บ้านขนาดไหนจะอยู่สบาย (6)

อยู่สบายในแนวราบตอน Sick Building = Sick Body

เวลาว่างคุณนายมักชอบออกไปสำรวจตลาดอสังหาอยู่เนื่องๆ แม้จะไม่ได้มีอาชีพทำตึกสูง แต่ก็ออกไปดูบ้างเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ว่าในตลาดเขาทำอะไรขายกันบ้าง วันก่อนคุณนายได้ออกไปดูคอนโดตึกสูงสร้างเสร็จแล้วโครงการหนึ่ง พนักงานขายก็น่ารัก สุภาพ ต้อนรับขับสู้อย่างดี จะพาไปดูห้องตำแหน่งต่าง ๆ (พนักงานขายบางที่ชอบทำเป็นระแวงว่าคุณนายเป็นดีเวลลอปเปอร์ แหม…บังอาจเดาได้ถูกต้อง) ระหว่างที่เดินไปตามทางเดินและโถงลิฟต์ของอาคาร คุณนายก็เกิดรู้สึก วิงเวียน คลื่นไส้ หายใจไม่ค่อยออกขึ้นมา ก็เลยต้องบอกลาคุณน้องพนักงานขายหลังจากดูไปแค่ห้องเดียว คุณนายก็รีบชิ่งออกจากตึกไปเพราะเดาว่าอาการ Sick Building Syndrome ของตัวเองกำเริบ

คุณนายเป็นคนมีแนวโน้มง่ายต่อการเกิดอาการประเภทที่เรียกว่า โรคภัยจากการอยู่ในอาคาร (Sick Building Syndrome) จุลสารวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ฉบับ พค-มิย 2550 ได้ให้คำจำกัดความของโรคภัยจากการอยู่ภายในอาคารว่า “เป็นภาวะที่ผู้อยู่อาศัยในอาคารเกิดความไม่สบายอย่างเฉียบพลัน มีความสัมพันธ์กับระยะเวลาที่อยู่อาศัย ไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนแต่สัมพันธ์กับคุณภาพอากาศภายในอาคาร (Indoor Air Quality)”

ภาพจาก http://www.smarterhomes.org.nz/design/ventilation/

เรื่องคุณภาพการหมุนวียนอากาศเนี่ยแหละค่ะ ที่คุณนายว่ายังงั้ยยังไงการอยู่อาศัยในตึกก็เสียเปรียบบ้านเป็นอย่างยิ่ง ที่เป็นอย่างนั้นเพราะ พื้นที่ผิวสัมผัสอากาศภายนอกเทียบกับปริมาตรอากาศทั้งหมดภายในยูนิตหนึ่งๆ ของคอนโดมักน้อยกว่าพื้นที่ผิวสัมผัสอากาศภายนอกของบ้านเดี่ยวต่อปริมาตรอากาศภายในของบ้านเดี่ยวอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนี้ คอนโดส่วนใหญ่มักมีช่องเปิดเพียงทิศเดียวทำให้ลมไม่สามารถพัดผ่านเข้าออกได้ ตามหลักการแล้วลมจะพัดเข้าเมื่อมีช่องเปิดเข้าและออกนะคะ เปิดด้านเดียวจะไม่ค่อยเข้า (สมัยเป็นนักเรียนถาปัดจะโดนอาจารย์ว่ากันเป็นประจำว่าขยันเขียนลูกศรลม flow กันดีนัก อาคารมีช่องเปิดฝั่งเดียวลมมันจะ flow ได้ยังไง) และยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ สำหรับคอนโดแบบที่หน้าแคบ ๆ แต่ห้องลึก ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเดี่ยวที่มีช่องเปิดออกได้ถึงสี่ทิศทางทำให้มีการหมุนเวียนอากาศได้ดีกว่ามาก

ภาพจาก ตรึงใจ บูรณสมภพ, การออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน

สาเหตุหลักของ Sick Building Syndrome ก็มาจากการถ่ายเทอากาศไม่เพียงพอ ทำให้มีอากาศจากภายนอกหมุนเวียนถ่ายเทเข้าไปแลกเปลี่ยนกับอากาศภายในลดลง ยิ่งพวกส่วนโถงลิฟท์ โถงบันได ภายในอาคารที่ไม่มีช่องแสงเปิดให้ลมพัดผ่านเข้าและไม่มีระบบหมุนเวียนอากาศทางกลที่ได้รับการคำนวณอย่างถูกต้องแล้วละก็ คุณนายว่ายืนอยู่นาน ๆ แล้วชวนให้คลื่นเหียนเป็นที่สุด แต่คุณๆ ที่อยู่บ้านเดี่ยวอย่างเพิ่งชะล่าใจไปนะคะ บ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์บางหลังที่ได้รับการออกแบบไม่ดี หรือมีการต่อเติมประหลาด ๆ ก็สามารถก่อให้เกิดพื้นที่ ๆเป็นจุดอับของการถ่ายเทอากาศและขาดแสงธรรมชาติได้เช่นกัน ซึ่งการใช้แสงธรรมชาติก็มีส่วนสำคัญในการช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในบ้านให้ดีขึ้น เพราะคลื่นแสงอัลตราไวโอเลตที่อยู่ธรรมชาติช่วยทำลายเชื้อโรคที่ลอยอยู่ในอากาศ

อะแฮ่ม….คุณนายขอจบตอนนี้ด้วยการนำตัวอย่างภาพบ้านที่ออกแบบให้อากาศหมุนเวียนได้ดี มีการดึงแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ภายในบ้าน แหมไม่รู้ของโครงการไหนนะนี่

ตัวอย่างห้องนั่งเล่นที่เปิดด้วยบานเฟื้ยมเต็ม ๆ อากาศถ่ายเทได้ดี พร้อมช่องแสงด้านบน

ห้องน้ำแสงส่องทั่วถึงฆ่าเชื้อโรคและเปิดระบายกลิ่นอับกันได้เต็มที่ แต่กรุณาเปิดโล่งเฉพาะตอนไม่ได้ทำกิจธุระนะคะ

ตัวอย่างรูปบันไดของทาวน์เฮาส์สามชั้นที่ทำหน้าที่ถ่ายเทอากาศและความร้อนจากชั้นล่างให้ระบายออกไปยังหลังคาและนำแสงธรรมชาติเข้ามาในใจกลางบ้านที่มักเป็นจุดอับของทาวน์เฮาส์

หวังว่าผู้อ่าน thinkofliving ทุกท่านจะอยู่อาศัยในบ้านได้อย่างปลอดภัยจากอาการ Sick Building Syndrome นะคะ

XOXO
คุณนายสวนหลวง