั้งฝุ่นผงอะไรไม่รู้เยอะแยะ สุดท้ายอยู่ไม่ได้ต้องหาวัสดุมาปิดผิวค่ะ จำไว้เลยนะคะคุณผู้อ่าน ช่างไม่เจ๋งจริงอย่าริทำค่ะ ทุกวันนี้ยังรู้สึกมันมีผงฝุ่นอยู่เลยค่ะ มิน่า…คุณนายนั่งออฟฟิสได้ไม่นานต้องหาเรื่องออกไปข้างนอกตลอด
บ้านที่มีซอกหลืบ มีของกองเก็บเยอะแยะ ก็เป็นที่สะสมของไรฝุ่น แมลง สัตว์ไม่พึงประสงค์หลายอย่าง รูปด้านล่างแสดงถึงสิ่งต่างๆ ภายในบ้านที่เป็นต้นเหตุก่อให้เกิดภาวะ Sick Building Syndrome ค่ะ
- ฉนวนกันความร้อนที่มี Asbestos
- การหมุนเวียนอากาศถ่ายที่ไม่ดี ไม่สะอาด
- ไม่มีอากาศใหม่เข้ามา
- ควันบุหรี่
- กลิ่นระเหยจากสีทาบ้าน
- ไรฝุ่น
- พรมมีสารระเหยฟอร์มาดีไฮด์จากสีย้อม
- ขนสัตว์
- น้ำยาทำความสะอาดที่เป็นสารพิษ
- สารระเหยจากสีย้อมผ้า
- คาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจ
- วัสดุก่อสารที่มีสารระเหย
- แบคทีเรียจากโถส้วม
ภาพจาก http://www.globalhealingcenter.com/health-hazards-to-know-about/industrial-chemical-toxins
สรุปข้อแรกก็คือ คุณนายแนะนำให้คุณผู้อ่านลดการใช้วัสดุอุปกรณ์ วิธีการก่อสร้างและวิถีชีวิตที่ก่อให้เกิดมลพิษภายในบ้านค่ะ
ประการต่อมา เราก็ต้องทำให้อากาศภายในบ้านมีการหมุนเวียนถ่ายเท เอาอากาศเก่าออก เอาอากาศใหม่ๆ เข้ามาด้วยการเปิดหน้าต่างหรือติดตั้งระบบหมุนเวียนอากาศทางกล (Improve Ventilation) ใช่ค่ะ ง่ายๆ แบบนั้นเลย เปิดหน้าต่างบ้างสิคะคุณผู้อ่าน ให้อากาศใหม่ๆ ไหลเวียนเข้ามาบ้าง เปิดหน้าต่างในทิศตรงกันข้าม ให้ลมพัดผ่านเข้าได้ออกได้ ถ้าเป็นบ้านเดี่ยวมีหน้าต่างให้เลือกเปิดได้หลายทิศทางก็คงไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นคอนโดที่ไม่ใช่ห้องมุม มีหน้าต่างให้เปิดได้ทิศเดียวคงจะต้องใช้พัดลมเปิดช่วยอีกซักตัวสองตัวจะทำให้อากาศถ่ายเทได้ดีขึ้น ยิ่งบ้านก่อสร้างหรือตกแต่งเสร็จใหม่ๆ แนะนำให้เปิดหน้าต่างทิ้งไว้เพื่อให้สารระเหยที่สะสมอยู่จากวัสดุก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ออกไปได้ค่ะ ห้องทำงานเจ้ากรรมของคุณนายก็ใช้วิธีเดียวกันค่ะนั่งทำงานไปได้ซัก 2-3 ชม คุณนายก็ต้องลุกมาเปิดประตูหน้าต่างและพัดลมสลับซัก 15 นาที แล้วร้อนก็ค่อยเปิดแอร์ใหม่ ช่วยได้เยอะนะคะ
หรือถ้าใครไม่ชอบเปิดหน้าต่างอยากติดตั้งระบบหมุนเวียนอากาศทางกลก็เป็นสิ่งที่ทำได้นะคะ แต่ต้องทำตั้งแต่เริ่มสร้างบ้านกันเลย ลองคุยกับสถาปนิก วิศวกรของคุณดู ข้อดีของระบบนี้ คือสามารถกรองอากาศก่อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้านได้ แนะนำให้ไปดูตัวอย่างการทำระบบแบบนี้ได้ที่ บ้านตัวอย่าง SCG HEIM ที่ Crystal Design Center ตรงเลียบด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ค่ะ แต่แน่นอนวิธีทางกลย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการออกแบบบ้านให้เปิดประตูหน้าต่างแล้วมีลมพัดดีๆ ธรรมดาๆ
 
ภาพการติดตั้งระบบหมุนเวียนอากาศทางกลจาก http://www.scgheim.com
ส่วนปัจจัยประการสุดท้ายที่จะทำให้บ้านอันเป็นที่รักของเราปลอดจากภาวะ SBS ก็คือทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ(House Cleaning) ฟังดูไม่เห็นจะยากเลยใช่ไหมคะ หน้ากากแอร์ส่วนที่ถอดออกมาล้างเองได้ง่ายๆ คุณนายแนะนำให้ถอดออกมาล้างทุกเดือนค่ะ ส่วนการล้างแอร์ใหญ่โดยช่างให้ทำอย่างน้อยปีละครั้ง พรม เฟอร์นิเจอร์ ผ้าบุควรทำความสะอาดใหญ่ปีละครั้ง หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดแบบที่ทำให้เกิดฝุ่นผงฟุ้งกระจายนะคะ เช่น เอาไม้ตีมามาตบๆ พรม ตบๆ หมอนไรงี้ไม่เอา ให้ใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีประสิทธิภาพดีในการกำจัดฝุ่นผงภายในบ้าน แล้วก็ไม่ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีกลิ่นฉุนเกินไปด้วยค่ะ ถ้าโดยปกติแล้วห้องของคุณผู้มีสิ่งของกองอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นบนโต๊ะ หรือบนพื้น มันจะเป็นอุปสรรคต่อการทำความสะอาดพื้นผิวภายในบ้าน ดังนั้น จึงควรจัดเก็บของให้เป็นระเบียบทุกวันไม่กองเกะกะทิ้งไว้ข้ามวันข้ามคืน ว่าไปแล้วคุณนายก็มองไปที่โต๊ะทำงานที่นั่งเขียนอยู่ตอนนี้…เอิ่ม เอกสารอะไรไม่รู้ ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับงานวางเป็นกองพะเนินทิ้งไว้ข้ามภพข้ามชาติกันเลยทีเดียว เห็นทีจะต้องเคลียร์ซะแล้ว
คงจะมีคุณผู้อ่านหลายคนกำลังถามอยู่ในใจว่าแล้วการใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีขายๆ กันอยู่ตัวเป็นหมื่นๆ เนี่ยมันจะช่วยให้อากาศสะอาดขึ้นไหม คุณนายจะบอกว่างี้ค่ะ เครื่องฟอกอากาศนั้น มีประสิทธิภาพดีในการกำจัดมลพิษในอากาศเพียงบางประเภทเท่านั้น เช่น การกำจัดกลิ่น หรือควันบุหรี่ แต่ไม่สามารถกำจัดสารพิษที่สะสมอยู่ในอากาศ เช่น ก๊าซเรดอน* (Radon) และ คาร์บอนมอนนอกไซด์ได้ค่ะ ดังนั้นอย่างไรก็ดี แม้เราจะมีเครื่องฟอกอากาศขั้นเทพ เราก็ยังต้องพึ่งพาการถ่ายเทอากาศตามธรรมชาติกันอยู่ดี
*ก๊าซเรดอน (Radon) เป็นก๊าซกัมมันตรังสี ซึ่งไม่มีสี ไม่มีกลิ่นและไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสใด ๆ เรดอนเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดในมนุษย์ โดยจัดเป็นสาเหตุอันดับที่สองรองจากบุหรี่ เนื่องจากก๊าซเรดอนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการสลายตัวของแร่เรเดียม ซึ่งมีปะปนอยู่ในดินและหินทั่วไปบนพื้นโลก ดังนั้น ในบรรยากาศทั่วไปจึงมีก๊าซเรดอนปะปนอยู่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณเรเดียมและยูเรเนียมในบริเวณ ดังกล่าว เมื่อมนุษย์นำดิน หิน หรือทรายที่มีแร่เรเดียมเจือปนมาก่อสร้างอาคาร วัสดุเหล่านั้นก็จะปล่อยก๊าซเรดอนออกมาตามปริมาณเรเดียมที่ปะปนอยู่ หากอาคารเหล่านั้นไม่มีระบบระบายอากาศที่ดีก็จะเป็นแหล่งสะสมของก๊าซเรดอนในปริมาณที่สูงจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยได้
- คำจำกัดความจาก วรสารข่าวสารมะเร็งเชิงรุก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณะสุข http://www.nci.go.th/Knowledge/download/4.pdf
ครบแล้วค่ะ…สามข้อ คุณผู้อ่านท่องตามนะคะ ลดการใช้ของที่ก่อให้เกิดมลพิษ เปิดหน้าต่างระบายอากาศ และหมั่นทำความสะอาดบ้าน นั่นล่ะค่ะดีมาก ลองทำตามดู แล้วคุณผู้อ่านจะพบว่าอาการบ้านป่วยป้องกันได้ไม่ยากค่ะ
ปล. ใครมีความเห็นเพิ่มเติมอะไรยังไงเขียนคอมเมนต์ถึงคุณนายได้นะคะ ชอบอ่านและยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเสมอค่ะ
XOXO
คุณนายสวนหลวง
ผู้บริหาร สวนหลวงบ้านและที่ดิน